สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 35
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๕ / เรื่องที่ ๖ การพยากรณ์อากาศ / ลักษณะอากาศที่สำคัญของประเทศไทย
ลักษณะอากาศที่สำคัญของประเทศไทย
ลักษณะอากาศที่สำคัญของประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อลักษณะอากาศของประเทศ ดังนี้
มรสุม (monsoon)
เป็นลมที่พัดประจำฤดู
แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาอากาศหนาวเย็นและแห้งจากประเทศจีน
มายังประเทศไทย
ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งเป็นระยะเวลาประมาณ ๖
เดือน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลอันดามัน
พัดพาเอาอากาศร้อนชื้นมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีฝนตกเป็นระยะเวลาประมาณ ๖
เดือน
มรสุมเกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของแผ่นดินกับพื้นน้ำ
ทำนองเดียวกับการเกิดลมบก ลมทะเล ในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ
อุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร
อากาศที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จะลอยขึ้นสู่เบื้องบน
อากาศเหนือมหาสมุทรซึ่งเย็นกว่าจึงไหลเข้ามาแทนที่
เกิดเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และในทางตรงกันข้าม
เมื่อซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว พื้นน้ำมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นแผ่นดิน
อากาศจึงลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศบนพื้นทวีปซึ่งเย็นกว่า
จะไหลเข้ามาแทนที่ เกิดเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
เขตลมค้าพัดเข้าหากัน หรือร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร (intertropical convergence
zone, equatorial trough) หรือร่องมรสุม (monsoon trough)
เป็นโซนหรือแนวแคบๆ ที่ลมค้าในเขตร้อนของทั้ง ๒
ซีกโลกมาบรรจบกัน คือ ลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือของซีกโลกเหนือ
กับลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ของซีกโลกใต้
ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมมีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออก -
ตะวันตก มีกระแสอากาศไหลขึ้น - ลง สลับกัน
ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ๆ เส้นศูนย์สูตร
และมีการเลื่อนขึ้น - ลง ตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ โดยจะเกิดตามหลังประมาณ
๑ - ๒ เดือน ความกว้างของร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องมรสุมประมาณ ๖ - ๘
องศาละติจูด
เป็นบริเวณที่มีเมฆมากและฝนตกอย่างหนาแน่น ฉะนั้น
เมื่อร่องนี้ประจำอยู่ ณ
ที่ใดหรือผ่านบริเวณใดก็จะทำให้เกิดฝนตกอย่างหนาแน่นในที่นั้นได้
 บริเวณร่องความกดอากาศต่ำ และพายุหมุนเขตร้อน พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone)
มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ
มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรขึ้นไป
ในซีกโลกเหนือระบบการหมุนเวียนของลมเป็นวงในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา
ส่วนทางด้านซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา เข้าสู่ศูนย์กลางพายุ
ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางพายุโดยทั่วไปต่ำกว่า ๑,๐๐๐
มิลลิบาร์ และมีลักษณะอากาศเลวติดตามมาด้วย เช่น ลมแรง ฝนตกหนักมาก
เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเลและน้ำขึ้นสูง
ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุเรียกว่า "ตาพายุ"
(eye of storm)
เป็นบริเวณเล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ - ๖๐ กิโลเมตร
ภายในตาพายุนี้เป็นบริเวณที่มีอากาศแจ่มใส มีเมฆเล็กน้อยบ้างเท่านั้น
และมีลมพัดอ่อน พายุหมุนเขตร้อนนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก
โดยทั่วไปเกิดด้านตะวันตกของมหาสมุทรในเขตร้อนบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร
(ยกเว้นในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกใต้
และด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้) เมื่อเกิดขึ้นแล้ว
จะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก
ทำความเสียหายให้แก่ทางด้านตะวันออกของทวีปต่างๆ
พายุหมุนเขตร้อนนี้มีชื่อเรียกต่างๆ
กันแล้วแต่ท้องถิ่นที่เกิด เช่น ถ้าเกิดด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย เรียกชื่อว่า "พายุไต้ฝุ่น" (typhoon) ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกชื่อว่า "พายุเฮอร์ริเคน"
(hurricane) ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอลทะเลอาหรับ และในมหาสมุทรอินเดีย เรียกชื่อว่า "พายุไซโคลน" (cyclone) และถ้าเกิดในทะเลติมอร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เรียกชื่อว่า "วิลลี-วิลลี" (willy-willy)
การแบ่งพายุหมุนเขตร้อน
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้แบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุออกได้เป็น ๔ระดับ ดังนี้
๑. พายุดีเปรสชัน (tropical depression)
มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน ๓๔ นอต (๖๓
กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
๒. พายุโซนร้อน (tropical storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางอยู่ระหว่าง ๓๔ - ๔๗ นอต (๖๓ - ๘๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
๓. พายุโซนร้อนอย่างรุนแรง (severe tropical storm) มีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางระหว่าง ๔๘ - ๖๓ นอต (๘๘ - ๑๑๘
กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
๔. พายุไต้ฝุ่น (typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลาง ๖๔ นอตขึ้นไป (๑๑๙ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป)
พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวผ่านมาถึงประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มีความรุนแรงในระดับพายุดีเปรสชัน หรือพายุโซนร้อนเท่านั้น
ฝนที่เกิดจากการพาความร้อน (convectional rain)
ในเวลากลางวันเมื่อพื้นดินได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์
อากาศก็จะร้อนขึ้นด้วย โดยอากาศดังกล่าวมีไอน้ำรวมอยู่ด้วย
เมื่อไอน้ำลอยตัวสูงขึ้นจะเกิดการเย็นตัวลงตามลำดับ
จนถึงจุดที่อากาศมีความชื้นอิ่มตัว และกลั่นตัวเป็นเมฆคิวมูลัส
หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส และมีฝนตกลงมา
ฝนชนิดนี้จะตกในพื้นที่แคบๆ
ในช่วงเวลาสั้นๆ มีโอกาสตกได้ทุกวัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม
ซึ่งเป็นระยะที่อากาศในประเทศไทยมีความชื้นมาก
เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ฝนภูเขา
(orographic rain)
เกิดจากอากาศชื้นพัดปะทะกับภูเขา
ทำให้ลมพัดพุ่งขึ้นไปตามลาดเขาและเย็นตัวลง เมื่อพัดสูงขึ้นไป
จนถึงจุดที่อากาศมีความชื้นอิ่มตัว ก็จะกลั่นตัวเป็นเมฆ
และตกเป็นฝนทางด้านหน้าเขาซึ่งเป็นด้านต้นลม เช่น ที่จังหวัดระยอง
จันทบุรี ตราด ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าเขาขวางทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
จะมีฝนตกมาก ส่วนด้านหลังเขา อากาศจะพัดจมตัวลงไปตามลาดเขา และอุ่นขึ้น
ดังนั้นด้านหลังเขาหรือด้านปลายลมจึงมีฝนตกน้อย
 ลักษณะการเกิดฝนภูเขา |
|