สะพาน - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 4
เล่มที่ ๔
เรื่องที่ ๑ การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต
เรื่องที่ ๒ การหายใจ
เรื่องที่ ๓ ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย
เรื่องที่ ๔ ไวรัส
เรื่องที่ ๕ ปรากฏการณ์ของอากาศ
เรื่องที่ ๖ ภูมิอากาศ
เรื่องที่ ๗ รถไฟ
เรื่องที่ ๘ การศาสนา
เรื่องที่ ๙ การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์
เรื่องที่ ๑๐ ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๔ / เรื่องที่ ๗ รถไฟ / สะพาน

 สะพาน
สะพาน

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณเขตมรสุม ซึ่งพัดผ่านเข้ามาจากมหาสมุทร อินเดียและทะเลจีนเหนือ จึงเป็นเหตุให้มีฝนตกมาก ภูมิประเทศทั่วๆ ไปมีลำธาร ลำห้วย แม่น้ำลำคลอง สำหรับระบายน้ำให้ไหลลงไปสู่ทะเล หรือระบายน้ำเข้าสู่ไร่นา เพื่อการกสิกรรม การวางทางผ่านไปในภูมิประเทศก็จำเป็นต้องเปิดช่องไว้ให้น้ำไหลผ่านทางรถไฟไปได้ ถ้าปริมาณน้ำไม่มากนักก็เพียงแต่ฝังท่อกลมหรือท่อสี่เหลี่ยมไว้ก็พอ ทางระบายน้ำขนาดเล็ก ดังกล่าวเรียกว่า ท่อระบายน้ำ (culvert) แต่ถ้าน้ำมีปริมาณมากก็ต้องเปิดช่องให้กว้างขึ้น โครงสร้าง (structure) ที่อยู่เหนือลำน้ำเรียกว่า สะพาน (bridge) สะพานจะมีขนาดต่างๆ กันเป็นช่วงๆ ไป บางสะพานมีช่วงเดียว บางสะพานมีหลายช่วง ตัวสะพานที่ทอดขวางอยู่ในแนวระดับ จะมีเสาตั้งรับอยู่เป็นระยะๆ เสาที่อยู่กลางสะพานทุกเสาเรียกว่า ตะม่อ กลางน้ำ (pier) ส่วนเสาที่อยู่ริมสะพานทั้ง ๒ ข้างเรียกว่า ตะม่อริมฝั่ง (abutment) ความ ยาวของสะพานแต่ละช่วงเรียกว่า ช่วงสะพาน (span) ดินคันถนนทั้งสองข้างสะพานเรียกว่า คอสะพาน (approach) โครงเหล็กสะพานเรียกว่า โครงสะพาน (truss)
สะพานแม่แคร่แผงลง
สะพานแม่แคร่แผงลง
สะพานรถไฟมี ๑๑ ชนิด คือ
 
๑. สะพานแม่แคร่รางเหล็ก (rail girder)
๒. สะพานแม่แคร่เหล็ก (deck girder)
๓. สะพานแม่แคร่แผงลง (deck plate girder)
๔. สะพานแม่แคร่แผงขึ้น (through plate girder)
๕. สะพานโครงล่าง (deck truss bridge)
๖. สะพานโครงขึ้น (through truss bridge)
๗. สะพานหอสูง (viaduct)
๘. สะพานไม้ (timber bridge)
๙. สะพานกระบะคอนกรีต (concrete slab bridge)
๑๐. สะพานโครงคอนกรีต (concrete arch)
๑๑. สะพานคอมโพสิต (composite bridge)

สะพานรถไฟที่สำคัญที่สุดของการรถไฟ ฯ คือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ที่เรียกกันว่า สะพานพระราม ๖ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลบางซ่อน ทางฟากตะวันออก ณ บริเวณวัดสร้อยทอง ตัดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฟากตะวันตก การก่อสร้างได้เริ่มตั้งแต่ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๓ สะพานนี้เป็นสะพานรวมทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ พระบาท- สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จไปประกอบพระราชพิธีเปิดใช้สะพานพระราม ๖ นี้ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๙ ซึ่งทำให้ทางรถไฟฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เชื่อมต่อกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สะพานพระราม ๖ ถูกโจมตีทิ้งระเบิด จากกำลังทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรจนได้รับความชำรุด เสียหายอย่างหนัก เมื่อสงครามยุติแล้ว กรมรถไฟได้ทำการบูรณะสะพานพระราม ๖ ขึ้นใหม่และได้ทำเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบ พระราชพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๖
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป