ระบบโทรเลข และรหัสสัญญาณโทรเลขของมอร์ส
ระบบโทรเลข
ที่ยังใช้กันแพร่หลายมาจนกระทั่งทุกวันนี้เป็นผลงานของชาวอเมริกัน ชื่อ
แซมมวล ฟินลี บรีซ มอร์ส (Samuel finley Breeze Morse เกิด พ.ศ. ๒๓๓๔
ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๑๕) มอร์สเป็นจิตรกรเขียนภาพประวัติศาสตร์
ผู้มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา
ขณะที่เดินทางกลับจากการไปศึกษาวิชาวิจิตรศิลป์ที่ทวีปยุโรปทางเรือ
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ เพื่อนโดยสารเรือผู้หนึ่ง
ชื่อ ดร. ชารลส์ ที. แจคสัน แหล่งเมืองบอสตัน
ได้เล่าให้เขาฟังถึงคุณสมบัติของแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมกับทดลองทำให้ดูด้วย
มอร์สสนใจมาก
และเกิดความคิดที่จะใช้วิธีส่งกระแสไฟฟ้าผ่านแม่เหล็กไฟฟ้าไปทำให้ดินสอ
หรือปากกากระดิกเคลื่อนเส้น ลากไปบนแถบกระดาษที่รองรับอยู่
การบันทึกสัญญาณโทรเลขลงบนแถบกระดาษถาวรเช่นนี้
นับว่า เป็นความคิดใหม่โดยแท้ แต่เป็นวิธีการเพียงคร่าวๆ เท่านั้น
จนกระทั่งมอร์สได้เพื่อน ชื่อ แอลเฟรด เวล
(Alfred vail) มาช่วยแก้ไขทางด้านเครื่องกลไก เมื่อปี
พ.ศ. ๒๓๘๐ ระบบโทรเลขของมอร์สจึงบรรลุผลสำเร็จ
เครื่องรับส่งสัญญาณโทรเลขของมอร์ส
ประกอบด้วยคันเคาะ หม้อไฟฟ้าสายลวด และเครื่องทำเสียง
เมื่อกดคันเคาะที่สถานีส่ง หม้อไฟฟ้าจะส่งกระแสไป
ในสายลวดผ่านขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่เครื่องทำเสียงของสถานีรับ
แล้วกลับมาสู่หม้อไฟฟ้าของสถานีส่ง เป็นวงจรบรรจบรอบ
|

คันเคาะสัญญาณโทรเลขของมอร์ส |
ที่เครื่องทำเสียงมีแผ่นเหล็กบางๆ
เป็นส่วนหนึ่งอยู่กับแม่เหล็กไฟฟ้า ขณะที่ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่านมา
แผ่นเหล็กบางๆ นี้ จะถูกขดลวดสปริงดึงไว้ ให้อยู่ห่างจากแม่เหล็กไฟฟ้า
ต่อเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมา เพราะกดคันเคาะแผ่นเหล็กบางๆ นั้น
จะถูกอำนาจเส้นแรงแม่เหล็กดึงเข้ามา กระแทก
จึงเกิดเสียงดัง ครั้นเมื่อปล่อยหรือยกคันเคาะ กระแสไฟฟ้าหยุดไหล
เส้นแรงแม่เหล็กไฟฟ้าหมดไป แผ่นเหล็กบางๆ นั้น
ก็จะถูกขดลวดสปริง ดึงให้ถอยห่างออกไปอยู่ในท่าเดิม |

ภาพลายเส้นของเครื่องรับส่งโทรเลขแบบมอร์ส |
เมื่อมอร์สสร้างเครื่องโทรเลขครั้งแรก เขาเอาปากกาต่อติดกับปลายแผ่นเหล็กบางๆ นั้น เมื่อแผ่นเหล็กบางถูกดึง
เข้ามาหาแม่เหล็กไฟฟ้า(เพราะกดคันเคาะที่สถานีส่ง) ปากกา
จะขีดลากเป็นเส้นหมึกลงบนกระดาษแถบเล็กๆ ที่ถูกฉุดให้เคลื่อนไปช้าๆ
และเมื่อแผ่นเหล็กบางถูกขดลวดสปริงดึงห่างออกไป
เพราะปล่อยหรือยกคันเคาะที่สถานีส่ง ปากกานั้น
ก็จะถูกดึงขึ้นพ้นกระดาษแถบด้วย |
ความยาวของเส้นที่ปากกาขีด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กด คันเคาะ
ถ้ากดไว้นานก็เป็นเส้นยาว และถ้ากดไว้เพียงชั่วระยะสั้น ก็เป็นเส้นสั้น
 |
แบบจำลองของเครื่องโทรเลข ที่มอร์สใช้ส่งโทรเลข ของประชาชน
เมื่อ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ |
เส้นยาว (ซึ่งมักเรียกว่า ขีด) กับเส้นสั้น
(ซึ่งมักเรียกว่า จุด) นี้คือ รหัสสัญญาณโทรเลข ที่เรียกว่า "รหัสมอร์ส"
(Morse Code) และแปลออกมาเป็นอักษรโรมัน (คือตัวอักษร A B C ฯลฯ)
|

เครื่องรับสัญญาณโทรเลขด้วยแถบ (แบบสุดท้ายก่อนเลิกใช้)
|
รหัสสัญญาณโทรเลขของมอร์ส ซึ่งประกอบขึ้นด้วย ขีด
และจุด ยังนิยมใช้กันแพร่หลายตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เพียงแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้างเป็นบางตัวรหัสเท่านั้น เช่น
รหัสมอร์สที่ใช้กันเฉพาะภายในประเทศสหรัฐอเมริกา
และประเทศแคนาดา แตกต่างกับรหัสมอร์สสากล (International Morse Code)
ที่เรียกว่าคอนทิเนนทัล (Continental)
หรือรหัสมอร์สสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลก ๑๑ รหัสตัวอักษร เป็นต้น
|

คันเคาะสัญญาณโทรเลขแบบมอร์ส |
นอกจากรหัสมอร์สสากลแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ได้ดัดแปลง ใช้รหัสมอร์สสากล
ในการส่งโทรเลขเป็นภาษาของ ประเทศนั้นๆ ด้วย เช่น
รหัสมอร์สภาษาไทย
ดัดแปลงมาจากรหัสมอร์สสากล แต่ได้เพิ่มเติมมากขึ้นเพราะ ภาษาไทยมีพยัญชนะ
และสระ มาก
รหัสมอร์สภาษาญี่ปุ่น
ดัดแปลงเช่นเดียวกับภาษาไทย แต่เขียนเป็นอักษรคะตะคะนะ หรือฮิระงะนะ
(ส่วนคำที่ เขียนเป็นอักษรจีน ต้องแปลง มาเป็นตัวอักษรคะนะ ตาม
เสียงอ่านเสียก่อน) มีจำนวน เท่าๆ กับรหัสมอร์สภาษาไทย
รหัสโทรเลขภาษาจีน
ใช้ตัวเลข ๔ ตัว เป็นรหัส ๑ หมู่ แทนตัวอักษรจีน ๑ ตัว
มีตัวเลขรหัสใช้เกือบ ๙๙๙๙ หมู่ เช่น ๐๐๗๙ แปลว่า เมืองหลวง ๐๓๑๘ แปลว่า
แม่ (มารดา) ๑๙๔๘ แปลว่า ประเทศ ๑๘๓๘ แปลว่า ด่วน ๗๔๕๖ แปลว่า ม้า |