ประวัติความเป็นมาของเจดีย์ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 37
เล่มที่ ๓๗
เรื่องที่ ๑ พระเจดีย์
เรื่องที่ ๒ หอศิลป์
เรื่องที่ ๓ ศิลปินแห่งชาติ
เรื่องที่ ๔ ว่าว
เรื่องที่ ๕ หนังสือพิมพ์
เรื่องที่ ๖ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
เรื่องที่ ๗ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๘ โรคเอสแอลอี
เรื่องที่ ๙ โรคไข้หวัดใหญ่
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๗ / เรื่องที่ ๑ พระเจดีย์ / ประวัติความเป็นมาของเจดีย์

 ประวัติความเป็นมาของเจดีย์
ประวัติความเป็นมาของเจดีย์

ระยะเวลากว่าพันปีมาแล้ว ที่ดินแดนไทยรวมทั้งดินแดนใกล้เคียงในภูมิภาคแถบนี้ ได้เข้าสู่วัฒนธรรมศาสนาภายใต้ระบบกษัตริย์ ซึ่งแผ่ขยายจากประเทศอินเดียโบราณ ทำให้แบบแผนด้านงานช่างหรือที่เรียกว่า "ศิลปกรรม" อันเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเผยแผ่คติความเชื่อและการศรัทธาในศาสนา ได้ก้าวผ่านพัฒนาการมาเป็นลำดับ จนมีลักษณะเฉพาะเป็นลำดับยุคสมัยของดินแดนเหล่านั้น ซึ่งการติดต่อไปมาหาสู่กัน ทำให้เกิดการถ่ายรับแรงบันดาลใจด้านรูปแบบ และคติความเชื่อระหว่างดินแดนทั้งใกล้และไกลอีกด้วย

แรกเริ่มของวัฒนธรรมศาสนา ดินแดนไทยทางภาคกลางคงมีงานก่อสร้างอาคารของเทวสถานหรือวัดในพระพุทธศาสนา เช่น วิหาร ที่มีหลังคาเป็นเครื่องไม้ อาคารประเภทหลังคาคลุมมักชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา ยิ่งเก่าแก่ยิ่งไม่ค่อยหลงเหลือเป็นตัวอย่าง แต่หากเป็น "พระเจดีย์" หรือเรียกอย่างสั้นๆ ว่า "เจดีย์" มักก่อด้วยวัสดุคงทนมากกว่า เช่น อิฐ หรือศิลา แม้อยู่ในสภาพชำรุดมาก ก็ยังอาจมีประเด็นให้ศึกษาตรวจสอบได้มากกว่า

เจดีย์ประธาน ๓ องค์ วัดพระศรีสรรเพชญ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เจดีย์เรียกอีกอย่างว่า สถูป คำว่า "สถูป" หรือ "เจดีย์" ในพระพุทธศาสนา ตามความหมายเดิมหมายถึง สิ่งก่อสร้างสำหรับการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือหมายถึง สถานที่สำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา ชาวไทยคุ้นเคยกับคำว่าเจดีย์ในความหมายที่นอกจากประดิษฐานพระบรมธาตุแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ ตลอดจนพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

เรื่องเล่าเสริมศรัทธาที่เกี่ยวกับเจดีย์จากนิทานพุทธประวัติมีว่า เมื่อถวายเพลิงพระบรมสรีระของพระศาสดาแล้ว พระอินทร์ได้อัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ไปประดิษฐานไว้ใน เจดีย์จุฬามณี ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งก่อนหน้านั้น เจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระเกศโมลีของเจ้าชายสิทธัตถะ (สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ที่ทรงตัดพระเกศโมลี แล้วโยนขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่ออธิษฐานเสี่ยงทายการตรัสรู้ในคราวออกผนวช และพระอินทร์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ก่อนแล้ว

พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม
เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บางครั้งเรียกว่า พระบรมธาตุ พระมหาธาตุ พระศรีมหาธาตุ หรือพระศรีรัตนมหาธาตุ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเมื่อกล่าวถึงเจดีย์ มักอิงอยู่กับความเป็น พระธาตุ หรือ พระศรีมหาธาตุ เช่น ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหง "...ให้ขุดเอาพระธาตุออกทั้งหลายเห็นกระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึ่งเอาลงฝังในกลางเมืองศรีสัชชนาลัยก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้าจึ่งแล้ว... "

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า ในสมัยสุโขทัย การสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์ก็มีอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่า กรุงศรีอยุธยาจดบันทึกใน พ.ศ. ๒๐๓๕ ว่า มีการสร้างพระมหาสถูป สำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระโอรส พระมหาสถูปดังกล่าวคือ เจดีย์ประธาน ๓ องค์ ของวัดพระศรีสรรเพชญ การประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ไว้ในเจดีย์ คงอิงกับสมมติคติที่ว่า พระมหากษัตริย์ นอกจากทรงเป็นเสมือนเทวราชาแล้ว ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระอนาคตพุทธเจ้า สมมติคตินี้ ยังรวมถึงการประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์ ซึ่งเปรียบเสมือนหน่อพุทธางกูรด้วย

พระธาตุพนม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครพนม


ระยะเวลากว่าพันปี รูปแบบและรูปทรงต่างๆ ของเจดีย์ที่ผ่านมาแต่ละยุคสมัย มักสร้างกันเฉพาะภายในวัด และได้พัฒนารูปแบบมาอย่างมากมาย คำว่า "เจดีย์" จึงมีคำขยายเพื่อบ่งบอกถึงรูปแบบและลักษณะ เช่น เจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งเป็นทรงระฆังขนาดใหญ่ (บางแห่งเรียกว่า เจดีย์ทรงลังกา) เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม มียอดเป็นทรงที่ดูคล้ายรูปดอกบัวตูม บางครั้งก็เรียกกันว่า "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์" และเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งมักเรียกกันสั้นๆ ว่า "ปรางค์" ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์สำคัญเพิ่มขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ เช่น พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ที่ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองทัพอากาศจัดสร้างขึ้น เนื่องในมหามงคลสมัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ โดยลำดับ ชื่อพระมหาธาตุมิใช่ชื่อที่บ่งถึงรูปแบบหรือลักษณะ การออกแบบเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ได้ผสมผสานแรงบันดาลใจจากบางลักษณะของเจดีย์ในอดีต ให้เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบ และลักษณะใหม่
ปัจจุบันวัดบางวัดที่มีกำลังทรัพย์ได้ออกแบบสร้างเจดีย์ให้มีรูปทรงใหม่ๆ แปลกตา แต่ยังคงมีเค้าเดิมของเจดีย์โบราณอยู่บ้างไม่มากก็น้อย และนิยมก่อสร้างให้มีขนาดใหญ่ เพื่อสามารถใช้พื้นที่ภายใน สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ด้วย ส่วนบุคคลทั่วไปอาจสร้างเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ซึ่งมีพื้นที่ภายในสำหรับใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษ เจดีย์ประเภทนี้จำลองแบบมาจากเจดีย์องค์สำคัญๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม โดยทั่วไปสูงประมาณ ๒-๓ เมตร หล่อด้วยปูนซีเมนต์ แล้วทาสี หรือประดับกระจกหรือกระเบื้องสี พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่จัดไว้เป็นสัดเป็นส่วนอยู่ภายในวัด  
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป