พืชคลุมดิน - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 5
เล่มที่ ๕
เรื่องที่ ๑ ผัก
เรื่องที่ ๒ ไม้ผล
เรื่องที่ ๓ อ้อย
เรื่องที่ ๔ มันสำปะหลัง
เรื่องที่ ๕ พืชหัว
เรื่องที่ ๖ การขยายพันธุ์พืช
เรื่องที่ ๗ เป็ดไก่
เรื่องที่ ๘ พันธุ์ไม้ป่า
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๕ / เรื่องที่ ๒ ไม้ผล / พืชคลุมดิน

 พืชคลุมดิน
พืชคลุมดิน

การปลูกพืชคลุมดินเป็นการปลูกพืชที่มีลำต้นอ่อนเพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดรวมกัน เพื่อให้คลุมดินตลอดปี หรือชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เราอาจทิ้งพืชเหล่านี้ไว้เพื่อยึดผิวดินกันดินพังทลายเวลามีฝนตกหนัก น้ำบ่า หรือมีลมแรงพัดเข้าสู่ผิวดินบริเวณนั้น หรืออาจไถกลบลงไปในดิน เพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด

พืชที่จะนำมาปลูกเป็นพืชคลุมนั้น ควรเป็นพืชที่ขึ้นง่ายทั้งในดินดี และดินเลว มีการเจริญเติบโตเร็ว มีกิ่งก้านสาขามาก และส่วนยอดอ่อนนุ่มมีน้ำมาก พืชคลุมดินที่นิยมกันในสวนผลไม้ ได้แก่ ถั่วลาย คาโลโปโกเนียม คุดซู เวลเวทขาว เป็นต้น
การปลูกพืชคลุมดิน
การปลูกพืชคลุมดิน
การทำสวนผลไม้โดยทั่วไปแล้วเจ้าของสวนไม่สามารถไถพรวนได้บ่อยๆ เหมือนการปลูกพืชไร่ การปลูกพืชคลุมดินจึงเป็นของจำเป็นมากในการทำสวนผลไม้ แม้ว่าจะมีดินดีอยู่แล้วก็ตาม พืชคลุมดินจะช่วยให้ต้นไม้ได้รับประโยชน์หลายประการ คือ

๑. เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เมื่อเศษกิ่งใบของพืชคลุมร่วงหล่นทับถมบนผิวดิน ในที่สุดจะผุพังรวมตัวกับดินซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารของต้นไม้ต่อไป นอกจากนี้จะช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมี ทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อพืช และเพิ่มจำนวนไส้เดือน
และจุลินทรีย์ในดิน

๒. ป้องกันการชะล้างของหน้าดิน พืชคลุมจะส่งรากลงไปในดิน และยึดเม็ดดินไว้ ทำให้ผิวดินไม่ถูกเซาะได้ง่าย เมื่อมีน้ำไหลแรง หรือฝนตกหนัก การทำสวนบนเนินลาดจึงจำเป็นต้องปลูกพืชคลุม โดยปลูกพืชคลุมไว้ตามขั้นบันไดที่ทำไว้ จะช่วยยับยั้งความแรงของกระแสน้ำที่ไหลลงได้ จึงเป็นการป้องกันการพังทลายของดิน นอกจากนี้ใบหรือเถาพืชคลุมที่เจริญอย่างหนาแน่น จะช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดฝนที่มีขนาดโตๆ กระทบผิวดินโดยตรง อันจะเป็นการลดการชะล้างหน้าดินอีกทางหนึ่งด้วย

๓. ทำให้โครงสร้าง และสภาพของดินดีขึ้น ดินที่มีพืชคลุมขึ้นอยู่จะไม่เกาะกันแน่นเหมือนดินที่ไม่มีพืชขึ้นเลย ถ้าเราเลือกพืชคลุมที่มีรากชอนไชไปในดิน และเป็นพืชที่ให้อินทรียวัตถุมาก จะทำให้ดินบริเวณนั้นร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้สะดวก และอุ้มน้ำได้ดี ก็จะทำให้ดินมีโครงสร้างเหมาะแก่การเจริญเติบโตของไม้ผล อินทรียวัตถุจากพืชคลุม จะช่วยทำให้เม็ดดินเหนียวติดกันเป็นก้อนๆ มีขนาดโตกว่าปกติ ทำให้ดินร่วนขึ้น ทั้งนี้เพราะสารที่มีลักษณะคล้ายวุ้นในอินทรียวัตถุจะมาเคลือบเม็ดดินเหนียวซึ่งมีขนาดเล็กมาก ให้เป็นก้อนโตขึ้น นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยทำให้เม็ดทรายในดินทรายให้ติดกันแน่น ทำให้เหนียวขึ้นกว่าเดิม เมื่อรวมกับซากพืชเข้าแล้ว ดินทรายก็จะอุ้มน้ำได้ดีขึ้น

๔. ช่วยเก็บความชื้นให้กับดิน การปล่อยให้พืชคลุมคลุมตามผิวดิน โดยเฉพาะพืชคลุมที่ปลูกในดินที่พรวนแล้วอย่างดี หลังจากฝนตกใหญ่ครั้งสุดท้ายจะช่วยให้ดินเก็บน้ำได้ดีขึ้น และช่วยลดการระเหยของน้ำ เพราะพืชคลุมจะช่วยบังแสงแดดไม่ให้โดนผิวดินโดยตรง นอกจากนี้อินทรียวัตถุที่หล่นปกคลุมผิวดิน จะเป็นวัตถุคลุมดินที่ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำเป็นอย่างดี พืชคลุมจะช่วยดูดเอาน้ำที่จะไหลผ่านลงไปสู่ดินชั้นล่างไว้ แทนที่จะปล่อยให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงทำให้ผิวดินชื้นอยู่เสมอ

๕. ช่วยกำจัดวัชพืช พืชคลุมดินส่วนมาก จะมีใบเป็นจำนวนมาก และหล่นทับถมบนผิวดินจนแสงสว่างส่องไม่ถึงผิวดิน เมื่อเป็นเช่นนี้วัชพืช ก็ไม่มีโอกาสงอกได้ แม้แต่วัชพืชที่ตั้งตัวได้แล้ว เช่น หญ้าคา ถ้าเราปลูกพืชคลุม เช่น ถั่วลายขึ้นคลุมจะทำให้หญ้าคาตายได้ เพราะถูกบังแสงแดด จนมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป