ปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที
เนื่องจากจำนวนประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่เนื้อที่ทำการเกษตรมีจำกัด หรืออาจน้อยลง
เพราะส่วนหนึ่งต้องนำมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย
เพราะฉะนั้น
จึงจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ทางด้านการเกษตรที่มีอยู่
ในการเพาะปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ลดผลผลิตของพืช คือ ปัญหาศัตรูพืช
ซึ่งหมายถึง โรคพืชและแมลง
แมลงและสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคกับพืช เป็นสิ่งมีชีวิต
ได้พยายามปรับตัว เพื่อต่อสู้วิธีการป้องกัน และกำจัดของมนุษย์ตลอดมา
เพื่อความอยู่รอด
การศึกษาด้านศัตรูพืชจึงต้องกระทำติดต่อตลอดไป
เพื่อให้เข้าใจถึงวัฎจักรการเข้าทำลายพืชของแมลงและโรค
และใช้วิธีที่เหมาะสมในการป้องกัน และกำจัด
เพื่อแก้ปัญหาศัตรูพืชเหล่านี้ให้เป็นผลสำเร็จ
ซึ่งในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะด้านโรคพืช
ถ้าจะมีใครสักคนถามว่า ความหมายของโรคพืชคืออะไร
คงจะให้คำจำกัดความที่แน่นอนลงไปได้ยาก แต่ก็พอจะสรุปว่า
เมื่อพืชแสดงอาการผิดปกติไปจากเดิม
มีผลทำให้เกิดการสูญเสีย ในแง่การเจริญเติบโต
และผลผลิตลดลง ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือยาวก็ตาม
ก็ถือว่า พืชเป็นโรคทั้งสิ้น
ดังจะได้กล่าวถึง ในรายละเอียดของอาการที่ผิดปกติต่อไป
|
อาการใบเหลืองซีดของอ้อย
เกิดเป็นหย่อมๆ เป็นลักษณะหนึ่ง ของการขาดธาตุอาหาร |
ความเสียหายที่เกิดจากโรคพืช ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ คือ
ความอ่อนแอของพืชต่อการเกิดโรค ความรุนแรงของเชื้อโรค
และสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่ การเกิดโรค เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสภาพ
ความเป็นกรด และด่างของดิน ฯลฯ ในกรณีที่พืชอ่อนแอต่อโรคมาก
เชื้อโรคมีความรุนแรงมากและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ความเสียหาย
จะเกิดขึ้นรุนแรง ในอดีต โรคไหม้ (blight) ของมันฝรั่งเคย ระบาดรุนแรง
ทำให้ผลผลิตมันฝรั่งในประเทศไอร์แลนด์ลดต่ำลง
จนไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคของประชาชน ทำให้ประชาชนอดอาหาร
ล้มตายเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทย โรคพืชชนิดต่างๆ เช่น โรคใบสีส้มของข้าว
โรคราน้ำค้างของ ข้าวโพด โรครากเน่าของทุเรียน ทำให้ผลผลิตของพืชลดลง
คิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท
โรคพืช แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑.
โรคพืชที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต
สิ่งไม่มีชีวิตที่สามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติแก่พืชได้แก่
๑.๑ ปุ๋ย
พืชที่ขาดธาตุอาหาร
หรือได้รับธาตุอาหารมากเกินไป หรือภาษาทางการเกษตร
ที่เรามักจะคุ้นเคยเรียกว่า พืชขาดปุ๋ย หรือได้รับปุ๋ยมากเกินไป
ปกติธาตุอาหารเหล่านี้ มักมีอยู่ในดิน เพียงพอต่อความต้องการของพืช
แต่บางกรณี สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่ไม่เหมาะสม
ทำให้ธาตุอาหารต่างๆ
เหล่านี้ เปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถดูดนำมาใช้ได้
หรือบางครั้ง เราปลูกพืชซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับดินให้ปุ๋ย
จึงทำให้ดินบริเวณนั้นขาดแคลนธาตุอาหาร
และพืชแสดงอาการเป็นโรคขาดธาตุอาหารให้เห็น อาการที่เกิดจากธาตุอาหารนี้
ส่วนใหญ่สังเกตได้ที่ใบอ่อน และใบแก่ โดยจะมีอาการเปลี่ยนสี
ใบมีขนาดเล็กลง
ม้วนขึ้น หรืองดลง ตลอดจนการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตผิดปกติ
ตัวอย่างกรณีให้ปุ๋ยมากเกินไป อาจทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาตาย
หรือใบงามจนเกินไป และไม่ออกรวง เช่น ข้าวเป็นโรคเฝือใบ
เนื่องจากได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป
หรือกล้วยไม้ พวกหวายมาดามตัดดอก มีการบำรุง
และเร่งการออกดอก ด้วยปุ๋ยสูตรชนิดต่างๆ
โดยมิให้ต้นไม้มีการพักตัว
ปรากฏว่า ดอกมาดามที่ตัดจากต้นเหล่านี้มีคุณภาพเลวลง โดยมีระยะการบานไม่ทน
เหี่ยวเฉา และหลุดร่วงง่าย
ทำให้เสียมาตรฐานคุณภาพไม้ตัดดอก
และนำมาซึ่งปัญหาการตลาดระหว่างประเทศต่อไป |
อาการก้นเน่าของมะเขือเทศ
เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียม |
ส่วนอาการพืช เนื่องจากขาดธาตุอาหาร พบได้บ่อยครั้ง เช่น
โรคอ้อยขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดอาหารใบเหลืองซีด ส้มที่ขาดธาตุสังกะสี
หรือที่เรียกว่า ใบแก้วของส้ม ใบที่ยอดอ่อนจะเรียวเล็ก และชี้ขึ้น
หรือโรคก้นเน่าของมะเขือเทศ ซึ่งเกิดจากการขาดธาตุแคลเซียม เป็นต้น |
๑.๒
ดินที่มีสภาพความเป็นกรด เป็นด่างมากเกินไป
โดยปกติสภาพความเป็นกรดด่างของดิน
มิใช่ตัวควบคุมการเจริญเติบโตของพืชโดยตรง
แต่มีผลทางอ้อมต่อพืช ในการนำธาตุอาหารในดินมาใช้ หรือในแง่การเจริญเติบโต
และอยู่ร่วมกันของเชื้อจุลินทรีย์ในดิน
ซึ่งจะมีผลช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตดี หรือผิดปกติไป
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและพืชแต่ละชนิด
เรามักได้ยินคำว่า ดินเปรี้ยว ทำให้พืชมีขนาดเล็ก การเจริญเติบโตช้า
อันเนื่องมาจากความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
ทำให้พืชไม่สามารถใช้ธาตุอาหารบางชนิดได้
หรือมีการเสริมให้เชื้อโรคในดินบางชนิดระบาดรุนแรงขึ้น เช่น
โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ และพืชบางชนิด ซึ่งเกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม
(Fusarium sp.) จะแสดงอาการโรครุนแรงมาก ในดินกรด หรือค่อนข้างไปทางกรด
ในทางตรงกันข้าม เชื้อราเวอร์ติซิลเลียม (Verticillium sp.)
ซึ่งทำให้เกิดอาการเหี่ยวของมะเขือเทศเช่นเดียวกัน
จะทำให้เป็นโรครุนแรงในสภาพดินด่าง เป็นต้น |
อาการเหี่ยวของพริก เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม |
๑.๓
วิธีการทางเขตกรรม
วิธีการนี้มีหลายกรณี เนื่องจากการเพาะปลูก
จำเป็นต้องมีการเตรียมดินฆ่าเชื้อในแปลงปลูกที่เคยเป็นโรคมาก่อน
หรืออุปกรณ์ในการเพาะกล้า
และย้ายปลูก บางครั้งฤทธิ์ตกค้างของสารเคมีบางชนิดยังคงอยู่
และทำให้เกิดอาการผิดปกติกับพืชได้ การกำจัดวัชพืช
หรือการใช้ปุ๋ยซึ่งมีวิธีต่างๆ
กันอาจกระทบกระเทือนระบบราก และทำให้เกิดอาการเหี่ยวเฉา
การยึดพืชกับเครื่องปลูก หรือสิ่งยึดเกาะ
หากไม่แข็งแรงพอจะทำให้ระบบรากสั่นคลอน เนื่องจากกระแสลม
หรือแรงกระทำอื่นๆ
ทำให้รากไม่ยึดเกาะดิน หรือเครื่องปลูก
อาจทำให้พืชเหี่ยวเฉา หรือถึงแห้งตายได้ มักจะเกิดกับกล้วยไม้
และการปลูกพวกกิ่งตอนต่างๆ |
อาการใบไหม้ของส้มเกิดจากการใส่ปุ๋ย แล้วขาดการรดน้ำ |
๑.๔
แสงแดดหรืออากาศที่ร้อนจัดเกินไป
มีพืชบางชนิด ที่ไม่สามารถทนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ เช่น พวกพืชอวบน้ำ
ใบหนา เมื่อมีหยดน้ำเกาะติดบนใบพืชและถูกแสงอาทิตย์ส่องนานๆ
จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลายเป็นเซลล์ตาย สีน้ำตาลหรือสีดำ
และอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคอื่นๆ เช่น เชื้อรา เชื้อบัคเตรี ฯลฯ
นอกจากนี้ในโรงเรือนที่อบ หรือการขนส่งจำนวนมากๆ
ในสภาพอากาศร้อนจัด มักทำให้พืชได้รับการกระทบกระเทือนมีอาการตายนิ่ง
สลัดใบทิ้ง ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต หรืออาจถึงแห้งตาย
มักเกิดขึ้นกับพืชทุกชนิด |