สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 7
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๙ โทรคมนาคม / สำหรับเด็กระดับเล็ก
สำหรับเด็กระดับเล็ก
ฟังเสียงอ่าน =>

เด็กๆ
คงสังเกตเห็นว่า
น้องที่เกิดมาใหม่ๆ เอาแต่นอน และส่งเสียงร้อง เมื่อหิวนม
หรือผ้าอ้อมเปียก
ต่อมา เมื่อน้องโตขึ้น ก็รู้จักพูด และแสดงท่าทาง
เพื่อให้คนอื่นที่อยู่ใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา รู้ว่า
ตนต้องการอะไร
และมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ครั้นเมื่อได้เรียนจนเขียนตัวหนังสือได้
ก็สามารถแสดงความคิดเห็น ความต้องการ
และความรู้สึกของตนถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ ส่งไปยังคนที่อยู่ไกลๆ ออกไปได้ |
 |
การถ่ายทอดความคิดเห็น
ความต้องการ และความรู้สึกของตน ไปยังคนอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล
นี่แหละ คือการติดต่อ หรือการสื่อสาร |
การติดต่อกับคนอื่น
จึงเป็นงานประจำวันของเรา ถ้าอยู่ใกล้กัน
ก็ใช้พูดให้เขาฟัง และฟังที่เขาพูด แต่ถ้าอยู่ไกลๆ
ก็ต้องเขียนเป็นข่าวสารส่งไป
ในสมัยโบราณ
อาศัยนักวิ่งเร็ว
หรือที่เรียกว่า "ม้าเร็ว"
เป็นผู้นำข่าวสารไป แต่ก็ไปได้เร็วเพียงประมาณ ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เท่านั้น
|
 |
ชาวป่าแอฟริกาส่งข่าวถึงกันด้วยเสียงกล่อง
ชาวกรีกและชาวโรมันใช้แสงไฟ
หรือแสงสะท้อนจากวัสดุขัดมัน เช่น โล่ หรือกระจกเงา ในการส่งข่าว
ชาวอินเดียแดงในอเมริกาส่งข่าวติดต่อถึงกันด้วยควันไฟ |
ชาวเปอร์เซียได้ชื่อว่า
เป็นผู้ริเริ่มใช้เสียงพูดในการสื่อสาร คือคัดเลือกคนที่มีเสียงดังๆ
ประจำอยู่แท่นสูง หรือหอคอย เรียงรายห่างกันช่วงละ ๒ กิโลเมตร
แล้วใช้เสียงตะโกนแจ้งข่างสารต่อๆ กันไป |
 |
นอกจากที่กล่าวแล้ว
ยังมีการใช้สัตว์ เช่น นกพิราบนำข่าวสารไปด้วยซึ่งไปได้เร็วกว่ามนุษย์วิ่ง
และเมื่อมนุษย์สามารถสร้างกล้องส่องทางไกลขึ้นได้ ก็ช่วยให้แลเห็นแสงไฟ
หรือควันไฟ ในระยะทางไกลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี
มนุษย์ก็ยังแสวงหาวิธีการสื่อสารใหม่ๆ
เพื่อให้ส่งข่าวสารได้ไกล และเร็วยิ่งขึ้นตลอดมา |
 |
ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักไฟฟ้า
รู้จักทำหม้อไฟฟ้า และรู้จักวิธีส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวด
การสื่อสารแบบใหม่ๆ ซึ่งเรียกว่า "โทรเลข"
ก็เกิดขึ้น
โทรเลขเป็นการส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวด
ให้มีจังหวะไหลยาวบ้าง สั้นบาง
เป็นรหัสนัดหมายรู้กันกับฝ่ายรับปลายทางว่า หมายถึง อักษรตัวใด เช่น
จังหวะ
"ยาว-ยาว-สั้น"
หมายความว่า อักษรตัว "ก" เป็นต้น
แม้โทรเลขจะเป็นการสื่อสารที่รวดเร็ว
เนื่องจากระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้เร็วมาก แต่ก็ยังไม่สะดวกแต่ผู้ใช้
เพราะต้องเขียนข่าวสาร ที่จะส่งไป เป็นตัวหนังสือ
และส่งเป็นรหัสไปทีละตัวๆ
มนุษย์จึงแสวงหาวิธีติดต่อสื่อสารแบบอื่นที่จะใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ในที่สุดก็ได้ "โทรศัพท์"
โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้า
แล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่
เปลี่ยนกระแสไฟฟ้า ให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง
จึงสะดวกขึ้น เพราะใช้เสียงพูดติดต่อกันได้เลย
แต่ความไม่สะดวกก็ยังมี
เพราะทั้งโทรเลขและโทรศัพท์ต้องใช้สายลวด
ถ้าที่ใดขึงสายลวดไปถึงไม่ได้ก็ใช้โทรเลข หรือโทรศัพท์ไม่ได้ |
|
มนุษย์ต้องรอต่อไป
จนมีผู้คิดทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า
คลื่นวิทยุขึ้นได้ จึงใช้คลื่นวิทยุแทนสายลวด ส่งโทรเลข
และพูดโทรศัพท์ไปได้ไกลๆ
ทั้งยังสามารถใช้ส่งข่าวสารติดต่อกับเรือ ที่แล่นอยู่ในทะเล
และเครื่องบิน ที่เดินทางอยู่ในท้องฟ้าได้อีกด้วย |
ต่อมาได้ใช้คลื่นวิทยุส่งเสียงพูด
เสียงดนตรี
และเสียงแสดงละครไปให้ประชาชนที่อยู่ตามบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาทั่วไปรังฟัง
ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า "วิทยุกระจายเสียง"
และยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพถ่าย
ภาพเอกสาร ฯลฯ ไปทางไกลได้อีก เรียกว่า "วิทยุโทรภาพ"
|
|
ยิ่งไปกว่านั้น
ยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพเหตุการณ์สดๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เช่น
ภาพการเล่นฟุตบอล ภาพการชกมวย ภาพการแสดงละคร
และภาพการบรรเลงดนตรีไปให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นเหมือนกับได้เห็นเหตุการณ์นั้นๆ
ณ ที่เกิดจริงๆ
ได้อีกด้วย วิธีการนี้เรียกว่า
"วิทยุโทรทัศน์"
การสื่อสารชนิดใช้กระแสไฟฟ้า
และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
มีชื่อเรียกอย่างใหม่เฉพาะว่า "โทรคมนาคม"
(อ่านว่า โท-ระ-คะ-มะ-นา-คม) |
|