ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถาน - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 33
เล่มที่ ๓๔
เรื่องที่ ๑ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เรื่องที่ ๒ เพลงพื้นบ้าน
เรื่องที่ ๓ ปริศนาคำทายของไทย
เรื่องที่ ๔ เครื่องประดับ
เรื่องที่ ๕ หอยในทะเลไทย
เรื่องที่ ๖ บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เรื่องที่ ๗ พายุและฝนในประเทศไทย
เรื่องที่ ๘ โรคพาร์กินสัน
เรื่องที่ ๙ โรคฉี่หนู
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๔ / เรื่องที่ ๑ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ / ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถาน

 ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถาน
ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ในปัจจุบันคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากคติความเชื่อดังกล่าว ได้หยั่งรากฝังลึกในจิตใจของคนไทยมาช้านาน ในอดีต ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์นั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นพระราชพิธีในพระราชสำนัก และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชายัญ ซึ่งคณะพราหมณ์ราชสำนักไทยได้เลิกไปจนหมดสิ้น คงเหลือแต่การประกอบพิธีสาธยายพระเวท สร้างมงคล ล้างอัปมงคล ดำเนินงานทางศาสนาควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนา

เทวสถานใช้เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ นอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนา เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ - พิธีแต่งงาน ที่แทวสถาน วัดวิษณุ
เทวสถานใช้เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ นอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนา เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ - พิธีแต่งงาน ที่แทวสถาน วัดวิษณุ

พิธีสำคัญพิธีแรกที่จะต้องกระทำ ณ เทวสถานทุกเทวสถาน คือ พิธีสถาปนาเทวสถาน แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับพิธีดังกล่าวเมื่อครั้งโบราณนั้น ไม่ปรากฏชัดเจน มีปรากฏเฉพาะพิธีสถาปนาเทวสถาน วัดวิษณุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ว่า มีการประกอบพิธีรวม ๑๑ วัน ประกอบด้วย การบูชาพระแม่ธรณี การอ่านพระเวท และบูชาเทพเจ้าสำคัญต่างๆ การบูชาพระอัคนีเทพ การบูชาพระนพเคราะห์ พิธีสำคัญๆ ในการสถาปนาเทวสถานนั้น ได้แก่ พิธีกรมากุฏิ คือ การทำกุฏิ พิธีชลาธิวาส คือ การรับเทวรูปจากผู้สร้างแล้วนำไปแช่น้ำ ในภาชนะขนาดใหญ่ พิธีอันนาธิวาส คือ การโปรยถั่ว งา ข้าวสาลี ข้าวสาร ให้ท่วมเทวรูป พิธีศัยยาธิวาส คือ การเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จมาบรรทมบนพระยี่ภู่ พิธีเชิญวิญญาณพระเป็นเจ้า คือ การเชิญพระเป็นเจ้ามาสถิตในเทวรูป แล้วจึงนำไปประดิษฐาน พิธีสุดท้ายคือ พิธีปูรณหูติ เป็นพิธีที่กระทำ เพื่อแสดงแก่พระเป็นเจ้าว่า พิธีที่กระทำมาทั้ง ๑๑ วันนั้น สมบูรณ์พร้อมแล้ว จากนั้นจึงทำพิธีเปิดเทวสถาน

การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)
การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)

โดยทั่วไปแล้วเทวสถานจะใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมประจำวันและพิธีต่างๆ ที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ เป็นที่สถิตของพระเป็นเจ้า สำหรับพิธีกรรมประจำวันของพราหมณ์ที่กระทำ ณ เทวสถาน มีพิธีสำคัญ ๒ ส่วน ซึ่งเป็น ๒ ใน ๕ ข้อของการบูชา ๕ ประการ ที่เรียกว่า ปัญจยชนะ หรือปัญจยัญญะ ได้แก่ พรหมยัญญะ คือ การทำพิธีบูชาตามคำสอนในคัมภีร์พระเวท หรือการศึกษาพระเวทให้แตกฉานยิ่งขึ้น ซึ่งต้องทำวันละ ๓ เวลา คือ ระหว่างเวลา ๐๔.๐๐ - ๐๘.๐๐ น. ระหว่างเวลา ๑๑.๓๐ - ๑๓.๐๐ น. และระหว่างเวลา ๑๗.๑๕ - ๒๐.๐๐ น. ก่อนทำพิธี ต้องชำระร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อน เทวยัญญะ คือ การทำพิธีบูชาไฟ โดยเผาสิ่งต่างๆ ลงไป เช่น เนย งาดำ ธูป ผงไม้จันทน์ กำยาน เพื่อบูชาเทวดา ส่วนการบูชาอีก ๓ ข้อ คือ ปิตฤยัญญะ (การบูชาบรรพบุรุษและบุพการี) มนุษยยัญญะ (การอุปการะเพื่อนมนุษย์) และภูตยัญญะ (การอุปการะสัตว์ ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ) เป็นข้อปฏิบัติ ที่ไม่ใช่การประกอบพิธีกรรม

การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)
การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)

นอกจากการประกอบพิธีกรรมเฉพาะทางศาสนาพราหมณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วพราหมณ์ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร  ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีหลวงในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย  มีพิธีสำคัญๆ ทั้งพระราชพิธีประจำแต่ละเดือน ที่เรียกว่า พระราชพิธี ๑๒ เดือน และพระราชพิธีเนื่องในโอกาสสำคัญ ซึ่งมักประกอบพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง เช่น

การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)
การทำพิธีบูชาไฟ ที่เป็นพิธีกรรมประจำวัน มีการเผาสิ่งต่างๆ เช่น เนย งาดำ กำยาน ฯลฯ เพื่อบูชาพระพิฆเนศ ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เป็นการพระราชพิธีสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นสมมติเทพปกครองแผ่นดิน เป็นใหญ่ในทิศทั้ง ๘ และเป็นการประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามคติพราหมณ์จะทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้า เพื่อทำการสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นสมมติเทพ ดำรงธรรม ๑๐ ประการ ปกครองประเทศให้อยู่ด้วยความร่มเย็น มีพิธีโดยย่อดังนี้ สรงพระมูรธาภิเษก คือ การสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล การถวายน้ำอภิเษก เปิดประตูศิวาลัย อัญเชิญพระอิศวรเพื่อประทานพร ถวายสังวาลพราหมณ์เพื่อแสดงว่าพระองค์เป็นพราหมณ์ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎ เพื่อเป็นการประกาศปกครองประเทศโดยธรรม เลียบพระนครเพื่อแสดงพระองค์แก่ทวยราษฎร์ และประทักษิณพระนคร เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์มีสันติสุข

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยมีพระมหาราชครูพิธีเป็นผู้ที่ประกอบพิธีพราหมณ์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยมีพระมหาราชครูพิธีเป็นผู้ที่ประกอบพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย 

เป็น ๒ พิธีต่อเนื่องกัน คือ พิธีตรียัมพวาย กับพิธีตรีปวาย กระทำในเดือนยี่ของทุกปี เป็นเวลา ๑๕ วัน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีการอ่านโศลกสรรเสริญและถวายโภชนาหารแด่เทพเจ้า พิธีนี้เกี่ยวเนื่องกับพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีขอพรให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นฤดูของการเพาะปลูก ส่วนพิธีตรียัมพวาย เป็นพิธีที่ทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว พราหมณ์จึงจัดของถวายเป็นการระลึกถึงเทพเจ้า ที่กรุณาให้พืชพันธุ์แก่มนุษย์ พิธีนี้จะมีพิธีโล้ชิงช้ารวมอยู่ด้วย หมายถึง การหยั่งความมั่นคงของแผ่นดิน และเป็นการเสริมสร้างให้แผ่นดินมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นคติแต่โบราณ ลำดับการดำเนินการของพระราชพิธีดังกล่าวมีดังนี้ เปิดประตูศิวาลัย อัญเชิญเทพเจ้าเพื่อประทานพร จากนั้นเป็นพิธีโล้ชิงช้าของนาลิวัน ซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้ทำการโล้ชิงช้า การถวายสักการะด้วยโภชนาหาร อาทิ ข้าวตอกดอกไม้ โดยการอ่านโศลกสรรเสริญเทพเจ้า การสรงน้ำเทพเจ้า แล้วเชิญขึ้นบรมหงส์ ซึ่งเป็นการส่งเทพเจ้ากลับเรียกว่า กล่อมหงส์ หรือช้าหงส์ วันสุดท้ายของพิธีพราหมณ์จะทำบุญทางศาสนา มีการตัดจุกให้แก่เด็กทั่วๆ ไป และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ จึงเสร็จพิธี

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นการประกอบพิธีโล้ชิงช้าของพราหมณ์นาลิวัน (สวมหมวกรูปทรงคล้ายนาค)จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นการประกอบพิธีโล้ชิงช้าของพราหมณ์นาลิวัน (สวมหมวกรูปทรงคล้ายนาค)

พระราชพิธีหลวงที่พราหมณ์ราชสำนัก ในพระนครกระทำข้างต้นนี้ แต่เดิมมีที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย เช่น พิธีตรียัมพวาย (แห่นางกระดาน) พิธีแรกนาขวัญ พิธีสัมพัจฉรฉินท์ (หรือพิธีสวดภาณยักษ์ไล่แม่มด ซึ่งเป็นพิธีที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้จัดขึ้น เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากเมือง เริ่มพิธีตั้งแต่แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ จนถึงแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๗ วัน) พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพิธีพระพิรุณศาสตร์ พิธีเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้เลิกไปในเวลาพร้อมๆ กับการยุบกรมพิธีพราหมณ์ ในกระทรวงวังสมัยรัชกาลที่ ๗ มีเพียงบางพิธีเท่านั้นที่ยังกระทำสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากพระราชพิธีหลวงแล้วยังมีประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนา พราหมณ์ที่กระทำในเทวสถาน ซึ่งประเพณี และพิธีกรรม ของเทวสถานแต่ละแห่ง อาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากการนับถือคนละนิกาย เช่น พิธีนวราตรี เป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ จากวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ จนถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ทำการบูชาพระแม่อุมาเทวี จัดที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี พิธีฉลองวันอวตารพระราม ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี จัดที่โบสถ์เทพมณเฑียร และวัดวิษณุ พิธีสงกรานต์ ในวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี จัดที่โบสถ์เทพมณเฑียร พิธีวันวิสาขบูชา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จัดที่โบสถ์เทพมณเฑียร พิธีบูชาพญานาคและหนุมาน ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๙ จัดที่วัดวิษณุ พิธีฉลองวันอวตารพระกฤษณา ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ จัดที่วัดวิษณุ และโบสถ์เทพมณเฑียร พิธีฉลองวันวิชยาทศนี หรือทศหรา หรือคูเชร่า ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ จัดที่วัดวิษณุ โบสถ์เทพมณเฑียร และวัดพระศรีมหาอุมาเทวี
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป