สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 9
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๙ / เรื่องที่ ๖ โรคมะเร็ง / การรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง
มะเร็งรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
จากรายงานของสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งของอเมริกาได้เคยรายงานไว้ว่า
ในปัจจุบันนี้มีประชากรชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากกว่า ๕ ล้านคน
ซึ่งเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
และได้รับการรักษาให้หายเรียบร้อยดีแล้ว เป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี
และทุกรายที่รอดชีวิตนี้ เป็นผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มทั้งสิ้น
ผู้ป่วยมะเร็งที่มีชีวิตรอดหลังการรักษาเกินกว่า ๕ ปี ถือว่า "หาย"
การกำหนดระยะเวลา ๕ ปี
เพราะว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะกำเริบ หรือกลับเป็นใหม่อีกภายในระยะเวลา ๕
ปี หลังรักษา สำหรับในประเทศไทย จากรายงานของสถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช
พบว่า
ผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มได้รับการรักษาจนหายขาด และยังมีชีวิต
และปฏิบัติการงานได้อย่างสมบูรณ์เหมือนบุคคลทั่วๆ
ไปเป็นจำนวนมากมายหลังการรักษา ๑๐-๒๐ ปี
และต่อมาอาจจะเสียชีวิต จากสาเหตุ หรือโรคอื่นที่มิใช่จากโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด
ผลของการรักษาให้หายขาดยังอยู่ในอัตราน้อยมาก
ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคมะเร็งมักจะมาพบแพทย์
และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้วเสมอ
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง
การเชื่อถือโชคลางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณบางอย่าง
ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
และปัญหาที่สำคัญอีกประการก็คือ ปัญหาในด้านฐานะของครอบครัวผู้ป่วยเอง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้า และโรคอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว
ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และมักจะเสียชีวิตเสมอ
ความมุ่งหมายของการรักษาโรคมะเร็ง
ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แพทย์มีจุดมุ่งหมายของการรักษา ๒ ประการ คือ
ก.
การรักษาเพื่อมุ่งหวังให้โรคหายขาด
การรักษาจะอยู่ในวงจำกัดที่โรคมะเร็งยังอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มเป็นเท่านั้น
วิธีการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษาก็ตาม
จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอาศัยเครื่องมือ
และเทคนิคของการรักษาอย่างละเอียด และแม่นยำ
ข.
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราว
สำหรับผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว (ซึ่งสำหรับผู้ป่วยชาวไทย
แพทย์จะให้การรักษาแบบนี้มากกว่าร้อยละ ๙๐)
การรักษามิได้มุ่งหวัง ที่จะทำให้โรคหายขาด
แต่เพื่อทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นชั่วคราว หรือทุเลาจากอาการต่างๆ เท่านั้น
ซึ่งอาจจะยืดอายุผู้ป่วยออกไปอีกเล็กน้อย เช่น
ในรายที่มีเลือดออกจากแผลมะเร็งมากๆ
หรือในรายที่มีก้อนมะเร็งไปกด หรืออุดช่องทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจ
ในรายที่มีอาการปวดอย่างมาก
หรือเพื่อลดอัตราการโตของก้อนมะเร็ง ให้ช้าลงชั่วคราว
การรักษาแบบนี้มีหลายวิธี แต่ควรยึดหลัก ของการรักษาโดยใช้วิธีการ
เครื่องมือที่ง่ายและสะดวกที่สุด และใช้เวลาสั้นที่สุด
ทั้งนี้เพื่อมิให้สิ้นเปลือง และเกิดผลแทรกซ้อนจากการรักษา
วิธีการรักษาโรคมะเร็ง
ในปัจจุบันมีใช้กันอยู่ ๖ วิธี คือ
๑. การผ่าตัด
เป็นวิธีการรักษาที่ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาดในกรณีที่โรคยังเป็นน้อย
และเพื่อเป็นการบรรเทาอาการชั่วคราว ในกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว
มีรายงานทางการแพทย์ที่กล่าวถึงประวัติของการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีผ่าตัดมาตั้งแต่
๕ ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล
ในปัจจุบันนี้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งจะต้องชำนาญ
และฝึกฝนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ
และจะต้องรู้ประวัติธรรมชาติของโรคมะเร็งเป็นอย่างดี
วิธีการผ่าตัด อาจจะตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกเท่านั้น
หรือเลาะเอาต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อที่ดีบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย
นอกจากจะผ่าตัดโดยใช้มีดผ่าธรรมดาแล้วในปัจจุบันยังได้มีวิวัฒนาการ
โดยการผ่าตัดด้วยมีดไฟฟ้า การผ่าตัดโดยใช้ความเย็น ระหว่าง -๒๐ ถึง - ๑๕๐
องศาเซสเซียส
การผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาจี้ให้ผิวหนังไหม้ในการรักษามะเร็งผิวหนัง
และการใช้แสงเลเซอร์แทนมีดผ่าตัด
การผ่าตัดเหล่านี้ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ง่ายขึ้น
เสียเลือดน้อยลง และใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลงด้วย
การผ่าตัดนอกจากจะมีบทบาทในด้านการรักษาแล้ว ยังมีบทบาทในด้านการวินิจฉัย
โดยเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ในด้านการผ่าตัด
เพื่อบริหารยาเข้าทางหลอดเลือดเฉพาะที่ และในด้านการผ่าตัด
เพื่อแก้ไขความพิการภายหลังการรักษาด้วย
๒. รังสีรักษา
เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาด
และเพื่อการบรรเทาอาการชั่วคราว
ผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐
ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดมักจะได้รับการรักษาด้วยรังสี
เพราะอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว
และการรักษาด้วยรังสี เพื่อบรรเทาอาการ จะสะดวกสบายมากกว่า
การผ่าตัดในประเทศไทยมีประวัติของการใช้รังสีเอกซ์รักษาโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๗๘
รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมี ๒ กลุ่มใหญ่ คือ
๒.๑
รังสีโฟตอน
ซึ่งมีพลังงานทะลุทะลวงระหว่า ๑.๒๔ กิโลโวลต์ ถึง ๑๒.๔ เมกะโวลต์
มีขนาดของคลื่นรังสีระหว่าง ๑๐-๐.๐๐๑ อังสตรอม อาทิเช่น รังสีเอกซ์
จากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ รังสีแกมมาจากสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ
ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น จากแร่เรเดียม (226 radium)
หรือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เช่น โคบอลต์ ๖๐ (60 cobalt) ซีเซียม ๑๓๗
(137 Cs) ไอโอดีน ๑๓๑ (131 I) ทอง ๑๙๘ (198 Au) ฯลฯ
๒.๒
รังสีอนุภาค
ส่วนใหญ่ได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี หรือจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู
และโดยทั่วไปแล้ว รังสีพวกนี้จะมีพลังงานทะลุทะลวงน้อยกว่ารังสีโฟตอน
อาทิเช่น อนุภาคแอลฟา จากแร่เรเดียม ก๊าซเรดอน และอนุภาคเบตา
จากแร่สตรอนเตียม ๙๐ (strontium-90) ฟอสฟอรัส ๓๒ (phosphorus-32) |
เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ เอ |
รังสีต่างๆ
ที่กล่าวมานี้ นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
โดยมีเทคนิคใหญ่ๆ ๒ แบบ คือ
ในรูปของตันกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกายของผู้ป่วย
ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการฉายรังสีลึก เช่น จากเครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดลึก
(ซึ่งแตกต่างไปจากเครื่องเอกซเรย์สำหรับการถ่าย เพื่อการวินิจฉัยโรค)
เครื่องโคบอลต์ ๖๐
ซึ่งมีการติดตั้งการใช้รักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒
และเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น
และอีกแบบหนึ่ง อยู่ในรูป ของต้นกำเนิดรังสี อยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย
ได้แก่ การฝังแร่เรเดียมในการรักษามะเร็งในช่องปาก
การสอดใส่แร่เรเดียมในการรักษามะเร็งปากมดลูก หรือการใช้ไอโอดีน ๑๓๑
รับประทานในการรักษามะเร็งต่อมไธรอยด์ เป็นต้น |
๓.
การใช้สารเคมีบำบัด
การรักษาในรูปของการใช้ยารักษามะเร็งกำลังเป็นที่สนใจ และมีบทบาทสำคัญ
ในปัจจุบันนี้ มีมะเร็งหลายชนิด ที่อาจรักษาให้หายขาดด้วยยา
แต่ส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมากแล้ว เพื่อเป็นการรักษา
เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
ชนิดของยา อาจจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไม่ใช่ฮอร์โมน และฮอร์โมน
หรือจะแบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ของยา ทางจลนศาสตร์ของเซลล์ได้เป็น ๒ ประเภท
คือ
ก. ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้ทุกระยะในวงชีพของเซลล์ โดยไม่จำกัดเวลา อาทิเช่น
ยาประเภทไนโตรเจน มัสตาร์ด เป็นต้น
ข. ออกฤทธิ์จำกัดได้เฉพาะระยะใดระยะหนึ่ง ในวงชีพของเซลล์เท่านั้น เช่น
ยาประเภทอัลคาลอยด์จากพืชบางอย่าง ออกฤทธิ์ได้เฉพาะเซลล์ที่กำลังอยู่ในระยะแบ่งตัว
หรือยาเมโธรเทรกเสตจะออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์ที่กำลังมีการสร้าง ดีเอ็นเอ
เท่านั้น
การใช้ยารักษามะเร็ง อาจจะแบ่งได้ตามวิธีใช้ คือ
ก. การใช้ยาเฉพาะที่ เช่น
ในรูปของการใช้ทา การฉีดเข้าไขสันหลัง
ข. การใช้ยาให้ซึมซาบทั่วร่างกาย
เช่น ในรูปของการใช้รับประทาน การใช้ฉีดยาเข้าหลอดเลือด
หรืออาจจะแบ่งตามรูปแนวการรักษา คือ
ก. ใช้เป็นการรักษาหลัก คือ
ใช้ยา (ชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้) รักษาเพียงวิธีเดียว
อาทิเช่นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
ข.
ใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เพื่อหวังผลการรักษามากขึ้น
เช่น การให้ยารักษามะเร็ง ภายหลังการผ่าตัด
เพื่อหวังในการป้องกันการแพร่กระจาย
| ยารักษามะเร็งในรูปของยารับประทานหรือยาฉีด |
การใช้ยา อาจจะใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้
สำหรับในประเทศไทย การรักษาโดยวิธีนี้ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะยาพวกนี้
ส่วนใหญ่มีราคาแพงมาก บางชนิดก็ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย และมีพิษรุนแรง
และมีผลแทรกซ้อน จากการรักษามาก โดยเฉพาะการกดไขกระดูก
จึงมักจะใช้โดยแพทย์ที่ชำนาญทางยารักษามะเร็งโดยเฉพาะ
การเก็บไขกระดูกในอุณหภูมิต่ำกว่าลบจุดน้ำแข็ง เพื่อเก็บไว้ถ่ายให้ผู้ป่วยภาย หลังจากที่ได้รับยารักษามะเร็ง | |
๔. การใช้การรักษาทั้ง
๓ วิธีกล่าวมาแล้วร่วมกัน
ในปัจจุบันนี้การรักษาโรคมะเร็ง
ได้ก้าวผ่านการรักษาตามอาการ และการรักษา เพื่อบรรเทาเข้ามาสู่การรักษา
เพื่อมุ่งหวังให้โรคหายขาดมากขึ้น
แต่เดิมการรักษามักจะกระทำโดยแพทย์เฉพาะทางฝ่ายเดียว
เมื่อการรักษาล้มเหลวจากวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็นอีกวิธีหนึ่ง
ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ในปัจจุบันนี้ จึงนิยมใช้วิธีการรักษาหลายๆ
วิธีร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น
หรือสะดวกขึ้นอาทิเช่น
การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด
โดยการผ่าตัดเอามะเร็งปฐมภูมิออก
และฉายรังสีไปที่มะเร็งทุติยภูมิ ที่ต่อมน้ำเหลือง
การผ่าตัดร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งปอด
การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา และสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของไตในเด็ก
รังสีรักษาร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของอวัยวะต่างๆ
ที่อยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว เป็นต้น |
๕.
การรักษาโดยการเสริมภูมิคุ้มกัน
เป็นวิธีการรักษาที่เพิ่งจะสนใจ
และเริ่มใช้กันในวงการแพทย์เมื่อไม่นานมานี้
และนับวันจะยิ่งมีบทบาทมีความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยอาศัยหลักที่ว่า
ผู้ที่เป็นมะเร็งนั้น เนื่องจากว่าร่างกายไม่สามารถที่จะค้นพบว่า
ที่ผิวของผนังด้านนอกของเซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่า ทีเอเอ อยู่
หรือในกรณีที่ร่างกายสามารถจะค้นพบแอนติเจนนี้ได้
แต่ร่างกายไม่สามารถจะสร้างภูมิคุ้มกัน
หรือแอนติบอดีไปต่อต้าน หรือทำลายแอนติเจนนี้
จะเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายล้มเหลว
หรือมีอะไรไปยับยั้งในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฉะนั้น
การกระตุ้นให้ร่างกายสามารถจะค้นหาแอนติเจนจากเซลล์มะเร็งได้
หรือการกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
จะโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม
ก็น่าที่จะให้มะเร็งที่กำลังเป็นผู้อยู่ในบุคคลผู้นั้นมีการฝ่อตัวลง
หรือหยุดการเจริญเติบโต หรือโตช้าลง |
การทำวัคซีนมะเร็ง สำหรับฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง |
๖. การรักษาทางด้านจิตวิทยา
มีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมาก
เพราะว่า เพียงแต่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งเท่านั้น
ผู้ป่วยก็จะหมดกำลังใจเสียแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยส่วนใหญ่
ก่อนจะมารับการรักษาที่ถูกต้องนั้น มักจะหมดแล้ว ทั้งกำลังกาย กำลังใจ
และกำลังทรัพย์ และโดยเฉพาะในระยะสุดท้ายของโรค
นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการไม่สบาย เจ็บปวดทางกายแล้ว
ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกอ้างว้าง รู้สึกว่า ถูกทอดทิ้ง
หรือเป็นที่รังเกียจแม้แต่กับญาติสนิท
ฉะนั้นการให้การรักษาในด้านจิตวิทยา และการกระทำใดๆ ก็ตาม
ที่ทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจสบายขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีกเล็กน้อย โดยมีความสุขใจพอสมควร
แม้ว่าจะเป็นความสุข ความพอใจเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ตาม
ผลของการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม
จะดีหรือเลวนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเพียงฝ่ายเดียว
หากแต่ยังขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเอง ชนิดของมะเร็ง และที่สำคัญที่สุดคือ
ระยะของโรค
การรักษาโดยอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคมะเร็งโดยเฉพาะ
และการมีเครื่องมือในการรักษาพร้อม
เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาได้ผลดี
แต่จะดีขึ้นถ้าหากว่า ผู้ป่วยได้สนใจต่อตนเอง
หรือมารับการรักษา ในขณะที่โรคยังเป็นน้อย
และให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดีด้วย |
|