สำหรับเด็กระดับกลาง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 36
เล่มที่ ๓๖
เรื่องที่ ๑ มัสยิด
เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี
เรื่องที่ ๓ เกวียน
เรื่องที่ ๔ ทองคำ
เรื่องที่ ๕ มะคาเดเมีย
เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์
เรื่องที่ ๗ แอนิเมชัน
เรื่องที่ ๘ โรคมาลาเรีย
เรื่องที่ ๙ โรคไต
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์ / สำหรับเด็กระดับกลาง

 สำหรับเด็กระดับกลาง
หุ่นยนต์ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า robot คือ “เครื่องจักรกล หรือหุ่นที่มีกลไกอยู่ภายใน สามารถทำงานได้หลายอย่างร่วมกันกับมนุษย์ หรือแทนมนุษย์”

หุ่นยนต์ตัวแรกของประเทศไทยมีชื่อว่า หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน สร้างโดยวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยมีอาจารย์สนั่น  สุมิตร และอาจารย์สวัสดิ์  หงส์พร้อมญาติ เป็นแม่งานในการสร้าง
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เป็นหุ่นยนต์เดิน ๒ ขา คล้ายมนุษย์ มีรูปร่างคล้ายคน ขนาดเท่าคนจริง แต่งกายแบบหมอ ยกมือไหว้ พูด ฟัง โต้ตอบ และสามารถทำงานอื่น ได้อีกหลายอย่าง 
ประเภทของหุ่นยนต์

หุ่นยนต์อาจแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท  ดังนี้ 

๑. หุ่นยนต์ชนิดติดตั้งอยู่กับที่

มีแขนเดียว มีข้อต่อที่มีลักษณะเหมือนข้อต่อที่ไหล่ ที่ศอก และที่ข้อมือของคน แขนสามารถขยับและเคลื่อนไหวได้ ปลายแขนมีเครื่องจับ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายมือคนสำหรับหยิบจับชิ้นส่วน หุ่นยนต์ชนิดนี้นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เรียกชื่อว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

๒. หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้

สามารถขยับเคลื่อนที่ไปได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ล้อ ขา หรือการขับเคลื่อนในรูปแบบอื่นๆ
การประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ โดยใช้หุ่นยนต์หยิบจับชิ้นส่วนต่างๆ
การประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ โดยใช้หุ่นยนต์หยิบจับชิ้นส่วนต่างๆ
กฎเหล็ก ๓ ข้อของหุ่นยนต์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นักวิทยาศาสตร์และนักประพันธ์ชาวอเมริกัน เชื้อสายรัสเซีย ชื่อ ไอแซก  อะซิมอฟ (Isaac Asimov) ได้เขียนนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่อง “รันอะราวนด์” (Run around) ขึ้น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับหุ่นยนต์และกำหนดกฎ ๓ ข้อ ของหุ่นยนต์ ไว้ในนวนิยายเรื่องนั้น คือ

๑) หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ หรือปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย
๒) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ นอกจากว่า คำสั่งนั้นจะขัดกับกฎข้อที่ ๑ และ
๓) หุ่นยนต์สามารถปกป้องตัวเองได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎข้อที่ ๑ และกฎข้อที่ ๒ 

กฎ ๓ ข้อของอะซิมอฟนี้ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจหุ่นยนต์ และเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์อย่างจริงจัง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หุ่นยนต์ให้บริการเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารแทนพนักงาน
หุ่นยนต์ให้บริการเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารแทนพนักงาน
หุ่นยนต์กับมนุษย์ และการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์

หุ่นยนต์ชนิดติดตั้งอยู่กับที่
  • โรงงานผลิตรถยนต์ ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมชนิดติดตั้งอยู่กับที่ในการหยิบจับและประกอบชิ้นส่วน เชื่อม ตัด ทากาว และพ่นสีชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นหุ่นยนต์ที่มีแขนเดียว
  • การบรรจุหีบห่อ ใช้หุ่นยนต์หยิบและบรรจุกระป๋องอาหาร กระป๋องเครื่องดื่ม จากปลายสายพานลงในหีบห่อ 
หุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้

ใช้ประโยชน์ในการทำงานที่มีอันตรายสูง งานที่สกปรก งานที่น่าเบื่อ เพราะต้องทำซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • งานที่มีอันตรายสูง เช่น งานสำรวจภายในภูเขาไฟ งานสำรวจใต้น้ำ งานสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ห่างไกลจากโลกมาก
  • งานทางการทหาร เช่น เครื่องบินไร้คนขับ หุ่นยนต์บิน
  • งานเก็บผลไม้จากสวน
  • งานในบ้านเรือน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้างและทำความสะอาดพื้นบ้าน ตัดหญ้าในสนาม
  • งานในร้านอาหาร ใช้หุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์เสิร์ฟอาหาร
  • ดูแลผู้สูงวัย ใช้หุ่นยนต์ดูแลคนชราหรือผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  • ทำความสะอาดท่อ ช่อง หรือรูเล็กๆ ในสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด เรือนจำ โรงพยาบาล โรงงานนิวเคลียร์
งานวิจัยด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในประเทศไทย 

งานวิจัยด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในประเทศไทยที่น่าสนใจ ได้แก่
  • หุ่นยนต์บิน เน้นการออกแบบและควบคุมหุ่นยนต์ งานวิจัยนี้นำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการสำรวจ การทหาร และการเกษตรกรรม
  • หุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์ โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาเกี่ยวกับพลศาสตร์ ของหุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำขาเทียมสำหรับผู้พิการ
  • หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นงานวิจัย เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ สำหรับช่วยในการสำรวจ และเก็บข้อมูลบริเวณขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทย

หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ผลงานวิจัยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ผลงานวิจัยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย

ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
  • การประกวดโครงงานหุ่นยนต์ (หุ่นยนต์ความคิดสร้างสรรค์) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กติกาการแข่งขันแตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อทำให้การแข่งขันมีความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมแข่งขัน โดยทีมชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก
  • การแข่งขันหุ่นยนต์ (การแข่งขันทำภารกิจบนสนามไม้) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กติกาการแข่งขันแตกต่างกันไปในแต่ละปี ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก

การแข่งขันหุ่นยนต์ทำภารกิจบนสนามไม้ เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระดับนานาชาติ
ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา
  • การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ร่วมกับสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ การแข่งขันนี้จัดขึ้น เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู เอเชีย-แปซิฟิก โรบอต คอนเทสต์
  • การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย การแข่งขันนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยคน หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อใช้ในการกู้ภัย โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก
การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย
ระดับอุดมศึกษา
  • การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์เตะฟุตบอลชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย การแข่งขันนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาทีมหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบใช้ล้อ ทีมละไม่เกิน ๖ ตัว เพื่อเลี้ยงลูกฟุตบอลและยิงประตูฝ่ายตรงข้าม โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก
  • การแข่งขันประดิษฐ์รถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย การแข่งขันนี้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จะพัฒนารถอัตโนมัติ ที่สามารถเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นไปสู่ตำแหน่งชนะโดยไม่มีคนควบคุม รถอัจฉริยะนี้จะต้องสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางและปฏิบัติตามสัญญาณจราจรได้อย่างถูกต้อง
  • การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์เดิน ๒ ขา (ฮิวมานอยด์) ขนาดเล็กให้มีความเป็นอัตโนมัติ สามารถเคลื่อนไหวและตัดสินใจได้อย่างอิสระ แต่ละทีมจะมีผู้เล่นทีมละ ๓ ตัว โดยผู้ชนะเลิศในการแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป