ประเภทของมัสยิด
หลักคำสอนของศาสนาอิสลามไม่ได้ระบุถึงกฎเกณฑ์ที่ตายตัวสำหรับรูปแบบของมัสยิดไว้
แต่การตีความคำสอนที่เกี่ยวข้อง ในคัมภีร์อัลกุรอาน
และการยึดถือแนวทางคำสอน รวมทั้งแบบอย่างในการสร้างมัสยิดของท่านศาสดา
มุฮัมมัด (ซ.ล.) ในนครมะดีนะฮ์
ได้ถูกนำมาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างและการใช้งานมัสยิด
เมื่อศาสนาอิสลามแผ่ขยายสู่ส่วนต่างๆ ของโลก รูปแบบของมัสยิดได้พัฒนาขึ้น
เกิดเป็นมัสยิดรูปแบบต่างๆ ซึ่งลักษณะและขนาดของการใช้งานที่แตกต่างกัน
จึงทำให้เกิดมัสยิดประเภทต่างๆ ประกอบกับเมื่อได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ
เช่น นโยบายการปกครองและการศาสนา
ทำให้มัสยิดแต่ละแห่งมีรูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์
นอกเหนือจากมัสยิดสำคัญ
๓ แห่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานและบันทึกอัลหะดีษ ได้แก่ มัสยิดอัลฮะรอม
มัสยิดอัลนะบะวีย์ และมัสยิดอัลอักซอ แล้ว
มัสยิดทุกแห่งในโลกต่างมีฐานะหรือศักดิ์ที่เท่าเทียมกันในมุมมองของศาสนา
โดยทั่วไป สามารถจำแนกมัสยิดออกเป็นประเภท เพื่อการศึกษา ได้ดังนี้
๑) มัสยิดที่ใช้ในเทศกาลสำคัญ (มุศ็อลลา)
มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งที่ใช้ละหมาดในโอกาสสำคัญที่มีผู้ละหมาดรวมกันเป็นจำนวนมาก
เช่น วันอีดิลฟิตริ์ วันอีดิลอัฎฮา
ในวันดังกล่าวบรรดาญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ
จะกลับมาทำพิธีร่วมกัน จึงต้องการพื้นที่ใช้งานมากกว่าปกติ
ซึ่งมักเป็นพื้นที่โล่งที่มีแท่นมิมบัร หรือซุ้มมิห์รอบอยู่ทางด้านกิบละฮ์
เพื่อแสดงทิศทางในการละหมาด เมื่อเสร็จพิธี ก็จะแปรสภาพเป็นพื้นที่โล่ง
สำหรับรองรับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนได้
|
มัสยิดกลางบัดชาฮี ประเทศอินเดีย (ที่มา : Grover, 2006: 129.) |
๒) มัสยิดกลาง (ยะมีอะฮ์)
ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก
เช่น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ มักมีมัสยิดกลางสำหรับละหมาดร่วมกัน
โดยเฉพาะในวันศุกร์ มุสลิมจากมัสยิดแต่ละชุมชนจะมาละหมาดรวมกัน
และฟังคำอบรมสั่งสอนก่อนละหมาด (คุตบะฮ์) ที่มัสยิดกลาง
มัสยิดกลางจึงมีแท่นมิมบัร สำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บขึ้นไปกล่าวคุตบะฮ์
และเป็นโอกาสที่มุสลิม จะได้ร่วมพบปะสังสรรค์
หรือขัดเกลาจิตใจกันสัปดาห์ละครั้ง
นอกเหนือไปจากการละหมาดประจำวันในมัสยิดชุมชน
มัสยิดกลางจึงมักเป็นศูนย์กลางของเมือง ที่มีสถานที่สำคัญอื่นๆ
อยู่รายรอบ เช่น ศาลากลางจังหวัด อาคารรัฐสภา มหาวิทยาลัย อาคารร้านค้า
ชุมชน
|
มัสยิดวาดีอัลฮูเซน จังหวัดนราธิวาส |
๓) มัสยิดชุมชน (มัสยิด)
ในชุมชนมุสลิมแต่ละแห่งมักมีมัสยิดชุมชนเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจและประกอบกิจกรรม
ซึ่งโดยปกติ จะต้องมีการละหมาดวันละ ๕ เวลาเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันศุกร์
มัสยิดชุมชนหลายแห่งไม่มีการละหมาดรวมกัน
โดยมักไปละหมาดรวมกันที่มัสยิดกลาง จึงไม่จำเป็นต้องมีแท่นมิมบัร
สำหรับการกล่าวคุตบะฮ์เหมือนในมัสยิดกลาง
|
มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ | ๔) มัสยิดส่วนบุคคล (บะลาซะฮ์)
ในชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจากมัสยิด มักมีการสร้างอาคารขนาดเล็ก สำหรับละหมาดรวมกันในหมู่เครือญาติ
ที่มีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน
สำหรับมัสยิดส่วนบุคคลมักสร้างเป็นอาคารลักษณะชั่วคราว
ซึ่งอาจมีการขยายต่อเติม และสร้างเป็นอาคารมัสยิดถาวร
เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น |
๕) มัสยิดอื่นๆ
เป็นมัสยิดที่สร้างอยู่ร่วมกับอาคารอื่นๆ
ในลักษณะต่างๆ เช่น มัสยิดที่อยู่ร่วมกับสุสาน มัสยิดในห้างสรรพสินค้า
มัสยิดในสนามบิน มัสยิดในโรงพยาบาล มัสยิดในพระราชวัง มัสยิดในมหาวิทยาลัย |