หม่อน - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 7
เล่มที่ ๗
เรื่องที่ ๑ กล้วยไม้
เรื่องที่ ๒ ผีเสื้อ
เรื่องที่ ๓ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม
เรื่องที่ ๔ โรคพืช
เรื่องที่ ๕ ครั่ง
เรื่องที่ ๖ การเลี้ยงปลา
เรื่องที่ ๗ การชลประทาน
เรื่องที่ ๘ บ้านเรือนของเรา
เรื่องที่ ๙ โทรคมนาคม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๓ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม / หม่อน

 หม่อน
หม่อน (Mulberry: Morus alba Linn.)

การที่เราจะเลี้ยงไหมได้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องมี อาหารของไหม หนอนไหมที่เราเลี้ยงกันอยู่นี้กินอาหารเพียง อย่างเดียวคือ ใบหม่อน เท่านั้น เราจำเป็นจะต้องปลูกหม่อน ให้เจริญงอกงาม มีใบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยหลักวิชาการ ทางด้านพืชกรรมเข้าช่วย เช่น การตัดแต่งกิ่ง การบำรุงรักษา ใส่ปุ๋ย ปราบวัชพืช ฯลฯ
พุ่มต้นหม่อนที่ปลูกเลี้ยงอย่างถูกวิธี
พุ่มต้นหม่อนที่ปลูกเลี้ยงอย่างถูกวิธี
ลักษณะของต้นหม่อน

หม่อนเป็นพืชยืนต้นประเภทไม้พุ่ม เนื้ออ่อน เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ปลายใบแหลม ขอบใบอาจหยักเว้ามาก คล้ายใบมะละกอ หรือหยักน้อยคล้ายใบโพธิ์ บางชนิดมีขนเล็กใต้ใบ ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวลำต้นเรียบ ไม่มีหนาม มียางสีขาวขุ่น คล้ายน้ำนม บางพันธุ์ติดผลดกและโต รับประทานได้คล้ายผลสตรอเบอรี่ ซึ่งพันธุ์ที่กล่าวนี้ มักไม่นิยมใช้ใบเลี้ยงไหม เพราะใบแข็งกระด้าง ไหมไม่ชอบกิน ต้นหม่อนที่ได้รับการบำรุงรักษาโดยถูกต้อง อาจมีอายุยืนให้ปริมาณใบมากถึง ๒๕ ปี ในสมัยโบราณหม่อนเป็นพืชที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เมื่อเลี้ยงไหมกันมากขึ้น ต้องนำมาปลูก เพื่อให้ได้ใบมากพอแก่ความต้องการ
การเลือกที่ปลูกหม่อน

หม่อนสามารถขึ้นได้ดีทั้งในสภาพดินดี และดินเลว โดยปกติชอบดินร่วมปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบที่ลุ่ม น้ำขัง เพราะจะทำให้ใบเหลืองร่วง และถ้าขังนาน อาจถึงตายได้ คุณสมบัติของดินควรเป็นดินกลาง ไม่เป็นกรดเป็นด่าง กล่าวคือ มีค่า PH ประมาณ ๖.๕-๖.๙ อนึ่งการเลือกที่ดินปลูกหม่อนควรพิจารณาถึงพืชที่ปลูกในบริเวณข้างเคียงด้วย ไม่ควรอยู่ใกล้แปลงยาสูบ สวนผัก หรือสวนผลไม้ที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง เพราะสารนิโคตินในใบยาสูบ หรือละอองยาที่ฉีดในสวนผัก สวนผลไม้ จะปลิวไปเกาะอยู่บนใบหม่อน จะเป็นอันตรายต่อหนอนไหม เมื่อเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงได้
ใบหม่อนเป็นอาหารของหนอนไหม
ใบหม่อนเป็นอาหารของหนอนไหม
สภาพดินฟ้าอากาศ

หม่อนเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง โดยเฉพาะในระยะที่ปลูกใหม่ จึงควรเริ่มปลูกในต้นฤดูฝน เมื่อหม่อนเจริญเติบโตดีแล้ว จะทนแล้งได้ดี เพราะมีระบบรากแข็งแรงหยั่งลึกลงไปในดินได้หลายเมตร สามารถดูดน้ำที่อยู่ในดินลึกๆ ได้ ในประเทศที่มีอากาศหนาว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หม่อนจะทิ้งใบในฤดูหนาวแล้วพักตัวนิ่ง ข้ามฤดูหนาวไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ในปีต่อไปจึงจะแตกกิ่งแตกใบออกมาใหม่ แต่ที่มีอากาศร้อน เช่น ไทย อินโดนีเซีย อินเดียตอนใต้ หม่อนจะเจริญเติบโตได้ดีตลอดปี จะพักตัวบ้างในหน้าแล้งเท่านั้น หม่อนเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้งที่มีแสงแดดตลอดวัน ถ้าได้รับแสงไม่เพียงพอ เช่น หม่อนที่ปลูกแซมระหว่างแถวไม้ผล หรือในสวนมะพร้าวจะทำให้ใบบางลำต้นสูงชะลูด ไม่เป็นพุ่ม
พันธุ์หม่อน

ตามธรรมชาติหม่อนมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน บางพันธุ์มนุษย์ผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้พันธุ์ซึ่งมีใบใหญ่ และข้อถี่ พันธุ์หม่อนที่ปลูกกันมาก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีไม่น้อยกว่า ๒๐ พันธุ์ เช่น หม่อนน้อย หม่อนตาดำ หม่อนจาก หม่อนมี่ หม่อนไผ่ หม่อนส้ม หม่อนส้มใหญ่ หม่อนสร้อย หม่อนใบโพธิ์ หม่อนแก้วชนบท หม่อนแก้วอุบล หม่อนหยวก หม่อนแม่ลูกอ่อน หม่อนใบมน หม่อนจระเข้ หม่อนสา หม่อนใหญ่บุรีรัมย์ หม่อนตาแดง หม่อนแก้วสตึก ฯลฯ ส่วนพันธุ์หม่อนที่ทางราชการส่งเสริมให้ปลูก ได้แก่ หม่อนน้อย และหม่อนตาดำ เพราะเป็นพันธุ์ที่มีใบใหญ่ ไม่มีแฉก หรือมีแฉกน้อยมาก ให้ผลผลิตสูง โตเร็ว สามารถนำไปปลูกได้ดีในท้องที่แทบทุกแห่ง บางพันธุ์มีลักษณะใบเป็นแฉกๆ มาก เนื้อใบน้อย ผลผลิตใบต่ำ แต่ก็สามารถทนทานต่อโรครากเน่าได้ดีกว่าพันธุ์หม่อนน้อย ซึ่งได้แก่ พันธุ์หม่อนไผ่ หม่อนส้ม และหม่อนส้มใหญ่ เป็นต้น
ต้นหม่อนที่ไม่ได้รับการตัดแต่งจะมีกิ่งเกะกะและเก็บใบยาก
ต้นหม่อนที่ไม่ได้รับการตัดแต่งจะมีกิ่งเกะกะ
และเก็บใบยาก
ลักษณะประจำพันธุ์

หม่อนน้อย เป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมือง เจริญเติบโตดี ลำต้นสีขาวนวล แตกกิ่งก้านมาก ใบใหญ่ค่อนข้างบาง เรียบเป็นมันไม่มีขน และไม่มีแฉก ใบมีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมขอบหยักถี่ ดอกสีขาว มีดอกแต่ไม่ติดผล ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่เป็นโรครากเน่าได้ง่าย
ลักษณะใบของหม่อนน้อยซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมใช้เลี้ยงไหม
ลักษณะใบของหม่อนน้อยซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมใช้เลี้ยงไหม
หม่อนตาดำ เป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมืองอีกพันธุ์หนึ่ง เจริญเติบโตเร็ว ท้องใบมีขนเล็กน้อย ลำต้นสีเขียวกว่าหม่อนน้อยใบไม่มีแฉก รูปไข่ สีเขียว ไม่เป็นมัน แต่หนา ใบจะร่วงง่ายในหน้าแล้ง
หม่อนพันธุ์หม่อนตาดำ
หม่อนพันธุ์หม่อนตาดำ
ระยะปลูก

การที่จะทำสวนหม่อนให้ได้ดี ทั้งในด้านผลผลิตใบ และสะดวกต่อการเก็บแล้ว ควรปลูกเป็นแถวเดี่ยว ระยะปลูกที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับเครื่องมือการเกษตรที่ใช้ในสวนหม่อน เช่น ใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ และเครื่องมือทุ่นแรง
สวนหม่อนที่สมบูรณ์ เนื่องจากได้รับการดูแลรักษาที่ดี
สวนหม่อนที่สมบูรณ์ เนื่องจากได้รับการดูแลรักษาที่ดี
ถ้าใช้แรงงานคน ซึ่งใช้จอบ เสียม ระยะระหว่างต้น ๗๕ เซนติเมตร ระหว่างแถว ๑๐๐ เซนติเมตร
ถ้าใช้แรงงานสัตว์ เช่น ใช้ความเข้าไปไถพรวน ควรใช้ระยะระหว่างต้น ๗๕ เซนติเมตร ระหว่างแถว ๑๕๐ เซนติเมตร

แต่ถ้าใช้รถแทรกเตอร์ควรปลูกระยะระหว่างต้น ๗๕ เซนติเมตร ระหว่างแถว ๒๕๐ เซนติเมตร ซึ่งสามารถทำสวนหม่อนนขนาดใหญ่ๆ ได้ ระยะปลูกดังกล่าวนี้ จะปลูกหม่อนได้ประมาณ ๑๕๐ ต้นต่อเนื้อที่ ๑ ไร่

วิธีปลูก


ก่อนปลูกควรเตรียมดินโดยการไถพรวน และตากดินให้หญ้าตายสัก ๒-๓ วัน เป็นอย่างน้อย ตัดกิ่งที่มีอายุประมาณ ๑ ปี เป็นท่อนยาวประมาณ ๒๕-๓๐ เซนติเมตร มีตาประมาณ ๕-๖ ตา ชำไว้ในทราย แกลบเผาหรือขี้เลื้อยล่วงหน้าสัก ๑ เดือน ปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้เอนประมาณ ๖๐ องศา เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งแห้งตาย ควรปลูก ๒ กิ่ง ให้ไขว้กันเป็นรูปกากบาท โดยฝังกิ่งให้ลึกลงไปในดินประมาณ ๒ ใน ๓ ของความยาวกิ่ง ให้มีตาโผล่อยู่บนดิน ๒-๓ ตา เมื่อต้นโตดีแล้วประมาณ ๓-๖ เดือน วรตัดออกให้เหลือต้นเดียว

ฤดูปลูก

ในเมืองไทยเราสามารถปลูกหม่อนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่ละช่วงที่เหมาะที่สุดคือ ต้นฤดูฝน เพราะฝนจะช่วยให้หม่อนได้รับความชุ่มชื้นสูง ทำให้หม่อนตั้งตัวได้เร็ว ถ้าปลูกปลายฤดูฝนควรกะให้มีฝนอยู่ระยะหนึ่ง พอที่หม่อนจะตั้งตัวแตกรากกิ่งก้านได้พอสมควร ไม่ควรปลูกหม่อนในหน้าแล้งโดยเด็ดขาด แม้ว่าบางท้องที่อาจทำได้ เพราะมีการชลประทาน แต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าปลูกในฤดูฝน

การดูแลรักษา

การดูแลรักษาต้นหม่อนที่ปลูกในระยะเวลา ได้แก่ การปราบวัชพืช และใส่ปุ๋ย เพื่อให้หม่อนเจริญเติบโต ไม่ชะงักงันระยะ ๓ เดือนแรก หลังจากปลูกลงดิน หม่อนกำลังแตกกิ่งแตกราก ถ้ามีหญ้าจะแย่งอาหาร และทำให้ต้นหม่อนตายได้ง่าย ในช่วง ๑ ปี หลังจากปลูก ไม่ควรเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงหนอนไหม แต่ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็น ๓ ระยะคือ ระยะแรก หลังปลูก ๑ เดือน ระยะที่ ๒ ห่างจากระยะแรก ๒ เดือน ระยะที่ ๓ ห่างจากระยะที่ ๒ เป็นเวลา ๒ เดือน ตามลำดับ ถ้าเป็นหน้าแล้ง ไม่ควรใส่ปุ๋ย ในเขตชลประทานที่มีน้ำตลอดปี ต้นหม่อนที่ปลูกในเขตนี้จะเจริญเติบโตเร็ว แต่น้ำก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก เพราะโดยปกติแล้ว ต้นหม่อนที่โตแล้วสามารถทนแล้งได้ดี

ตารางแสดงอิทธิพลปุ๋ยที่มีต่อผลผลิตของใบหม่อน
แร่ธาตุอาหารหลัก
ผลผลิต (กิโลกรัม)
ดรรชนีเปรียบเทียบ
ปุ๋ย N-P-K
๑๘๗๑
๑๐๐
ปุ๋ย N-P-O
๑๘๕๑
๙๗
ปุ๋ย N-O-K
๑๗๑
๙๑
ปุ๋ย O-P-K
๗๕๙
๔๐
ไม่ใส่ปุ๋ย
๗๖๓
๔๑
ปุ๋ย N = ไนโตรเจน P = ฟอสฟอรัส และ K = โพแทสเซียม = O = ไม่มีแร่ธาตุอาหาร
(จาก Sericulture, Technical Bullatine, OTCA, JAPAN 1971)
ต้นหม่อนที่ตัดแต่งเป็นทรงกำปั้นทำให้เก็บใบหม่อนง่าย
ต้นหม่อนที่ตัดแต่งเป็นทรงกำปั้น
ทำให้เก็บใบหม่อนง่าย
การตัดแต่งกิ่งหม่อน

การตัดแต่งกิ่งหม่อนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำสวนหม่อน เพราะจะช่วยให้ต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บใบ และได้ผลผลิตใบสูงกว่าปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ควรจะเริ่มตัดแต่งกิ่ง และนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมได้ เมื่อหม่อนมีอายุประมาณ ๑ ปี ยกเว้นในแหล่งที่ดินอุดมสมบูรณ์มาก อาจจะตัดแต่งกิ่ง เมื่อหม่อนมีอายุ ๘ เดือนได้ การตัดแต่งกิ่งนี้ควรจะกระทำทุกปี
ต้นหม่อนที่ตัดแต่งแล้ว จะมีตอรูปทรงกำปั้นอยู่ตรงกลาง มีกิ่งหม่อนที่แตกใหม่ขึ้นมาจากตอเดิมประมาณ ๒๗ กิ่งทุกปี ทุกกิ่งมีความยาว อายุ และปริมาณใบสำหรับใช้เลี้ยงไหมได้ดีเท่าๆ กัน นอกจากนี้ การตัดแต่งกิ่งหม่อน จะช่วยให้กสิกรสามารถคาดคะเนปริมาณรังไหมที่จะผลิตได้แต่ละรุ่นต่อไปด้วย การวางแผนการเลี้ยงไหมเช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมได้ โดยคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดทางด้านเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วยต้นหม่อนตอ ๑ ต้น จะเริ่มให้ผลสม่ำเสมอดี เมื่ออายุได้ ๕ ปี ขึ้นไป และจะรักษาระดับผลผลิตเช่นนี้ได้นานถึง ๒๕ ปี และมีผลผลิตสูงประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่
จากผลงานการวิจัยของศูนย์วิจัย และอบรมไหมนครราชสีมา กรมวิชาการเกษตร พบว่า ในการเลี้ยงไหมที่ใช้ลูกผสมชั่วแรกระหว่างพันธุ์จีน และพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น ให้ผลดังนี้
  • ใบหม่อน ๑๕ กิโลกรัม เลี้ยงไหมได้ ๑ แม่ (๕๐๐ ตัว)
  • ใบหม่อน ๒๓ กิโลกรัม จะได้รังไหมสด ๑ กิโลกรัม (๗๐๐-๗๕๐ รัง)
  • หม่อน ๑ ไร่ (๓,๐๐๐ กิโลกรัม) จะได้รังไหมสด ๑๓๐ กิโลกรัม
  • เส้นไหมดิบ ๑ กิโลกรัม ใช้รังไหมสด ๑๔ กิโลกรัม
ถ้าไม่มีการตัดแต่งกิ่ง กสิกรจะไม่สามารถคาดคะเนประมาณใบหม่อนในสวนหม่อน ให้สัมพันธ์กับจำนวนหนอนไหมที่จะเลี้ยงได้ เช่น ถ้ามีหนอนไหมน้อยไป จะมีใบหม่อนเหลือทิ้งในสวน ถ้าเลี้ยงหนอนไหมมากไป ใบหม่อนไม่พอ หนอนไหมจะตาย หรือทำรังเล็ก ให้เส้นใยปริมาณต่ำ ราคาต่ำลง
ดินที่ใช้ปลูกหม่อนเป็นดินร่วนปนทราย
ดินที่ใช้ปลูกหม่อน
เป็นดินร่วนปนทราย
นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งหม่อน เพื่อให้ได้ใบที่มีคุณภาพเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม ก็มีความสำคัญมาก ในการจัดการสวนหม่อน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดในแง่เศรษฐศาสตร์ เพราะหนอนไหมวัยต่างกัน จะกินใบหม่อน ที่มีลักษณะต่างกัน เช่น หนอนไหมวัยอ่อนชอบกินใบอ่อน เป็นต้น ปริมาณใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงวัยอ่อนประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณใบทั้งหมด

การตัดแต่งกิ่งหม่อนนอกจากจะช่วยให้สะดวกในการเก็บ และได้ผลผลิตใบสูงแล้ว ยังช่วยป้องกัน และกำจัดเชื้อโรคและแมลง ที่ทำอันตรายแก่หม่อนได้อีกด้วย

หลักสำคัญๆ ในการเลือกพื้นที่ปลูกหม่อน

๑. เป็นที่ราบ และสูง น้ำไม่ท่วมขัง
๒. มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสม่ำเสมอ และเป็นดินร่วนปนทราย
๓. ไม่ควรจะปลูกแปลงยาสูบ หรือสวนผักสวนผลไม้ ที่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชเป็นประจำ
๔. ไม่ควรอยู่ห่างไกลโรงเลี้ยงไหมจนเกินไป
๕. ไม่ควรอยู่ห่างไกลทางสัญจร จะทำให้หม่อนสกปรก

เนื้อที่ปลูกหม่อน

ในประเทศไทย เนื้อที่ปลูกหม่อนส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๘๔,๒๒๐ ไร่ จังหวัดขอนแก่นปลูกมากที่สุด ประมาณ ๔๖,๕๓๔ ไร่ รองลงมาได้แก่ บุรีรัมย์ประมาณ ๓๑,๒๐๙ ไร่ และสุรินทร์ ๒๔,๙๖๘ ไร่ สำหรับในภาคอื่นๆ เช่น ที่เพชรบูรณ์ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ ระยอง ๑,๐๐๐ ไร่และที่ชุมพร ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
ใบหม่อนที่ได้คุณภาพเหมาะสมในการเลี้ยงไหม
ใบหม่อนที่ได้คุณภาพเหมาะสมในการเลี้ยงไหม
ศัตรูของหม่อน

ศัตรูของหม่อนมีทั้งเชื้อโรคและแมลง เชื้อที่ทำให้เกิดโรคกับส่วนต่างๆ ของหม่อน เช่น ราก ส่วนแมลงจะรบกวนทำความเสียหาย ให้แก่ลำต้น และใบหม่อน

โรคของหม่อนมีหลายชนิด เรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
๑. โรครากเน่า (Root rot disease)

นับว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของหม่อน ทั้งนี้เพราะมีระบาดอยู่กระจัดกระจายทั่วๆ ไป ทั้งในท้องที่ดอน และที่ลุ่ม ยิ่งกว่านั้นหากหม่อนติดโรคนี้แล้ว ไม่สามารถรักษาได้ ถ้าจะเปรียบกับโรคของคนก็พอจะเปรียบได้กับโรค "มะเร็ง" โรครากเน่า หรือจะเรียกว่า โรคมะเร็งของหม่อนนี้ได้มีการค้นคว้าศึกษาหาทางป้องกัน และกำจัดกันมาแล้วกว่า ๒๐ ปี จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถทราบได้แน่นอนว่า เชื้ออะไรเป็นสาเหตุของโรค จากการศึกษาพบว่า มีเชื้อโรคหลายชนิด ร่วมกันเป็นสาเหตุของโรครากเน่า เชื้อโรคนั้นประกอบด้วยเชื้อรา ๙ ชนิด เชื้อบัคเตรี ๓ ชนิด แต่ละชนิดไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้โดยลำพัง หม่อนที่แสดงอาการนี้ จะมีอายุตั้งแต่ ๒-๓ เดือนถึง ๑๐ ปีขึ้นไป
อาการของต้นหม่อนที่เป็นโรครากเน่า
อาการของต้นหม่อน
ที่เป็นโรครากเน่า
จากข้อสังเกตทั่วๆ ไป ปรากฏว่า ในสภาพที่ดินค่อนข้างเหนียวมากไม่พบโรคนี้ หรือสภาพดินที่น้ำท่วมถึง เช่น ชายฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเขตจังหวัดหนองคาย ไม่เคยพบโรคนี้ทำลายต้นหม่อนเลย

เมื่อหม่อนเริ่มเป็นโรคระยะแรก มักจะสังเกตเห็นได้ยากลักษณะทั่วๆ ไป ก็ปกติดีทุกอย่าง ต่อเมื่อรากเริ่มเน่ามากแล้ว ใบหม่อน โดยเฉพาะส่วนยอดจะเริ่มเหี่ยว และบางส่วนของแต่ละใบจะไหม้คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งมีลักษณะอาการตายเช่นนี้เรียกว่า "ตายนิ่ง" อาการไหม้ค่อยลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนใบที่ไหมก็เพิ่มขึ้น จนในที่สุดก็ลามลงไปสู่ใบส่วนล่างๆ ของกิ่ง แล้วก็ตายไปในที่สุด ในระยะที่ใบเริ่มตายนิ่งเล็กน้อย ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ง่ายมากนั้น เมื่อขุดต้นหม่อนขึ้นมาปรากฏว่า รากบางส่วนเน่าแล้ว โดยเปลือกรากจะล่อนผุแต่ยังหุ้มเนื้อของรากไว้หลวมๆ

การป้องกันและกำจัด

๑. ติดตามหม่อนน้อยซึ่งเป็นหม่อนที่ให้ผลผลิตใบสูงกับหม่อนไผ่ หม่อนส้มใหญ่ หรือหม่อนส้ม ซึ่งหม่อนพันธุ์ดังกล่าวมานี้ ให้ใบน้อย คุณภาพเลวกว่าหม่อนน้อย แต่ต้านทานโรคได้ดีกว่าแม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์

๒. ขุดหม่อนที่เป็นโรครากเน่าออก ทิ้งที่ไว้ให้ว่าง

๓. พยายามหลีกเลี่ยงการที่จะต้องทำให้รากหม่อนถูกตัดขาดมาก

๒. โรครากาขาว [White root rot: Resellinia necatrix (Harting) Berlese]

เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่ทำลายรากหม่อน เมื่อโรคเข้าทำลายรากจนเน่าแล้ว เชื้อจะยังเจริญบนรากที่เน่าได้ต่อไป และสร้างเส้นใยสีขาวขึ้นมากมาย รวมกันเป็นกลุ่มคลุมอยู่บนราก ทำให้มองเห็นรากกลายเป็นสีขาว

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น โรคนี้เป็นโรคที่ทำความเสียหายอย่างรุนแรงแก่หม่อน แต่เนื่องจากได้ศึกษาค้นคว้าจนพบเชื้อ ที่เป็นสาเหตุแล้ว จึงจะสะดวกต่อการป้องกัน และกำจัด การใช้สารเคมี พีซีเอนบี (PCNB) และคลอโรพิคริน (chloropicrin) ใส่ลงในดินบริเวณที่ต้นหม่อนรากเน่าปรากฏว่า ได้ผลดี แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป ในเรื่องของการปราบโรคในดิน ในเมืองไทยพบโรคนี้อยู่เพียงแห่งเดียว ที่สวนหม่อน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่หัวหิน และสวนหม่อนของกสิกรบริเวณใกล้เคียง มีโรคระบาดอยู่เพียงเล็กน้อย ประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์ นอกจากโรคนี้จะเป็นกับต้นหม่อนแล้ว ยังทำความเสียหายแก่ต้นทับทิมอีกด้วย

การป้องกันและกำจัด

ในปัจจุบันนี้ โรครากขาวยังไม่เป็นปัญหาสำคัญในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศเท่าไรนัก หากพบ ก็ขุดต้นหม่อนเผาไฟทำลายเสีย แต่ถ้าระบาดออกไปรุนแรง และลุกลามออกไปมากขึ้น ก็ต้องกำจัดโดยใช้สารเคมี ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่นเคยใช้ได้ผลมาแล้ว การใช้สารเคมีจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วย แทนที่จะปล่อยให้กสิกรต่างคนต่างทำกันเอง

๓. โรคราแป้ง [Powdery mildew : Phyllactinia moricola (P. Hennings) Homma]

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำความเสียหายแก่หม่อนมาก เพราะทำลายใบหม่อนแต่ก็ไม่ทำให้หม่อนตายเหมือนอย่างโรค ๒ ชนิด ที่กล่าวมาแล้ว เชื้อโรคจะเข้าทำลายที่ท้องใบ และส่วนใหญ่จะทำลายใบที่อยู่ประมาณกลางกิ่ง ไม่อ่อนและแก่เกินไป ส่วนที่เกิดโรคสังเกตเห็นได้ง่าย เชื้อจะเจริญอยู่ในผิวใบหม่อน และสร้างเส้นใยแทงทะลุออกมา แล้วสร้างสปอร์ขึ้น เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป การสร้างสปอร์ใช้เวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมง และจะสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้สปอร์ที่ได้เกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นคล้ายฝุ่นสีขาวเป็นวงๆ ดูแล้วคล้ายกับขี้กลากวงเดือนเป็นดวงๆ อยู่ตามท้องใบ ถ้าเป็นมาก อาจพบด้านหน้าใบได้ เนื้อใบส่วนที่ถูกราแป้งเกาะดูด จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อเป็นมากใบก็จะร่วงหล่นไป
ใบหม่อนที่เป็นโรคราแป้ง
ใบหม่อนที่เป็นโรคราแป้ง
ใบที่มีฝุ่นราแป้งอยู่มากๆ ไหมไม่ค่อยชอบกิน จึงทำให้เป็นผลเสียทางอ้อม ที่ทำให้ใช้ใบเลี้ยงไหมไม่ได้เต็มที่

โรคราแป้งพบอยู่ทั่วๆ ไปทุกแห่ง และเป็นกับหม่อนแทบทุกพันธุ์ ฤดูที่มีโรคนี้ระบาดชุกชุมมักจะเป็นช่วงฤดูฝนต่อหน้าแล้ง โดยปกติใบหม่อนเจริญงอกงามดีในฤดูฝน ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นระยะปลายฤดูฝน และอากาศเริ่มเย็นลง ราแป้งจะเจริญได้รวดเร็วมาก ทำให้หม่อนโทรมลงอย่างรวดเร็ว หากไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ใบหม่อนส่วนกลาง และส่วนล่างจะถูกราแป้งทำลายมากขึ้น เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแข็งกระด้าง แตกเป็นริ้วได้เมื่อมีลมพัดจัด ในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ราแป้งจะเจริญเติบโตได้ไม่ดี จึงไม่ค่อยพบในไร่ แต่จะพบในแปลงเพาะชำ เพราะมีความชื้นสูง และอยู่ในร่ม ราแป้งซึ่งอยู่ตามท้องใบในแปลงเพาะชำนี้จะเจริญได้ต่อไปจนถึงฤดูฝน

การป้องกันและกำจัด

๑. ควรเด็ดใบที่มีราแป้งมากองรวม ๆ กัน แล้วเผาทำลาย

๒. ทำลายเชื้อรา โดยเลือกใช้ยาที่เหมาะสม ฆ่าเชื้อราได้ดี และพิษยาสลายได้ในเวลาไม่เกิน ๑๐ วัน ตัวอย่างยาที่ใช้คือ เบนเลท

นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ อีก แต่พบเพียงเล็กน้อยและไม่สำคัญเท่าไรนัก เช่น โรคใบไหม้ (bacterialbight) โรคใบจุด (leaf blotch) โรคพุ่มไม้กวาด (witches broom) โรคใบหด (mosaic) และใบสีส้ม (rust)

แมลงที่เป็นศัตรูหม่อนมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เรียงตามความสำคัญได้ดังนี้

๑. เพลี้ยแป้ง (Mealy bug: Maconellicoccushirsutus Green)

เป็นแมลงประเภทปากดูด รูปร่างรี คล้ายรูปไข่ บนหลังมักจะขับถ่ายสารสีขาวที่มีลักษณะคล้ายแป้งปกคลุมไว้ ตัวเต็มวัยมีขนาดประมาณ ๓ x ๕ มิลลิเมตร เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยไข่ไม่ต้องมีการผสม (Partenogenesis) แม่เพลี้ยแป้งจะวางไข่สีชมพู เป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ฟอง แล้วสร้างสารคล้ายแห้งหุ้มไข่ไว้ ระยะไข่ประมาณ ๔-๗ วัน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวเพลี้ยตัวเล็กๆ สีชมพูอ่อนจะคลานออกมา แล้วแยกย้ายกันออกไปดูดกินน้ำเลี้ยง ของส่วนที่ยังอ่อนอยู่ของตัวหม่อน เช่น ยอดอ่อน ตาที่เพิ่งแตกใหม่ ส่วนมากมักเกาะดูดอยู่ด้านท้องใบ หรือโคนใบอ่อน ทำให้รูปร่างของใบหม่อนผิดปกติ ใบหงิกงอ การเจริญเติบโตของยอดหม่อนจะชะงักงัน ข้อระหว่างใบถี่เข้า และกิ่งบวมขึ้น กิ่งส่วนที่บวมนั้น เรียกว่า "หัวนกเค้า" หักง่ายมาก เมื่อยอดหัก หม่อนก็จะแตกแขนงทำให้เป็นพุ่ม ส่วนที่หงิกงอ จะมีเพลี้ยเข้าไปอาศัยอยู่ เพื่อหลบหนีภัย และศัตรูตามธรรมชาติ เช่น ฝน และเต่าลาย
อาการของยอดหม่อนที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลาย
อาการของยอดหม่อนที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลาย
การระบาด

จากการสำรวจเพลี้ยแป้งที่ทำลายสวนหม่อนนั้นพบว่า มีเพลี้ยแป้งอยู่เกือบตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน (ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม) และช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาว(ระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม) ปรากฏว่า เพลี้ยแป้งขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และเพิ่มปริมาตรตัวเพลี้ยขึ้นอย่างมากมาย หม่อนระยะนี้จะได้รับความเสียหายมากกว่าระยะอื่น

เพลี้ยแป้งมีมดหลายชนิด เช่น มดคันไฟ มดดำ ฯลฯ ช่วยป้องกันอันตรายและแพร่กระจายเพลี้ยแป้งไปตามที่ต่างๆ เพราะมดเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากเพลี้ย คือ ได้น้ำหวานที่เพลี้ยขับถ่ายออกมาเป็นอาหาร

การป้องกันและกำจัด

๑. พยายามตรวจสวนหม่อนในช่วงต้นและปลายฤดูฝน เพื่อทำลายเพลี้ยโดยตัดยอดหมอนที่หงิกงอมาเผาทำลาย

๒. พยายามอย่าให้มดขึ้นต้นหม่อน ถ้าพบว่ายังมีมดทำรังอยู่ในสวนหม่อน ต้องกำจัดโดยใช้ยาดิลดริน (dieldrin) ประมาณ ๐.๕-๑ เปอร์เซ็นต์ โรยหรือละลายน้ำราดตามโคนต้นหม่อน

๓. ใช้ยาฉีดโดยตรงกับต้นหม่อนที่มีเพลี้ยแป้งระบาดอย่างรุนแรง โดยเลือกยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า และมีพิษตกค้างไม่เกิน ๗ วัน เช่น มาลาไธออน เป็นต้น
เพลี้ยหอยนิ่ม
เพลี้ยหอยนิ่ม
๒. เพลี้ยหอยนิ่ม (Soft scale: ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์)

เป็นแมลงประเภทปากแทงดูดเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง แต่ตัวโตกว่า ไม่มีสารคล้ายแป้งปกคลุม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๔-๕ x ๗-๘ มิลลิเมตร รูปร่างกลมรี ค่อนข้างเรียวยาว สีลำตัวเมื่อขณะฟักตัวออกจากไข่จะมีสีเหลืองอมน้ำตาลแดง เมื่อโตเต็มที่ มีสีเทาปนน้ำตาล เมื่อเกาะบนกิ่งหม่อนจำนวนมากๆ แล้วมีลักษณะน่าเกลียดน่าขยะแขยงมาก เพราะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายคนเป็นโรคผิวหนัง เมื่อเพลี้ยฟักออกไข่ จะดูดกินตามส่วนของต้นหม่อนที่ยังอ่อนอยู่ ในฤดูที่ระบาดมากๆ ยอดหม่อนบางยอดจะถูกเพลี้ยเกาะคลุมแน่น เกือบมองไม่เห็นก้านใบ ใบหรือกิ่งหม่อนที่ถูกเพลี้ยหอยนิ่มดูด จะไม่หงิกงอเหมือนเพลี้ยแป้งดูด แต่จะแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโต เพลี้ยจะถ่ายน้ำหวานออกมามากมาย จนบางทีทำให้ส่วนใบและกิ่งเปียกแฉะและเหนียว น้ำหวานที่เพลี้ยถ่ายออกมานี้ เป็นอาหารอย่างดีของพวกเชื้อราเขม่า (sooty mold) เมื่อมีราตกลงบนน้ำหวาน ราจะเจริญเติบโตแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วบนกิ่ง แล้วสร้างสปอร์สีดำคลุมกิ่งและใบหม่อน ทำให้ใบหม่อนสกปรกไม่สามารถนำไปใช้เลี้ยงไหมได้
การระบาด

เพลี้ยหอยนิ่มสามารถขยายพันธุ์ได้โดยไข่ไม่ต้องผสม แม่เพลี้ยจะผลิตไข่ไว้จนเกือบเต็มท้อง เมื่อเพลี้ยจะวางไข่ มันจะค่อยๆ คลานไปข้างหน้า แล้วปล่อยไข่ออกมา โดยฝังไว้ในสารสีขาวคล้ายใยสำลีที่ละเอียด เพลี้ยจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มไข่ก็จะเกาะติดแน่นบนกิ่ง หรือใบหม่อนด้วยสารสีขาวดังกล่าว เมื่อวางไข่หมดเพลี้ยจะตายและแห้ง ดูคล้ายสะเก็ดเปลือกไม้ แล้วร่วงหล่นลงสู่ดิน คงเหลือแต่กลุ่มไข่ที่เป็นรอยทางค่อนข้างยาวประมาณ ๘-๑๑ มิลลิเมตร อาจจะโค้งเล็กน้อยขึ้นอยู่กับการเดิมของแม่เพลี้ย เมื่อแกะสารสีขาวที่ปกคลุมกลุ่มไข่ออกดู จะเห็นไข่สีชมพูเข้ม รูปร่างกลมรีอยู่จำนวนมากมาย ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ฟองเมื่อไข่ฟักตัว ตัวอ่อนของเพลี้ยหอย (crawler) ก็จะไต่ออกจากกลุ่มไข่ไปตามต้นหรือกิ่ง เพื่อไปยังส่วนที่ยังอ่อนของต้นหม่อน เช่น ยอด ตา หรือใบ

เพลี้ยหอยที่ระบาดได้ดีในหน้าแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม สวนหม่อนจะเสียหายมากในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม เพราะระยะนี้หม่อนขาดน้ำ และอ่อนแออยู่แล้ว หากถูกเพลี้ยลงกินก็จะตายได้ง่ายๆ

มดคันไฟ มดดำ ก็เป็นตัวการสำคัญที่ช่วยแพร่กระจายเพลี้ยชนิดนี้ เช่นเดียวกันกับเพลี้ยแป้ง

การป้องกันและกำจัด

๑. ตัดกิ่งแล้วนำไปเผาทำลาย และควรกะระยะให้พอดีกับการตัดแต่งกิ่งหม่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

๒. พยายามทำลายมดในสวนหม่อนเช่นเดียวกับวิธีการในเรื่องเพลี้ยแป้ง

๓. ใช้สารเคมีฉีดพ่นฆ่าเพลี้ย (วิธีนี้ไม่จำเป็นนักสำหรับสวนหม่อนที่มีการตัดแต่งทุกปี)

๓. ด้วงเจาะลำต้นหม่อน (Mulberry Stem Bover: Apriona germari Hope.)

ด้วงเจาะลำต้นหม่อน เป็นแมลงประเภทแมลงปีกแข็ง (beetles) ส่วนใหญ่จะทำลายเฉพาะต้นหม่อน ด้วงมีหนวดยาว ด้วงตัวผู้เล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย ตัวผู้มีสีเทาปนเหลือง ส่วนตัวเมียมีสีน้ำตาลปนดำ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวด้วง ตัวด้วงจะบินไปยังสวนหม่อน เกาะอยู่ตามกิ่งหม่อนค่อนไปทางปลายกิ่ง แล้วกัดส่วนของกิ่งที่ยังมีสีเขียวเป็นรอยๆ ทำให้กิ่งช้ำ และหักได้ นอกจากนี้ด้วงยังแทะกินเปลือกของกิ่งที่เริ่มมีสีน้ำตาล ทำให้ทางเดินอาหารถูกตัดขาด ยอดหม่อนก็จะชะงักการเจริญเติบโต เมื่อถูกลมพัดยอดหม่อนจะหักได้ง่าย สวนหม่อนที่มีด้วงระบาดอยู่ จะมองเห็นยอดหม่อนหักพับ และมีใบเหี่ยวแห้งอยู่ทั่วไป หลังจากที่ตัวด้วงเจาะกินเปลือกหม่อนเป็นอาหารอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็จะเริ่มผสมพันธุ์ ตัวเมียที่ได้รับการผสมแล้วจะเริ่มวางไข่โดยกัดเปลือกกิ่งหม่อนส่วนล่างใกล้ๆ โคนกิ่ง กิ่งที่ด้วงชอบวางไข่มาก เท่าที่สังเกตมีอายุประมาณ ๔-๖ เดือน แผลที่ด้วงวางไข่สังเกตเห็นได้ง่าย แม่ด้วงจะใช้ปากกัดเปลือกหม่อนเปิดเป็นแผลกว้างก่อน แล้วฝังไข่ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ ๒x๖ มิลลิเมตร สีขาวนวลไว้ข้างใน หลังจากนั้นแม่ด้วงที่แข็งแรงจะกัดเปลือกหม่อนให้ปิดไข่จนมิดชิด แผลที่วางไข่แล้ว จะนูนขึ้นมาเล็กน้อย กิ่งหม่อนบางกิ่งจะถูกด้วงเจาะวางไข่เป็นแผลดังกล่าวหลายแผล เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน จะกินเนื้อกิ่งหม่อนในบริเวณที่วางไข่นั้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็จะเริ่มเจาะเข้าไปกินไส้กิ่งหม่อน แล้วใช้ชีวิตอยู่ในกิ่งหม่อน ตลอดชั่วระยะที่เป็นตัวหม่อนจะเข้าดักแด้ และออกเป็นตัวด้วงในปีต่อไป

การระบาด

ด้วงเจาะลำต้นหม่อนขยายพันธุ์ได้ปีละ ๑ ชั่ว (generation) เท่านั้น ระยะที่ตัวด้วงออกมากัดกินต้นหม่อน อยู่ในราวเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในราวปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะพบว่า ตัวเมียเริ่มวางไข่มีรอยแผลวางไข่มากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน ส่วนในเดือนตุลาคมหลังจากวางไข่แล้ว ๑๔-๑๖ วัน ไข่ก็จะฟัก และหนอนเริ่มเจาะไขเข้าไปในลำต้น ส่วนมากไชขึ้นทางบน จะถ่ายมูลเป็นขุยสีขาวๆ ก้อนกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มิลลิเมตร ด้วงชนิดนี้มักระบาดรุนแรง ในสวนหม่อนที่มีการดูแลเอาใจใส่ได้ไม่ดี ไม่มีการตัดแต่งกิ่งหม่อนเลย เช่น สวนหม่อนของกสิกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเก่าๆ สืบทอดกันมา

การป้องกันและกำจัด

๑. ควรออกตรวจสวนหม่อน ๒ ระยะ แต่ละระยะปฏิบัติดังนี้

ระยะที่ ๑ ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ทำลายด้วงตัวแก่ โดยจับปีก แล้วดึงตัวด้วงออกมาจากกิ่ง แล้วใส่น้ำมันขี้โล้ หรือสารเคมีฆ่าแมลงลงไป

ระยะที่ ๒ ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ทำลายไข่ หรือหนอนที่ฟักจากไข่ โดยใช้เหล็กแหลมแทงแผลที่วางไข่ เพื่อทำให้ไข่แตก หรือหนอนที่เพิ่งฟักตายเสียก่อนที่มันจะเจาะเข้าไปในลำต้น หรือจะใช้สารเคมีฆ่าแมลง คือ ดิลดริน ๐.๕ เปอร์เซนต์ ผสมแป้งข้าวเจ้า หรือแป้งลงผ้ากับน้ำให้ข้นๆ คล้ายยาสีฟัน แล้วป้ายไว้ตามรอยแผลวางไข่ใหม่ๆ เมื่อไข่ฟัก หนอนที่ฟักจะกินเนื้อไม้บริเวณแผลวางไข่นั้น ซึ่งจะกินยาที่อยู่ในเนื้อไม้เข้าไปด้วย ทำให้ตายได้ง่าย

๒. ควรตัดกิ่งหม่อนแบบตัดต่ำทุกปีแล้วเผาไฟ เพื่อทำลายหนอนที่อยู่ในลำต้น

๔. เพลี้ยหอยดำ (Black Scales: Saissettia nigra Nieth.)

เป็นแมลงจำพวกเพลี้ยอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำความเสียหายแก่หม่อน บทบาทการทำลายของมันคล้ายๆ เพลี้ยหอยนิ่ม ตัวเพลี้ยที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ (crawler) มีสีน้ำตาลแดง รูปร่างกลมรีจะไต่ไปยังส่วนของหม่อนที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ยอดใบอ่อน หรือตาที่เพิ่มแตกใหม่ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นหม่อนทำให้หม่อนแคระแกร็น นอกจากนั้น ยังถ่ายน้ำหวานออกมา เป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราดำ (sooty mold) เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ใบเลอะเทอะเป็นสีดำ ส่วนหลังของเพลี้ยที่แข็งขึ้น สีน้ำตาลเข้มเกือบดำจะนูน และรูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายกระดองเต่า ขนาดตัวเพลียหอยดำที่โตเต็มที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มิลลิเมตร เพลี้ยตัวโตจะคลานไปเกาะอยู่ตามกิ่ง หรือถูกมดคาบไปยังสวนต่างๆ ของต้นหม่อน แล้วเกาะดูดนิ่งเช่นนั้น จนกระทั่งวางไข่ แล้วตายไป
เพลี้ยหอยดำ
เพลี้ยหอยดำ
การระบาด

เพลี้ยหอยดำ ก็เช่นเดียวกับเพลี้ยอื่นๆ กล่าวคือ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยไข่ไม่ต้องผสม เมื่อแม่เพลี้ยวางไข่ มันจะวางไว้ในกระดองจนไข่ฟัก แล้วตัวอ่อนจะคลานออกจากกระดองเอง กระดองของแม่เพลี้ยที่ตายแล้ว จะติดอยู่ตามกิ่ง หรือส่วนที่เพลี้ยเกาะอยู่ เพลี้ยหอยที่ตายแล้ว จะติดอยู่ตามกิ่ง หรือส่วนที่เพลี้ยเกาะอยู่ เพลี้ยหอยที่ออกมาจากกิ่งหม่อน อาจรวมกันอยู่เป็นกระจุก มีสายใยสีขาวบางๆ เชื่อมต่อกัน สามารถแพร่ไปยังต้นอื่นได้โดยลม ไข่เพลี้ยหอยดำมีสีน้ำตาลแดง รูปร่างกลมรีเหมือนไข่ไก่ แม่เพลี้ยแต่ละตัววางไข่ได้ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ฟอง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น มดเป็นตัวการสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ช่วยในการแพร่กระจายเพลี้ยขณะที่ตัวเพลี้ยยังเล็กอยู่ ระยะที่เพลี้ยหอยดำระบาดมักอยู่ในช่วงเดียวกับเพลี้ยหอยนิ่ม คือ ในระหว่างหน้าแล้ง ในฤดูฝนอาจพบอยู่บ้างประปราย พบอยู่ทั่วๆ ไปทุกแห่งที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

การป้องกันและกำจัด

๑. ควรหมั่นตรวจสวนหม่อน ตัดกิ่งที่มีเพลี้ยระบาดอยู่ไปเผาไฟทำลายเสีย

๒. ควรกำจัดมดคันไฟ มดดำ ในสวนหม่อน เพราะเป็นตัวการสำคัญในการแพร่กระจายเพลี้ย

๓. ไม่ควรใช้กิ่งพันธุ์ที่มีเพลี้ยหอยดำเกาะอยู่ไปปลูก

๔. การใช้ยาฆ่าแมลง ยังไม่มีความจำเป็นนัก

๕. เพลี้ยไฟ (Thrips: ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์)

เป็นแมลงตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่งที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบหม่อน ใบหม่อนที่มีตัวอ่อนของเพลี้ยไฟเกาะอยู่จะเห็นเป็นรอยซีดสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองเข้มเล็กๆ คล้ายฝุ่น อยู่กระจัดกระจายทั่วๆ ไปทางด้านหลังใบ ตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟ จะมีปีกสีเหลือง แต่มีแถบสีดำพาดยาวตามลำตัว ที่รอยต่อของปีกคู่หน้าบินเร็วมาก ตัวแก่ดูดน้ำเลี้ยงของหม่อนเช่นเดียวกับตัวอ่อน ใบหม่อนที่มีเพลี้ยดูดมากๆ จะทำให้หลังใบกร้าน และใบแคระแกร็น บางครั้งถึงกับทำให้ขอบใบหงิกม้วนเข้าหากัน และท้องใบจะมีสีน้ำตาล เพลี้ยไฟทำความเสียหายอย่างรุนแรงในสวนหม่อนที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เลี้ยงไหมวัยอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะที่กิ่งแขนงอ่อนที่แตกออกมาได้ ๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะใบกร้านหมด และชะงักการเจริญเติบโต ใช้เลี้ยงไหมวัยอ่อนไม่ได้

การระบาด

เพลี้ยไฟมีอยู่ทั่วๆไป ในสวนหม่อนทุกแห่ง แม้ว่าจะมีอยู่ ตลอดปี แต่เพลี้ยไฟมักพบน้อยในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่จะพบมากในฤดูฝน ที่อากาศค่อนข้าง เย็นกว่า เพลี้ยไฟขยายพันธุ์ได้ตลอดปี จึงทำให้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มันขยายพันธุ์ได้กี่ชั่วอายุ ไข่เพลี้ยไฟฝังอยู่ในเส้นใบ (vein) ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวอ่อนที่ฟักออกใหม่ มองเห็นคล้ายฝุ่นหรือรอยขีดเล็กๆ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ขนาด ความยาวของลำตัวไม่เกิน ๐.๕ มิลลิเมตร ตัวแก่มักจะบินอยู่ตามยอดอ่อนของต้นหม่อนหรือยอดของแขนงที่แตกใหม่

การป้องกันและกำจัด

ในสวนหม่อนที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงไหมวัยอ่อน เพลี้ยไฟทำความเสียหายรุนแรงมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้สารเคมีสกัดกั้นการทำลายให้หยุดได้เร็วที่สุด โดยฉีดพ่นแล้วทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ วัน ควรฉีดเมื่อตาเริ่มแตกใหม่ๆ ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้คือ โทกุไธออน ไดเมโธเอท

ในสวนหย่อมทั่วๆ ไป ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน และกำจัดมาก เพระเพลี้ยไฟไม่ทำความเสียหายรุนแรงอะไรมากนักในธรรมชาติ
หนอนม้วนใบหม่อน
หนอนม้วนใบหม่อน
นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีแมลงชนิดอื่นๆอีกที่คอย รบกวนทำความเสียหายอยู่ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ ได้แก่ หนอนม้วนใบหม่อน (leaf roller : Cacoecia micaceana Walk.) ไรแดง (red mite : Tetranychus truncatus Ehara.) แมลงค่อมทอง (leaf eating weevil: Hypomeces squamosus Fabr.) เพลี้ยหอย แดง (red scales: Aonidiella aurantii Mark.) เพลี้ยขี้ผึ้ง (Wax scales : Ceroplaster sp.) แมลงหวี่ขาว (white fly : Trial eurodes mori Takah.) บุ้งกินใบหม่อน (leaf eating caterpillars : Orgyia turbata Btlr.) และหนอนกระทู้ฝ้าย (cotton leaf worm : Spodoptera litura Fabr.)
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป