สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 33
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๔ / เรื่องที่ ๔ เครื่องประดับ / การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยในปัจจุบัน
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยในปัจจุบัน
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องประดับชนิดต่างๆ
ในปัจจุบันมีการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ
อาจแบ่งการผลิต และการจำหน่ายเครื่องประดับในประเทศไทยออกเป็น ๔
หัวข้อย่อย คือ การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณ
การผลิตและการจำหน่ายทองรูปพรรณ
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยม
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณ
มีแหล่งผลิตอยู่หลายแห่ง
ที่เป็นงานฝีมือช่างเก่าแก่เชื่อว่าสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาก็คือ
การทำเครื่องทองที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี
การทำเครื่องถมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
และการทำเครื่องเงินแบบล้านนาที่ถนนงัวลาย จังหวัดเชียงใหม่
ช่างตามที่ต่างๆ
เหล่านี้เป็นช่างเก่าแก่ ที่พยายามอนุรักษ์การผลิต และรูปแบบดั้งเดิม
ของเครื่องประดับไทยแบบโบราณไว้ นอกจากนี้ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย
จังหวัดสุโขทัย ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่ง
ที่มีการผลิตเครื่องประดับทองคำแบบโบราณรูปแบบดั้งเดิม
รวมทั้งยังมีการออกแบบ
โดยนำภาพที่ปรากฏบนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่หลงเหลืออยู่ตามโบราณสถานต่างๆ
ภายในอำเภอ และที่อื่นๆ มาเป็นต้นแบบ
 การเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตเครื่องประดับ
โดยเฉพาะเครื่องประดับไทยแบบโบราณ และใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม
ที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลาง การจำหน่ายเครื่องประดับประเภทนี้
ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมกันภายในประเทศ
ผู้ซื้อมักเป็นผู้ที่นิยมศิลปะไทยรูปแบบดั้งเดิม โดยอาจซื้อไว้ เพื่อสะสม
หรือสำหรับใช้แต่งกายแบบไทย ในบางโอกาส เช่น ในงานพิธีและงานเทศกาลต่างๆ
หรือการแต่งกายเพื่อแสดงนาฏศิลป์
 | การเรียนในสาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเครื่องประดับไทยที่เป็นลักษณะงานร่วมสมัย |
เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณนี้
ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ซึ่งจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ
เพื่อส่งเสริมให้มีการฝึกสอนการประดิษฐ์งานศิลปหัตถกรรมต่างๆ
ของไทยให้คงอยู่ต่อไป รวมทั้งมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะเครื่องประดับไทยแบบโบราณ เช่น งานเครื่องเงินและเครื่องทอง งานถม
งานคร่ำ งานลงยาสี นอกจากการผลิตแล้ว
ยังมีการประกวดและจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ถือเป็นการเผยแพร่งานศิลปะของไทยให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่อง
สถานศึกษาในประเทศที่ให้ความสำคัญ
ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูงานเครื่องโลหะภัณฑ์และเครื่องประดับไทยโบราณเช่นเดียวกันคือ
กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ
ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี มีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษา
และฝึกฝนเด็กนักเรียนในทุกๆ เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งคือ
สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีการศึกษาเรื่องเครื่องประดับไทย เพื่อนำมาออกแบบในลักษณะงานร่วมสมัย
มีผลงานที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชมในปัจจุบันมาก
เพราะมีรูปแบบประเพณีนิยมดั้งเดิม
และสามารถประยุกต์ใช้ในการแต่งกายสมัยปัจจุบันได้
ทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจเรื่องเอกลักษณ์ไทยให้แก่คนไทยรุ่นใหม่
และชาวต่างชาติโดยผ่านงานเครื่องประดับร่วมสมัยได้อีกทางหนึ่ง
การผลิตและการจำหน่ายทองรูปพรรณ
ทองรูปพรรณ
คือ ทองคำที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับและของใช้ต่างๆ
เครื่องประดับที่เป็นทองรูปพรรณมีความสำคัญมากในสังคมไทย
และมีการผลิตมากกว่าเครื่องประดับ ที่ผลิตจากโลหะมีค่าชนิดอื่น
หรือประดับด้วยอัญมณี
เพราะนอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามแล้ว
ยังสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้โดยง่าย
เนื่องจากราคาทองรูปพรรณไม่สูงกว่าราคาทองคำแท่งมากนัก
ส่วนต่างราคาของทองรูปพรรณกับทองคำแท่ง เรียกว่า "ค่ากำเหน็จ" ซึ่งเป็นค่าจ้างในการทำทองคำแท่ง ให้เป็นทองรูปพรรณแบบต่างๆ
ทองรูปพรรณซึ่งเป็นที่นิยมซื้อขายกันในประเทศไทย
ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู โดยทำเป็นรูปแบบง่ายๆ
ไม่วิจิตรบรรจงมากนัก และไม่มีการประดับอัญมณี
ซึ่งจะทำให้มีราคาแพงมากขึ้น และมีผลต่อค่ากำเหน็จ ทั้งนี้
ตามปกติจะมีการประกาศราคามาตรฐานของทองคำแท่งและทองรูปพรรณทุกวัน
เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อขาย ทราบราคาในวันนั้นๆ ว่าสูงหรือต่ำเท่าใด
ซึ่งราคาของทองคำแท่งและทองรูปพรรณจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามราคาของตลาดโลกด้วย
การซื้อทองรูปพรรณไม่ใช่เพื่อประดับร่างกายเพียงอย่างเดียว
แต่ถือว่า เป็นการสะสมทรัพย์สินด้วย หากต้องการเงินสดมาใช้จ่าย
ผู้ที่มีทองรูปพรรณก็สามารถนำไปขายได้ โดยไม่ต้องต่อรองราคา
เพราะมีการกำหนดราคาเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว |  เยาวราชย่านค้าทองรูปพรรณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย | ตลาดค้าทองรูปพรรณในประเทศไทยกระจายอยู่อย่างกว้างขวาง ในกรุงเทพฯ
ตลาดซื้อขายทองรูปพรรณมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านเยาวราช
ซึ่งเป็นตลาดค้าทองรูปพรรณ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้
ร้านค้าทองรูปพรรณยังกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ถือได้ว่า การผลิตและการค้าทองรูปพรรณเป็นธุรกิจ
เกี่ยวกับเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศ | การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี
ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี
ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก
แต่เดิมอัญมณีที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับ
มีแหล่งกำเนิดอยู่หลายแห่งในประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ตราด
และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่มีการทำเหมืองขุดพลอย
นอกจากการผลิตเครื่องประดับแล้ว
การเจียระไนพลอยในประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ปัจจุบัน
การทำเหมืองขุดพลอยมีความสำคัญลดน้อยลง
เนื่องจากมีการขุดมานานจนเหมืองบางแห่งไม่มีพลอยหลงเหลืออยู่
และต้องเลิกกิจการไป อย่างไรก็ดี การเจียระไนพลอย
และการผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี ในประเทศไทยก็ยังคงรุ่งเรือง
โดยมีการสั่งซื้ออัญมณีจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการเจียระไน
และผลิตเป็นเครื่องประดับแทนวัตถุดิบภายในประเทศ
ตลาดเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
คนไทยที่มีฐานะดียังคงนิยมซื้อเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีราคาแพง เช่น
เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม ในรูปของสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู
และเข็มกลัด ซึ่งมีรูปแบบและฝีมือไม่ด้อยกว่าของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า
ในขณะเดียวกัน บริษัทผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี
ก็ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดโลก ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ
จนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ จึงกล่าวได้ว่า
ปัจจุบันเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย
แหล่งจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีที่สำคัญในประเทศคือ
บริษัทและร้านค้าในย่านธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมชั้นหนึ่ง
ศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียง ลูกค้าที่ซื้อเครื่องประดับประเภทนี้
มีทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยม
อาจเรียกเครื่องประดับนี้ว่า เครื่องประดับแฟชั่น เช่น สร้อยคอ
สร้อยข้อมือ กำไลข้อมือ เข็มกลัด หัวเข็มขัด
แม้กระทั่งห่วงโลหะที่ใช้คล้องคอ หรือสวมใส่ในรูที่เจาะไว้ตามส่วนต่างๆ
ของร่างกาย เครื่องประดับเหล่านี้มีราคาไม่แพง จึงสามารถเปลี่ยนใหม่
หรือซื้อได้บ่อยครั้ง และเหมาะสำหรับการแต่งกายตามสมัยนิยม
ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนรูปแบบ
อาจลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากศิลปกรรมที่นำสมัย ของประเทศต่างๆ
ในปัจจุบันการผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยมมีเป็นจำนวนมาก
ผู้ผลิตมีทั้งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อการส่งออก
จนถึงโรงงานขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนแหล่งจำหน่ายมีอยู่ทั่วไป
ทั้งที่อยู่ตามศูนย์การค้า และร้านค้าปลีกในตลาด สำหรับราคาโดยทั่วไป
ไม่สูงมากนัก แต่หากมีตราสินค้าซึ่งเป็นที่นิยมก็จะมีราคาสูง
และมีแหล่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าเฉพาะ เช่น
ร้านเพชรแถวบ้านหม้อ |
|