มัสยิด
เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สถานที่สำหรับมุสลิมใช้ประกอบพิธี
เพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า โดยหันหน้าไปยังมัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ (เมกกะ) ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ละมัสยิดจะมีอิหม่ามเป็นผู้นำ
มัสยิดสำคัญ
๓ แห่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน และบันทึกอัลหะดีษ ได้แก่ มัสยิดอัลฮะรอม ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มัสยิดอัลนะบะวีย์
ที่นครมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และมัสยิดอัลอักซอ ที่กรุงเยรูซาเล็ม
ประเทศอิสราเอล |
การบรรยายศาสนธรรมภายในมัสยิด |
มุสลิมในประเทศไทย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ประเทศไทยหรือสยาม มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ตราบจนสมัยอยุธยา จากการติดต่อค้าขายกับมุสลิมจากประเทศต่างๆ เช่น
ชาวเปอร์เซีย ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อทำการค้า
และรับราชการ ในกรุงศรีอยุธยา และได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก
เมื่อย้ายราชธานีมาที่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
มุสลิมจากหลายเชื้อชาติที่โยกย้ายเข้ามาด้วยนั้น ต่างก็มีส่วนในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นอกจากนี้ในภาคเหนือก็มีมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายชุมชน ส่วนทางภาคใต้นั้น เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม
ความสำคัญของมัสยิดในประเทศไทย
มัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมในทุกภูมิภาค
สำหรับในกรุงเทพฯ มุสลิมจะอยู่ร่วมกับคนกรุงเทพฯ ที่นับถือศาสนาต่างๆ
ได้เป็นอย่างดี คนกรุงเทพฯ และคนในภูมิภาคต่างๆ ยังรู้จักมัสยิดในนามของ
กุฎี สุเหร่า อิหม่ามบารา และ บาแล |
ภายในมัสยิด นอกจากเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชน |
มุสลิมจะร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้น
สำหรับละหมาดร่วมกัน และเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมด้านต่างๆ ของชุมชน
เช่น ประชุมหมู่บ้าน สอนศาสนา ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดงานบุญในโอกาสต่างๆ
และที่สำคัญคือ จัดกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่
- กิจกรรมประจำวัน เช่น การละหมาด ๕ เวลา การสอนศาสนา การประชุม
- กิจกรรมในรอบปี เช่น การละหมาดในวันอีดิลฟิตริ์ และวันอีดิลอัฎฮา
- กิจกรรมในรอบชีวิต เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศพ
ผู้ที่จะเข้าไปในมัสยิดควรทำความสะอาดร่างกายแต่งกายเรียบร้อย
สะอาด และควรขอดุอาอ์ (การวิงวอนขอพรต่อพระเจ้า) ก่อนเข้าและออกจากมัสยิด ขณะนั่งอยู่ภายในมัสยิด ควรอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวคำรำลึกต่อพระเจ้า
หรือละหมาด ไม่ควรพูดคุยในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์
และไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
|
มัสยิดมูการ์ร่ม จังหวัดภูเก็ต | ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของมัสยิดในประเทศไทย
ในอดีต
ชาวบ้านมักสร้างมัสยิดตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ได้แก่ เรือนไทย
และศาลาการเปรียญ ในขณะที่ชุมชนที่มีขุนนาง หรือข้าราชการระดับสูง
จะนำรูปแบบของวัดและวังมาปรับใช้ในการสร้าง แต่หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕
มุสลิมเชื้อชาติต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ได้นำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามจากชนชาติของตน มาใช้ในการสร้างมัสยิด มัสยิดในประเทศไทยจึงมีลักษณะที่ผสมผสานสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ของหลายชาติเข้าด้วยกัน เราจึงพบเห็นมัสยิดที่มีอิทธิพล ของสถาปัตยกรรมไทย ชวา มลายู อินเดีย
อาหรับ และเปอร์เซีย รวมถึงสถาปัตยกรรมยุโรปในที่หลายๆ แห่ง
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดในแต่ละยุคสมัย จึงเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับทราบเรื่องราวในอดีตอีกทางหนึ่ง |
ปัจจุบันในประเทศไทยมีมัสยิดหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มัสยิดที่สำคัญในกรุงเทพฯ ได้แก่ มัสยิดที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มัสยิดในศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ มัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม มัสยิดต้นสน และมัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะฮ์ ส่วนมัสยิดที่สำคัญในต่างจังหวัด ได้แก่ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี มัสยิดช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี และมัสยิดมูการ์ร่ม จังหวัดภูเก็ต
|