ขั้นตอนการแสดง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 36
เล่มที่ ๓๖
เรื่องที่ ๑ มัสยิด
เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี
เรื่องที่ ๓ เกวียน
เรื่องที่ ๔ ทองคำ
เรื่องที่ ๕ มะคาเดเมีย
เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์
เรื่องที่ ๗ แอนิเมชัน
เรื่องที่ ๘ โรคมาลาเรีย
เรื่องที่ ๙ โรคไต
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี / ขั้นตอนการแสดง

 ขั้นตอนการแสดง
ขั้นตอนการแสดง

การแสดงละครชาตรีแก้บนมีธรรมเนียมการแสดงแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ พิธีกรรม การแสดงละคร และพิธีลาโรง โดยขั้นตอนของการแสดงทั้ง ๓ ส่วนกำหนดไว้เป็นลำดับ ดังนี้
การรำถวายมือ ซึ่งเป็นการรำ เพื่อบูชาครูก่อนการแสดงละครชาตรี โดยมีเจ้าภาพนั่งชมการแสดงด้วย
การรำถวายมือ ซึ่งเป็นการรำ เพื่อบูชาครูก่อนการแสดงละครชาตรี โดยมีเจ้าภาพนั่งชมการแสดงด้วย
๑. ภาคเช้า 

มีทั้ง พิธีกรรม และการแสดงละคร โดยมีขั้นตอน  ดังนี้

๑) พิธีทำโรง
๒) บูชาครู
๓) โหมโรง
๔) ร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
๕) รำถวายมือ
๖) ประกาศโรง
๗) รำซัดชาตรี
๘) แสดงละคร
๙) ลาเครื่องสังเวย

๒. ภาคบ่าย 

มีทั้ง พิธีกรรม การแสดงละคร และพิธีลาโรง โดยมีขั้นตอนดังนี้

๑) โหมโรง
๒) ประกาศโรง
๓) แสดงละคร และปิดการแสดง
๔) พิธีลาโรง

ขั้นตอนการแสดงมักขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จัดแสดง หากเป็นการแสดงแก้บนที่บ้านของเจ้าภาพ ซึ่งปลูกโรงสำหรับทำการแสดง ก็มักมีขั้นตอนเต็มรูปแบบ แต่จะตัดทอนบางขั้นตอนออกไป เช่น พิธีทำโรง รำถวายมือ หากเป็นการแสดงแก้บน ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี จะรำกันภายในวิหารหรือหน้าประตูวิหาร ส่วนการแสดงละคร จะแสดงในศาลาหน้าวิหาร ซึ่งในภาคเช้าและภาคบ่ายมีรายละเอียดดังนี้

ภาคเช้า

ในช่วงเช้าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการทำพิธี หลังจากเสร็จพิธีกรรมแล้ว จึงมีการแสดง แล้วจบด้วยพิธีลาเครื่องสังเวย ซึ่งต้องทำก่อนเวลา ๑๒.๐๐ น. ในภาคเช้าเริ่มด้วยพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้
โรงละครชาตรีของคณะปทุมศิลป์ และคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี ตั้งโรงแสดงบริเวณหน้าโบสถ์ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
โรงละครชาตรีของคณะปทุมศิลป์ และคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี ตั้งโรงแสดงบริเวณหน้าโบสถ์ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
๑. พิธีทำโรง

เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงแสดง เพื่ออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์ บรรพบุรุษ มาชุมนุม เพื่ออำนวยพร ให้เกิดความเป็นสิริมงคล โดยแบ่งออกเป็น การปลูกโรง และการเบิกโรง

การปลูกโรง

โรงละครชาตรีแต่เดิมเป็นศาลาโถง โดยใช้เสา ๔ ต้น ปักตรงมุม ๔ มุม เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางโรงมีเสากลาง ๑ ต้น ซึ่งเดิมใช้ไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้กฤษณา แต่ปัจจุบันไม้ ๒ ชนิดนี้หายากขึ้น จึงใช้ไม้ไผ่แทน พิธีกรรมของการปักเสากลาง มีความเชื่อเล่าสืบต่อกันมาว่า พระเทพสิงหรกับแม่ศรีคงคาเป็นสามีภรรยากัน และมีความสามารถในการแสดงละครชาตรีมาก แม้กระทั่งนางฟ้าก็ชวนกันมาดู จนลืมขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร ทำให้พระอิศวรกริ้ว ตรัสว่า จะจัดละครโรงใหญ่ขึ้นแสดงประชัน และจะทำลายการแสดงของพระเทพสิงหร พระวิสสุกรรมจึงทูลเตือนพระอิศวรว่า พระองค์เป็นใหญ่ในโลก ไม่สมควรจะไปทับถมผู้น้อย แต่พระอิศวรไม่ยอมรับฟัง พระวิสสุกรรมจึงแจ้งแก่พระเทพสิงหรและแม่ศรีคงคาว่า ถ้าจะจัดแสดงละครชาตรีขึ้นเมื่อใด พระองค์จะเสด็จมาประทับป้องกันภัยอันตราย และไม่ให้แสดงแพ้พระอิศวร จึงมีการทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้กลางโรง เพื่อให้พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับตลอดการแสดง จึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า โรงละครชาตรีต้องมีเสากลาง และเสากลางนี้ยังใช้เป็นที่ผูกซองคลี ซึ่งเป็นซองสำหรับใส่อาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการแสดง เพื่อสะดวกในการหยิบจับ ต่อมาธรรมเนียมการมีเสากลางก็ยกเลิกไปพร้อมกับความเชื่อดังกล่าว ปัจจุบัน โรงละครชาตรีปลูกเป็นศาลาโถง มีเสาอยู่ ๔ มุม ขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ปูเสื่อบนพื้นโรง ซึ่งเป็นดิน ด้านหนึ่งมีตั่ง สำหรับนั่งแสดง หันหน้าไปทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแก้บนถวาย สองข้างตั่งมีที่สำหรับวางศีรษะฤษี ชฎา และมีถังคลีไว้ใส่อาวุธ และอุปกรณ์การแสดง ส่วนวงปี่พาทย์ตั้งอยู่ด้านข้างหรือด้านตรงข้ามกับตั่ง อีก ๒ ด้าน เป็นที่นั่งพักผู้แสดง ซึ่งทำหน้าที่ตีกรับ และเป็นลูกคู่ร้องรับบทตัวละครที่กำลังแสดง โดยมีผู้ชมนั่งอยู่รอบๆ
ผู้แสดงบูชาครูก่อนทำการแสดง
ผู้แสดงบูชาครูก่อนทำการแสดง
การเบิกโรง

การประกอบพิธีเบิกโรงจะทำพิธีเมื่อปลูกโรงเสร็จแล้ว โดยมีขั้นตอนในการทำพิธี ๓ ขั้นตอน คือ การบูชาครู การปัดเสนียดจัญไร และการสะกดโรง
๑) การบูชาครู หัวหน้าคณะละครหรือโต้โผผู้ทำพิธีจะห่มหรือคล้องคอด้วยผ้าสีขาว จุดธูปเทียนบูชาครู นั่งบริกรรมคาถาอยู่กลางโรง พร้อมวางเครื่องบูชาหันหน้าเข้าโรง เครื่องบูชา ประกอบด้วย

๑. ชุดบูชาครู เช่น ศีรษะฤษี หน้าพราน พร้อมด้วยเครื่องบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ
๒. ศิราภรณ์หรือเครื่องแต่งตัวของผู้แสดง เช่น ชฎา มงกุฎ กะบังหน้า
๓. เครื่องดนตรี เช่น โทนชาตรี ๑ คู่ ิตะโพน ฉิ่ง กรับ
๔. ธูป ๓ ดอก เทียน ๓ เล่ม หมากพลู
๕ คำ สำหรับพิธีเบิกโรง
๕. ธงสีแดง ๑ ผืน ปักไว้ที่โทนชาตรี และผ้าขาวสำหรับผู้ทำพิธีใช้คล้องคอหรือห่ม

๒) การปัดเสนียดจัญไร เป็นพิธีกรรมที่ทำ เพื่อขจัดภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการแสดง เริ่มด้วยผู้ทำพิธีจะดึงธงสีแดง ออกจากโทนชาตรี แล้วยกธงขึ้นโบกเหนือศีรษะซ้ายขวา ๓ ครั้ง และโบกทวนเข็มนาฬิกา ๓ ครั้ง จากนั้น นำธงไปผูกรวมกับกิ่งมะยมที่เสาโรง โดยผูกด้วย ผ้าขาวเป็นเงื่อนกระตุก การโบกธงนี้ที่มีปรากฏอยู่ในนาฏยศาสตร์ ตำรารำของอินเดีย ซึ่งกล่าวว่า พระอินทร์โบกธงให้พวกยักษ์ที่มาก่อกวนการแสดงแก่หง่อมหมดเรี่ยวแรงไป ส่วนกิ่งมะยมที่ผูกไว้กับเสาโรงเป็นความเชื่อที่จะให้ผู้ชม ซึ่งมีทั้งเทวดาและมนุษย์ชื่นชอบนิยมการแสดง
ชุดบูชาครู
ชุดบูชาครู
๓) การสะกดโรง เป็นพิธีเชิญเทวดามาประทับ ณ โรงละคร เพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ทำพิธีนำหมากพลูมาคลี่ออกทีละคำ ใช้ไม้ตีกลองเขียนยันต์บริกรรมคาถากำกับที่ใบพลู แล้วจีบม้วนกลับเหมือนเดิม หมากพลูคำที่ ๑ ใส่ในปากโทนชาตรีใบหนึ่ง ใช้มือปิดปากโทนพร้อมว่าคาถา แล้วตีโทน หมากพลูคำที่ ๒ ใส่ในปากโทนชาตรีอีกใบหนึ่ง แล้วทำพิธีแบบเดียวกัน ใช้ไม้ตีกลองเขียนลงยันต์หน้าโทนชาตรีทั้ง ๒ ใบ แล้วรัวทีละใบ จากนั้นบรรเลงเครื่องดนตรีทุกชิ้น พร้อมว่าคาถากำกับ เป็นการบูชาพระประโคนธรรพ ครูเทพทางดนตรี เสร็จแล้วจุดเทียนนำมาวนทวนเข็มนาฬิกา เหนือเครื่องศิราภรณ์ หมากพลูคำที่ ๓ นำไปไว้ใต้ถังคลี หรือใต้เสื่อที่ปูพื้นโรง พร้อมประกาศเชิญพระแม่ธรณีให้มาคุ้มครอง และสะกดโรง ให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แล้วโยนหมากพลูคำที่ ๔ ขึ้นบนหลังคา หรือเหน็บไว้บนหลังคาโรง เพื่อเชิญเทวดา และบูชาฟ้าดิน ส่วนหมากพลูคำสุดท้ายนำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าภาพบนบานไว้ ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า การสะกดโรง ช่วยสะกดให้ผู้แสดงสามารถอดทนอดกลั้นแสดงได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเข้าห้องน้ำ เพราะมีความเชื่อว่า เมื่อแต่งหน้าแล้ว หากเข้าห้องน้ำ คาถาที่ครูลงไว้ให้ในแป้งและสีผึ้งทาปากอาจเสื่อมไป เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ก็ยกชุดบูชาครู นำไปวางไว้ข้างตั่งด้านซ้ายของโรง ส่วนศิราภรณ์วางไว้หลังตั่งหรือวางไว้บนตั่งชิดด้านหลัง ในปัจจุบัน เจ้าภาพที่มีความสามารถปลูกโรงได้มีน้อยลง พิธีทำโรงจึงค่อยๆ หมดไป เหลือเพียงพิธีสะกดโรง การบูชาพระประโคนธรรพ การบูชาพระแม่ธรณีและเทวดาต่างๆ  เพื่อป้องกันเสนียดจัญไรและทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้แสดงและคณะละครชาตรี
หัวหน้าคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี ทำพิธีบูชาครู
หัวหน้าคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี ทำพิธีบูชาครู
๒. พิธีบูชาครู  

พิธีบูชาครูจัดทำขึ้น เพื่อความเป็นสิริมงคล ขอบารมีครูคุ้มครอง และให้ประสบความสำเร็จในการแสดง โดยมีศีรษะพระภรตฤษีหรือพ่อแก่ เป็นสิ่งบูชาแทนครู บางคณะอาจบูชาหน้าพราน ซึ่งเป็นหน้ากากไม้แกะสลัก โดยมีเครื่องบูชาครู ที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ เหล้าขาว เงินกำนลและอาจมีอาหารคาวหวาน ผลไม้ น้ำ ตั้งบูชาด้วย ขณะที่ผู้แสดงทำพิธีบูชาครู เจ้าภาพจะจุดธูปเทียน เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ติดสินบนไว้ให้มารับสินบน

การรำถวายมือ ในการสาธิตการแสดงละครชาตรี ของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี แสดงที่ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๓. การแสดงโหมโรง    

เป็นการบรรเลงดนตรีก่อนแสดง โดยใช้เพลงโหมโรงหลายเพลง ซึ่งในสมัยโบราณบรรเลงเฉพาะเพลงซัดชาตรีเท่านั้น สมัยต่อมา จึงเพิ่มเพลงโหมโรงแบบละครนอก คือ เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา ต้นเข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ เชิดฉิ่ง เชิดกลอง กลม ชำนาญ กราวใน และจบลงด้วยเพลงวา การแสดงโหมโรงมีนัยหลายประการ เช่น เพื่อเป็นการบูชาครูดนตรี เทียบเสียงเครื่องดนตรี ใช้เป็นสัญญาณบอกว่า ใกล้เวลาจะเริ่มแสดง และเป็นการเรียกผู้ชม
การร้องประกาศโรงของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี แสดงที่ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การร้องประกาศโรงของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี แสดงที่ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๔. การร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์  

เป็นการร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าภาพติดสินบนไว้ให้มารับสินบน เพื่อให้สินบนขาด โดยเจ้าภาพเป็นต้นเสียงกล่าวเชิญ มีการออกนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรายการที่เจ้าภาพบนบานไว้ เช่น เครื่องสังเวย หรือละคร ผู้แสดงทั้งหมดพนมมือ หันหน้าไปทางทิศที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้แสดงเป็นตัวพระ-นางคู่หน้าทำหน้าที่เป็นต้นเสียงร้องเพลงในบทเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับในวรรคหลังหรือร้องไปพร้อมๆ กัน เพลงที่นิยมใช้ในการขับร้อง คือ เพลงช้างประสานงา เพลงแขกหนัง เพลงเชื้อ เพลงลาวเสี่ยงเทียน บทร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคณะ ดังตัวอย่างบทร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของคณะขวัญเมืองประดิษฐ์ศิลป์ จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้

บทร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
(เพลงช้างประสานงา)
        สิบนิ้วลูกหนอยอประนม        ยกขึ้นตั้งบังคมเหนือเกศา
เจ้าพระคุณศักดิ์สิทธิ์เรืองฤทธา        ได้เป็นที่พึ่งพาของมนุษย์
ท่านผู้ใดขัดสนมาบนบาน            พ่อโปรดปรานปรานีเป็นที่สุด
คุณพ่อชูช่วยไม่ม้วยมุด            ทั้งใต้ฟ้ามนุษย์ได้อาศัย
ละครได้มารำอยู่หน้าศาล            วันนี้เขามีงานเป็นการให­ญ่
เขาจะแก้สินบนที่บนไว้            พ่อโปรดช่วยอวยชัยลูกบ้างรา
เจ้าของงานจุดธูปเทียนเวียนคำนับ        ขอเชิ­คุณพ่อมารับเอาเถิดหนา
เชิญ­พ่อสังฆราชเจ้าแตงโมเป็นเจ้าของ        ขอเชญิ­มารับมาจองเอาเถิดหนา
เชิญ­คุณพ่อหลักเมืองทองทรงศักดิ์        พ่อก็เป็นหลักเมืองเรืองพารา
เชิญ­เจ้าวัดเจ้าวาอยู่ที่นี่            ได้มาก่อร่างสร้างที่แต่ก่อนมา
คุณพ่อมาถึงแล้ว                              คลาดแคล้วขึ้นประทับบนพลับพลา
ผ้าขาวเขาก็ปูไว้สวยสม            ส่วนร่มเขาก็กางเอาไว้ท่า
เขามีทั้งหมอนอิงพิงพนัก            ไว้รอรับองค์เทพท้าวเทวา
เขามีทั้งหัวหมูและบายศรี            บัดนี้เขาก็แต่งเอาไว้ท่า
เขามีทั้งกล้วยสุกมะพร้าวอ่อน        พร้อมไปด้วยธูปเทียนชวาลา
ขนมต้มแดงแป้งจี่                ทั้งข้าวไข่เขาก็มีเอาไว้ท่า
เขาบนอย่างไรถวายอย่างนั้น            สารพันที่จะมีอยู่นานา
เชิญ­คุณพ่อมารับสินบนไป            ให้ขาดกันวันนี้เจ้าพ่อหนา
ลูกขอให้ขาดกันวันนี้นา            อย่าให้เป็นสินบนหน้าสินบนหลัง
ทั้งสินบนหน้าสินบนหลัง            ให้ขาดกันวันนี้เจ้าพ่อหนา
ละครกล่าวคำจะรำถวาย                     ทั้งพระหัตถ์เบื้องซ้ายและเบื้องขวา
(ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว)

การแสดงละครชาตรีแก้บนไม่จำเป็นต้องไปจัดแสดงในสถานที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าภาพบนไว้ เพียงแต่กล่าวเชิญให้มารับสินบนดังคำร้องเชิญข้างต้นก็ได้

๕. รำถวายมือ  

เป็นการรำเพื่อบูชาครู และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เจ้าภาพประสบความสำเร็จตามที่บนบานไว้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ ในการแก้สินบน เพื่อให้การแก้สินบนเสร็จสมบูรณ์ การรำถวายมือมี ๒ แบบ คือ รำถวายมือเป็นยก ไม่มีการแสดงละคร และรำถวายมือก่อนแสดงละคร หรือรำเบิกโรง ผู้แสดงมีจำนวนตามที่เจ้าภาพกำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่า ๖ คน แต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง หรือตามท้องเรื่องนั้นๆ โดยยืนรำเป็นคู่ หันหน้าไปทางทิศที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพลงที่ใช้รำถวายมือ คือ เพลงช้า-เพลงเร็ว ท่ารำก็เป็นท่ารำตามแบบพื้นฐานรำไทย
การรำละครแก้บน แสดงที่ศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ
การรำละครแก้บน แสดงที่ศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ
๖. ประกาศโรง      

เป็นการร้อง เพื่อบูชาและสรรเสริญพระคุณครู บิดามารดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมแรกที่ร้องแบบชาตรี ซึ่งเป็นบทร้องที่บรรพบุรุษ ใช้ร้องสืบต่อกันมา ใช้ทำนองเพลงกรับและร้องกำพรัดเป็นสำเนียงร้องทำนองนอก เนื้อร้องคล้ายบทโนรา ผู้ทำหน้าที่ประกาศโรง คือ หัวหน้าคณะ คนบท หรือผู้แสดงเป็นพระเอก โดยต้องได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบทอดการประกาศโรงเท่านั้น ปัจจุบัน บทร้องประกาศโรงที่ยังใช้กันมีอยู่ ๓ บท คือ บทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บทครูสอนกับบทสอนรำ และบทสรรเสริญคุณบิดามารดา บทแรกเป็นบทหลักที่ต้องใช้ประกาศโรงทุกครั้ง ส่วนบทที่ ๒ และบทที่ ๓ อาจยกเว้นไม่ต้องใช้ก็ได้
๑. บทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์        

การแสดงบทนี้ ผู้แสดงจะนั่งอยู่บนตั่ง แล้วทำท่ารำไปตามบทร้อง ดังตัวอย่างบทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของคณะพรหมสุวรรณ์ จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังนี้

         คุณเอยคุณครู                เหมือนดั่งแม่น้ำพระคงคา
คิ่นคิ่นแล้วจะแห้งแต่ก็ยังไหลมา            ยังไม่รู้สิ้นไม่รู้สุด
สิบนิ้วลูกหนอลูกจะยอดำเนิน            สรรเสริ­ไหว้คุณพระพุทธ
ลูกจำศีลเอาไว้ให้บริสุทธิ์            ไหว้พระเสียแล้วจึงสวดมนต์
ลูกไหว้พระพุทธพระธรรมทั้งพระสงฆ์เจ้า        ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม
เล่นไหนให้ดีมีคนรัก                หยุดพักให้ดีมีคนชม
ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม                ถวายบังคมทุกราตรี
กลางคืนจะไหว้พระจันทร์เจ้า            คุณนายมหาตโยคี
ขอศัพท์ขอเสียงให้เกลี้ยงดี            จะร้องกล่าวธรรมกล่อมจิต
กลางคืนจะไหว้พระจันทร์เจ้า            เช้าเช้าจะไหว้พระอาทิตย์
บทบาทพลาดพลั้งอย่าร้องผิด            ผิดน้อยจะขอความสมา
จะขอไปด้วยทั้งปัญญา             สะสมไปด้วยทั้งปั­­ญญา
ขอศัพท์ขอเสียงลูกบ้างรา                ปัญญาลูกมาเหมือนน้ำไหล
ขอศัพท์ขอเสียงลูกดังก้อง            เหมือนฆ้องชวาเขาหล่อใหม่
ขอศัพท์ขอเสียงลูกเกลี้ยงใจ            ไหลไปเหมือนท่อธารา
*ลอยเสียแล้วล่องเอย                ยูงทองมันล่องตามน้ำมา

* บทนี้จะร้อง เมื่อมีการรำซัดต่อ

๒. บทครูสอนและบทสอนรำ

การแสดงบทนี้ ผู้แสดงจะนั่งรำอยู่บนตั่ง โดยมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับจนจบบทครูสอนและบทสอนรำ บทสอนรำมีท่ารำ ๑๒ ท่า คล้ายกับท่ารำ ๑๒ ท่าของโนรา ดังตัวอย่างบทครูสอนและบทสอนรำของละครชาตรีคณะบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้

บทครูสอน
        กระสวยสอนงา                อย่างเรากระสวยสอนงา
ครูสอนให้ผูกผ้า                    สอนให้ข้าทรงกำไล
ครูสอนให้ทรงเทริดน้อย                อีกทั้งแขนซ้ายแขนขวา
เรากระเดื่องเยื้องแขนซ้าย                ตีค่าได้ห้าตำลึงทอง
เรากระเดื่องเยื้องแขนขวา                ตีค่าได้ห้าพระพารา
ตีนเราก็ถีบเอาพนัก                ส่วนมือก็ชักเอาสายทอง
จะหาไหนได้เหมือนน้อง                ลำยองเหมือนเทวดา

บทสอนรำ
        ครูข้าเจ้าเอย            ให้รำเพียงพก
มาวาดไว้ที่ปลายอก        กนกเป็นแผ่นผาลา
ชูขึ้นเสมอหน้า            เรียกว่าระย้าดอกไม้
ปลดปลงลงมาได้            ครูให้ข้ารำเป็นโคมเวียน
ฉันมีรูปภาพ            วาดไว้ให้เหมือนดังรูปเขียน
กนกเป็นโคมเวียน            ย่างเท้าตะเคียนมาพาดตาล
ฉันนี้เหวย                พระพุทธเจ้าท่านห้ามมาร
ฉันนี้นงคราญ            นารายณ์จะข้ามพระสมุทร
รำเล่นสูงสุด            พระยาครุฑร่อนมา
ครุฑแลเห็นนาค            ครุฑก็ลากถลา
กลับเป็นรูปครุฑ            ฉุดนาคนาคา
ฉวยฉุดนาคได้            พาไปเวหา
เป็นรูปหนุมาน            ทะยานไปเผาเมืองลงกา
เป็นรูปเทวา                ขึ้นขี่อาชาชักรถ
ฤาษีดาบส                ลีลาจะเข้าพระอาศรม
สี่มุมปราสาทวาดไว้        ให้เป็นเหมือนหน้าพรหม
มานั่งจงกรม            คือองค์นารายณ์จะน้าวศร
ฉันนี่บวร                นารายณ์จะวางพระศรชัย

๓. บทสรรเสริญคุณบิดามารดา  

เป็นการร้องกำพรัด ซึ่งเป็นทำนองนอกที่พรรณนารำลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ปัจจุบันผู้ที่สามารถร้องได้มีน้อยลง และไม่ค่อยนิยมแสดง เนื่องจากอาจต้องการความรวดเร็วจึงต้องตัดทอนบทร้องนี้ให้สั้นลง ดังตัวอย่างบทสรรเสริญพระคุณบิดามารดาของละครชาตรี คณะนายสมพงษ์  จันทร์สุข จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๘

ร้องกำพรัด
        ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ        จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา
คุณพระแม่เอยเลี้ยงข้ามา                ได้พิทักษ์รักษาจนรอดตัว
เลี้ยงลูกน้อยจนโตให­่                น้ำใจมิให้ลูกได้ชั่ว
กว่าลูกจะรอดมาเป็นตัว                คุณพระแม่อยู่หัวก็ผ่ายผอม
อุตส่าห์หาวนอนจนค่อนรุ่ง            กลัวริ้นกลัวยุงจะไต่ตอม
ฟักฟูมแม่ก็อุ้มมาถนอม                ค่ำเช้าแม่กล่อมให้ลูกหลับ
(เปลี่ยนทำนอง)

ผูกเปลเวช้าเอาผ้ามาวง                กลัวละอองผองผงจะลงทับ
ยามรุ่งแม่นอนบ่ห่อนหลับ            ตรับหูคอยฟังเสียงลูกร้อง
เมื่อยามพระแม่จะกินข้าว            แม่เจ้ามิทันจะอิ่มท้อง
ได้ยินเสียงลูกตื่นสะอื้นร้อง            แม่ละไว้ค่อยย่องมองเข้ามา
ครั้นถึงจึงจับเอาสายเปล            แม่ก็ร้องโอ้ละเห่โอละชา
ครั้นลูกร้องนักแม่ก็สอดมือยก            กลัวลูกจะตกจากเปลผ้า
ฟักฟูมแม่ก็อุ้มเจ้าเดินมา                กินนมชมหน้าสำรา­ใจ
ลูกคิดคิดถึงพระคุณมารดา            รำลึกขึ้นมาน้ำตาไหล
ลูกน้อยจะได้สิ่งอันใด                เอาไปแทนคุณพระมารดา

(เปลี่ยนทำนอง)
โกยเอยโกยทราย                ในสินสมุทรผุดขึ้นมา
เอามาชั่งกับคุณพระมารดา            ทรายนั้นเบากว่าหาเท่าไม่
คุณเอยคุณของพี่                หนักแล้วยิ่งกว่าภูเขาใหญ่
ครั้นว่าหาเท่าพระแม่ไม่                ที่ได้พิทักษ์รักษา
คุณเอยคุณของพ่อ                หนักแล้วยิ่งกว่าแผ่นฟ้า
อีกทั้งคุณพระราชมารดา                หนักแล้วยิ่งกว่าแผ่นดิน
อีกทั้งน้ำนมข้าวแม่ป้อน                แม่เคี้ยวแม่คายให้ลูกกิน
ลูกไม่ลืมฟ้าไม่ลืมดิน                ไม่ลืมคุณพระราชมารดา

วิธีการร้องกำพรัด
ผู้เป็นต้นเสียงจะร้องนำแล้วลูกคู่ร้องตาม ดังนี้

ต้นเสียงร้อง : ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ  จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา
ลูกคู่ร้องรับ : ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ  จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา

จะร้องรับเช่นนี้ไปจนถึงบท "ค่ำเช้าแม่กล่อมให้ลูกหลับ" จึงเปลี่ยนทำนองใหม่ ดังนี้

ต้นเสียงร้อง : ผูกเปลเวช้า (เอย) เอาผ้ามาวง  กลัวละออง (ขวัญเอย)  ผองผง (ซ้ำ) จะลงทับ
ลูกคู่ร้องรับ : กลัวละออง (ขวัญเอย)  ผองผง (ซ้ำ) จะลงทับ
ต้นเสียงและลูกคู่ร้องพร้อมกัน : ข้าเจ้าเอย  หน่องเอ๋ย (น้องเอย)

จะร้องรับเช่นนี้ไปจนถึงบท "เอาไปแทนคุณพระมารดา" แล้วจึงเปลี่ยนทำนองเป็นเพลงกรับชาตรีไปจนจบเพลง

เมื่อจบบทร้องประกาศโรงแล้ว ผู้แสดงจะลงจากตั่ง และคุกเข่าที่พื้นเวทีหน้าตั่ง แล้วรำซัดชาตรีต่อไป วงดนตรีทำเพลงบรรเลงโทนชาตรี แต่บางคณะอาจร้องประกาศโรงแบบย่อ และไม่มีรำซัดชาตรีต่อ
๗. รำซัดชาตรี หรือรำซัดหน้าบท หรือรำซัดหน้าตั่ง  

เป็นการรำบูชาครูก่อนเริ่มการแสดงละครและรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้รำต้องบริกรรมคาถาขณะที่รำด้วย และต้องเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในกลุ่มเครือญาติ ท่ารำซัดของละครชาตรีเมืองเพชรมี ๑๒ ท่า ซึ่งแปลงมาจากท่ารำโนรา โดยอาจเลือกรำเพียงบางท่าก็ได้  
รำซัดชาตรี เป็นการรำบูชาครู ก่อนเริ่มการแสดงละครชาตรี
รำซัดชาตรี เป็นการรำบูชาครู ก่อนเริ่มการแสดงละครชาตรี
๘. การแสดงละคร  

เมื่อทำพิธีในช่วงเช้าเสร็จก็เริ่มการแสดงละคร ลำดับของการแสดงละครมี ๓ ขั้นตอน คือ การเปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง และการปิดเรื่อง
การสาธิตการแสดงละครชาตรีของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี เรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
การสาธิตการแสดงละครชาตรีของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี เรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
๑) การเปิดเรื่อง

แบ่งเป็น การตั้งบท และการส่งบท การตั้งบทเริ่มด้วย ตัวพระเริ่มแสดงจับเรื่อง โดยร้องเพลงบทแรกหรือเพลงหน้าบท เมื่อร้องจบแล้ว จึงเริ่มเจรจาเล่าความเดิมของเรื่อง พร้อมกับแนะนำตัวว่า เล่นเป็นตัวละครตัวใด ทำอะไรมา และจะทำอะไรต่อไป การส่งบท คือ การที่ตัวละครแต่ละตัวที่จะหมดบทในแต่ละฉากนั้น จะต้องกล่าวถึงตัวละครตัวต่อไป หรือเชื่อมโยงเหตุการณ์ตอนต่อไป เพื่อให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

๒) การดำเนินเรื่อง ในละครชาตรีเน้นความ

รวดเร็ว สนุกสนาน จัดจ้าน ตลกขบขัน ไม่ค่อยเน้นสาระของเนื้อเรื่อง เมื่อดำเนินเรื่องด้วยการร้องตามบทแล้ว จะมีการแทรกบทเจรจาทบทวนในบทร้อง เพื่อขยายความให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น บางครั้งเจรจาในบทสองแง่สองง่าม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกขบขัน

๓) การปิดเรื่อง

มักปิดเรื่องตามเวลาที่กำหนด สำหรับการแสดงในภาคเช้าจะปิดเรื่องก่อนเวลา ๑๒.๐๐ น. เพื่อพักเที่ยง การแสดงก็รวบรัด ให้จบความช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มแสดงต่อในภาคบ่าย  
การสาธิตการแสดงละครชาตรีของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี เรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
การสาธิตการแสดงละครชาตรีของคณะเบ็ญจา (ศิษย์) ฉลองศรี เรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
ในส่วนของการบอกบท เดิมมีผู้บอกบทที่คอยกำกับบททั้งเนื้อเรื่องและเพลงที่ใช้ให้แก่ผู้แสดงและวงปี่พาทย์ แต่ปัจจุบัน ตัวละครเป็นผู้ร้องเอง โดยด้นกลอนตามเนื้อเรื่องจากความจำ แต่บางครั้งก็มักใช้การด้นกลอนสด ซึ่งภาษาอาจขาดความสละสลวย เมื่อผู้แสดงร้องต้นบทเองวรรคหนึ่งแล้ว ลูกคู่ก็ร้องรับ เมื่อร้องและรำจบไปตอนหนึ่ง ก็เป็นช่วงเจรจา เริ่มจากแนะนำตัวว่า ชื่ออะไร เป็นใคร และจะทำอะไรต่อไป เพื่อให้ผู้ชมมีความเข้าใจ เมื่อผู้แสดงในบทบาทใดๆ แสดงเสร็จในแต่ละตอน จะถอดเครื่องสวมศีรษะออก แล้วไปนั่งข้างวงปี่พาทย์ เพื่อเป็นลูกคู่ช่วยร้องรับ จนกว่าจะถึงบทของตน จึงออกมาแสดงอีกครั้ง

เจ้าภาพทำพิธีลาเครื่องสังเวย เป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บนบานไว้ให้มารับสินบน ในการแสดงละครชาตรี วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

๙. พิธีลาเครื่องสังเวย  

เป็นการลาเครื่องสังเวย โดยบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าภาพบนบานไว้ให้มารับสินบน พิธีนี้ทำก่อนเวลา ๑๒.๐๐ น. เป็นไปตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา ถือว่า เป็นการหยุดพักการแสดงในภาคเช้า เพื่อให้ผู้แสดงพักเที่ยง มีวิธีหยุดพักการแสดง โดยคนบอกบทจะให้สัญญาณผู้แสดง ซึ่งมักเป็นพระเอกหรือตัวตลกเจรจาตัดบท เช่น พระเอกกล่าวว่า "ศิษย์ขอกราบลาพระอาจารย์กลับไปหาบิดา" ส่วนพระอาจารย์ก็จะกล่าวว่า "อย่าเพิ่งไปเลยลูกเอ๊ย แดดร้อนตะวันเที่ยง ให้... (เอ่ยนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าของสินบน) มารับสินบนให้ขาดก่อน แล้วบ่ายๆ ค่อยไป" เมื่อจบคำกล่าว จึงหยุดพักการแสดง ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงเชิด เจ้าภาพนำลาเครื่องสังเวย โดยถือเครื่องสังเวยไว้ระดับอก หันหน้าไปทางทิศที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเชิญเครื่องสังเวยขึ้นเหนือศีรษะ ก่อนวางลง แล้วเจ้าภาพตัดแบ่งเครื่องสังเวยใส่กระทงเป็นบัตรพลี นำไปวางไว้ที่โคนเสาของศาลเพียงตา หรือนอกกำแพงวัด พร้อมทั้งกล่าวเชิญวิญญาณลูกศิษย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณทั่วไป มารับไป ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการแสดงและพิธีกรรมในภาคเช้า

เจ้าภาพทำพิธีลาเครื่องสังเวย เป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บนบานไว้ให้มารับสินบน ในการแสดงละครชาตรี วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

ภาคบ่าย


การแสดงในภาคบ่ายมีทั้งส่วนพิธีกรรมและส่วนละคร เริ่มด้วยปี่พาทย์บรรเลงโหมโรง เวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. เพลงที่ใช้ ได้แก่ กราวใน รัว ครอบจักรวาล สิบสองภาษา ลงท้ายด้วยเพลงวา แล้วต่อด้วยบทประกาศโรง

๑. ประกาศโรง  

เป็นการร้องหน้าบทก่อนการแสดงละคร มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพรรณนาชีวิตของผู้แสดง เพื่อขอความรักความเห็นใจจากผู้ชม และสร้างความเพลิดเพลินคลายร้อน ไม่มีการร้องรำทำบทเหมือนภาคเช้า ดังตัวอย่างบทประกาศโรงบ่าย คณะพรหมสุวรรณ์ จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๗

เพลงยามบ่าย
(เพลงชาตรีกรับ)
        ยามบ่าย                พระตะวันท่านฉายบ่ายไปแล้ว
พี่ทำไมได้อยู่โลมโฉมน้องแก้ว        เหนื่อยนักพักแล้วหายเหนื่อยร้อน
เมื่อยามจะสรงพระคงคา         เปลื้องผ้าภูษาไว้เสียก่อน
หยุดพักให้สบายหายเดือดร้อน        สักหน่อยหนึ่งก่อนแล้วค่อยไป
ไปไหนอย่าไปให้เย็นค่ำ            อยู่ข้างหลังเขาจะรำไว้คอยท่า
ละครอดหมากอดปูนยา            ไม่รู้ที่จะไปหาของใครกิน
ฉันจะไหว้หม่อมแม่ห่มแพรสีดำ        ขอหมากกินสักคำเป็นไรเล่า
ฉันจะไหว้หม่อมแม่ห่มแพรสีขาว    แม่เจ้าได้ควรมาปรานี
คุณแม่จงได้ปรานี            นึกว่าฉันนี้พลัดเมืองมา
ตัวฉันพลัดมาแต่บ้านนอก        แม่อย่าลวงอย่าหลอกข้า
ฉันเป็นคนขัดพลัดบ้านเมืองมา        เอ็นดูตัวข้าอย่าไยไพ

เมื่อจบบทประกาศโรงบ่าย ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด แล้วเริ่มแสดงละครในภาคบ่ายต่อไป

๒. การแสดงละคร และปิดการแสดง

ในช่วงบ่ายเป็นการดำเนินเรื่องต่อจากภาคเช้า แล้วเบนเรื่องไปแสดงบทตลกโปกฮาเป็นเวลานาน เพื่อให้คนดูรู้สึกสนุกสนาน ไม่ง่วงนอน จนบ่ายคล้อยก็กลับมารวบรัดดำเนินเรื่องให้จบตอน แต่มักยุติการแสดงในช่วงใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม ที่จะตัดบทลงจบการแสดงได้

เมื่อได้เวลาเลิกแสดงประมาณ ๑๖.๐๐ น. โดยไม่คำนึงถึงว่า เนื้อเรื่องที่แสดงจะจบตอนได้หรือไม่ ตัวละครที่แสดงอยู่ในขณะนั้น จะเป็นผู้ตัดบทปิดการแสดง โดยแทรกลงในบทเจรจาตามท้องเรื่องให้ถูกแบบแผน เช่น พระเอกเตรียมตัวจะขึ้นม้า เพื่อเดินทางไปเมืองอื่น เมื่อคนบทให้สัญญาณจบการแสดง เสนาที่เตรียมม้าไว้จะกล่าวว่า "เย็นแล้ว จะออกเดินทางแล้ว หมดสินบาทคาดสินบน คุณพ่อ...(เอ่ยนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์) มารับเอาสินบนไป ขอให้เจ้าของงานอยู่เป็นสุข... (กล่าวอวยพรเจ้าภาพ) ควรแก่เวลา" คำกล่าวปิดการแสดงมีความสำคัญจะขาดไม่ได้ เพราะนอกจากปิดเรื่องแล้ว ยังเป็นการตัดสินบนให้ขาด โดยปี่พาทย์จะทำเพลงรัวประกอบพิธีลาโรงหรือถอนโรง  

๓. พิธีลาโรง

การทำพิธีลาโรง ผู้ทำพิธีต้องเป็นคนเดียวกันกับที่ทำในช่วงเช้า โดยจะทำพิธีต่างๆ หลังจบการแสดงและถอนพิธีกรรมต่างๆ ที่อาจสะกดไว้ในช่วงเช้า โดยการบริกรรมคาถาและใช้มีดหมอตัดชายคาโรงละครที่มุงด้วยใบจาก แต่ปัจจุบัน มักใช้วิธีดึงกิ่งมะยมที่ผูกไว้กับเสาโรงออก พร้อมกับกล่าวว่า "ให้สินบนขาดกันในวันนี้" เป็นอันจบพิธีลาโรง
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป