สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 8
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๘ / เรื่องที่ ๓ การกำเนิดของโรค / โรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อเกิดขึ้นเนื่องจากมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง
ได้แก่ ทางผิวหนัง ทางการหายใจ
ทางเดินอาหาร ทางระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์
หรือทางสายรก เชื้อโรคแบ่งเป็นชนิดต่างๆ
หลายชนิด คือ บัคเตรี ไวรัส ริกเกตเซียเชื้อรา
และปรสิต เชื้อโรคมีขนาดเล็กมากมองดูด้วยตาเปล่าไม่เป็น
ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ขยายให้ใหญ่ขึ้น
จึงจะเห็นตัวเชื้อโรคได้
เราจึงเรียกว่า จุลชีพ (microorganism)
นอกจากนี้ยังมีตัวพยาธิบางชนิดที่มีขนาดใหญ่
มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เช่น พยาธิไส้เดือน เป็นต้น
เชื้อโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว
จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย
และปล่อยสารพิษออกมาทำอันตรายต่อร่างกาย หรือทำอันตรายด้วยวิธีอื่นๆ
ทำให้เกิดการเสื่อม และการตายของเซลล์ในร่างกาย
และเกิดปฏิกิริยาต่อสู้ของร่างกายที่เรียกว่า
การอักเสบ ขึ้น เช่น การเกิดหนองหรือเป็นฝี
เป็นต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่ที่เชื้อโรคเข้าไป
ระยะเวลาที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนถึงเวลาที่เกิดอาการขึ้นเรียกว่าระยะฟักตัว
(incubation period) ซึ่งจะสั้นหรือยาวก็แล้วแต่ชนิดของเชื้อโรค
เชื้อโรคนอกจากจะทำอันตรายต่อร่างกายเฉพาะที่ที่เชื้อโรคเข้าไปแล้วยังสามารถทำอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ
ที่อยู่ห่างไกลออกไปได้อีกด้วยวิธีการใหญ่ๆ
๒ วิธีด้วยกัน คือ
|
ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อบัคเตรีที่ผิวหนัง บนใบหน้าเป็นเม็ดหนองหลายเม็ด |
๑) โดยการปล่อยสารพิษจากตัวเชื้อโรคเอง
หรือสารพิษที่เกิดจากเนื้อตาย
หรือผลของการอักเสบเข้าสู่กระแสเลือด
และกระแสน้ำเหลืองไหลวนเวียนไปทั่วร่างกาย
ไปทำอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ
|
๒) โดยการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ส่วนอื่นๆ
ของร่างกาย อาจลุกลามไปสู่อวัยวะข้างเคียงโดยตรง
ไปทางกระแสน้ำเหลือง หรือกระแสเลือด
เมื่อไปสู่อวัยวะต่างๆ แล้วก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเช่นเดียวกันกับในตำแหน่งที่เชื้อโรคเข้าไปครั้งแรก
เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดโรคขึ้นได้
อาศัยปัจจัยที่สำคัญสองประการคือ
๑.
ปัจจัยทางฝ่ายเชื้อโรค
เชื้อโรคนั้นต้องมีคุณสมบัติในการก่อโรคได้
เชื้อโรคบางชนิดที่เคยก่อโรคได้
เมื่อเราเอามาทำให้ฤทธิ์อ่อนลง
แต่ยังไม่ตาย เช่น เอามาทำเป็นวัคซีน
ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไขสันหลังอักเสบหรือโปลิโอ
วัคซีนบีซีจีสำหรับป้องกันวัณโรค
ใช้ฉีดหรือกินให้เกิดภูมิต้านทานได้
แต่ไม่ทำให้เป็นโรค
ปัจจัยประการต่อไปก็คือ
เชื้อโรคจะต้องเข้าสู่ร่างกายให้ถูกทาง
ตามความเหมาะสมที่เชื้อโรคแต่ละชนิด
จะผ่านเข้าไปในร่างกายและเจริญเติบโตได้
ประการสุดท้าย เชื้อโรคจะต้องมีปริมาณมากพอ
จึงจะเหลือจากการทำลายโดยการต้านทานชั้นแรกของร่างกายเพียงพอที่จะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณขึ้น
เพื่อจะทำอันตรายแก่ร่างกายต่อไปได้
|
๒.
ปัจจัยทางฝ่ายร่างกาย
ร่างกายย่อมมีความต้านทานต่อเชื้อโรคอยู่แล้วมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล
ความต้านทานต่อเชื้อโรคนี้แบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ |
ผู้ป่วยที่เป็นหัดเนื่องจากติดเชื้อไวรัส มีผื่นแดงที่ใบหน้าและลำตัว |
๒.๑ ความต้านทานตามธรรมชาติ
ร่างกายมีผิวหนัง และเยื่อเมือกที่บุทางเดินอาหารและทางเดินอากาศหายใจ
และที่อื่นๆ สำหรับป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนในของร่างกาย
เมื่อป้องกันไม่อยู่ เชื้อโรคที่เข้าสู่เนื้อเยื่อภายในของร่างกาย
ก็จะพบกับเม็ดเลือดขาวและภูมิต้านทานของร่างกายที่มีอยู่แล้ว
ช่วยกันกินและทำลายเชื้อโรค
|
ลักษณะของโรคสุกใส |
๒.๒ ความต้านทางที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อสู้ต้านทานเชื้อโรค
คือ เกิดการอักเสบขึ้น เพื่อระดมเม็ดเลือดขาว
ภูมิต้านทาน และสารต่อต้านเชื้อโรคชนิดอื่นๆ
ให้มารวมกันอยู่ในบริเวณที่เชื้อโรคเข้าไป
เพื่อจะสกัดกั้น กิน และทำลายเชื้อโรคและพิษของเชื้อโรคนั้นๆ
นอกจากนั้น เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายยังมีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเฉพาะเชื้อโรคนั้นๆ
ขึ้นในรูปแบบต่างๆ กัน เป็นการเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรคนั้นๆ
ด้วย
|
ผลที่เกิดจากการติดเชื้อ
โรคติดเชื้อแต่ละชนิดจะแสดงอาการออกมาต่างๆ
กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้เกิดเป็นโรคได้หลายชนิด
แสดงอาการออกมาต่างๆ แล้วแต่ว่าอวัยวะส่วนไหนของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลาย
ถ้าร่างกายต่อสู้และทำลายเชื้อโรคได้หมดก็หายจากโรค
ถ้าสู้ไม่ได้ อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายไปมากก็ถึงแก่ความตาย
เชื้อโรคบางชนิดร่างกายพอต่อสู้ได้บ้าง
แต่ทำลายไม่หมด ก็จะกลายเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังไป
เช่น วัณโรค โรคเรื้อน เป็นต้น ผู้ป่วยที่หายจากโรคติดเชื้อ
อาจหายโดยเรียบร้อยไม่มีร่องรอยความผิดปกติเหลืออยู่เลย
หรืออาจหายโดยมีแผลเป็นหรือมีความพิการหลงเหลืออยู่
เนื่องจากส่วนที่ถูกทำลายไปไม่สามารถจะถูกสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้
นอกจากนั้นโรคติดเชื้อหลายชนิด
ในขณะที่เป็นโรคอยู่
หรือหายจากโรคแล้วก็ตาม
ร่างกายจะยังคงมีภูมิคุ้มกันเหลืออยู่
บางโรคก็หมดไปเร็ว
บางโรคก็อยู่ได้นาน
หรือแม้แต่อยู่ตลอดชีวิตเลยก็ได้
เช่น โรคหัด สุกใส ฝีดาษ เป็นต้น |
|