สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 35
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๕ / เรื่องที่ ๖ การพยากรณ์อากาศ / ข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศ
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศ
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศ
การพยากรณ์อากาศทำได้ด้วยการวิเคราะห์แผนที่อากาศ ซึ่งแสดงข้อมูลต่างๆ
ที่ได้จากการตรวจอากาศ ประกอบด้วยค่าต่างๆ เช่น ความกดอากาศ อุณหภูมิ
ความชื้น ทิศทางลมและความเร็วลม ชนิดและจำนวนเมฆในท้องฟ้า
ความกดอากาศ
หมายถึง
น้ำหนักของอากาศที่กระทำต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่บริเวณความกดอากาศต่ำ
(เรียกในภาษาอังกฤษว่า LOW ใช้อักษรย่อว่า L) แสดงว่า
เป็นบริเวณที่อากาศมีการยกตัว หรือลอยตัว
น้ำหนักของอากาศที่กระทำต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่มีค่าต่ำ
และในขณะที่อากาศลอยตัวจะมีไอน้ำติดไปกับอากาศด้วย
เมื่อไอน้ำลอยตัวสูงขึ้นจะกระทบกับความเย็นเกิดการกลั่นตัวเป็นเมฆ
ในทางตรงกันข้าม บริเวณที่มีความกดอากาศสูง (เรียกในภาษาอังกฤษว่า
HIGH ใช้อักษรย่อว่า H) อากาศหนัก ไม่มีการลอยตัว
อากาศจมลงและอัดตัวแน่นเข้า การกลั่นตัวเป็นเมฆและฝนมีน้อย
ดังนั้นบริเวณใดที่มีความกดอากาศสูง แสดงว่าบริเวณนั้นมีอากาศดี
ซึ่งในบรรดาข้อมูลต่างๆ ทางอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศนับว่า
มีความสำคัญมากสำหรับการพยากรณ์อากาศ |

บารอมิเตอร์ |
เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดค่าความกดอากาศ เรียกว่า
บารอมิเตอร์
(barometer) ซึ่งมี ๓ แบบ คือ บารอมิเตอร์ปรอท บารอมิเตอร์แบบแอนีรอยด์
และบารอกราฟ ส่วนหน่วยที่ใช้วัดความกดอากาศอาจเป็นความสูงของปรอทเป็นนิ้ว
หรือเซนติเมตร ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรก็ได้
แต่ในปัจจุบัน ส่วนมากนิยมใช้หน่วยเป็นเฮกโตปาสกาล (hecto Pascals)
ตามธรรมดาความกดอากาศที่พื้นดินจะมีค่าเท่ากับความสูงของปรอทประมาณ ๗๖
เซนติเมตร หรือ ๒๙.๙๒ นิ้ว หรือ ๑,๐๑๓.๓ เฮกโตปาสกาล |
อุณหภูมิ
หมายถึง ระดับความร้อนของอากาศ
ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการหมุนเวียนของอากาศ
ตลอดจนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ
โดยอากาศที่มีอุณหภูมิสูงจะลอยตัวขึ้น
และสามารถรับจำนวนไอน้ำในอากาศได้มากกว่าอากาศเย็น
เครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิเรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์
(thermometer) ซึ่งใช้หน่วยวัดเป็นองศาเซลเซียส หรือองศาฟาเรนไฮต์
 เทอร์โมมิเตอร์ ความชื้น
หมายถึง
ปริมาณไอน้ำในอากาศ เครื่องมือที่ใช้วัดความชื้นของอากาศ เรียกว่า
ไซโครมิเตอร์ (psychrometer) ซึ่งประกอบด้วย เทอร์โมมิเตอร์ ๒ อัน
อันหนึ่งเป็นเทอร์โมมิเตอร์ธรรมดา เรียกว่า "เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง" อีกอันหนึ่งเป็นเทอร์โมมิเตอร์ ที่มีผ้ามัสลินเปียกหุ้มอยู่ เรียกว่า "เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มเปียก"
จากการอ่านผลต่างอุณหภูมิของตุ้มเปียกและตุ้มแห้ง
โดยเทียบกับแผ่นตารางที่คำนวณไว้ก่อนแล้ว
จะสามารถหาความชื้นของอากาศในขณะนั้นได้ เรียกว่า ความชื้นสัมพัทธ์
(relative humidity) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของจำนวนไอน้ำ
ที่มีอยู่ในอากาศในขณะนั้น ต่อจำนวนไอน้ำที่อาจจะมีอยู่ได้
เมื่ออากาศนั้นอิ่มตัว ด้วยไอน้ำ ที่อุณหภูมิเดียวกัน โดยแสดงค่าเป็นร้อยละ |
เครื่องมือวัดความชื้นของอากาศนอกจากใช้ไซโครมิเตอร์แล้ว
ยังอาจวัดความชื้นของอากาศได้ด้วย ไฮโกรกราฟ (hygrograph)
ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกค่าความชื้นของอากาศลงบนแผ่นกระดาษกราฟ
โดยใช้เส้นผมของมนุษย์หรือขนของสัตว์บางชนิด นำมาขึงให้ตึง
และต่อกับคานกระเดื่อง และแขนปากกา เส้นผมสามารถยืดและหดตัวได้
ตามการเปลี่ยนแปลงความชื้นของอากาศ
จึงทำให้คานกระเดื่องและแขนปากกาเขียนเส้นบนกระดาษกราฟที่ใช้บันทึกนั้น
และนำมาอ่านค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้ |
 ไซโครมิเตอร์ |
ทิศทางลมและความเร็วลม
การวัดทิศทางและความเร็วลมมีจุดประสงค์เพื่อให้ทราบถึงการเคลื่อนตัวของมวลอากาศว่าเป็นไปในทิศทางใด
สำหรับการวัดทิศของลมนั้น จะใช้ศรลม (wind vane)
ส่วนการวัดความเร็วของลมจะใช้เครื่องวัดที่เรียกว่า อะนีมอมิเตอร์
(anemometer) ซึ่งมีหลายชนิด แต่ส่วนมากใช้แบบใบพัดหรือกังหัน
หรือใช้แบบถ้วยกลม ๓
ใบ และมีก้าน ๓ ก้าน ต่อมารวมกันที่แกนกลาง
จากแกนกลางจะมีแกนต่อลงมาเบื้องล่าง เมื่อกังหันหมุนจะเกิดกระแสไฟฟ้า
ซึ่งทำให้เข็มที่หน้าปัดชี้แสดงความเร็วของลม คล้ายๆ
กับหน้าปัดที่บอกความเร็วของรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบันทึกความเร็ว
และทิศทางลมลงบนกราฟ เรียกว่า อะนีมอกราฟ (anemograph)
|

อะนีมอมิเตอร์
|
มาตราลมที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ มาตราลมโบฟอร์ต (Beaufort wind scale) ซึ่งตั้งตามชื่อของพลเรือเอก เซอร์ฟรานซิส โบฟอร์ต
(Admiral
Sir Francis Beaufort) ชาวอังกฤษ ที่คิดขึ้นเมื่อ
พ.ศ.
๒๓๔๘ โดยแบ่งกำลังลมออกเป็น ๑๓ ชั้น ตั้งแต่ ๐ ถึง
๑๒ โดยชั้น ๐ เป็นลมสงบ และชั้น ๑๒ เป็นพายุไต้ฝุ่น หรือพายุเฮอร์ริเคน
|
ชนิดและจำนวนเมฆในท้องฟ้า
การตรวจชนิดและปริมาณของเมฆในท้องฟ้าจะช่วยบอกลักษณะของอากาศในช่วงนั้นๆ
ได้ และช่วยทำให้ทราบถึงแนวโน้มของลักษณะอากาศล่วงหน้าได้ด้วย เช่น
ถ้าในท้องฟ้ามีเมฆก่อตัวในทางแนวตั้ง แสดงว่า อากาศกำลังลอยตัวขึ้น
ซึ่งเป็นเครื่องหมายก่อนการเกิดพายุ
ยิ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวทางแนวตั้งสูงใหญ่ มียอดเป็นรูปทั่งที่เรียกว่า
เมฆคิวมูโลนิมบัส ด้วยแล้ว มักจะมีฝนตกหนักและพายุฟ้าคะนองตามมาเสมอๆ
ในทางตรงกันข้าม หากท้องฟ้ามีเมฆเกิดขึ้นเป็นชั้นๆ
หรือแผ่ตามแนวนอนแสดงว่า อากาศกำลังสงบ
การวัดจำนวนเมฆในท้องฟ้าตามปกติจะแบ่งท้องฟ้าออกเป็น
๑๐ ส่วน จำนวนเมฆในขณะทำการตรวจจะถือว่า มีเมฆเกิดขึ้นกี่ส่วน
ของท้องฟ้าในเขตนั้น เช่น บอกว่า ท้องฟ้ามีเมฆ ๔ ส่วน
ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าท้องฟ้ามีเมฆเกิดขึ้น ๔ ใน ๑๐
ส่วนของท้องฟ้าในขณะที่ทำการตรวจนั้น |
|