เกวียนในงานวรรณกรรม - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 36
เล่มที่ ๓๖
เรื่องที่ ๑ มัสยิด
เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี
เรื่องที่ ๓ เกวียน
เรื่องที่ ๔ ทองคำ
เรื่องที่ ๕ มะคาเดเมีย
เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์
เรื่องที่ ๗ แอนิเมชัน
เรื่องที่ ๘ โรคมาลาเรีย
เรื่องที่ ๙ โรคไต
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๓ เกวียน / เกวียนในงานวรรณกรรม

 เกวียนในงานวรรณกรรม
เกวียนในงานวรรณกรรม

มีการกล่าวถึงเกวียนในวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือในรูปของผญาภาษิต คำพังเพย และการละเล่นของเด็ก ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคน ในสังคมเกษตรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเกวียน

นิทานเรื่องเล่าของแบบเรียนชั้นประถมศึกษาที่รู้จักกันดีในอดีต คือเรื่อง “เทวดากับคนขับเกวียน” เป็นคติคำสอนให้คนมีความมุมานะอดทน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน เรื่อง “โคนันทวิศาล” ที่สอนให้พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ และเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระร่วงที่ใช้ชะลอมใส่น้ำแทนโอ่งดินเผา แล้วบรรทุกเกวียนนำไปส่งส่วยให้แก่ขอม

ในหนังสือ อุรังคนิทาน มีเรื่อง “ตำนานอุรังคธาตุ” ซึ่งเป็นตำนานที่สำคัญของคนที่อาศัยอยู่ ๒ ฝั่งลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงเกวียนอยู่ในบางตอนด้วย คือ ตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ที่ทรงปรารภบุพกรรมของพระองค์ ซึ่งมีใจความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเสด็จปรินิพพาน ในระหว่างเดินทาง ทรงอาเจียนเป็นพระโลหิต พระอานนท์จึงไปจัดหาน้ำมาถวาย แต่ทุกแห่งกลับมีแต่น้ำขุ่นเป็นตม อาจเป็นเพราะกรรมเก่าตามมาสนอง จึงทรงปรารภบุพกรรมของพระองค์ว่า “ดูราอานนท์เอย เมื่อชาติก่อน ตถาคตได้เป็นพ่อค้าเกวียนเดินทางมา วัวเกวียนอยากกินน้ำใส มีอยู่ในที่ไกล น้ำขุ่นมีอยู่ในที่ใกล้ ความเกียจคร้านกับความรีบร้อนจะเดินทางไปข้างหน้ามีอยู่ เฮาจึงนำวัวไปกินน้ำขุ่นในที่ใกล้ เวรอันนั้นยังเศษเหลือ ไป่สิ้น จึงตามมาสนองแก่เฮาในบัดนี้...”  

อีกเหตุการณ์หนึ่งในตำนานเดียวกันคือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับตอนสละคนเป็นข้าโอกาสและตั้งบ้านธาตุพนม เป็นเรื่องราว เมื่อพระยาสุมิตตธรรมได้ทำการบูรณะพระธาตุพนมแล้ว จึงตรัสสั่งให้คนทั้งหลายที่พึงพอใจในพระราชศรัทธา สมัครใจอาสาเป็น “ข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้า” โดยมีเงื่อนไขจะอภัยโทษ ยกเว้นจากราชการบ้านเมือง และทั้งยังให้ที่ดิน ไร่นาทำกินด้วย ซึ่งมีคนอาสาเป็น “ข้าโอกาส” ด้วยการอาสาทำงานต่างๆ ...ทุกครอบครัวที่อาสาเป็นข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้า ได้รับพระราชทานเงิน ทองคำ อุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานครบครัน คือ มีด พร้า จก (จอบ) เสียม ขวาน สิ่ว ...รวมทั้งเครื่องใช้ที่สำคัญ คือ เรือ ๑ ลำ ควาย ๑ คู่ และเกวียน ๑ เล่ม... ทั้งหมดนี้ทุกครอบครัวได้รับพระราชทานเสมอกัน และยังให้หาลูกเมีย ญาติพี่น้องวงศ์วาน เข้าไปตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ในที่นั้นเป็น “บ้านธาตุพนม”    

ส่วนวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านอีสาน ที่กล่าวถึงเกวียนอย่างชัดเจน คือ เรื่อง “คันธนามโพธิสัตว์ชาดก” หรือ “ท้าวคันธนาม” ที่มีพ่อเป็นช้าง และด้วยเหตุที่แม่ได้ดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง เมื่อท้าวคันธนามโตขึ้น จึงมีพลังประดุจช้างสาร ต่อมา ได้ขออนุญาตแม่ออกเดินทางตามหาพ่อ จนไปถึงเมืองเมืองหนึ่ง ชื่อว่า อินทะปัตถานคร ก็ได้พบกับชายคนหนึ่งที่มีพละกำลังมาก ผู้คนขนานนามว่า “ชายไม้ร้อยกอ” เพราะสามารถลากไม้ไผ่ ๑๐๐ กอให้เคลื่อนไปได้ เมื่อได้ประลองกำลังกันแล้ว ชายไม้ร้อยกอจึงยอมเป็นข้ารับใช้ท้าวคันธนาม และเดินทางร่วมกันต่อไป ประมาณ ๒-๓ วันต่อมา ก็พบชายอีกคนหนึ่งที่คนขนานนามว่า “ชายเกวียนร้อยเล่ม” กำลังลากเกวียนที่บรรทุกข้าวเต็ม และเกวียนผูกติดกันทั้ง ๑๐๐ เล่ม จึงเข้าประลองกำลังด้วยวิธีการดึงเกวียนให้หยุด จนเชือกผูกเกวียนขาด ทำให้ชายเกวียนร้อยเล่มกระเด็นไป ๑๐๐ วา และเมื่อต่อสู้กันก็พ่ายแพ้ท้าวคันธนาม จึงยอมเป็นข้ารับใช้อีกคนหนึ่ง ทั้ง ๓ คน ก็เดินทางร่วมกันต่อไป จนกระทั่งท้าวคันธนามได้เป็นเจ้าครองเมืองขวางขันธะบุรี ก็แต่งตั้งชายไม้ร้อยกอเป็นอุปราช และแต่งตั้งชายเกวียนร้อยเล่มเป็นเจ้าแสนเมือง เมื่อครองเมืองอยู่ได้ ๑ เดือนก็ยกเมืองให้ชายไม้ร้อยกอ แล้วเดินทางร่วมกับชายเกวียนร้อยเล่มต่อไป และด้วยพละกำลังมหาศาลประดุจช้างสารท้าวคันธนามจึงได้ครองเมืองทะวาราวะดี โดยครองเมืองนี้ได้ ๓ เดือน ก็ยกเมืองให้ชายเกวียนร้อยเล่ม ส่วนตนเองก็เดินทางตามหาพ่อต่อไป

ในเรื่อง “คันธนามโพธิสัตว์ชาดก” มีส่วนขมวดท้ายเรื่อง หรือ “ม้วนชาติ” ที่เกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งกล่าวว่า ชายไม้ร้อยกอคือ พระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวาผู้ทรงปัญญา ชายเกวียนร้อยเล่มก็คือ พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ซึ่งมีเรื่องเล่าในรูปแบบความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง

นอกจากนี้ยังพบบันทึกหลักฐานที่แสดงถึงการใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทาง หรือใช้ในลักษณะการเปรียบเทียบอีกหลายแห่ง เช่น

ใน พงศาวดารโยนก เรื่อง “พระยามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่” ที่ว่า “...แล้วพระยามังรายจึงชวนพระยาทั้งสองไปสู่ที่ชัยภูมิ เพื่อจะแรกตั้งราชมณเฑียร ขณะนั้นมีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน มีบริวาร ๔ ตัว แล่นออกจากที่ชัยภูมินั้นไปหนบูรพ์ แล้วไปหนอาคเนย์ ไปลงรูแห่งหนึ่งภายใต้ต้นไม้ผกเรือก คือ ไม้นิโครธ...”  

ใน บันทึกการเดินทางในลาว ของแอมอนิเย สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ช่วง พ.ศ. ๒๔๓๘ ก็ได้ให้ความรู้เรื่องเกวียนที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ดังบางตอนว่า “...พวกเราเดินตามเส้นทางลา (La) ซึ่งเป็นชื่อเกวียนเล็ก ใช้ในแถบริมแม่น้ำในลาว เกวียนเล็ก ๒ เล่ม เทียมด้วยควายตัวเดียว ใช้บรรทุกข้าว ล้อเกวียนโดยมากแกะจากท่อนไม้ ไม้ดอกหอม (La vande) ซึ่งพวกเขมรเรียก มะอาม (Ma Am) ส่งกลิ่นหอมปกคลุมทั่วทั้งบริเวณ...” และ “...พากันออกเดินทางจากหมู่บ้านนาฮี โดยเดินตามทางล้อหรือเกวียนของพวกคนลาว...”  

สันนิษฐานได้ว่า สังคมเกษตรกรรมในอดีตมีการใช้เกวียนกันเป็นประจำจนเกิดความคุ้นเคย จึงได้นำประสบการณ์ที่พบเห็น และใช้สอยเกวียน ไปกล่าวถึงในรูปแบบต่างๆ เช่น ในผญาภาษิต หรือคำพังเพยต่างๆ ที่กล่าวถึงเกวียนโดยใช้ภาษากวีที่มีความไพเราะและมีนัยความหมายที่กินใจ ซึ่งภาษิตคำสอนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีเรื่องกฎแห่งกรรมในคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ "กงเกวียน กำเกวียน"

ส่วนคำสอนทางโลกเกี่ยวกับผู้หญิงที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ “มารยาหญิงมี ๑๐๐ เล่มเกวียน” เป็นคำกล่าวที่ไปสอดคล้องกับตำนานพระธาตุพนม ซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนฝ่ายหญิงและฝ่ายชายแข่งขันกันสร้างพระธาตุ โดยฝ่ายหญิงมีพระนางเจงเวงเป็นผู้นำในการสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง ในระหว่างการสร้าง ฝ่ายหญิงมีการใช้กลอุบาย ทำให้สร้างพระธาตุได้สำเร็จก่อนตามข้อตกลง ในที่สุดฝ่ายหญิงจึงชนะฝ่ายชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก

ทางภาคเหนือของไทยมีคำผญาภาษิตที่เกี่ยวกับเกวียนอยู่ด้วย  คือ

"อย่าไพเทิกทางล้อ   อย่าไพป้อทางเกวียน
ล้อเพิ่นจักเวียน  เกวียนเพิ่นจักหล้ม"

มีความหมายสอนว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปขวางทางเกวียนของคนอื่น จะทำให้กิจการของคนอื่นล้มเหลว ประดุจเกวียนล่มเดินทางต่อไปไม่ได้ แต่คำภาษิต ก็มักมีความหมายทางสังคมแฝงอยู่ด้วย จึงมีนัยที่สอนว่า อย่าไปขวางทางรักหรือชีวิตรักของคนอื่น จนทำให้ความรักของเขามีอุปสรรค เป็นการนำเกวียนมาเปรียบเทียบกับความรัก

ส่วนทางภาคอีสานก็พบว่า มีผญาภาษิตและกลอนคำสอนอยู่หลายแง่มุม เช่น ภาษิตที่สอนให้ระมัดระวังดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของตนเองว่า “เกวียนหล้ม  เพราะเพลาหลม” และ “เกวียนบ่มีไม้ค้ำ  หัวซิง้ำใส่ดิน” เป็นการนำเอาประสบการณ์ของการใช้เกวียนบรรทุกในการเดินทาง เจ้าของจะต้องหมั่นดูแลรักษา เพราะส่วนสำคัญของเกวียน คือ เพลา ที่ต้องรับน้ำหนักและมีแรงเสียดสีมาก ถ้าเพลาหลวมจะสึกกร่อนและหักง่าย ทำให้เกวียนอาจล่มได้ในระหว่างการเดินทาง เจ้าของจึงต้องหมั่นดูแลด้วยการตอกอั่วก่อนเดินทาง และเมื่อจอดเกวียนทุกครั้งต้องใช้ไม้ค้ำหัวเกวียนคือ ส่วนของหัวทวกเกวียน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่รับน้ำหนักตัวเกวียนทั้งหมด ถ้าปล่อยลงโดยไม่ใช้ไม้ค้ำไว้ หัวเกวียนจะคว่ำ น้ำหนักจะกดลง ทำให้ทวกเกวียนเสียหายเร็วขึ้น จนดูเหมือนเกวียนที่ชำรุดและใช้ประโยชน์ไม่ได้

บางครั้งเป็นคำสอนที่ใช้สอนคนให้ต้องคิดตระหนักว่า การทำงานต่างๆ และการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จะต้องคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน มิฉะนั้นผลที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์แบบ จนอาจเกิดปัญหาให้ต้องแก้ไขในภายหลัง ดังภาษิตที่ว่า

"นาบ่สมข้าว  เสาเฮือนบ่สมขื่อ
ผือบ่สมสาดเสี้ยน  งัวเกวียนบ่สมแอก
ตาแฮกบ่สมไก่ต้ม  งมเลี้ยงกะบ่กิน"

คำกลอนบทหนึ่งที่สอนให้คิดตระหนักเรื่อง การอยู่ร่วมกันว่า ต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน ทุกคนย่อมมีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกันได้ จึงไม่ควรมองข้ามหยามหมิ่นกัน เพราะในชีวิตจริงมักต้องเผชิญกับปัญหา ซึ่งบางครั้งอาจต้องพึ่งพาผู้อื่น หรือหากมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นได้ ก็อย่าลังเลที่จะช่วย โดยการนำเกวียนซึ่งเป็นพาหนะทางบก มาเป็นสื่อในการสอนเปรียบเทียบร่วมกับเรือซึ่งเป็นพาหนะทางน้ำ ดังคำกลอนในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ย่าสอนหลาน” คือ

"เฮือคาแก้ง  เกวียนเห็นให้เกวียนแก่
บาดห่าฮอดแม่น้ำ  เฮือซิได้แก่เกวียน"

นอกจากนี้ยังพบว่า มีกิจกรรมบางอย่างที่บ่งบอกว่า สังคมในอดีตมีความสัมพันธ์กับเกวียนอยู่ด้วย เช่น การละเล่นของเด็กในภาคอีสาน ที่เรียกว่า “โค้งตีนเกวียน” เป็นการละเล่นในเวลามีงานเทศกาลบุญข้าวสาก ตรุษสงกรานต์ ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า ระวงตีนเกวียน ที่เมื่อเล่นร่วมกันแล้ว จะมีลักษณะคล้ายตีนเกวียน (ล้อเกวียน) กำเกวียน (ซี่ล้อเกวียน) และดุมเกวียน (เท้าคนที่เล่นจะไปยันรวมกันตรงกลางวงดูคล้ายดุมเกวียน) นอกจากการละเล่นที่มีความสัมพันธ์กับเกวียนแล้ว ในอดีตยังมีการทำเข้าหนม (ขนม) บางชนิดที่มีลักษณะคล้ายกงเกวียนและตีนเกวียน เรียกชื่อขนมว่า ขนมสาระวง และขนมกง เป็นต้น
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป