สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 7
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๓ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม / สำหรับเด็กระดับกลาง
สำหรับเด็กระดับกลาง
เนื่องจากหม่อนเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตร้อนและอบอุ่น
ดังนั้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จึงเป็นอาชีพสำคัญของประชาชน ในหลายประเทศ
ทั้งในเอเชีย และยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ |
 ต้นหม่อน
|
หม่อนเป็นพืชมีดอก เป็นพืชยืนต้น และเป็นไม้พุ่ม มีหลายพันธุ์
ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ที่มนุษย์ผสมขึ้นมา
เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ และให้ผลผลิตสูง
พันธุ์ซึ่งใช้ปลูกสำหรับเลี้ยงไหม
ควรเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในท้องที่ทั่วไป โตเร็ว
ทนทานต่อความแห้งแล้ง และโรคได้ดี ใบบาง ไม่หยาบ ขอบใบมีแฉกน้อย ฯลฯ
ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญ ซึ่งทำให้หม่อนให้ผลผลิตสูง
ได้ใบหม่อนมากพอที่จะนำมาเลี้ยงไหมได้อย่างเต็มที่
พันธุ์ที่ปลูกกันมากในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เช่น
พันธุ์หม่อนน้อย พันธุ์ตาดำ เป็นต้น |  ผลหม่อน |
การขยายพันธุ์หม่อนทำได้หลายวิธี
ทั้งใช้เมล็ดและกิ่ง แต่วิธีที่ให้ผลเร็ว
และได้ต้นหม่อน ที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์เดิมทุกประการก็คือ การตัดกิ่งปักชำ
กิ่งที่จะใช้ขยายพันธุ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑ ปี มีตาไม่น้อยกว่า ๕-๖ ตา
และยาวประมาณ ๒๕-๓๐ เซนติเมตร หลังจากปักชำกิ่งลงดินทรายแกลบเผา หรือขี้เลื่อยได้ ๑ เดือน จึงนำไปปลูกลงดิน ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด
สำหรับการปลูกต้นหม่อนคือ ระยะต้นฤดูฝน เพราะต้นหม่อนระยะนี้ต้องการ
ความชื้นสูงมาก เมื่อต้นหม่อนตั้งตัวได้แล้ว ต้องคอยดูแลปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ย
ต้นหม่อนจึงจะเจริญเติบโตได้ดี หลังจากต้นหม่อนอายุ ได้ ๑ ปี จึงเริ่มตัดแต่ง
กิ่งและเก็บใบไปเลี้ยงไหม การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำสวน
หม่อน เพราะจะช่วยให้หม่อนมีต้นเตี้ย เก็บใบได้สะดวก และมีใบมากกว่า
ปล่อยให้เติบโตไปเองตามธรรมชาติ
|
เนื่องจากหนอนไหมกินใบหม่อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ดังนั้น การเลี้ยงไหมจึงควรเริ่มต้น ในระยะเวลาที่ต้นหม่อนมีใบมาก
จึงจะมีอาหารพอ สำหรับเลี้ยงหนอนไหม
นอกจากนี้การเลี้ยงไหมจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ อุปกรณ์การเลี้ยง
วิธีเลี้ยง และพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงอีกด้วย
เพราะปรากฏว่า การเลี้ยงไหมแผนใหม่ตามคำแนะนำ ของกองการไหม
กรมวิชาการเกษตร โดยเลี้ยงไหมพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์จีนและญี่ปุ่น
และใช้อุปกรณ์
โรงเลี้ยงที่ทันสมัย ได้ผลดีกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีของชาวบ้าน และเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองไทย
เช่น พันธุ์นางขาว นางน้ำ ฯลฯ |
นอกจากเลือกพันธุ์
การเอาใจใส่ดูแลสวนหม่อน และหนอนไหมระยะต่างๆ และการวางแผนกะเวลาเลี้ยงไหม
ให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และการเจริญเติบโต ของต้นหม่อนแล้ว
การควบคุมโรคและแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ที่ทำความเสียหายแก่หม่อนหรือหนอนไหม
ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้การ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ผลผลิตสูง
และมีคุณภาพดีอีกด้วย |  กิ่งหม่อนชำ ที่ออกรากแล้ว พร้อมที่จะนำไปปลูก |
|