ประวัติถิ่นฐานดั้งเดิมและการกระจายตัวของอ้อย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 5
เล่มที่ ๕
เรื่องที่ ๑ ผัก
เรื่องที่ ๒ ไม้ผล
เรื่องที่ ๓ อ้อย
เรื่องที่ ๔ มันสำปะหลัง
เรื่องที่ ๕ พืชหัว
เรื่องที่ ๖ การขยายพันธุ์พืช
เรื่องที่ ๗ เป็ดไก่
เรื่องที่ ๘ พันธุ์ไม้ป่า
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๕ / เรื่องที่ ๓ อ้อย / ประวัติถิ่นฐานดั้งเดิมและการกระจายตัวของอ้อย

 ประวัติถิ่นฐานดั้งเดิมและการกระจายตัวของอ้อย
ประวัติถิ่นฐานดั้งเดิมและการกระจายตัวของอ้อย

อ้อยเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมานานนับหมื่นปี การปลูกโดยวิธีตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ มีการกำจัดวัชพืช และป้องกันสัตว์ต่างๆ ที่จะมาทำลายอ้อยที่ปลูก นับว่าเป็นศิลปะที่เก่าแก่มาก ในสมัยโบราณ อ้อยปลูกเป็นพืชสวนครัว สำหรับบริโภคโดยตรง ภายในครัวเรือนเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจากพืชสวนครัวมาเป็นพืชไร่นั้นเชื่อกันว่า เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อหลายร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช ส่วนกรรมวิธีการทำน้ำตาลจากอ้อยนั้น เพิ่งจะมาทราบกันเมื่อไม่นานมานี้เอง

ก่อนที่จะกล่าวถึงถิ่นกำเนิดของอ้อย ใคร่ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งพืชในสกุล (genus)Saccharum เสียก่อน การแบ่งชนิด (species) ของพืชในสกุลนี้ ได้กระทำโดยนักพฤกษศาสตร์หลายท่านในวาระต่างๆ กัน แต่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ การแบ่งของกราสซึล (Grassl, 1968) ซึ่งได้แบ่งพืชในสกุลนี้ออกเป็น ๔ ชนิด คือ

(๑) อ้อยปลูกดั้งเดิม (S.officinarum L.)
(๒) อ้อยป่าแถบร้อน (S. spontaneum L.)
(๓) อ้อยอินเดีย (S. barberi Jesw.)
(๔) อ้อยป่านิวกินี (S. robustum Brand. et Jesw.ex Grassl.)

ลักษณะทั่วๆ ไปและถิ่นกำเนิดของอ้อยชนิดต่างๆ มีดังนี้
อ้อยเคี้ยวพันธุ์มอริเซียส
อ้อยเคี้ยวพันธุ์มอริเซียส
๑. อ้อยปลูกดั้งเดิม เป็นอ้อยที่เกิดแถบเกาะนิวกินี ลักษณะของอ้อยชนิดนี้ ถือเป็นลักษณะประจำของพืชในสกุลนี้ ลักษณะที่สำคัญคือ ลำใหญ่ ใบยาวและกว้าง มีน้ำตาลมาก เปลือกและเนื้อนิ่ม และมีสีสวย ซึ่งเรารู้จักกันในนามของ "อ้อยเคี้ยว" เท่าที่มีอยู่ในบ้านเรา คือ อ้อยสิงคโปร์ อ้อยมอริเชียส (Mauritius) และอ้อยบาดิลา (Badila) ซึ่งชาวดัทช์ที่อยู่ในชวาสมัยก่อนเรียกอ้อยเหล่านี้ว่า โนเบิลเคน (noble cane) ต่อมา บรานดิซ (Brandes, ๑๙๕๖) เรียกว่า เนทิฟ การ์เดน ชูการ์เคน (native garden  sugarcane หรือ native sugarcane) เพราะชาวเกาะนิวกีนีปลูกไว้ในสวน เพื่อใช้รับประทานสด อ้อยชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลก ในสมัยเริ่มแรกเป็นอย่างมาก อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันก็สืบเชื้อสายมาจากอ้อยชนิดนี้ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงประวัติ และถิ่นฐานดั้งเดิมของอ้อยจึงหมายถึงอ้อยชนิดนี้เสมอ
๒. อ้อยป่าแถบร้อน เป็นอ้อยป่าซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบร้อนและชุ่มชื้น มีอยู่หลายร้อยชนิดแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด แต่มีลักษณะที่สำคัญคล้ายคลึงกัน คือมีอายุยืน (perennial) ขึ้นอยู่เป็นกอ มีลำต้นใต้ดิน (rhizome) ลำต้นผอมและแข็ง ไส้กลวง มีความหวานน้อย ในประเทศไทยเรียกว่า แขมพงหรืออ้อยป่า (wild cane)

แขม พง หรืออ้อยป่าซึ่งงอกเองตามธรรมชาติ จะเห็นช่อดอกสีขาวคล้ายอ้อย ดอกส่วนใหญ่โรยแล้วแขมพงหรืออ้อยป่า ซึ่งงอกเองตามธรรมชาติ จะเห็นช่อดอกสีขาวคล้ายอ้อย ดอกส่วนใหญ่โรยแล้ว

๓. อ้อยอินเดีย เป็นอ้อยที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นอ้อยที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติ ระหว่าง S.officinarum และ S.spontaneum อ้อยพวกนี้มีลำต้นขนาดเล็ก ใบเล็ก ข้อโป่ง มีความหวานสูง เปลือกและเนื้อนิ่ม อ้อยขาไก่ในประเทศเราอาจเป็นอ้อยพวกนี้

๔. อ้อยป่านิวกีนี เป็นอ้อยป่าแถบเกาะนิวกินี เปลือกแข็ง ไส้ฟ่าม มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง อาจสูงถึง ๑๐ เมตร มีความหวานต่ำ ชาวเกาะใช้ปลูกทำรั้ว อ้อยชนิดนี้พบว่า มีในประเทศไทย นักวิชาการเชื่อกันว่า เป็นต้นตระกูลของอ้อยปลูกดั้งเดิม

อ้อยได้ถูกนำไปจากเกาะนิวกีนี โดยการติดต่อค้าขาย และการล่าเมืองขึ้นของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี บรานดิซได้สันนิษฐานการแพร่กระจายของอ้อยจากนิวกินีไว้เป็นสามทาง ตามลำดับเวลา คือ

๑. ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่หมู่เกาะโซโลมอน นิวเฮบริดิส และนิวคาเลโดเนีย เกิดขึ้นนานนับจำนวนหมื่นๆ ปีก่อนคริสต์ศักราช

๒. ไปทางทิศตะวันตกสู่หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แหลมมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดจีน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตลอดถึงชายฝั่งแถบอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย การกระจายตัวด้านนี้เริ่มเมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช กว่าที่อ้อยจะกระจายจากนิวกินีไปถึงอินเดียนั้น ต้องใช้เวลาถึง ๓,๐๐๐ ปี การกระจายตัวทางทิศตะวันตกนี้มีความสำคัญมาก เพราะได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล จนมีความเจริญอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

๓. ไปทางทิศตะวันออกสู่เกาะต่างๆ คือ ฟิจิ ตองกา ซามัว คุก มาร์เคซัส โซไซเอตี อิสเทอร์ และฮาวาย รวมทั้งเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย การกระจายตัวตามทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่เกิน ๕๐๐ ปี หลังจากที่อ้อยถึงอ่าวเบงกอลแล้ว
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป