ลักษณะและการบริหารงานของหนังสือพิมพ์ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 37
เล่มที่ ๓๗
เรื่องที่ ๑ พระเจดีย์
เรื่องที่ ๒ หอศิลป์
เรื่องที่ ๓ ศิลปินแห่งชาติ
เรื่องที่ ๔ ว่าว
เรื่องที่ ๕ หนังสือพิมพ์
เรื่องที่ ๖ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
เรื่องที่ ๗ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๘ โรคเอสแอลอี
เรื่องที่ ๙ โรคไข้หวัดใหญ่
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๗ / เรื่องที่ ๕ หนังสือพิมพ์ / ลักษณะและการบริหารงานของหนังสือพิมพ์

 ลักษณะและการบริหารงานของหนังสือพิมพ์
ลักษณะและการบริหารงานของหนังสือพิมพ์

เนื่องจากหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นควบคู่กับวิวัฒนาการของสังคมประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ จึงเป็นสื่อที่จำเป็นต้องมีอิสรภาพ ทั้งจากอำนาจรัฐ และอำนาจทุน แต่ในปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตหนังสือพิมพ์ ทั้งค่ากระดาษ แรงงาน เทคโนโลยี ล้วนต้องใช้ต้นทุนสูง นายทุนจึงเข้ามามีอิทธิพลเหนือวงการหนังสือพิมพ์มากขึ้น   

บรรณาธิการประชุมคัดเลือกข่าว
การบริหารงานหนังสือพิมพ์มีรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บริหารโดยเจ้าของโดยตรง บริหารโดยหุ้นส่วน บริหารโดยการจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นบริษัท บริหารโดยถือกรรมสิทธิ์แบบเครือข่ายหรือกลุ่ม บริหารโดยการร่วมหุ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และบริหารโดยการร่วมลงทุนในกิจการหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
หน่วยงานหลักของหนังสือพิมพ์  

มี ๓ กอง ได้แก่ กองบรรณาธิการ กองจัดการ และกองการผลิต ทุกกองต้องทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ กองที่สำคัญที่สุดคือ กองบรรณาธิการ ซึ่งมีผู้ทำงานในหน้าที่ต่างๆ กัน ดังนี้

    ๑. บรรณาธิการ  หรือบรรณาธิการใหญ่
    ๒. บรรณาธิการบริหาร
    ๓. หัวหน้ากองบรรณาธิการ
    ๔. บรรณาธิการข่าว
    ๕. หัวหน้าข่าว
    ๖. บรรณาธิการข่าวในประเทศ
    ๗. บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ
    ๘. บรรณาธิการบทความ  สารคดี
    ๙. บรรณาธิการฝ่ายตรวจต้นฉบับ
    ๑๐. ผู้เรียบเรียงข่าว หรือรีไรเตอร์
    ๑๑. ผู้สื่อข่าว
    ๑๒. ช่างภาพ
    ๑๓. ผู้พิสูจน์อักษร
    ๑๔. บรรณารักษ์

ทั้งนี้ บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรหนังสือพิมพ์ มีฐานะเหมือนผู้จัดการใหญ่ และเป็นผู้ให้การวินิจฉัย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น โดยทั่วไป บรรณาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกองบรรณาธิการทุกส่วน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติใด คำวินิจฉัยของบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด
ข่าว

เนื้องานที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ คือ ข่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ หรือเรื่องราว ที่ประชาชนสนใจ หรือควรรู้ ในแต่ละวัน มีข่าวเกิดขึ้นมากมาย บรรณาธิการจึงต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า ควรนำข่าวใดลงตีพิมพ์ โดยมีการกลั่นกรองคัดเลือกข่าว ที่มีลักษณะต่างๆ เช่น

๑.  ความสด เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด หรือเป็นเรื่องราวที่ทันสมัย
๒.  เรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัว หรือเรื่องที่อาจส่งผลกระทบกับตัว
๓. ความเด่น อาจเป็นความเด่นของบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป สถานที่ หรือวัตถุล้ำค่า
๔.  ความแปลกใหม่ของเหตุการณ์ หรือสิ่งผิดปกติที่ดึงดูดความสนใจ ของผู้คน 
๕.  ความมีเงื่อนงำ หมายถึง เหตุการณ์ที่มีเบื้องหลังลึกลับซับซ้อน ที่หนังสือพิมพ์ได้ขุดคุ้ยออกมาตีแผ่ เป็นเวลาหลายๆ วัน เช่น ฆาตกรรม การฉ้อโกง
๖.  เรื่องที่สะเทือนอารมณ์ เช่น การทำร้ายเด็กและสตรี การทอดทิ้งผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพ
๗.  เรื่องที่มีผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฝนแล้ง
๘. เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ทั้งในทางบวก และทางลบ
๙. เรื่องความก้าวหน้าทางวิชาการต่างๆ เช่น ทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์
๑๐. เรื่องความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ ทัศนคติ หรือพฤติกรรม ในด้านต่างๆ

นักข่าวสัมภาษณ์บุคคล
ลักษณะของข่าวที่ดี

ข่าวที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

๑. มีความถูกต้อง

คือ ความถูกต้องทั้งการรายงานเหตุการณ์ และการใช้ภาษาข่าว ซึ่งจะต้องผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบอย่างมีขั้นตอน นักหนังสือพิมพ์ต้องไม่พอใจแค่ข้อมูลที่ได้มาอย่างผิวเผิน แต่ต้องเจาะลึกและมองอย่างรอบด้าน เช่นชื่อ นามสกุล อายุ สถานที่เกิดเหตุ ตำแหน่งของบุคคล ต้องมีความถูกต้องทั้งข้อมูลและตัวสะกด  

นักข่าวส่งข่าวไปที่กองบรรณาธิการโดยใช้คอมพิวเตอร์
๒. มีความเที่ยงธรรมและความเป็นกลาง

คือ รายงานข่าวอย่างปราศจากอคติ ไม่แสดงความคิดเห็นของนักข่าว และไม่พยายามชี้นำให้ผู้อ่านมีความเห็นโน้มเอียง ไปในทางใดทางหนึ่ง

ตรวจต้นฉบับข่าว
๓. มีความกระชับชัดเจน

คือ การเขียนข่าวรายงานข่าวที่รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ เข้าใจง่าย และไม่มีความหมายหลายแง่หลายมุม ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันที

๔.  มีความรวดเร็ว

คือ การแจ้งข่าวสารแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ปัจจุบันนักข่าวพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน เพื่อให้ข่าวสารไปถึงประชาชนได้เร็วขึ้น

คัดภาพลงประกอบข่าว
การออกแบบและการจัดหน้าหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์มีรูปแบบที่สำคัญ ๒ รูปแบบคือ ขนาดใหญ่ (broadsheet หรือ standard) และขนาดเล็ก (tabloid) หนังสือพิมพ์ของไทยส่วนใหญ่ จะมีขนาดใหญ่
หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่คือหนังสือพิมพ์ที่มีขนาดของหน้าประมาณ ๑๕x๒๒ นิ้ว แต่อาจใหญ่หรือเล็กกว่าขนาดดังกล่าวได้ประมาณ ๑-๒ นิ้ว และมีคอลัมน์ขนาด ๖ หรือ ๘ คอลัมน์ การออกแบบและการจัดหน้าหนังสือพิมพ์มีกฎเกณฑ์มากมาย อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การออกแบบจัดหน้าหนังสือพิมพ์เป็นศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดึงดูดใจผู้อ่านได้ โดยอาศัยศิลปะ ในการสร้างความกลมกลืนระหว่างรายละเอียดของข่าว ภาพ และกราฟิก รวมทั้งการจัดหน้าตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ตัวพิมพ์ต้องคัดเลือกที่อ่านแล้วสบายตา อ่านง่าย และอ่านได้อย่างรวดเร็ว ภาพประกอบข่าวจะต้องเรียบง่าย แต่สื่อความหมายที่ต้องการอย่างครบถ้วน เป็นภาพที่มีคุณภาพดี มีความแปลก และน่าสนใจอีกด้วย ทั้งนี้ ภาพและข่าวต่างเสริมซึ่งกันและกัน ในการสื่อความหมายเหตุการณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดหน้าหนังสือพิม์แบบมีคอลัมน์ ขนาด ๖ คอลัมน์
การทำข่าวหนังสือพิมพ์เริ่มจากมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อนักข่าวไปทำข่าวแล้ว อาจกลับไปเขียนข่าวเองที่สำนักงาน หรือส่งข่าวนั้นให้แก่ฝ่ายเขียนที่เรียกว่า "รีไรเตอร์" (Rewriter) ทางโทรศัพท์หรือโทรสาร เมื่อรีไรเตอร์ได้รับข่าวจากนักข่าวแล้ว ก็ดำเนินการเขียนใหม่ ตามรูปแบบของข่าว โดยอาจตัดข้อมูลออกบ้าง หาข้อมูลมาเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้ข่าวมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น จากนั้น ก็ส่งให้หัวหน้าข่าวจัดอันดับความสำคัญของข่าว โดยใช้วิจารณญาณ จากประสบการณ์ของตนเป็นหลัก

นักข่าวไปสัมภาษณ์หรือทำข่าวตามสถานที่ต่างๆ และส่งข่าวให้รีไรเตอร์เขียนข่าว
หนังสือพิมพ์จึงเป็นเสมือนผู้กรองข่าวสารที่จะไปสู่ประชาชน จนมีผู้กล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือ นายทวารข่าวสาร ซึ่งยืนอยู่ปากประตู คอยคัดสรรว่า ข่าวสารชนิดใดเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะรับรู้ 
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป