มันฝรั่ง
มันฝรั่งเป็นพืชหัวซึ่งมนุษย์ใช้บริโภค
และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกมานานแล้ว ในปีหนึ่งๆ
ทั้งโลกผลิตมันฝรั่งได้ ประมาณ ๓๐๐ ล้านตันต่อเนื้อที่ปลูกทั้งหมดประมาณ
๗-๘ หมื่นไร่ แหล่งผลิตมันขนาดใหญ่ ได้แก่ รุสเซีย โปแลนด์ เยอรมนี
ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ลาตินอเมริกา และบรรดาประเทศในตะวันออกไกล
ประเทศที่สามารถผลิตมันฝรั่งได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์
คือ ๕ ตัน และที่รองลงมาก็คือ เบลเยี่ยมและเยอรมันตะวันตก คือ ได้ผลผลิต
๔.๕ ตันเท่ากัน |

มันฝรั่งพันธุ์คาร์ดินัล เป็นพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์หนึ่ง |
สำหรับประเทศไทยนั้น
เนื้อที่ปลูกมันฝรั่ง จะขึ้นลงตามราคามันฝรั่งในท้องตลาด
ถ้าหากราคามันฝรั่งดี กสิกรก็ปลูกมันมาก ดังเช่นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒
เนื้อที่ปลูกทั้งหมดทั่วประเทศ ๗,๒๔๐ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลดลงเหลือ ๕,๒๗๒
ไร่ และ ลดลงอีกในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เหลือ ๒,๐๑๙ ไร่ ส่วน ในปี ๒๕๑๕
เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น ๖,๒๙๕ ไร่ เป็นต้น
มันฝรั่งเป็นพืชฤดูหนาว และปลูกได้ผลดีทางภาคเหนือ
มันฝรั่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย อายุสั้น ปริมาณผลผลิตที่ได้ค่อนข้างสูง คือ
ให้น้ำหนักหัว ประมาณ ๑ ตันต่อไร่
ตารางแสดงเนื้อที่ปลูกและผลผลิตของมันฝรั่ง
ปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๕
ปี พ.ศ.
|
เนื้อที่ปลูก
(ไร่)
|
เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้น
หรือลดลงแต่ละปี
(%)
|
ผลผลิต
(ตัน)
|
ผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือ
ลดลงแต่ละปี
(%)
|
ผลผลิตเฉลี่ย
(ตัน/ไร่)
|
๒๕๑๒
๒๕๑๓
๒๕๑๔
๒๕๑๕
|
๗,๒๔๐
๕,๒๗๒
๒,๐๑๙
๖,๒๙๕
|
-
-๓๗.๓๒๙
-๑๖๑.๑๑๙
+๒๑๑.๗๘๘
|
๙,๐๔๐
๖,๕๑๗
๑,๕๔๕
๘,๖๕๐
|
-
-๓๘.๗๑๔
-๓๒๑.๘๑๒
+๔๕๙.๘๗๐
|
๑.๒๗๑
๑.๒๗๘
๐.๗๖๕
๑.๔๐๙
|
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
ประวัติความเป็นมาและแหล่งปลูก
มันฝรั่งเป็นพืชดั้งเดิมของชาวโลกซีกตะวันตก
และเชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นที่ระหว่างประเทศเม็กซิโก และชิลี
บนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวีย หรือเปรู
ปรากฏว่ายังมีมันฝรั่งพันธุ์ป่าขึ้นอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
พื้นที่ที่น่าจะเป็นถิ่นกำเนิดตั้งแต่เดิมของมันฝรั่ง คือ
แถบหุบเขาใกล้คุซโค ในประเทศเปรู นักสำรวจชาวสเปนพบว่า
มีการปลูกมันฝรั่งในอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้ แต่ไม่ใช่ในประเทศเม็กซิโก
แล้วได้นำเข้ามาปลูกในยุโรประหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๔-๗๘ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๒๙
จึงแพร่พันธุ์เข้าไปในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย
จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. ๒๒๙๓ จึงปลูกกันแพร่หลายในประเทศยุโรป ปลาย พ.ศ.
๒๒๔๓ พันธุ์มันฝรั่งที่ใช้ปลูกทั่วๆ ไป
ตามอาณานิคมของอเมริกานั้น มาจากประเทศไอร์แลนด์
โดยพ่อค้าชาวสเปนเป็นผู้นำไป ดังนั้นมันฝรั่งจึงได้ชื่อว่า "มันไอริช"
อีกชื่อหนึ่ง |

การปลูกมันฝรั่งที่
ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ |
แหล่งปลูกในประเทศไทย
ซึ่งปลูกมันฝรั่ง ได้ผลดี คือ จังหวัดในทางภาคเหนือ ซึ่งมีอากาศ หนาวเย็น
เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ส่วนจังหวัดทางภาคกลาง ภาคอีสาน
และภาคใต้ ก็ปลูกกันบ้าง แต่ปริมาณที่ผลิตยังน้อยมาก
เมื่อเทียบกับจังหวัดทางภาคเหนือ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ปลูก
และผลิตมันฝรั่งมากที่สุด มันฝรั่งที่ส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆ
ส่วนมากเป็นมันฝรั่งจากจังหวัดเชียงใหม่ |

การลงหัวของมันฝรั่ง
เมื่ออายุ ๙๐ วัน |
ลักษณะทั่วไป
มันฝรั่งจัดเป็นพวกพืชล้มลุก
อายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๔ ถึง ๕ เดือน
ลำต้นมีลักษณะเป็นกิ่ง ตั้งตรงสูงประมาณ ๑-๒ ฟุต หัวเกิดจากลำต้นใต้ดิน ๑
ต้นจะให้หัว ๘-๑๐ หัว |
มันฝรั่งมีชื่อภาษาอังกฤษสามัญว่า โพเตโต หรือ
ไอริช โพเตโต
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โซลานัม ทูเบอโรซุม (Solanum tuberosum)
อยู่ในตระกูล โซลานาซี (Solanaceae) มีขนบางๆ ตามลำต้น ใบเป็น แบบกลุ่ม
(compound leaf) มีขนเล็กน้อย ประกอบ ด้วยใบยอด ๑ ใบ และใบย่อย
ลักษณะรูปรีปลาย แหลม ๒-๔ คู่ และใบย่อยสั้น ๒ คู่ หรือมากกว่านี้
ช่อดอกเกิดเป็นกลุ่มบริเวณยอดของต้นก้าน ดอกยาว ดอกหนึ่งมีกลีบดอก ๕ กลีบ
กลีบดอกมีสีขาว สี กุหลาบ สีชมพูม่วง หรือม่วง เกสรตัวผู้ ๕ อัน
เกสรตัวเมีย ๑ อัน ซึ่งมีก้านชูเกสรยาว ผลมันฝรั่ง แต่ละผลมีลักษณะเล็กกลม
สีเขียวหรือน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ ๑ นิ้ว ติดกันเป็นพวง
หัวเกิดจากไหลอันเป็นลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไป
เกิดเป็นกิ่งจากส่วนล่างของลำต้น งอกไชชอนลงไปในดิน ตอนปลายขยายใหญ่
เพื่อสร้างหัว หัวมีตาอยู่โดยรอบในลักษณะวงกลม ตาแต่ละตาสามารถแตกออก ได้
๓ กิ่ง ที่ตามีเกล็ด (scale) ซึ่งรูปร่างคล้ายจาน
สำหรับป้องกันตามิให้ได้รับอันตราย |

ลักษณะดอกของมันฝรั่ง |
ภายในหัวมันฝรั่งจะมีแกนตรงกลางพุ่งไปยังตาทุกตารอบๆ
แกนเป็นเซลล์พวกพาเรนไคมา (parenchyma) ซึ่งมีสารพวกแป้งอยู่
ต่อจากพาเรนไคมา ออกมาเป็นวาสคูลาร์ริง (vascularring) ประกอบ ด้วย
แคมเบียม (cambium) และคอร์เทกซ์ (cortex)
ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำให้เกิดสีชมพู แดง ม่วง ตามผิวมัน ฝรั่งแต่ละพันธุ์
ผิวของมันฝรั่ง (periderm) หนา ๖- ๑๐ ชั้น ประกอบด้วย คอร์ก (cork) และ
ซูเบอริน (suberin) เป็นส่วนใหญ่
ซูเบอรินเป็นสารซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายไขมัน แผ่นที่ป้องกันตามันฝรั่งนั้น
เกิดจากเซลล์ผิวนอกรอบๆ หัวมันฝรั่งมีรูถ่ายเทอากาศเลนติเซล (lenticel)
รูถ่ายเทอากาศนี้จะ ขยายใหญ่เมื่อได้รับความชื้น
เมื่อผ่าตัดหัวมันฝรั่งออก แล้วนำไปเก็บไว้ในที่เหมาะสมมันจะสร้างสาร
คล้ายไขมัน หรือซูเบอริน ปิดแผลใหม่ เพื่อป้องกันการเน่า
หัวมันฝรั่งเมื่อขุดขึ้นมา หรือยังไม่ได้ขุดขึ้นมา
ถ้าปล่อยให้ถูกแสงแดดนานๆ ผิวหัวจะกลาย เป็นสีเขียว
และบางพันธุ์จะกลายเป็นสีม่วง เนื่องจากปฏิกิริยาของคลอโรฟิลล์
พันธุ์
มันฝรั่งที่นิยมปลูกทางภาคเหนือของประเทศไทยมีหลายพันธุ์ด้วยกัน
๑.
พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ซึ่งพวกชาวเขาเผ่าต่างๆ
และจีนฮ่อที่อพยพมาอยู่ตามท้องที่เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
และตามภูเขาในเขตจังหวัดเชียงรายนิยมปลูก
พันธุ์นี้เข้าใจว่าจะปลูกกันมานานแล้ว ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า "อาลู"
(เป็นคำซึ่งชาวเมืองเรียกมันฝรั่ง)
พันธุ์นี้มีหัวขนาดย่อมกว่าพันธุ์ต่างประเทศ มีลักษณะหัวกลมบ้าง
หัวกลมค่อนข้างยาวบ้าง ขนาดกลาง เนื้อสีขาวแกนเหลือง เปลือกสีม่วงอ่อน
หรือน้ำตาลอ่อน เปลือกหนา เมื่อทอดกรอบเนื้อมีรสขื่นเล็กน้อย ลำต้นใหญ่
ใบยอด และใบย่อย ใหญ่กว่าใบยอดพันธุ์ต่างประเทศอย่างชัดเจน
ตลาดให้ราคาพันธุ์พื้นเมืองต่ำกว่าพันธุ์ต่างประเทศ พันธุ์นี้ปลูกในฤดูฝน
เริ่มลงมือปลูกในเดือนพฤษภาคม และขุดเก็บหัวในเดือนสิงหาคม
หรือต้นเดือนกันยายน หัวมันที่เก็บในรุ่นนี้ ใช้ทำพันธุ์ปลูกในฤดูหนาวได้
แต่ส่วนมากมักจะถูกส่งออกสู่ท้องตลาด เพื่อการบริโภค เพราะในฤดูฝน
มันฝรั่งในตลาดมีปริมาณน้อย และราคาแพง ส่วนพันธุ์สำหรับใช้ปลูกในฤดูหนาว
ชาวเขาได้เก็บรักษาไว้เอง
|

หัวมันฝรั่งพันธุ์บินท์เจ
จากเนเธอร์แลนด์ |
๒. พันธุ์ต่างประเทศ
พันธุ์ที่เคยปลูกได้ผลดีมาแล้ว คือ พันธ์บินท์เจ (Bintje)
พันธุ์นี้เป็นพันธุ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์
เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์ Munstersen และ Fransen
เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไปในท้องที่จังหวัดภาคเหนือ
แต่ในปัจจุบันนี้ ปลูกน้อยลง ลักษณะประจำพันธุ์ คือ หัวกลมและยาว
เปลือกบาง
สีค่อนข้างขาว เนื้อในค่อนข้างเหลือง เนื้อร่วนซุย รสดี หัวโตมีขนาดยาว ๖
นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว ขนาดทั่วๆ ไปยาวตั้งแต่ ๒-๔ นิ้ว
หัวที่ใช้ทำพันธุ์มีขนาดเล็ก พันธุ์นี้ทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคได้ดี
แต่ไม่ทนทานต่อโรคไบลท์ (blight) และวอร์ท (wart) เลย
เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๑๐ วัน
พันธุ์บินท์เจนี้ต้องสั่งซื้อจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาทำพันธุ์ทุกๆ ปี
โดยองค์การคลังสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
จะเป็นผู้สั่งเข้ามาตามจำนวนที่ชาวไร่ต้องการ
หลังจากสั่งเข้ามาแล้วจะส่งต่อให้บริษัท จังหวัดเชียงใหม่ จำกัด
จำหน่ายให้แก่ชาวไร่ ที่สั่งจอง มันฝรั่งที่สั่งกำหนดถึงท่าเรือกรุงเทพฯ
ในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนกันยายน ของทุกๆ ปี
ฉะนั้นชาวไร่จะเริ่มปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
มันพันธุ์นี้ใช้ปลูกในฤดูหนาวเพียงฤดูเดียว ถ้านำไปปลูกตามที่ราบทั่วๆ
ไปจะไม่ลงหัว |
พันธุ์ต่างประเทศ
ที่นิยมปลูกในปัจจุบันคือ
พันธุ์เมอร์คา (Mirka) สปันตา (Spunta) และโดนาตา (Donata)
เพราะพันธุ์ทั้งสามนี้ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์บินท์เจ
พันธุ์เมอร์คา
เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ วัน
ผลผลิตสูง หัวยาวรี ตาที่หัวตื้น เนื้อในเหลืองอ่อนถึงสีเหลือง
มีใบมากพอสมควร และต้านทานความแห้งแล้งได้ดี ไม่ต้านทานต่อโรคใบไหม้
แต่ต้านทานต่อโรคใบม้วน และเชื้อไวรัสได้ดี เป็นโรควอร์ทได้ง่าย
พันธุ์นี้นำมาจากประเทศเชโกสโลวะเกีย |

ลักษณะหัวมันฝรั่งพันธุ์สปันตา |
พันธุ์สปันตา
เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่และยาว ตาที่หัวตื้น
เนื้อในสีเหลืองอ่อน ใบมากพอสมควร ต้านทานต่อความแห้งแล้งได้ดี
ต้านทานโรคใบไหม้ดีพอสมควร เป็นโรคใบม้วนได้ง่าย แต่ต้านทานต่อเชื้อไวรัส
และโรควอร์ทได้ดี เนื้อในเมื่อต้มแล้วแน่น
และนอกจากนั้นยังมีสีเนื้อในสม่ำเสมอด้วย
พันธุ์นี้นำมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ |

ลักษณะหัวมันฝรั่งพันธุ์โดนาตา
|
พันธุ์โดนาตา (up
to date)
เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างหนัก อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๓๐-๑๔๐
วัน พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์
แพเทอร์สันส์วิกตอเรีย (Patersons Victoria) และ บลูดอน (Blue Don)
เจริญเติบโตรวดเร็ว ลำต้นแข็งแรง ใบค่อนข้างใหญ่ และใบมีสีเขียวอ่อน
หัวมีขนาดใหญ่ และมีลักษณะรี หัวมีขนาดสม่ำเสมอ
ผิวหัวสีเหลืองอ่อนผิวเรียบ ตาตื้น เนื้อในสีขาว เป็นโรควอร์ท โรคใบไหม้
และโรคสแคบ (scab) ค่อนข้างง่าย แต่ต้านทานโรคใบม้วนได้ดี
พันธุ์นี้นำมาจากประเทศสกอตแลนด์
นอกเหนือจากพันธุ์ต่างประเทศที่กล่าวแล้ว
ทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้สั่งพันธุ์ต่างๆ มาศึกษาอยู่เรื่อยๆ
เพื่อจะได้ศึกษาว่า จะมีพันธุ์ใดที่มีลักษณะต่างๆ ดี และให้ผลผลิตสูง
ซึ่งจะได้เป็นลู่ทาง เพื่อนำไปใช้ทดแทนพันธุ์เดิม ซึ่งใช้อยู่ต่อไป
ฤดูปลูก
มันฝรั่งสามารถปลูกได้ผลดีเมื่ออากาศเริ่มเย็น
หรือเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว ส่วนเวลาปลูกนั้นย่อมแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับท้องที่ โดยทั่วไปแล้วเริ่มต้นปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม
เป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน
การเลือกและการเตรียมที่
มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการอากาศเย็น
จะเจริญเติบโตได้ดี ที่อุณหภูมิ ๒๑.๑ องศาเซลเซียส หรือ
ต่ำกว่านี้เล็กน้อย ที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้และฝางใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ปรากฏว่า
มันฝรั่งเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตประมาณ ๔ ตันเศษต่อไร่ ในขณะทำ
การทดลองนั้นมีอุณหภูมิ ๒๑ องศาเซลเซียส ขณะ
เป็นต้นอ่อนเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอุณหภูมิ ๒๓ องศาเซลเซียส
หลังจากนั้นแล้วอุณหภูมิของดินควร มีประมาณ ๑๗.๘ องศาเซลเซียส
มันฝรั่งจึงจะเจริญ เติบโตได้ดี มันฝรั่งจะลงหัวได้ดี ในดินที่มีอุณหภูมิ
ประมาณ ๒๐-๒๘.๘ องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูง กว่านี้จะลงหัวไม่ดี
เพราะสารพวกคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลจะถูกใช้ไปในการหายใจหมด |