งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 36
เล่มที่ ๓๖
เรื่องที่ ๑ มัสยิด
เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี
เรื่องที่ ๓ เกวียน
เรื่องที่ ๔ ทองคำ
เรื่องที่ ๕ มะคาเดเมีย
เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์
เรื่องที่ ๗ แอนิเมชัน
เรื่องที่ ๘ โรคมาลาเรีย
เรื่องที่ ๙ โรคไต
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์ / งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย

 งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย
งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย

หุ่นยนต์ในประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของงานวิจัยขั้นพื้นฐาน และที่นำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม การแพทย์ และการสร้างนวัตกรรมในเชิงสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จากการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ ซึ่งผลงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ และถูกบันทึกไว้ คือ
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน

ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมีพระราชประสงค์ที่จะสร้าง "หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน" และโปรดเกล้าฯ ให้ อาจารย์สนั่น  สุมิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) อาจารย์สวัสดิ์  หงส์พร้อมญาติ และคณาจารย์ ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้าง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทานสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่ง ให้นำไปจัดแสดงในงานกาชาด ที่สถานเสาวภา หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่มีรูปร่างคล้ายคน ขนาดเท่าคนจริง และแต่งกายแบบหมอ สามารถเดิน ยกมือไหว้ พูด ฟัง และโต้ตอบได้ อีกทั้งทำงานหลายอย่างได้เป็นอย่างดี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานหุ่นยนต์คุณหมอนี้ ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน นับว่าพระราชดำริเรื่อง หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ในประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์ไทย
เทคโนโลยี และงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ ที่น่าสนใจในประเทศไทย ปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑. งานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ตัวอย่างงานวิจัยในกลุ่มนี้ ได้แก่ หุ่นยนต์บิน หุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์ หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจัดเก็บหางเหล็ก

หุ่นยนต์บิน

โดยห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์และอัตโนมัติ สำนักวิทยาการเทคโนโลยีขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) เป็นงานวิจัยที่เน้นการออกแบบและควบคุมหุ่นยนต์บินได้อย่างอัตโนมัติ โดยหุ่นยนต์บินมีลักษณะเป็นเฮลิคอปเตอร์ ที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจรู้หลายประเภท เช่น อัลตราโซนิกส์ จีพีเอส อุปกรณ์วัดความเร็วเชิงมุม อุปกรณ์วัดความเร็วมุมเอียง งานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการสำรวจ การทหาร และการเกษตรกรรม

หุ่นยนต์เดิน ๒ ขาคล้ายมนุษย์

โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพลศาสตร์ ของหุ่นยนต์เดิน ๒ ขาที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยเน้นในเรื่องกลไกการเดินและการทรงตัวของหุ่นยนต์ การลดแรงกระแทกจากการก้าวเดิน และการออกแบบระบบตรวจวัดและระบบควบคุมเสถียรภาพ รวมทั้งการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลภาพของหุ่นยนต์ ในการนำทางและคำนวณตำแหน่ง ของหุ่นยนต์ งานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำขาเทียมเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ
หุ่นยนต์เดิน ๒ ขา คล้ายมนุษย์
หุ่นยนต์เดิน ๒ ขา คล้ายมนุษย์
หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำไทยเอ็กซ์โพล (Thai-XPole)

โดยสำนักงานเครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นงานวิจัย และพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ เพื่อช่วยในการสำรวจและเก็บข้อมูลการร่วมสำรวจบริเวณขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทย

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจัดเก็บหางเหล็ก (Crop Collector system)

โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับบริษัทเหล็กสยามยามาโตะจำกัด เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบและจัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอัตโนมัติขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในสายการผลิตเหล็กรูปพรรณ โดยพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถเก็บหางเหล็กที่มีน้ำหนักมากและมีความร้อนสูง แล้วนำไปทิ้งภายในเวลาที่กำหนด ในการจัดสร้างหุ่นยนต์ดังกล่าว ทำให้เครื่องจักรของบริษัทสามารถผลิตเหล็กได้อย่างเต็มกำลัง และเพิ่มผลผลิตให้แก่บริษัท ได้ตามต้องการ

๒. งานวิจัยทางด้านการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ หรือโคบอต (Collaborative robot: Cobot)  และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 

เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์ เพื่อให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยเหลือผู้พิการ และงานทางการแพทย์ ตัวอย่างงานวิจัยกลุ่มนี้ ในประเทศไทย ได้แก่ หุ่นยนต์โคบอต ชุดสวมแขนขาสำหรับผู้พิการ การใช้สัญญาณชีวภาพในการควบคุมหุ่นยนต์ และระบบนำทางการผ่าตัด

หุ่นยนต์โคบอตสามมิติ (3D Cobot)

โดยห้องปฏิบัติการสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยนี้เกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์โคบอตแบบแขนกล ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ ๓ องศาอิสระ ที่มีลักษณะเป็นแบบเชิงเส้นตามแนวแกน X, Y และ  Z

ชุดสวมแขนและขา (Arm and Leg ExoskeletonX)

โดยห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์และอัตโนมัติ สำนักวิทยาการเทคโนโลยีขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นงานวิจัย ที่เน้นการออกแบบและพัฒนาต้นแบบชุดสวมแขนและขา เพื่อช่วยให้ผู้พิการแขนสามารถควบคุมแขนกลให้หยิบจับสิ่งของ หรือช่วยให้ผู้พิการขาสามารถเดินได้
ชุดสวมขาหุ่นยนต์ ช่วยในการทุ่นแรงของผู้พิการ
ชุดสวมขาหุ่นยนต์ ช่วยในการทุ่นแรงของผู้พิการ
การควบคุมแขนหุ่นยนต์โดยใช้สัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพ

โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี งานวิจัยนี้ เสนอการนำสัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากอากัปกิริยาต่างๆ บนใบหน้า เช่น การกลอกตา การยักคิ้ว มาวิเคราะห์ เพื่อทำการเรียนรู้และจดจำรูปแบบของสัญญาณเหล่านั้น โดยมีส่วนประมวลผลเบื้องต้น เพื่อจัดสัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปเรียนรู้และจดจำสัญญาณไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงนำผลที่ได้มาใช้ควบคุมแขนหุ่นยนต์
ระบบนำทางการผ่าตัด 

โดยสำนักงานเครือข่ายวิจัยประยุกต์ ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับ การพัฒนาระบบนำทาง เพื่อช่วยในการผ่าตัด โดยพยายามลดการฉายแสง รวมทั้งพัฒนาระบบหุ่นยนต์ ช่วยในการผ่าตัด
หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด
หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด
๓. งานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้จากการแข่งขันหุ่นยนต์

การแข่งขันหุ่นยนต์ในแต่ละครั้ง นอกจากผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับความสนุกสนานแล้ว ยังสามารถนำทักษะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์อีกด้วย โดยนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์หลายๆ อย่างก็ได้เกิดขึ้นจากการแข่งขันหุ่นยนต์นี้
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป