หออัครศิลปิน - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 37
เล่มที่ ๓๗
เรื่องที่ ๑ พระเจดีย์
เรื่องที่ ๒ หอศิลป์
เรื่องที่ ๓ ศิลปินแห่งชาติ
เรื่องที่ ๔ ว่าว
เรื่องที่ ๕ หนังสือพิมพ์
เรื่องที่ ๖ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
เรื่องที่ ๗ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๘ โรคเอสแอลอี
เรื่องที่ ๙ โรคไข้หวัดใหญ่
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๗ / เรื่องที่ ๓ ศิลปินแห่งชาติ / หออัครศิลปิน

 หออัครศิลปิน
หออัครศิลปิน

หออัครศิลปินก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ราษฎรและศิลปินทั่วโลก ในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บริเวณทางเข้าด้านหน้าห้องอัครศิลปิน นำเสนอข้อมูลนำชม ด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ระบบจอสัมผัส (touch screen) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดแสดง ตรงกลางห้องของอาคาร ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ของหออัครศิลปิน เป็นที่ประดิษฐานบุษบกไม้ปิดทองประดับกระจก ภายในบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ จำลองบนพานแว่นฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "อัครศิลปิน" ฐานโดยรอบบุษบก มีสื่อวีดิทัศน์ (video) จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ฉากหลังเป็นจิตรกรรมฝาผนัง "ไตรภูมิ" ด้านซ้ายและด้านขวา มีกระจกแกะลายเทพชุมนุมที่สื่อความหมายว่า เหล่าเทวดาล้วนสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเปรียบประดุจ "สมมติเทพ" บริเวณโดยรอบจัดแสดงผลงานพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั้ง ๙ ด้าน ได้แก่ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านการถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านคีตศิลป์ และด้านบทเพลงพระราชนิพนธ์ นอกจากนี้ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติ ในรูปแบบนิทรรศการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทุกคน

หออัครศิลปิน ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ภายในห้องอัครศิลปินที่อยู่บนชั้น ๒ จัดแสดงผลงานพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิของภาพไว้ พร้อมทั้งมีคำอธิบายผลงานแต่ละชิ้นด้วย ส่วนห้องอัครศิลปินที่อยู่บนชั้น ๓ จัดแสดงผลงานพระอัจฉริยภาพด้านคีตศิลป์และการพระราชนิพนธ์เพลงโดยเฉพาะ นอกจากห้องอัครศิลปินในอาคารหลักแล้ว อาคารรูปตัวยู (U) ที่รายล้อมอยู่ติดกัน ก็มีห้องนิทรรศการประวัติและผลงาน ของศิลปินแห่งชาติทุกสาขา ภายใต้แนวคิด "อัครศิลปินรายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์" จุดเด่นของหออัครศิลปิน คือ การจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีและการออกแบบที่ทันสมัย โดยใช้สื่อผสม (มัลติมีเดีย) ต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งภาพถ่าย วีดิทัศน์ หุ่นจำลอง ผลงานต่างๆ ของศิลปินแห่งชาติ เช่น หนังสือ จิตรกรรม ประติมากรรม เครื่องดนตรี และในการเปิด-ปิดวีดิทัศน์หรือเสียงบรรยายใช้ระบบอัตโนมัติ ส่วนที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ชื่นชอบ ของผู้เข้าชมมากเป็นพิเศษก็คือ ห้องศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เพราะนอกจากมีประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ให้ได้ชม และได้ฟังแล้ว ยังมีจอหนังตะลุง เครื่องดนตรีไทย ใบปิดโฆษณาภาพยนตร์ ห้องฉายภาพยนตร์จำลอง ชุดละครรำ เสียงเพลงพื้นบ้านจากตู้ไดโอรามา (ตู้จัดแสดงแบบ ๓ มิติ มีหุ่นจำลอง ที่มีเสียงประกอบ และหมุนได้) จัดไว้ให้ชม และมีห้องคาราโอเกะให้ทดลองร้องเพลงของศิลปินแห่งชาติด้วย นอกจากเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการต่างๆ แล้ว ยังเป็นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะการเชิญศิลปินแห่งชาติมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน การจัดสัมมนาทางวิชาการ การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม เป็นต้น
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป