สมัยสุโขทัย
พออนุมานได้ว่า
เครื่องประดับในสมัยสุโขทัย มีที่มาจากศิลปะของชาวไทยพื้นเมือง
ผสมผสานกับศิลปะขอมในสมัยละโว้
และศิลปะของมอญ สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง
โดยสรุปอย่างคร่าวๆ ได้ ๓ รูปแบบ คือ
เครื่องประดับของเทวรูป จากอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ เครื่องประดับของเทวดา
กษัตริย์ บุคคลชั้นสูง และเครื่องประดับของสามัญชน |

ทองเพชรบุรี เป็นเครื่องประดับทองคำ ที่มีคุณภาพสูง
มีลวดลายและรูปแบบทองโบราณ ซึ่งมีความประณีต สวยงาม |
สมัยอยุธยา
มีหลักฐานปรากฏอยู่มาก ทั้งจากโบราณวัตถุ ภาพเขียน ประติมากรรม
กฎหมายตราสามดวง กฎมณเฑียรบาล จดหมายเหตุ
บันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และค้าขายในช่วงเวลานั้น
โดยแบ่งได้ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑)
เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์
และขุนนาง
๒) เครื่องประดับสำหรับสามัญชน |

ช่างทำทองขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือ |
สมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓
ยังใช้เครื่องประดับที่สืบต่อมาจากสมัยอยุธยาทั้งหมด จนถึงรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การใช้เครื่องประดับจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง
เพราะสมัยนี้มีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น ที่สำคัญคือ
มีพระราชดำริให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นในประเทศไทย
เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในการปฏิบัติราชการแก่พระราชวงศ์
ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ต่อมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรป
ทำให้มีการใช้เครื่องประดับตามอย่างชาวตะวันตกมากขึ้น เช่น
การใช้เข็มกลัดติดเสื้อ การประดับเครื่องแบบ ด้วยเครื่องหมายของหน่วยงาน
การจัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ
ปัจจุบันการใช้เครื่องประดับ แบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น
ก็ยังคงมีอยู่ แต่มักใช้กันเฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น
ส่วนในชีวิตประจำวัน มีการสวมใส่เครื่องประดับแบบดั้งเดิม
และแบบที่ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของชาวตะวันตก |

ชิ้นงานที่ขึ้นรูปแล้ว
พร้อมที่จะเชื่อมต่อกันให้เป็นเครื่องประดับรูปแบบต่าง |
การผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับหลายประเภทคือ
๑.
เครื่องประดับไทยแบบโบราณ
ในประเทศมีแหล่งผลิตอยู่หลายแห่ง
เช่น เครื่องทองโบราณ ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี เครื่องถม
ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องเงินแบบล้านนา ที่ถนนงัวลาย
จังหวัดเชียงใหม่ การทำเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย
จังหวัดสุโขทัย
|

ร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองรูปพรรณ มักนิยมตกแต่งร้านด้วยสีแดง |
๒.
การผลิตและจำหน่ายทองรูปพรรณ
มีแหล่งค้าใหญ่ที่สุดที่ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ
และมีร้านค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ
๓.
การผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี
คนไทยมีฝีมือละเอียด ประณีต
สามารถผลิตเครื่องประดับที่มีความงดงาม
จึงทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโรงงานผู้ผลิตเครื่องประดับ
ที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งอัญมณี
และการเจียระไนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในโลก
โดยเฉพาะพลอยทับทิมสยาม เป็นที่รู้กันว่า มีความงามไม่แพ้แหล่งใด
มีการส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศได้เป็นอันดับต้นๆ ติดต่อกันมานับสิบปี |

ทองรูปพรรณที่มีรูปแบบและลวดลายหลากหลาย |
๔.
การผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยม
มักผลิตจากวัสดุที่มีราคาไม่สูงมาก
มีรูปแบบเป็นที่นิยมในช่วงเวลาสั้นๆ ตามแฟชั่น
รูปร่างลักษณะเข้ากับสมัยนิยม ราคาถูก สามารถซื้อหาได้บ่อย
ผู้ผลิตมีทั้งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อการส่งออก
ไปจนถึงการผลิตขนาดเล็ก ภายในครัวเรือน มีแหล่งจำหน่ายทั่วไป
ทั้งในศูนย์การค้าและตามร้านค้าปลีกในตลาด
|