พาหนะของคนในชนบทที่ใช้กันมากในอดีต คือ เกวียน ซึ่งใช้ในการเดินทาง
และบรรทุกสิ่งของ ในสังคมเกษตรกรรม แต่ละครอบครัวจำเป็นต้องมีเกวียนไว้ใช้
ซึ่งถ้าพิจารณาทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว เกวียนก็เปรียบเสมือนเรือนเคลื่อนที่ ของเกษตรกร |
ในอดีตมีการใช้เกวียนเป็นพาหนะหลักในการเดินทางหรือบรรทุกสิ่งของ |
ประเภทของเกวียนและบทบาทในสังคมไทย
เกวียนแบ่งออกเป็น
๒ ประเภทหลัก คือ เกวียนเทียมวัว และเกวียนเทียมควาย
แต่ทั่วไปมักเรียกกันว่า เกวียนวัว และเกวียนควาย เกวียนวัวมีขนาดเล็กกว่าเกวียนควาย ทำให้มีความคล่องตัว
จึงเหมาะกับสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ดอนสูง ป่าดง มีหล่มโคลนน้อย เช่น
ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ส่วนเกวียนควายเหมาะกับที่ราบลุ่ม
มีหล่มโคลนมากกว่า เช่น ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้
เนื่องจากเกวียนเป็นพาหนะที่ใช้สำหรับการเดินทางไกลและบรรทุกหนัก
โครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็ง
มีการเลือกไม้บางชนิดให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานในแต่ละส่วนของเกวียนด้วย
คือ ไม้พยุง ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้เค็ง ไม้พะยอม
ไม้ตะเคียน ไม้ชาด ไม้เหลื่อม ไม้กระทุ่ม ไม้จิก ไม้เพกา ฯลฯ
เพราะนอกจากจะใช้บรรทุกข้าวเป็นประจำทุกปีแล้ว
หลายแห่งก็มักมีการรวมกลุ่มกันใช้เกวียนเป็นพาหนะ
สำหรับต้อนวัวควายไปขายถึงภาคกลางและภาคตะวันออกในครั้งหนึ่งๆ เป็นเวลานาน
บางครั้งเป็นเดือน รวมทั้งรับจ้างพ่อค้า ในการบรรทุกลำเลียงสินค้า ข้าว
และของป่าจากทุ่งนาป่าดงไปยังจุดขนถ่ายสินค้าทางเรือหรือทางรถไฟ
นอกจากนี้ เมื่อมีงานบุญประเพณีต่างๆ ก็ยังใช้เกวียนร่วมขบวนแห่
หรือใช้เป็นพาหนะ สำหรับเดินทางไปนมัสการปูชนียสถานทั้งใกล้และไกล ตามโอกาส
แม้ว่าในสังคมเกษตรกรรมนำเกวียนมาใช้เพื่อบรรทุก
ขนส่ง และเดินทางในแต่ละท้องถิ่นก็ตาม
แต่ช่างเกวียนก็ยังสร้างสรรค์ความงามให้แก่เกวียน
โดยใช้วิธีต่อเติมและเพิ่มเติม คือ ต่อเติมชิ้นส่วนต่างๆ ของเกวียน
ให้มีรูปร่างอ่อนช้อยงดงามมากขึ้นกว่าปกติ
และเพิ่มเติมด้วยการเลือกใช้วัสดุตกแต่ง เขียนภาพระบายสี
หรือสลักลวดลายต่างๆ ทำให้เกวียนมีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
จนเป็นเสมือนเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมและฐานะของเจ้าของเกวียนอีกด้วย
ความสัมพันธ์ของคนไทยกับเกวียน
คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีความผูกพันกับเกวียน
และต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ดังนั้น จึงพบว่า เกวียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตหลายอย่าง ดังเห็นได้จากนิทาน ตำนาน
ประวัติศาสตร์ รวมทั้งผญาภาษิต คำพังเพย และการละเล่นของเด็ก เช่น
นิทานเรื่องเทวดากับคนขับเกวียน นิทานเรื่องโคนันทวิศาล
นิทานเรื่องคันธนามโพธิสัตว์ หรือท้าวคันธนาม ตำนานพระธาตุพนม
ตอนทรงปรารภบุพกรรมของพระพุทธเจ้า ตอนสละคนเป็นข้าโอกาสและตั้งบ้านธาตุพนม
ในพงศาวดารโยนก เรื่องพระยามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่
มีการเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีการใช้เกวียนเป็นพาหนะ รวมทั้ง ผญาภาษิต
คำพังเพยที่เป็นคติคำสอนในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม
และการละเล่นของเด็กที่เรียกว่า โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน |
รถบรรทุกที่นำมาใช้ในการขนส่งสินค้าแทนเกวียน |
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง
การคมนาคมทางรถไฟที่เป็นผลจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕
เริ่มเข้ามามีบทบาท ในการบรรทุกขนส่งและการเดินทาง แทนที่บทบาทของเกวียน
แม้จะมีการใช้เกวียน แต่มีระยะทางสั้นลง ประกอบกับในรัชกาลที่ ๕
มีการใช้กฎข้อบังคับ เพื่อควบคุมการใช้เกวียน และในรัชกาลที่ ๖
มีการกำหนดให้จดทะเบียนใบอนุญาตขับรถ รวมทั้ง ในรัชกาลที่ ๘
มีการตราพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. ๒๔๗๘
จึงทำให้มีผลกระทบต่อการทำเกวียนและการใช้เกวียนด้วย |
เกวียนที่ไม่ได้นำมาใช้งานเหมือนในอดีต จึงถูกทิ้งไว้ใต้ถุนบ้าน | สมัยต่อมามีการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ได้มีการสร้างถนนมิตรภาพ
ตามมาด้วยการสร้างถนนสายรองเชื่อมชุมชนเมือง และชนบทอย่างต่อเนื่อง
ทำให้การคมนาคมด้วยรถยนต์ทุกขนาด เข้ามีบทบาทแทนเกวียนมากขึ้นอย่างชัดเจน
เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า ส่งผลให้เกวียนที่เคยใช้กันในทุกครอบครัวค่อยๆ
ถูกนำไปเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน โดยขาดการดูแลรักษา จนเป็นเกวียนร้าง
เพราะไม่ได้ใช้งาน ปัจจุบัน ช่างเกวียนก็เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น
เพราะไม่มีคนสั่งทำเกวียน ทำให้ไม่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ |
ในปัจจุบันมีการแสวงหาเกวียนที่ถูกทิ้งร้างไว้ เพื่อการอนุรักษ์ หรือนำไปถอดชิ้นส่วนแปรรูป บางครั้งมีการสั่งทำเกวียนใหม่ แต่แม้จะสั่งทำใหม่ ก็หาไม้เนื้อแข็งมาทำได้ยาก บรรดาช่างเกวียนที่เหลืออยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาทำเกวียนแบบย่อส่วน เพื่อใช้เป็นของที่ระลึก และตั้งแสดงเท่านั้น |