สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 37
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๗ / เรื่องที่ ๓ ศิลปินแห่งชาติ / ความหมายและที่มาของศิลปินแห่งชาติ
ความหมายและที่มาของศิลปินแห่งชาติ
ความหมายและที่มาของศิลปินแห่งชาติ
ศิลปินแห่งชาติ คือ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าและแสดงศักดิ์ศรีของชาติ
นายชวน
หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.
๒๕๒๖-๒๕๒๙) ได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานด้านศิลปะ
ทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ให้แก่ประเทศชาติ
ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องสรรเสริญ จากนานาชาติว่า
มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
จึงสมควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน
และให้กำลังใจแก่ศิลปิน
ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อันเป็นภูมิปัญญา ของแผ่นดินจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
ในการรักษามรดกวัฒนธรรมให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไป
โดยในช่วงเวลานั้นมีศิลปินจำนวนมากที่ได้สร้างคุณูปการทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ
ให้แก่ประเทศชาติ แต่เมื่อศิลปินเหล่านั้นเสียชีวิต
ทางราชการก็ไม่ได้มีโครงการช่วยเหลือใดๆ ดังนั้น นายชวน หลีกภัย
จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ซึ่งในเวลานั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันหน่วยงานนี้คือ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) จัดตั้ง "โครงการศิลปินแห่งชาติ"
ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการยกย่อง
จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ให้เป็นโครงการดีเด่นของชาติใน พ.ศ. ๒๕๓๕
ใน พ.ศ. ๒๕๕๔
นายชวน หลีกภัย ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ ก็ได้รับยกย่องให้เป็นผู้ที่มีคุณูปการ ต่อโครงการศิลปินแห่งชาติ
โครงการศิลปินแห่งชาติ
โครงการศิลปินแห่งชาติได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล
ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า มาเป็นระยะเวลายาวนาน
การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ต้องมีการศึกษาพิจารณาผลงานศิลปะของศิลปินผู้นั้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ให้ปรากฏแน่ชัดว่า ผลงานดังกล่าวมีคุณูปการต่อแผ่นดิน โดยมิได้ถือว่า
รางวัลผู้ชนะการประกวดศิลปินแห่งชาติ เป็นเหมือนรางวัลอื่นๆ
ซึ่งใช้วิธีประกวดผลงานเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง
นอกจากได้รับการยกย่องเชิดชูด้วยเกียรติ และฐานะแล้ว
ศิลปินแห่งชาติยังได้รับหลักประกันตามเกียรติและฐานะนั้น
โครงการศิลปินแห่งชาติได้กำหนดวัตถุประสงค์ ๕ ข้อ ได้แก่
๑. จัดทำทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ ๒. สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ ๓. จัดตั้งกองทุน (มูลนิธิ) สวัสดิการเพื่อศิลปิน ๔. สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน ๕. อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ความสามารถของศิลปิน
ใน
พ.ศ. ๒๕๓๕ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.
๒๕๓๕-๒๕๓๙) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ปรับปรุงโครงการศิลปินแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
๑. อนุรักษ์และพัฒนางานศิลปะของชาติ ๒. เชิดชูภูมิปัญญาของศิลปิน ๓.
สืบค้นสรรหาศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ ตามนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ ๔.
ส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
เพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรม ด้านวัตถุและจิตใจ ในเรื่องของศิลปิน ๕.
เป็นโครงการหน่วยงานของภาครัฐบาลที่สนับสนุนดูแลศิลปินที่ยังไม่มีหน่วยราชการใดเข้ามาสนับสนุน
ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ
ศิลปินแห่งชาติเป็นบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ
ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์และสืบสานงานศิลปะของชาติ
ให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน ทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์
ผลงานของศิลปินแห่งชาติถือเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อแผ่นดิน
ในขณะที่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน
ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของชาติ ที่จะดำรงคงอยู่ตลอดไป
การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ช่วยส่งเสริมให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติ
เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
พร้อมที่จะสร้างสรรค์พัฒนาผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการศึกษาของชาติ
ในอนาคต
โดยถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐที่จะต้องส่งเสริมให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของชาติ
เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้คงมีอยู่สืบไปในอนาคต
หลักเกณฑ์การยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
การดำเนินงานในเบื้องต้น
นักวิชาการและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะ ได้ร่วมกันวางหลักเกณฑ์
ของการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยมีขั้นตอนดังนี้
๑. กำหนดคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
๑) เป็นผู้มี สัญชาติไทย และยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน ๒) เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น ๓) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน ๔) เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น ๕) เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน ๖) เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในวิชาชีพของตน ๗) เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
๒. กำหนดสาขาและความหมายขอบข่ายของศิลปินแห่งชาติ
การจำแนกสาขาศิลปะของโครงการศิลปินแห่งชาติ ได้พิจารณาโดยเทียบเคียงกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อน
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายให้มี "ศิลปินแห่งชาติ" (National Artists)
ประกาศยกย่องผู้ที่อนุรักษ์ประเพณี และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ลูกหลาน และใน
พ.ศ. ๒๕๑๗ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ประกาศให้มี "แนวทางการจัดระบบศิลปินแห่งชาติ" (National Artists System)
ในหลายสาขา ได้แก่ ศิลปะ (Arts) ดนตรี (Music) นาฏศิลป์
(Dance) สถาปัตยกรรม (Architecture) วรรณกรรม
(Literature) และภาพยนตร์ (Cinema)
นอกจากนี้ ได้ศึกษาจากกรอบการแบ่งสาขาด้านวัฒนธรรมต่างๆ
ของคณะกรรมการอาเซียน ด้านวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN Committee on Culture
and Information) ผนวกกับหลักสากล ของงานศิลปะ มาจัดทำความหมายและขอบข่ายการสรรหาศิลปินแห่งชาติให้มีความชัดเจน
โดยแบ่งสาขาศิลปะ เป็นสาขาใหญ่ๆ ๓ สาขา และแบ่งสาขาย่อยในสาขาใหญ่ ได้แก่
๑) สาขาทัศนศิลป์ (Visual Arts) หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา ทั้งศิลปะ ๒ มิติและศิลปะ
๓ มิติ เป็นผลงานศิลปกรรม ประเภทต่างๆ
ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพวาด การออกแบบ สื่อผสม และศิลปะสถาปัตยกรรม
๒)
สาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย
ดนตรีไทย
หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับร้อง
ทั้งที่เป็นมาตรฐานกลางของชาติ เช่น ปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี
รวมทั้งดนตรีใน พระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการของชาวบ้านในทุกภูมิภาค
ได้แก่ การแสดงดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย การขับร้องพื้นบ้าน
หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก และเพลงเรือ ตลอดจนการพากย์
การเจรจา การขับเสภา และบทเห่กล่อมต่างๆ
นาฏศิลป์ไทย หมายถึง การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ทั้งที่เป็นของราชสำนัก ส่วนราชการและการแสดงทั่วไป เช่น โขน ละคร ฟ้อนรำ
ระบำ ลิเก และการแสดงพื้นบ้านของภาคต่างๆ ในประเทศไทย
กลุ่มที่ ๒ ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล
ดนตรีสากล
หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับร้อง ในที่นี้แบ่งเป็น ๓
สาขาย่อย คือ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยสากล และดนตรีลูกทุ่ง
ดนตรีคลาสสิก
หมายถึง การเล่นดนตรีวงดุริยางค์
(orchestra) ผู้เล่นประมาณ ๑๐๐ คนหรือน้อยกว่าเล็กน้อย หรือวงเครื่องสาย
ที่ไม่มีเครื่องเป่า (string orchestra) วงแบบ ๒ คน (duo) วงแบบ ๓ คน
(trio) วงแบบ ๔ คน (quartet) หรือวงแบบ ๔-๕ คน (chamber music)
หรือเดี่ยวเปียโน (recital)
โดยผู้เล่นต้องเล่นตามโน้ตของผู้ประพันธ์เพลงที่ล่วงลับไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
เช่น โมสาร์ต (Mozart) โชแปง (Chopin) บีโทเฟน
(Beethoven) หรือเป็นเพลงของผู้ประพันธ์ใหม่ๆ
โดยหัวหน้าวงจะเป็นผู้เลือกเล่น ดังนั้น
เกณฑ์การพิจารณาจะพิจารณาจากผลงานของ - วาทยกร (conductor) ที่ควบคุมได้ในระดับดีเลิศ - หัวหน้าวง (มักเป็น 1st chair violin) - นักดนตรีที่เล่นในวงที่มีความสามารถมากเป็นพิเศษ - นักแต่งเพลงที่ต้องแต่งและแยกเรียบเรียงเสียงประสานด้วย (composer) - ผู้แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน (arranger) -
นักร้องโอเปรา (opera) แบบต่างๆ เช่น นักร้องหญิงในระดับเสียงโซปราโน
(soprano) และอัลโต (alto) นักร้องชายในระดับเสียง Tenor Baritone Baw
และเบส (bass) - นักร้องหมู่ประสานเสียง (chorus) ดีเด่นของหมู่หรือเดี่ยว แยกประเภทประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ทั้งทางร้องและทางดนตรี - ผู้ควบคุมวง (conductor) สำหรับนักร้องหมู่ประสานเสียง - นักเปียโน ซึ่งสามารถเล่น piano concerto accompaniment ได้ดีเยี่ยม - ผู้สอนเครื่องดนตรี ส่วนใหญ่จะสอนนักเปียโน หรือสอนเครื่องดนตรีอื่นๆ -
ผู้สอนขับร้องแบบโอเปรา (opera) และอื่นๆ ไม่ควรจำกัดอายุ ถ้ามีความสามารถดีเยี่ยมตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ขึ้นไปจนถึงปัจจุบัน
ก็อยู่ในเกณฑ์พิจารณา
ดนตรีไทยสากล
คือ การเล่นดนตรีแบบวงเล็ก
(เครื่องดนตรี ๑-๑๒ ชิ้น) วงกลาง (๓-๙ ชิ้น) วงใหญ่ขนาดเล็ก
(๑๐-๑๒ ชิ้น) และวงใหญ่ขนาดใหญ่ (๑๔-๒๕ ชิ้น) ทั้งนี้ รวมดนตรีลูกทุ่ง
ทั้งการเล่นดนตรีและการขับร้องที่เป็นเพลงลูกทุ่งด้วย ดังนั้น
น่าจะพิจารณาจากผลงานของ
- ผู้เล่นเครื่องมือต่างๆ
ที่สามารถเป็นพิเศษ
- ผู้ควบคุมวง - ผู้แต่งคำร้องและทำนองแบบ (song writer) - ผู้แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน (arranger) - ผู้ขับร้องดีเด่นประเภทดนตรีสากล ดนตรีไทยสากล ทั้งแจ๊ส (jazz) และป๊อป (pop) และดนตรีลูกทุ่ง - ผู้ฝึกสอน (อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือศาสตราจารย์ทางดนตรี) -
ผู้เรียบเรียงแบบวงเล็ก (๑-๑๒ ชิ้น) วงกลาง (๓-๙ ชิ้น) วงใหญ่ขนาดเล็ก (๑๐-๑๒ ชิ้น) และวงใหญ่ขนาดใหญ่ (๑๔-๒๕ ชิ้น)
นาฏศิลป์สากล คือ การแสดงสมัยใหม่ หรือการแสดงทางสากล เช่น บัลเลต์ (ballet) แจ๊สแดนซ์ (jazz dance) ดังนั้น จะพิจารณาจากผลงานของ -
ครูผู้ฝึกสอนที่มีความสามารถสูง
- นักเต้น (ผู้เต้นที่ดีเด่น) - นักดนตรี (ผู้เล่นเครื่องดนตรีประกอบการเต้น เช่น เปียโน) -
ผู้ให้ท่าทาง หรือผู้ออกแบบท่าเต้น
(choreographer)
- ผู้แต่งเรื่อง - นักประพันธ์ดนตรีประกอบ (composer)
กลุ่มที่ ๓ ภาพยนตร์และละคร
ภาพยนตร์
หมายถึง สื่อเคลื่อนไหวที่สะท้อนเหตุการณ์ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม
ที่สร้างขึ้นเป็นระบบมาตรฐาน โดยฝีมือคนไทย
เช่น ภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์เรื่อง
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ที่น่าจะพิจารณาผลงาน ได้แก่ ผู้สร้าง
ผู้กำกับ นักพากย์ นักแสดง ผู้ประพันธ์เพลงประกอบ
ละคร หมายถึง
การแสดงที่เป็นเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตของคน โดยอาศัยคำพูด
ท่าทาง และบทบาท ช่วยสื่อความหมายให้ผู้ดูผู้ฟัง ได้ทราบถึงความเป็นไปต่างๆ เป็นช่วงๆ
หรือเป็นตอนๆ มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ ความสะเทือนใจ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ละครเวทีร่วมสมัย
ละครวิทยุร่วมสมัย และละครโทรทัศน์
๓) สาขาวรรณศิลป์
(Literature)
หมายถึง
บทประพันธ์ทั้งด้านร้อยกรองและร้อยแก้วที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน
ทำให้เกิดจินตนาการ ความเพลิดเพลิน และอารมณ์ต่างๆ
ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย
บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชน
ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้
รวมถึงวรรณกรรมพื้นบ้าน
๓. กำหนดกระบวนการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ
การคัดเลือกในตอนเริ่มแรก
ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติให้เป็นผู้ดำเนินการ
โดยนำข้อมูลมาพิจารณาคัดเลือก และนำเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
และประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินเป็นศิลปินแห่งชาติ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๕
ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม
เพื่อกลั่นกรองผลการสรรหาให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น ดังนี้
๑) คณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ๒) คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ๓ สาขา ประกอบด้วย - คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ - คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง - คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติทั้ง
๓ สาขา เป็นผู้สรรหาคัดเลือก โดยหน่วยงานต่างๆ
สามารถนำเสนอข้อมูล เพื่อการพิจารณาได้ เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย
หรือสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
ที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะ สมาคมที่เกี่ยวข้อง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด
แล้วนำผลของการสรรหาคัดเลือกในแต่ละสาขา เสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ
จากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติต่อไป
และในกรณีที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไม่ให้ความเห็นชอบ
คณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ
และคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติทั้ง ๓ สาขา
ต้องนำผลการสรรหากลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ตลอดระยะเวลากว่า
๒๕ ปีของการดำเนินงาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดให้มีการตรวจสอบ ประเมินวิธีการสืบค้นสรรหา
และวิธีการดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง
ดังนี้
๑. ปรับปรุงการกำหนดคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้มีการปรับปรุงการกำหนดคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ และล่าสุดได้ปรับปรุงใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ดังนี้
เกณฑ์ที่ ๑ คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
๑. เป็นผู้มีสัญชาติไทย และยังมีชีวิตในวันตัดสิน ๒. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น ๓. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้น ๔. เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น ๕. เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ทุ่มเท และเสียสละ เพื่องานศิลปะ ๖. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคม และมนุษยชาติ
เกณฑ์ที่ ๒ คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ
๑. ผลงานที่สื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ ความรู้สึก และคุณค่าทางจิตวิญญาณ ๒. ผลงานแสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ๓. ผลงานที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ ๔.
ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์
ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจในการคัดลอกหรือเลียนแบบผลงาน ของผู้อื่น
ทั้งเปิดเผยและแอบแฝง
เกณฑ์ที่ ๓ การเผยแพร่ และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ
๑.
ผลงานได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด
พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด ๒. ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณ
ในระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ
๒. ปรับปรุงการกำหนดสาขาและความหมายขอบข่ายของศิลปินแห่งชาติ
ใน
พ.ศ. ๒๕๔๑
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มีการปรับปรุงวิธีการดำเนินงานการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
จากเดิม ๓ สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดงและสาขาวรรณศิลป์
ปรับเปลี่ยนสาขาศิลปะเป็น ๔
สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง สาขาวรรณศิลป์
และสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม กล่าวคือ
ให้สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสาขาย่อยในสาขาทัศนศิลป์
แยกออกเป็นสาขาหลักอีก ๑ สาขา
ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ปรับการเรียกชื่อสาขาศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นสาขาสถาปัตยกรรม
ใน
พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการทบทวนการแบ่งสาขาการคัดเลือก
และมีมติให้การแบ่งสาขาศิลปะยังคงเป็นสาขาใหญ่ๆ ๓ สาขา ตามแบบเดิม คือ
สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง และสาขาวรรณศิลป์
๓. ปรับปรุงการกำหนดกระบวนการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ
สภาวัฒนธรรม
องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา
สถาบันทางศิลปะและเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ เสนอรายชื่อและผลงาน
ของบุคคล ที่สมควรหรือเหมาะสมเป็นศิลปินแห่งชาติ
โดยให้หัวหน้าองค์กรหรือหน่วยงานเป็นผู้ลงนาม นำเสนอผลงาน
ต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเสนอผ่านศิลปินแห่งชาติหรือเครือข่ายวัฒนธรรมทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐานต่างๆ
เมื่อครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
จึงนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในแต่ละสาขา
เพื่อเสนอชื่อผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาละ ๓
คน แต่ไม่เกิน ๙ คน ในแต่ละปี
โดยนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ
เพื่อพิจารณากลั่นกรองอีกครั้ง
จากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
และประกาศผล การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี
โดยประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามประกาศเกียรติคุณ
พร้อมทั้งนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ อันได้แก่ โล่ และเข็ม
ลักษณะของเข็ม
เป็นเหรียญทรงกลม
ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกัน ๓ ดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่อง
อ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทย ตามแนวโค้งขอบเหรียญ บนแพรแถบจารึกคำว่า
"ศิลปินแห่งชาติ"
และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือเหรียญ
ซึ่งมีผ้าโบว์พันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน
| เข็มศิลปินแห่งชาติ | ความหมาย
แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้
ความสามารถของศิลปิน
ที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะไว้อย่างมากมาย
จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอันล้ำค่าในสาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง
และสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม
เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งทั้งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป
|
|