โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 9
เล่มที่ ๙
เรื่องที่ ๑ เรื่องของยา
เรื่องที่ ๒ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
เรื่องที่ ๓ วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์
เรื่องที่ ๔ การทำแท้ง
เรื่องที่ ๕ การสาธารณสุข
เรื่องที่ ๖ โรคมะเร็ง
เรื่องที่ ๗ รังสีวิทยา
เรื่องที่ ๘ ฟันและเหงือกของเรา
เรื่องที่ ๙ เวชศาสตร์ชันสูตร
เรื่องที่ ๑๐ เวชศาสตร์ฟื้นฟู
เรื่องที่ ๑๑ นิติเวชศาสตร์
เรื่องที่ ๑๒ โภชนาการ
เรื่องที่ ๑๓ ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๙ / เรื่องที่ ๑๒ โภชนาการ / โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ

 โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ
โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ

ผลจากการขาดวิตามินเอ


หน้าที่ที่สำคัญของวิตามินเอ คือ จำเป็นต่อการเห็น จอตา ซึ่งทำหน้าที่ด้านการเห็นนั้น มีเซลล์อยู่ ๒ ชนิด ที่เกี่ยวกับการรับแสง ชนิดแรกเรียกว่า "ร็อด" (rod) ซึ่งทำให้เราเห็นในที่สลัว อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "โคน" (cone) ซึ่งทำให้เราเห็นในที่สว่าง และเห็นสีสันด้วย การทำงานของเซลล์ ๒ ชนิดนี้ ต้องพึ่งวิตามินเอ ดังนั้น เมื่อร่างกายขาดวิตามินเอ อำนาจการเห็นจะเสื่อมสมรรถภาพลง โดยเฉพาะถ้าเกิดในเด็กจะถึงขั้นตาบอดได้ อาการเริ่มแรก คือ ตาบอดแสง โดยเด็กจะมีความลำบากในการเห็น เมื่ออยู่ในที่แสงสลัวหรือมืด ความสามารถในการแยกแยะสีบางชนิดเลวลง การขาดวิตามินเอยังมีผลทำให้การเจริญเติบโตชะงักงัน และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อตาขาว กระจกตา เยื่อบุทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยเซลล์เยื่อบุต่างๆ เหล่านี้สร้างโปรตีนบางชนิดได้น้อยลง รูปร่างเซลล์เปลี่ยนไปจากเดิม มีการทับถมของเซลล์ ทำให้หนาตัวขึ้น เช่น ถ้าเป็นที่ผิวหนัง แทนที่ผิวหนังจะราบเรียบ ก็มีลักษณะขรุขระคล้ายหนังคางคก สำหรับที่ส่วนหน้าของลูกตา เซลล์ของเยื่อตาขาวจะหยุดสร้างสารเมือก ทำให้ตาขาวแห้ง และเยื่อตาขาวส่วนที่อยู่ด้านนอกของกระจกตาจะมีลักษณะเป็นแผ่นฟองมันๆ ซึ่งเรียกว่า เกล็ดกระดี่ มีการทำลายของเซลล์ที่บุกระจกตา ทำให้ตาดำแห้ง เกิดการอักเสบ ถ้าเป็นรุนแรงก็ถึงขั้นเน่าเปื่อย ตาดำทะลุ และมีผลทำให้ตาบอดได้
เกล็ดกระดี่ที่เยื่อตาขาวเนื่องจากการขาดวิตามินเอ
เกล็ดกระดี่ที่เยื่อตาขาว
เนื่องจากการขาดวิตามินเอ 
โรคขาดวิตามินเอนี้ พบมากในเด็กที่อยู่ในประเทศด้วยพัฒนาและกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย ได้มีการคาดคะเนว่า เด็กทั่วโลกที่ตาบอด จากการขาดวิตามินเอนั้น มีไม่ต่ำกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คนต่อปี การขาดวิตามินเอ มักพบในเด็กที่เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี จึงยิ่งทำให้อัตราตายสูงขึ้น ได้มีผู้รายงานว่า เด็กที่มีตาอักเสบจากการขาดวิตามินเอ เมื่อได้รับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ร้อยละ ๒๕ ของเด็กที่รอดตายจะตาบอด ร้อยละ ๕๐-๖๐ ยังพอเห็นอยู่บ้าง เพียงร้อยละ ๑๕-๒๕ ที่เห็นได้ตามปกติ


สาเหตุของการขาดวิตามินเอ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยในชนบท ขาดวิตามินเอนั้น เกิดจากได้วิตามินเอ และแคโรตีน จากอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การดูดซึมของวิตามินเอยังต้องอาศัยไขมัน และน้ำดี ดังนั้นคนที่กินไขมันน้อย จะมีผลทำให้การดูดซึมของวิตามินเอเลวลง ภาวะที่ขาดโปรตีนและแคลอรี จะทำให้การสร้างเรทินอลไบน์ดิงโปรตีน (retinol binding protem) ลดลง โปรตีนดังกล่าวนี้เป็นโปรตีนพิเศษ ทำหน้าที่ขนถ่ายวิตามินออกจากตับไปสู่ตา ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี เมื่อขาดวิตามินเอด้วยอาการทางตาจะรุนแรงมาก ภาวะที่ร่างกายต้องการวิตามินเอมากกว่าปกติ เช่น โรคติดเชื้อ ถ้าได้วิตามินเอไม่พอ ก็เป็นโรคขาดวิตามินเอได้

การป้องกันการขาดวิตามินเอ

เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอมากที่สุด และเมื่อเกิดแล้วมักรุนแรงถึงขั้นตาบอด องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้มีการป้องกันการขาดวิตามินเอในท้องถิ่นที่มีปัญหานี้ โดยให้มีการป้อนวิตามินเอในขนาดที่สูงกว่าความต้องการของร่างกาย เช่น ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑ ปี ให้กินวิตามินเอในขนาด ๑ แสน ไอ.ยู. (I.U. = international unit) ถ้าอายุมากกว่า ๑ ปี ให้กินขนาด ๒ แสน ไอ.ยู. เพียงครั้งเดียว ระดับที่ให้นี้สามารถป้องกันการขาดวิตามินเออยู่นาน ๓-๖ เดือน สิ่งที่กล่าวมาแล้วเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ปัญหาระยะยาวต้องทำควบคู่ไปด้วย เช่น ส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัว ให้ได้อาหารที่ให้แคโรตีนที่ดี และต้องนำเอาอาหารเหล่านั้นมากินในชีวิตประจำวันด้วย
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป