สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 9
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๙ / เรื่องที่ ๑๒ โภชนาการ / โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
เป็นโรคเกิดจากร่างกายได้กำลังงานโปรตีนไม่พอ
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๖ ปี
ลักษณะอาการของโรคที่เห็นแตกต่างกันชัดเจน มี ๒ รูปแบบ คือ ควาชิออร์กอร์
(kwashiorkor) และมาราสมัส (marasmus)
|
เด็กป่วยด้วยโรคควาชิออร์กอร์ |
ควาชิออร์กอร์
เป็นโรคขาดโปรตีน
และแคลอรี ประเภทที่มีการขาดโปรตีนอย่างมาก เด็กมีอาการบวมเห็นได้ชัดที่ขา
๒ ข้าง เส้นผมมีลักษณะบางเปราะ และร่วงหลุดง่าย ตับโต มีอาการซึม
และดูเศร้า ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ผิวหนังบางและลอกหลุด
|
เด็กป่วยด้วยโรคมาราสมัส |
มาราสมัส
เป็นโรคขาดโปรตีน
และแคลอรี ประเภทที่ขาดทั้งกำลังงาน และโปรตีน เด็กมีแขนขาลีบเล็ก
เพราะทั้งไขมัน และกล้ามเนื้อ ถูกเผาผลาญมาใช้เป็นกำลังงาน
เพื่อการอยู่รอด ลักษณะที่พบเห็น เป็นแบบหนังหุ้มกระดูก
ผิวหนังเหี่ยวย่นเหมือนหนังคนแก่ ไม่มีอาการบวม และตับไม่โต
|
อย่างไรก็ตาม
อาจมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะทั้งควาชิออร์กอร์
และมาราสมัสในคนเดียวกันก็ได้
โรคขาดโปรตีนและแคลอรีที่พบในเด็กไทย
พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท และแหล่งเสื่อมโทรมในเมืองใหญ่
โดยการใช้มาตรการการชั่งน้ำหนักตัวตามอายุ
เพื่อประเมินผลภาวะโภชนาการด้านโปรตีน และแคลอรี พบว่า เด็กแรกเกิดถึงอายุ
๕ ปี ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ ๗ ล้านคนนั้น เป็นโรคขาดโปรตีน
และแคลอรีเสีย ๔.๒ ล้านคน ซึ่งคิดได้เป็นร้อยละ ๖๓ ของเด็กวัยก่อนเรียน
ในจำนวนเด็กที่เป็นโรคขาดอาหารนี้ ๒ ล้านคนเริ่มขาดโปรตีน และแคลอรี ๒
ล้านคน อยู่ในพวกขาดโปรตีน และแคลอรีอย่างปานกลาง และ ๒ แสนคน
อยู่ในพวกขาดโปรตีน และแคลอรีอย่างรุนแรง
ผลร้ายของโรคขาดโปรตีนและแคลอรี
โรคขาดโปรตีน
และแคลอรี มีผลร้ายต่อเด็กเอง ต่อครอบครัว และต่อประเทศชาติ
เด็กที่เป็นโรคมีน้ำหนักน้อย ตัวเล็กอ่อนแอ ติดเชื้อโรคได้ง่าย
เพราะมีภูมิต้านทางต่ำ และเมื่อเกิดเป็นโรคก็ตายง่าย การศึกษายังพบด้วยว่า
โภชนาการมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง ที่สำคัญที่สุดคือ
ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์แม่ในระยะ ๓ เดือนก่อนคลอดจนถึงขวบแรก ของอายุ
ถ้าเกิดเป็น โรคขาดโปรตีน และแคลอรีในช่วงนี้ สมองเด็กจะไม่เจริญ
และมีผลสืบเนื่องไปถึงโตได้ การเรียนรู้ต่างๆ ของเด็กย่อมไม่มีประสิทธิภาพ
ถ้ารุนแรง เด็กก็ตาย ถ้าอาการไม่หนัก แม้ไม่ตายก็จะมีชีวิตอยู่แบบเฉื่อยชา
ไม่สนในสิ่งแวดล้อม เด็กเหล่านี้ก่อให้เกิดภาระต่อครอบครัว
เพราะเด็กที่เจ็บป่วยบ่อย
ย่อมทำให้พ่อแม่เสียทั้งเงินและเวลาในการรักษาพยาบาล ถ้าเด็กตายไป
พ่อแม่ก็ต้องมีลูกเพิ่มอีก เพื่อให้สมดังที่ตนปรารถนาไว้
ประเทศที่มีเด็กเป็นโรคขาดโปรตีน และแคลอรีกันมากๆ ย่อมมีผลเสีย
เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้น
จะไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้การพัฒนาประเทศไม่สามารถดำเนินไปได้ดี ก่อปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ
สังคม สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย
สาเหตุของโรคขาดโปรตีนและแคลอรี
เมืองไทยได้ชื่อว่า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่การที่เด็กไทยเป็นโรคขาดโปรตีน
และแคลอรีนั้น มีสาเหตุที่สำคัญอยู่ ๓ ประการคือ
|
๑. ความไม่รู้ อาหารที่ดีที่สุดของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๖
เดือน ได้แก่ น้ำนมแม่ แม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้
แล้วใช้นมวัวเลี้ยงลูก ถ้าเลือกใช้นมผิดๆ เช่น การใช้นมข้นหวาน
หรือเลือกใช้ถูก แต่ผสมผิดสัดส่วน
ไม่พิถีพิถันในเรื่องความสะอาดเกี่ยวกับการชงนม
ทำให้เด็กเป็นโรคติดเชื้อขึ้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กป่วยเป็นโรคขาดโปรตีน และแคลอรีได้ หลังอายุ ๖
เดือน ไปแล้ว เด็กไทยในชนบทยังได้อาหารเสริมที่ด้อยในคุณค่าทางโภชนาการ
คือ ได้แต่ข้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งด้อยทั้งกำลังงาน และโปรตีน
จึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดโปรตีน และแคลอรีขึ้น
|
นมผงเหมาะสำหรับเลี้ยงทารกมากกว่านมข้น |
๒. ความยากจน ครอบครัวที่มีฐานะยากจน และสมาชิกในครอบครัวมาก
ย่อมประสบปัญหาการได้อาหารที่เพียงพอ และคุณภาพดี
๓. ความเชื่อถือ ความเชื่อถือหลายอย่างเป็นความเชื่อถือ
ที่ทำให้เกิดโรคขาดโปรตีน และแคลอรี เช่น
การอดของแสลง ในระหว่างการตั้งครรภ์
การป้องกันโรคขาดโปรตีนและแคลอรี
หลักสำคัญในการป้องกันโรคขาดโปรตีนและแคลอรี คือ
๑. ให้เด็กได้อาหารอย่างเพียงพอ
และมีคุณภาพอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง ๖ เดือน คือ น้ำนมแม่
และควรได้อาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลังจากอายุ ๓ เดือนแล้ว
๒. รัฐต้องส่งเสริมให้มีการผลิตอาหาร ทั้งระดับท้องถิ่น
และอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการควบคุมอาหารที่ผลิตได้ ให้ถึงมือผู้ที่ยากจน
พยายามจัดสถานที่เลี้ยงดูเด็กวัยก่อนเรียนในระดับหมู่บ้าน
โดยให้รวมถึงการดูแลอาหารที่เด็กกินด้วย ถ้าเป็นเด็กอยู่ในวัยเรียน
ก็ส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินการโครงการอาหารกลางวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ถึงปากท้องเด็กนักเรียน ที่ยากจน
๓. ให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชน
ต้องถ่ายทอดความรู้ด้านโภชนาการให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปปฏิบัติได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ที่กินอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ
จะได้รับประโยชน์ทั้งแม่และลูก
|
|