สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 9
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๙ / เรื่องที่ ๑๒ โภชนาการ / โปรตีน
โปรตีน
โปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้
ถ้านำเอาโปรตีนมาวิเคราะห์ทางเคมี
จะพบว่า ประกอบด้วยสารเคมีจำพวกหนึ่ง เรียกว่า กรดอะมิโน (amino acid)
ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ
๑. กรดอะมิโนจำเป็น
เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างไม่ได้
ต้องได้จากอาหารที่กินเข้าไปเท่านั้น กรดอะมิโนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่ ๙
ตัว คือ ฮิสติดีน (histidine) ไอโซลิวซีน (isoleucine) ลิวซีน (leucine)
ไลซีน (lysine) เมไธโอนีน (methionine) เฟนิลอะลานีน (phenylalanine)
ธรีโอนีน (threonine) ทริปโตเฟน (tryptophan) และวาลีน (valine)
๒. กรดอะมิโนไม่จำเป็น
เป็นกรดอะมิโนที่นอกจากได้จากอาหารแล้วร่างกายยังสามารถสร้างได้ เช่น
อะลานีน (alanine) อาร์จินีน (arginine) ซีสเตอีน (cysteine) โปรลีน
(proline) และไทโรซีน (tyrosine) เป็นต้น
เมื่อโปรตีนเข้าสู่ลำไส้
น้ำย่อยจากตับอ่อน และลำไส้ จะย่อยโปรตีน จนเป็นกรดอะมิโน ซึ่งดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ร่างกายนำเอากรดอะมิโนเหล่านี้ไปสร้างเป็นโปรตีนมากมายหลายชนิด
โปรตีนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบ และการเรียงตัวของกระอะมิโนแตกต่างกันไป
หน้าที่ของโปรตีน
โปรตีนมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายอยู่ ๖ ประการ คือ
๑. เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตไม่สามารถทดแทนโปรตีนได้ เพราะไม่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ
๒. เมื่อเติบโตขึ้น ร่างกายยังต้องการโปรตีน เพื่อนำไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ที่สึกหรอไปทุกวัน
๓. ช่วยรักษาดุลน้ำ
โปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์และหลอดเลือดช่วยรักษาปริมาณน้ำในเซลล์
และหลอดเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ถ้าร่างกายขาดโปรตีน
น้ำจะเล็ดลอดออกจากเซลล์และหลอดเลือดเกิดอาการบวม
๔. กรดอะมิโนส่วนหนึ่งถูกนำไปสร้างฮอร์โมน เอนไซม์ สารภูมิคุ้มกัน และโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกายดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
๕. รักษาดุลกรด-ด่างของร่างกาย
เนื่องจากกรดอะมิโนมีหน่วยคาร์บอกซีล (carboxyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด
และหน่วยอะมิโน มีฤทธิ์เป็นด่าง โปรตีนจึงมีสมบัติรักษาดุลกรด-ด่าง
ซึ่งมีความสำคัญต่อปฏิกิริยาต่างๆ ภายในร่างกาย
๖. ให้กำลังงาน โปรตีน ๑ กรัมให้กำลังงาน ๔ กิโลแคลอรี
อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกายได้กำลังงานจากคาร์โบไฮเดรต และไขมันเพียงพอ
จะสงวนโปรตีนไว้ใช้ในหน้าที่อื่น
|
อาหารที่มีประโยชน์ |
อาหารที่ให้โปรตีน
อาจแบ่งโปรตีนตามแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนออกเป็น ๒ พวก คือ
โปรตีนจากสัตว์ และโปรตีนจากพืช
เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ให้โปรตีน
ต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณ และคุณภาพ คือ
ดูว่า อาหารนั้นมีโปรตีนมากน้อยเพียงใด และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนหรือไม่
อาหารที่ให้โปรตีน น้ำหนักส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นโปรตีน อาหารแต่ละชนิดมีโปรตีนไม่เท่ากัน
โปรตีนจากนมและไข่ถือว่า มีคุณค่าทางโภชนาการยอดเยี่ยม
เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ส่วนโปรตีนจากธัญพืช
นอกจากมีปริมาณต่ำกว่าในเนื้อสัตว์และไข่แล้ว
ยังมีความบกพร่อง ในกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิด เช่น ข้าว ขาดไลซีน และธรีโอนีน
ข้าวสาลีขาดไลซีน ข้าวโพดขาดไลซีน และทริโตเฟน ส่วนถั่วเมล็ดแห้ง
แม้ว่าจะมีปริมาณโปรตีนสูง แต่มีระดับเมไธโอนีนต่ำ
อย่างใดก็ตามโปรตีนจากพืชยังมีความสำคัญ เพราะราคาถูกกว่าโปรตีนจากสัตว์
และเป็นอาหารหลักของประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา
เพียงแต่ว่า ต้องทำให้ประชาชนได้โปรตีนจากสัตว์เพิ่มขึ้น
เพราะจะทำให้เพิ่มทั้งปริมาณ และคุณภาพของโปรตีนที่รับประทานในแต่ละวัน
|
ความต้องการโปรตีน
คนเราต้องการโปรตีนในแต่ละวันมากน้อยเพียง
ใด ขึ้นกับปัจจัย ๒ ประการ คือ อาหารที่กินมีปริมาณ
และคุณภาพของโปรตีนอย่างไร และตัวผู้กินอายุเท่าไร
ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือเปล่า ตลอดจนมีอาการ
เจ็บป่วยอยู่หรือไม่ ความต้องการของโปรตีนลดลงตาม
อายุ เมื่อแรกเกิดเด็กต้องการโปรตีนวันละประมาณ
๒.๒ กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ความต้องการดัง
กล่าวนี้ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตั้งแต่อายุ ๑๙ ปีขึ้นไป
ต้องการโปรตีนเพียง ๐.๘ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม
ต่อวัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กต้องการโปรตีนไปสร้าง
เนื้อเยื่อต่างๆในการเจริญเติบโต ส่วนผู้ใหญ่แม้ว่าการ
เจริญเติบโตหยุดแล้ว แต่ยังต้องการโปรตีนไว้ซ่อมแซม
ส่วนต่างๆ ที่สึกหรอไป ส่วนหญิงตั้งครรภ์ต้องการ
โปรตีนเพิ่มขึ้นอีกวันละ ๓๐ กรัม เพื่อนำไปใช้สำหรับแม่และลูกในครรภ์ แม่ที่ให้นมลูกต้องกินโปรตีนเพิ่ม
อีกวันละ ๒๐ กรัม เพราะการสร้างน้ำนมต้องอาศัย
โปรตีนจากอาหาร
|
|