สำหรับเด็กระดับกลาง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 7
เล่มที่ ๗
เรื่องที่ ๑ กล้วยไม้
เรื่องที่ ๒ ผีเสื้อ
เรื่องที่ ๓ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม
เรื่องที่ ๔ โรคพืช
เรื่องที่ ๕ ครั่ง
เรื่องที่ ๖ การเลี้ยงปลา
เรื่องที่ ๗ การชลประทาน
เรื่องที่ ๘ บ้านเรือนของเรา
เรื่องที่ ๙ โทรคมนาคม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๔ โรคพืช / สำหรับเด็กระดับกลาง

 สำหรับเด็กระดับกลาง
พืชมีศัตรูสำคัญอยู่ ๒ ชนิด คือโรคและแมลง เรามักจะพบตัวแมลง เมื่อแมลงเข้าทำลายพืช แต่เราไม่เห็นเชื้อโรค เมื่อเชื้อโรคเริ่มเข้าทำลายพืช เชื้อโรคบางชนิดจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อ ต้นพืชเกิดโรคมากแล้ว เชื้อบางชนิดก็ไม่มีโอกาสเห็นเลย นอกจากจะตรวจดูด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์เป็นต้น ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ทำอันตรายกับต้นพืชได้ เช่น ต้นกาฝาก และต้นฝอยทองที่ขึ้นอยู่บนต้นไม้อื่น เชื้อโรคทำความเสียหายให้กับต้นพืชมาก ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หรือติดต่อไปกับท่อนพันธุ์หรือเมล็ด ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล
รูปร่างและขนาดของเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืช เปรียบเทียบกับ ขนาดของเซลล์พืช
รูปร่างและขนาดของเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืช เปรียบเทียบกับ ขนาดของเซลล์พืช
โรคพืชเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการด้วยกัน ได้แก่ เชื้อโรคอย่างหนึ่ง และสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมอีกอย่างหนึ่ง

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคได้แก่ ไส้เดือนฝอย เชื้อรา เชื้อบัคเตรี ไมโคพลาสมา ไวรัส รวมทั้งกาฝาก และฝอยทอง เชื้อโรคเหล่านี้ มีอยู่ทั่วไปทั้งในดิน น้ำ และอากาศ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมมันจะเข้าทำลายต้นพืชทันที โดยจะเข้าทางบาดแผล ทางช่องเปิดตามธรรมชาติของพืช เช่น ปากใบ หรือเข้าทำลายทางเนื้อเยื้อพืชโดยตรง ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของเชื้อและพืช เมื่อเชื้อเข้าสู่ต้นพืช บริเวณภายในเซลล์พืช หรือระหว่างเซลล์พืช หรือในระบบท่อน้ำ ท่ออาหารของพืช มันจะมีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน โดยการแย่งน้ำและอาหารจากพืชมาใช้ ในไม่ช้าพืชก็จะแสดงอาการผิดปกติ และเป็นโรคให้เราเห็น ถ้าปล่อยทิ้งไว้พืชก็จะตายในที่สุด ในระหว่างที่พืชเป็นโรคจะเป็นแหล่งของเชื้อโรค และแพร่ระบาดไปยังต้นพืชปกติอื่นๆ โดยทาง น้ำ ลม หรือมีแมลงบางชนิดและคนเป็นตัวนำไป ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรค บางครั้งพืชเป็นโรคตั้งแต่ยังเล็ก เพราะคนนำเมล็ดพืชที่มีโรคติดอยู่ไปปลูก เพราะฉะนั้นเราควรป้องกันไม่ให้พืชของเราเกิดโรค โดยการคัดเลือกส่วนขยายพันธุ์จากพืชปกติ หลีกเลี่ยง หรือไม่นำชิ้นส่วนหรือเมล็ดของพืชเป็นโรคไปปลูก ไม่ปลูกพืชชนิดเดิมในแหล่งที่เป็นโรค เพราะจะมีเชื้อระบาดอยู่แล้ว ปลูกพืชพันธุ์ต้านทานต่อเชื้อ หรือปลูกพืชต่างชนิดหมุนเวียนกันไป หรือถ้าจำเป็นก็ใช้สารเคมีให้ถูกต้องกับชนิดของโรค ฉีดป้องกัน หรือกำจัดในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อพืชเกิดโรคแล้วเราต้องกำจัดเสียโดยอาจถอนทิ้ง หรือตัดส่วนที่เป็นโรคเผาทำลายเสีย และควรทำความสะอาดแปลงที่เกิดโรค รวมถึงการทำลายวัชพืชอื่นๆ ที่จะเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อโรค เพื่อป้องกันมิให้เชื้อเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจ และเกิดการระบาดต่อไป

ส่วนสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ ดินที่ขาดธาตุอาหาร มลภาวะต่างๆ ก็ทำให้พืชผิดปกติไปได้ โดยทำให้ใบเป็นจุดไหม้ ใบเหลือง เป็นแผลสะเก็ด รากเน่า ต้นเหี่ยว เป็นต้น
อาการใบด่างของกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
อาการใบด่างของกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส


ประเทศไทยมีโรคสำคัญ และทำความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดด้วยกัน เช่น โรคต่างๆ ของข้าว (สารานุกรมฯ เล่ม ๓ หน้า ๓๐-๓๗) โรคโคนเน่าของทุเรียนและส้ม (สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๕ หน้า ๕๗) โรคของฝ้าย (สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๓ หน้า ๑๐๓-๑๐๖) โรคราน้ำค้างของข้าวโพด (สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๓ หน้า ๖๕) โรคเน่าเละของผักต่างๆ รวมทั้งโรคใบด่าง ใบหงิก ที่เกิดจากเชื้อไวรัสของพืชหลายชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ กล้วยไม้ (สารานุกรมไทย ฯ เล่ม ๔ หน้า ๗๙) เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรให้ความสนใจ และร่วมมือกันป้องกัน และกำจัดโรคพืชต่างๆ มิฉะนั้น อาจทำให้เราประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร หรือได้ผลผลิตของพืชน้อยลง
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป