มันแกว - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 5
เล่มที่ ๕
เรื่องที่ ๑ ผัก
เรื่องที่ ๒ ไม้ผล
เรื่องที่ ๓ อ้อย
เรื่องที่ ๔ มันสำปะหลัง
เรื่องที่ ๕ พืชหัว
เรื่องที่ ๖ การขยายพันธุ์พืช
เรื่องที่ ๗ เป็ดไก่
เรื่องที่ ๘ พันธุ์ไม้ป่า
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๕ / เรื่องที่ ๕ พืชหัว / มันแกว

 มันแกว
มันแกว

คนไทยรู้จักมันแกวเป็นอย่างดี และรู้จักนานมาแล้ว รู้จักกินหัวมันแกวเป็นอาหาร ส่วนใหญ่กินหัวมันแกวสด แบบเดียวกับการกินผลไม้ ปริมาณการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการปลูกมันแกวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว เรายังสามารถส่งมันแกวเป็นสินค้าออก โดยส่งไปขายยังประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว และมาเลเซียอีกด้วย ชาวไร่ทั่วประเทศผลิตมันแกว ได้ประมาณ ๔๗,๔๔๓ ตัน (สถิติปี พ.ศ. ๒๕๑๐) คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔๗ ล้านบาท คาดว่าปริมาณ และมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แสดงลักษณะของเถาและใบมันแกว
แสดงลักษณะของเถาและใบมันแกว
เนื่องจากปริมาณการบริโภคภายในประเทศ เพิ่มขึ้น และมีการส่งมันแกวเป็นสินค้าออกไป ยังประเทศเพื่อนบ้าน ปริมาณการผลิตจึงเพิ่มขึ้น เนื้อที่ปลูกมันแกวได้เพิ่มขึ้นจาก ๓๓,๖๓๘ ไร่ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น ๕๗,๓๓๖ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ผลิตผลที่เพิ่มจาก ๓๑,๒๒๖ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น ๕๒,๗๔๘ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑
ประวัติความเป็นมาและแหล่งปลูก

มันแกวมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แยมบีน (yam bean) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบอเมริกากลาง ชาวสเปนได้นำมาปลูกในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันได้มีการปลูกมันแกวกันโดยทั่วไปในประเทศแถบร้อน ได้แก่ แอฟริกาตะวันออก อินเดีย จีน และประเทศไทย เป็นต้น ในประเทศไทยมีการปลูกมันแกวมานานแล้ว อาจจะเป็นไปได้ว่า ชาวญวนเป็นผู้นำเข้ามาปลูกทาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมีคนไทยนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม เข้ามาปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกชาวญวนว่า "แกว" จึงเรียกมันนี้ว่า มันแกว แต่ไม่มีการยืนยันข้อสันนิษฐานนี้

ตารางแสดงเนื้อที่ปลูกและผลผลิตมันแกว
ปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๑๑
ปี พ.ศ. เนื้อที่เพาะปลูก
(ไร่)
ผลิตผล
(ตัน)
๒๕๐๗
๒๕๐๘
๒๕๐๙
๒๕๑๐
๒๕๑๑
๓๓,๖๓๘
๘๘,๑๓๙
๔๘,๖๔๖
๔๕,๒๐๕
๕๗,๓๓๖
๓๑,๒๒๖
๓๙,๖๓๕
๔๕,๓๙๙
๔๗,๔๔๓
๕๒,๗๔๘

ผลผลิตโดยทั่วไปประมาณ ๑-๒ ตันต่อไร่
ราคาขายส่งประมาณ กก. ละ ๑.๐๐-๒.๐๐ บาท
ราคาขายปลีกประมาณ กก. ละ ๑.๕๐-๓.๐๐ บาท
ปัจจุบันมีการปลูกมันแกวอยู่เกือบทั่วประเทศ มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสมกับภูมิประเทศ มีปลูกมากอยู่ใน ๕๔ จังหวัด ปลูกมากที่สุดในภาคกลาง ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร รองลงไป ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่ปลูกมากได้แก่ มหาสารคาม หนองคาย ขอนแก่น ภาคเหนือปลูกไม่มากนัก ที่จังหวัดลำปาง เชียงราย ส่วนภาคใต้ปลูกมันแกวน้อยกว่าภาคอื่นๆ มีปลูกมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะหัวมันแกวสด
ลักษณะหัวมันแกวสด
จังหวัดที่ปลูกมันแกวมากที่สุดของประเทศ ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่เพาะปลูกถึง ๘,๓๖๔ ไร่ ให้ผลิตผล ๗,๑๑๕ ตัน (สถิติปี พ.ศ.๒๕๑๑)
ตันมันแกวมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย
ตันมันแกวมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย  
ลักษณะทั่วไป

มันแกวเป็นไม้เถาเลื้อย ใบคล้ายใบถั่ว หัวอวบ หัวมีขนาดแตกต่างตามชนิดพันธุ์ ที่พบมากเป็นพวกหัวใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ ซม. สีน้ำตาลอ่อน
ลักษณะทางพฤกษศาตร์

มันแกวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แพคีร์ริซุส อิโรซุส (แอล) เออร์บัน (Pachyrrhizus erosus (L) Urban.) เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ต้นมีขนเป็น เถาเลื้อย ต้นอาจจะยาวถึง ๕.๕ เมตร ไม่แตกแขนง หัวอวบ มีขนาดใหญ่ โคนต้นเนื้อแข็ง ใบประกอบด้วยใบย่อย ๓ ใบ ใบย่อยมีจักใหญ่ ดอกสีชมพูหรือขาว ช่อดอกยาว ๑๕-๓๐ ซม. ฝักมีขนาดยาวประมาณ ๗-๑๕ ซม. ฝักเมื่อแก่จะเรียบ มี ๘-๑๐ เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลหรือแดง ลักษณะจัตุรัสแบนๆ ต้นหนึ่งๆ มีหัวเดียว หัวอาจเป็นหัวเรียบๆ หรือเป็นพู มีรูปร่างแตกต่างกันมาก ส่วนมากหัวมีสี่พู ส่วนที่อยู่ใต้ดินมีอายุข้ามปี แต่ส่วนบนดิน คือ ต้นใบมีอายุปีเดียว
ลักษณะช่อดอกมันแกว
ลักษณะช่อดอกมันแกว
ชนิด

มันแกวที่ปลูกรับประทานมีชนิดใกล้เคียงกันกับ พี อิโรซุส (P. erosus) ดังกล่าวข้างต้นก็มี พี ทูเบอโรซุส (P. tuberosus) ซึ่งแตกต่างจาก พี อิโรซุส เล็กน้อย ที่มีใบย่อยใหญ่ ดอกสีขาว หัวมีขนาดใหญ่กว่า ฝักใหญ่กว่า มีความยาว ๒๕-๓๐ ซม. เมล็ดแบนใหญ่
มันแกวที่ปลูกมากในประเทศไทย ที่พบมี ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ พันธุ์หัวใหญ่ กับพันธุ์หัวเล็ก ไม่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน นอกจากเรียกตามชื่อท้องที่ที่ปลูก เช่น มันแกวเพชรบุรีบ้าง มันแกวลพบุรีบ้าง มันแกวบ้านหมอบ้าง ทางแถบสระบุรี เรียกพันธุ์ "ลักยิ้ม" เพราะเมล็ดมีรอยบุ๋ม ทางจังหวัดมหาสารคามมีพันธุ์งาช้าง
ฤดูปลูก

มันแกวขึ้นได้ในดินฟ้าอากาศหลายชนิด ชอบอากาศค่อนข้างร้อน มีฝนปานกลาง ในอากาศที่หนาว ระยะเจริญเติบโตจะยาวนาน ในการผลิตหัวต้องการวันสั้น ถ้าปลูกในที่ที่มีวันยาวถึง ๑๔-๑๕ ชั่วโมง การเจริญเติบโตดี แต่ไม่ผลิตหัว ควรปลูกในระยะต้นถึงปลายฤดูฝน เพื่อเก็บหัวในฤดูแล้ง ถ้าปลูกฤดูแล้งหลังจากฝนหมดแล้ว จะมีหัวในเวลาไม่นานนัก เช่น ปลูกเดือนพฤศจิกายน จะเก็บหัวได้ในราวเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ แต่จะได้หัวเล็ก เพื่อให้ได้หัวโต ควรปลูกราวเดือนมิถุนายน
หัวมันแกวพันธุ์งาช้าง
หัวมันแกวพันธุ์งาช้าง 
การเลือกและการเตรียมที่

มันแกวชอบดินที่มีการระบายน้ำดี มีการเตรียมดินดี ไม่ชอบดินเหนียวน้ำขัง ชอบดินร่วนทราย การเตรียมดินก็เป็นเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่อื่นๆ มีการไถพรวน พรวนให้ดินร่วนซุยดี เก็บวัชพืชให้หมด และยกร่อง เพื่อปลูกมันแกวบนสันร่อง
การปลูกมันแกวโดยปลูกบนสันร่อง
การปลูกมันแกวโดยปลูกบนสันร่อง
วิธีปลูก

ปลูกด้วยเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ มีบางครั้งปลูก โดยใช้หัว เพื่อรักษาลักษณะที่ดีไว้ ปลูกหลุมละ ๒-๓ เมล็ด ในบางประเทศปลูกโดยใช้ระยะระหว่างแถว ๖๐-๗๕ ซม. ระยะระหว่างหลุม ๓๐-๔๐ ซม. อินเดีย และฟิลิปปินส์ ใช้ระยะระหว่างแถว ๑๕-๒๐ ซม. ระหว่างต้น ๑๐ ซม. ผลการทดลอง ใช้ระยะ ๑๕ x ๑๕ ซม. ให้ผลดี ประเทศไทยปลูก โดยวิธียกร่อง ระยะระหว่างแถว ๘๐-๑๐๐ ซม. ระหว่างต้นแตกต่างกัน ชนิดหัวเล็กต้นห่างกัน ๑๐- ๒๐ ซม. ชนิดหัวใหญ่ห่างกัน ๓๐-๕๐ ซม. ถ้าไม่ ยกร่องระยะระหว่างแถวแคบกว่านี้เล็กน้อย

ในเนื้อที่ ๑ ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๘ กก. หรือประมาณครึ่งถัง
การทำค้าง

มันแกวที่ปลูกฤดูฝน สิ่งสำคัญในการปฏิบัติ ได้แก่ การทำค้างให้ต้นมันแกวเลื้อย ใช้ไม้ไผ่ หรือกิ่งไม้สูงประมาณ ๒-๓ เมตร ปักให้ต้นมันแกวเลื้อย และช่วยจัดให้ยอดของมันแกวเลื้อยขึ้นไปตามไม้ที่ปัก การปลูกมันแกวฤดูแล้งไม่ต้องทำค้าง
การปลูกมันแกวโดยทำค้างให้ต้นมันแกวเลื้อย
การปลูกมันแกวโดยทำค้างให้ต้นมันแกวเลื้อย
การพรวนดิน

ถ้าปลูกฤดูฝน ควรพรวนดินพร้อมกับกำจัดวัชพืช ไม่ให้วัชพืชขึ้นปกคลุมต้นมันแกว ปกติต้องกำจัดวัชพืช ๒-๓ ครั้ง สำหรับการปลูกมันแกว ในฤดูแล้งไม่ให้น้ำ ไม่ต้องพรวนดิน และกำจัดวัชพืช

การเด็ดยอด

การปลูกมันแกวในฤดูฝนนั้น จำเป็นต้องเด็ดยอดและดอก ถ้าไม่เด็ดมันแกวจะเจริญเติบโตทาง ต้น ใบ ดอก ฝัก ทำให้มีหัวเล็ก การเด็ดยอดและดอก จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ถ้าปลูกต้นฤดูฝนในราวเดือนมิถุนายน ทำการเด็ดยอด ๓ ครั้ง ครั้งแรกอายุ ๒ เดือน ขณะที่เถายาวประมาณ ๑- ๑.๕ เมตร ครั้งที่สอง อายุประมาณ ๓ เดือน และครั้งที่สามอายุประมาณ ๔ เดือน หรือจะเด็ดเพียง ๒ ครั้ง เมื่ออายุ ๒ กับ ๔ เดือนก็ได้ ถ้าปลูกปลายฝน เด็ดยอดครั้งเดียวเป็นการเพียงพอ แต่ถ้าปลูกหลังฤดูฝน ไม่ต้องทำการเด็ดยอดเลย สำหรับการปลูกมันแกว เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ปลูก ไม่ต้องทำการเด็ดยอดและดอก ปล่อยให้เจริญเติบโตตามปกติ เพื่อให้ได้เมล็ดมาก และเมล็ดมีคุณภาพดี ในทางปฏิบัติ กสิกรเด็ดยอดโดยการใช้ไม้คล้ายไม้เรียว หวดให้ยอดขาด หรือหักไม่ให้เจริญเติบโตต่อไป

การใส่ปุ๋ย


ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยคอก ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินแต่ละแห่ง ในต่างประเทศใช้ปุ๋ยผสม เกรด ๑๒-๒๔-๑๒ ในอัตรา ๕๐-๖๕ กก./ไร่ ก่อนปลูก และเพิ่มแอมโมเนียมซัลเฟตอีกประมาณ ๓๐ กก./ไร่ เมื่อต้นมันแกวเริ่มเลื้อย

โรคและแมลง

ไม่ปรากฏว่ามีโรคและแมลงที่รบกวนต้นมันแกวมากนัก ผลผลิตโดยทั่วไปในเนื้อที่ ๑ ไร่ จะได้หัวมัน แกวสดประมาณ ๒-๖ ตัน

การเก็บหัวและรักษา

มันแกวที่ปลูกฤดูฝนจะแก่เมื่ออายุประมาณ ๕-๘ เดือน แต่ถ้าจะเก็บเมล็ด ต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐ เดือน ให้สังเกตดูใบมันแกว เมื่อใบเปลี่ยนเป็น สีเหลือง แสดงว่าเริ่มเก็บหัวได้แล้ว มันแกวชนิดหัวเล็กปลูกหลังฤดูฝน เก็บได้เมื่ออายุ ๓ เดือน
การเก็บหัวมันแกวเพื่อส่งตลาด
การเก็บหัวมันแกวเพื่อส่งตลาด
ถ้าปลูกน้อย เก็บโดยการขุดด้วยจอบ เสียม ถ้าปลูกมากอาจใช้ไถพลิกหัวมันแกวขึ้นมา เมื่อเก็บหัวมาแล้วล้างน้ำให้สะอาด แล้วส่งตลาด หรือเก็บ รักษาไว้ต่อไป
การแสดงลักษณะและขนาดของหัวมันแกว
การแสดงลักษณะและขนาดของหัวมันแกว
การเก็บรักษามันแกวที่ดีวิธีหนึ่ง คือ ไม่ขุดขึ้นจากดิน วิธีนี้จะสามารถทิ้งหัวมันแกวไว้ในดิน ได้อีกประมาณ ๒-๓ เดือน โดยไม่ให้น้ำ หัวจะไม่เสีย เพียงแต่แห้งไปบ้าง และจะมีรสหวานมากขึ้น ถ้าขุดขึ้นมาแล้ว จะเก็บรักษาได้โดยเก็บไว้ ในอุณหภูมิ ๐ องศาเซลเซียส จะเก็บได้นานประมาณ ๒ เดือน

ประโยชน์

องค์ประกอบของส่วนต่างๆ ของมันแกว มีดังนี้
ลักษณะต่างๆ ของหัวมันแกว
ลักษณะต่างๆ ของหัวมันแกว
หัว

หัวมันแกวประกอบด้วยแป้งและน้ำตาล และมีวิตามินซีมาก ผลจากการวิเคราะห์ประกอบด้วย ความชื้นร้อยละ ๘๒.๓๘ โปรตีนร้อยละ ๑.๔๗ ไขมันร้อยละ ๐.๐๙ แป้งร้อยละ ๙.๗๒ น้ำตาลร้อยละ ๒.๑๗ non-reducing sugar ร้อยละ ๐.๕๐ เหล็ก (Fe) ๑.๑๓ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ กรัมของโปรตีนที่กินได้ แคลเซียม (Ca) ๑๖.๐ มิลลิกรัม ไทอามีน ๐.๕ มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๒ มิลลิกรัม กรดแอสโคนิก ๑๔ มิลลิกรัม
ฝัก

ฟิลิปปินส์ทำการวิเคราะห์ฝักปรากฏว่า ประกอบด้วยความชื้นร้อยละ ๘๖.๔ โปรตีนร้อยละ ๒.๖ ไขมันร้อยละ ๐.๓ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๑๐.๐ เส้นใยร้อยละ ๒.๙ เถ้าร้อยละ ๐.๗ แคลเซียม ๑๒๑ มิลลิกรัม/๑๐๐ กรัม ฟอสฟอรัส (P) ๓๙ มิลลิกรัม เหล็ก ๑.๓ มิลลิกรัม วิตามินเอ 575 IU ไทอามิน ๐.๑๑ มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๙ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๐.๘ มิลลิกรัม
ลักษณะฝักมันแกวที่เจริญเต็มที่
ลักษณะฝักมันแกวที่เจริญเต็มที่
เมล็ด

ประกอบด้วยน้ำมันที่ใช้กินได้ร้อยละ ๒๐.๕-๒๘.๔ ผลการวิเคราะห์เมล็ดประกอบด้วย ความชื้นร้อยละ ๖.๗ โปรตีนร้อยละ ๒๖.๗ น้ำมันร้อยละ ๒๗.๓ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๒๐.๐ เส้นใย ร้อยละ ๗.๐ เถ้าร้อยละ ๓.๖๘ เมล็ดแก่เป็นพิษ เนื่องจากประกอบด้วย โรตีโนนร้อยละ ๐.๑๒-๐.๔๓ และไอโซฟลาวาโนน และ ทุฟูราโน -๓- ฟีนิล ดูมาริน

ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ของมันแกว ส่วนใหญ่คือ หัว หัวสดใช้เป็นอาหาร เป็นผลไม้และผัก หรือจะใช้หุงต้มปรุงอาหารก็ได้ หัวเล็กๆ หรือเศษของหัวใช้เลี้ยงสัตว์ ฝักอ่อนต้มรับประทานเป็นผัก เมล็ดใช้ทำพันธุ์ เมล็ดแก่ป่นหรือบด ใช้เป็นยาฆ่าแมลง หรือใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ฝักแก่ และเมล็ดแก่เป็นพิษต่อการบริโภคของคนและสัตว์ เนื่องจากเมล็ดมีน้ำมัน ซึ่งคล้ายน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย น้ำมันจากเมล็ดมันแกวกินได้ ต้นหรือเถามันแกวมีความเหนียว ในประเทศฟิจิ ใช้ทำแห อวน ได้
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป