สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 35
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๕ / เรื่องที่ ๔ โรคพืชและการจัดการด้วยวิธีชีวภาพ / บทสรุป
บทสรุป
โรคพืชที่มีสาเหตุจากสิ่งมีชีวิต
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืช
และผลผลิต ทั้งที่ปลูกในแปลง และภายหลังการเก็บเกี่ยวได้รุนแรงถึงร้อยละ
๕๐ - ๑๐๐ จึงนับเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่ง ที่ต้องมีการป้องกัน
และกำจัดอย่างถูกวิธี ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกพืชจนถึงการเก็บเกี่ยว
วิธีการป้องกันและกำจัดโรคพืชมีหลายวิธี
แต่เกษตรกรมักเลือกใช้วิธีที่สะดวก และให้ผลอย่างรวดเร็ว คือ
การใช้สารเคมีกำจัดโรคพืช ซึ่งในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ
อีกทั้งยังมีราคาแพง เป็นพิษต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค
และทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนก่อให้เกิดการดื้อต่อสารเคมีที่ใช้
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว เกษตรกรควรเลือกวิธีการอื่น
โดยเฉพาะการป้องกัน และกำจัดโรคพืช ด้วยวิธีชีวภาพ
ซึ่งเป็นการอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ
นำมาใช้ควบคุมเชื้อจุลินทรีย์โรคพืชชนิดต่างๆ ทั้งนี้
ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต้องใช้เวลาพอสมควร
เพื่อให้เกิดการต่อสู้กันตามธรรมชาติ จนกว่าจะชนะเชื้อโรค
ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเลือกใช้ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์
ให้เหมาะกับชนิดของเชื้อโรค
รู้วิธีการขยายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ รวมถึงวิธีการใช้
ทั้งอัตราและจำนวนครั้ง ตลอดจนการปรับสภาพแวดล้อม
ที่ส่งเสริมให้เกิดผลดีต่อการควบคุมโรค สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ของการจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ
นาข้าวที่ควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพให้ผลผลิตดี
|
|