สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 33
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๔ / เรื่องที่ ๙ โรคฉี่หนู / บทนำ
บทนำ
โรคฉี่หนูหรือเลปโทสไปโรซิส (Leptospirosis)
เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อยที่สุด
โดยเกิดจากเชื้อ เลปโทสไปรา อินเทอร์โรแกนส์ (Leptospira
interrogans) โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน
คาดว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคฉี่หนูชนิดรุนแรง ปีละไม่น้อยกว่า
๕๐๐,๐๐๐ ราย
ทั้งนี้เพราะบางประเทศในเขตร้อนขาดระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ
แต่เดิมโรคนี้จัดเป็นโรคติดเชื้อเขตร้อน และพบได้บ่อย เมื่อเกิดฝนตกชุก
หรือมีน้ำท่วมในปีนั้น
แต่จากการเกิดปรากฏการณ์ลานิญา (la Nin ˜ a)
เป็นครั้งคราวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้ฝนตกชุก
และเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายแห่งนอกเขตร้อน ประกอบกับการบุกรุกป่า
หรือการเดินลุยน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ตลอดจนการประกอบอาชีพ
และการท่องเที่ยวของมนุษย์
ทำให้เกิดการแพร่กระจายของการติดเชื้อและเจ็บป่วย จึงพบโรคนี้บ่อยขึ้น
ในพื้นที่หลายแห่ง ทั้งในเเละนอกเขตร้อน
ชาวนาขณะทำนาควรสวมรองเท้าบูต เพื่อป้องกันเชื้อก่อโรคฉี่หนู ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำ เชื้อโรคฉี่หนูก่อโรคได้ทั้งในคนและในสัตว์
โรคนี้มีการระบาดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือหลังน้ำท่วม
เพศชายป่วยมากกว่าเพศหญิง ตั้งแต่ ๒ - ๑๐ เท่า และมักพบในคนวัยทำงาน
ผู้ป่วยส่วนมากติดเชื้อจากพื้นที่ที่อยู่นอกเมือง แต่ผู้ที่อาศัย
อยู่ในเมือง ก็อาจติดเชื้อนี้ได้ เมื่อมีน้ำท่วมขัง
และหนูปล่อยเชื้อปนเปื้อนมากับปัสสาวะในแหล่งน้ำนั้น ด้วยเหตุนี้
จึงเรียกกันว่า “โรคฉี่หนู”
มักพบผู้ป่วยหลังจากน้ำท่วมมาแล้ว ๑๕ - ๓๐ วัน กลุ่มอาการมีหลากหลาย
ตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ จนถึงมีไข้ โดยอาการทั่วๆ
ไปมักเป็นแบบไข้เฉียบพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ และรุนแรงมากขึ้น
จนถึงขั้นที่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว
ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคต้องแม่นยำและรวดเร็ว
และระวังการเกิดโรคติดเชื้อชนิดอื่นที่อาจเกิดร่วมกัน
การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม อย่างทันกาล จะช่วยให้หายเร็ว
และปราศจากภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้การให้ความรู้แก่ชาวนาชาวสวน
เพื่อให้รู้วิธีป้องกันตนเอง
จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคฉี่หนูนี้ได้มาก
|
|