ชนิดของสารเคมีในร่างกายที่ใช้ในการวินิจฉัย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 9
เล่มที่ ๙
เรื่องที่ ๑ เรื่องของยา
เรื่องที่ ๒ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
เรื่องที่ ๓ วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์
เรื่องที่ ๔ การทำแท้ง
เรื่องที่ ๕ การสาธารณสุข
เรื่องที่ ๖ โรคมะเร็ง
เรื่องที่ ๗ รังสีวิทยา
เรื่องที่ ๘ ฟันและเหงือกของเรา
เรื่องที่ ๙ เวชศาสตร์ชันสูตร
เรื่องที่ ๑๐ เวชศาสตร์ฟื้นฟู
เรื่องที่ ๑๑ นิติเวชศาสตร์
เรื่องที่ ๑๒ โภชนาการ
เรื่องที่ ๑๓ ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๙ / เรื่องที่ ๙ เวชศาสตร์ ชันสูตร / ชนิดของสารเคมีในร่างกายที่ใช้ในการวินิจฉัย

 ชนิดของสารเคมีในร่างกายที่ใช้ในการวินิจฉัย
ชนิดของสารเคมีในร่างกายที่ใช้ในการวินิจฉัย

เนื่องจากภายในร่างกายประกอบขึ้นด้วยสารเคมีมากมายหลายร้อยหลายพันชนิด สารเคมีบางชนิดก็เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สารเคมีบางชนิดก็เป็นส่วนที่ควบคุมการดำเนินไปของชีวิต สารเคมีบางชนิดก็เป็นของเสียที่ต้องกำจัดออกภายนอกร่างกาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง สารเคมีเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ มีลักษณะแบบสมดุล จึงทำให้ภายในร่างกายมีระดับของสารเคมีเหล่านี้ อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปกติ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุให้การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีเสียสมดุลไป ก็จะทำให้มีปริมาณของสารเคมีในร่างกายบางชนิด มีปริมาณผิดปกติไป ซึ่งอาจมากขึ้น หรือน้อยลงก็ได้ เมื่อสารเคมีในร่างกายผิดปกติไป การทำงานของร่างกายก็ได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วย ดังนั้นความผิดปกติของร่างกายด้วยโรคต่างๆ หลายชนิด จึงสามารถวินิจฉัยได้ โดยอาศัยปริมาณของสารเคมี ที่ปรากฏอยู่ในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เรามักวิเคราะห์สารเคมีจากตัวอย่างของร่างกายที่เป็นของเหลว ซึ่งนำออกมาจากร่างกายได้ง่าย เช่น เลือด เซรุ่ม พลาสมา ปัสสาวะ เป็นต้น

สารเคมีที่นิยมใช้เป็นดัชนีในการวินิจฉัยโรค อาจ จัดเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

๑. การทดสอบสารคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต เป็นสารในกลุ่มของแป้งและน้ำตาล ที่พบได้ในอาหาร เมื่อคนเรารับประทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาลแล้ว ร่างกายจะทำหน้าที่ย่อยอาหารพวกนี้ ให้ผลสุดท้ายของการย่อยส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางลำไส้เล็ก ส่วนดูโอดีนัม (duodenum) น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดจะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญให้ได้พลังงานในการดำรงชีวิต ดังนั้นระดับน้ำตาลกลูโคสจึงเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของการดำรงชีวิต ร่างกายคนเรา จึงจำเป็นจะต้องรักษาระดับความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ซึ่งการควบคุมนี้อาศัยฮอร์โมน ๕ ชนิด ฮอร์โมนที่มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงคือ อินซูลิน (insulin) ฮอร์โมนที่มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น คือ ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต (growth hormone) กลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) ดังนั้น เมื่อร่างกายมีความผิดปกติในระบบของฮอร์โมนเหล่านี้ ก็อาจมีผล ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเปลี่ยนแปลงผิดปกติไปด้วย เช่น การขาดอินซูลินในโรคเบาหวาน (diabetes mellitus) จะมีภาวะของน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง (hyperglycemia)

การทดสอบคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญ คือ การตรวจหาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพื่อผลการวินิจฉัยผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมักนิยมใช้เลือดจากผู้ป่วยที่งดอาหารมาแล้ว คือ หลังอาหารเย็นแล้ว ให้งดอาหาร และเครื่องดื่มทุกชนิด จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จึงเจาะเลือด เพื่อหาระดับน้ำตาลกลูโคส โดยทั่วไปถือว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่า ๑๒๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิเมตร เป็นข้อบ่งชี้ว่า เป็นเบาหวาน

๒. การทดสอบสารโปรตีน

โปรตีนในเซรุ่ม ส่วนมากสร้างขึ้นจากตับ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างตามชนิดของโปรตีนนั้นๆ เนื่องจากโปรตีนในเซรุ่มมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีหน้าที่เฉพาะ ดังนั้นการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีน เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติ จึงมีขอบเขตค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในเซรุ่มแล้วพบว่า สูงขึ้น อาจมีสาเหตุมาจาก

๑. การขาดน้ำ จะมีโปรตีนสูงขึ้นทุกส่วน
๒. มีโปรตีนที่ผิดปกติ (paraproteinemia)
๓. โรคเรื้อรังบางชนิด จะมีโปรตีนส่วนที่เรียกว่า โกลบูลิน สูงขึ้น เช่น ซาร์คอยโดซิส (sarcoidosis) โรคตับแข็งบางราย ลูปัสอีรีทรีมาโตซัส (systemiclupus erythrematosus) โรคอักเสบเรื้อรังบางโรค

และถ้าพบว่า มีโปรตีนต่ำกว่าปกติ อาจมีสาเหตุจาก

๑. การที่ได้รับน้ำเข้าไปมากเกินไป (overhydration)
๒. โรคไตชนิดเนโฟรติก (nephrotic syndrome)
๓. ภาวะการขาดโปรตีน และโรคตับบางชนิด

๓.การทดสอบสารไลปิด

การทดสอบสารไลปิดที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ การวิเคราะห์หาปริมาณคอเลสเทอเรล และไตรกลีเซอไรด์

คอเลสเทอรอล เป็นสารไลปิดที่มีในอาหารจากสัตว์ เช่น ไข่แดง ฯลฯ คอเลสเทอรอลในร่างกายส่วนใหญ่ ถูกสังเคราะห์โดยตับประมาณวันละ ๑ กรัม จากการศึกษาอย่างละเอียด และเป็นที่เชื่อถือกันโดยทั่วไปแล้วว่า ภาวะที่มีคอเลสเทอรอสูงในเลือด (hypercholesterolemia) มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดโรคหัวใจบางชนิด ดังนั้นระดับคอเลสเทอรอลในเลือด จึงใช้เป็นดัชนีของโรคเหล่านี้ได้
การตรวจหาคอเลสเทอรอล
การตรวจหาคอเลสเทอรอล
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นสารพวกไลปิดอีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นดัชนีในการวินิจฉัยโรคได้ดี เช่นเดียวกับคอเลสเทอรอล อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์หาปริมาตรทั้งคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ด้วยกัน จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าการใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

๔. การทดสอบสมรถภาพของไต

การทดสอบสมรรถภาพการทำงานของไตนั้น ทำได้โดยการวัดอัตรา การกรองผ่านโกลเมอรูลัส ซึ่งวัดได้โดยการตรวจวิเคราะห์สารเคมีบางชนิดในพลาสมา และในปัสสาวะ สารที่จะทำการวิเคราะห์จึงต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑. ถูกกรองจากพลาสมาผ่านโกลเมอรูลัสได้ง่าย
๒. ต้องไม่ถูกดูดกลับหรือไม่ถูกขับออกมาในปัสสาวะโดยหลอดไตฝอย
๓. ความเข้มข้นของสารนั้นในพลาสมาจะคงที่ในขณะเก็บปัสสาวะ
๔. การวัดหาปริมาณสารนั้น ทั้งในพลาสมาและในปัสสาวะทำไม่ยากนัก

สารเคมีที่ใช้ในการทดสอบสมรรถภาพของไตที่นิยมวิเคราะห์ คือ การกำจัดสารครีอะตินีน (creatinine) การหาปริมาณไนโตรเจนของยูเรียในเลือด (blood ureanitrogen) และการหาปริมาณกรดยูริกในพลาสมา

๕. การทดสอบสมรรถภาพของตับ

การทดสอบสมรรถภาพของตับนั้น มีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะต่อไปนี้ คือ

๑. เพื่อพิสูจน์ว่ามีโรคของตับหรือไม่
๒. แยกชนิดของอาการตัวเหลือง (ไข้ดีซ่าน)
๓. ใช้ติดตามอาการของโรคว่าดีขึ้นหรือไม่

ในปัจจุบัน วิธีการทดสอบสมรรถภาพของตับมีอยู่มากมายหลายวิธี ตั้งแต่วิธีง่ายๆ จนถึงวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน การทดสอบวิธีเหล่านี้ เราอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้ คือ

๑. การทดสอบสารบิลิรูบิน (bilirubin)
๒. การทดสอบเกี่ยวกับการขับถ่ายของตับ ได้แก่ บรอมซัลฟารีน (bromsulphalene; BSP)
๓. การทดสอบหน้าที่ของเซลล์ตับ มี

ก) อัตราส่วนของปริมาณอัลบูมิน (albumin) และโกลบูลิน (globuin) ในพลาสมา
ข) อิเลิกโทรโฟรีซีสของเซรุ่ม

๔. การทดสอบที่แสดงความเสียหายของเซลล์ตับ มี

ก) อะมิโนทรานส์เฟอเรส (aminotransferase คือ serum glutamate oxaloacetate transminase, SGOT และ serum glutamate pyruvate transaminase, SGPT)
ข) ไอโซซิเตรตดีไฮโดรจีเนส (lactate dehydrogenase)
ค) แล็กเตตดีไฮโดตจีเนส (lactate dehydrogenase)

๕. การทดสอบที่แสดงถึงระบบน้ำดี

ก) อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (alkaline phosphatase)
ข) ๕-นิวคลีโอทิเดส (5-nucleotidase)

๖. การทดสอบทางเอนไซม์

เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอินทรียสาร มีความจำเป็นต่อการดำเนินปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกาย เราจะพบเอนไซม์อยู่ในเนื้อเยื่อทั่วไป แต่ในเนื้อเยื่อบางชนิดอาจมีเอนไซม์บางชนิดมากเป็นพิเศษ เช่น อะไมเลส (amylase) พบในตับอ่อน และต่อมน้ำลายเท่านั้น เอนไซม์กลูตาเมตออกซาโลอะซีเตตทรานส์อะมิเนส (glutamate oxaloacetate transaminase) และแล็กเตตดีไฮโดรจีเนส พบในตับและกล้ามเนื้อหัวใจมาก เป็นต้น ดังนั้น เอนไซม์ชนิดต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคในอวัยวะบางส่วนของร่างกายได้

เอนไซม์ที่ทำการวิเคราะห์กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้มี

๑. อัลฟาอะไมเลส (alpha-amylase)
๒. ไลเปส (lipase)
๓. กลูตาเมตออกซาโลอะซีเตตทรานส์อะมิเนส
๔. กลูตาเมตไพรูเวตทรานส์อะมิเนส (glutamate pyruvate transaminase)
๕. อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส
๖. แอซิดฟอสฟาเตส (acid phosphatase)
๗. แล็กเตตดีไฮโดรจีเนส
๘. ครีอะตีนไคเนส (creatine kinase)
๙. แกมมากลูตามีลทรานส์เฟอเรส (gammaglutamyl transferase)
๑๐. เซรูโลพลาสมิน (ceruloplasmin)

๗. การทดสอบสมดุลของน้ำ โซเดียมโพแทสเซียม และคลอไรด์
๘. การทดสอบดุลกรด-ด่าง และก๊าซในเลือด

การทดสอบใน ๒ ข้อนี้จะไม่กล่าวถึงเนื่องจาก มีหัวข้อนี้โดยเฉพาะแล้วในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม ๔

๙. การทดสอบสารอนินทรีย์ในร่างกาย

สารอนินทรีย์ในร่างกาย ที่ทำการวิเคราะห์ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของร่างกายที่ใช้กันมาก คือ

๑. แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีมากชนิดหนึ่งในร่างกายของคนเรา โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระดูกมากที่สุด คือ แคลเซียมร้อยละ ๙๙ ของร่างกายเราอยู่ในสภาพของกระดูก นอกจากนี้แคลเซียมส่วนที่เหลือ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ การซึมผ่านของเยื่อบุเซลล์ และการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด

๒. ฟอสเฟตอนินทรีย์ (inorganic phosphate)

๓. แมกนีเซียม (magnesium)

๑๐. การทดสอบปริมาณฮอร์โมน

ฮอร์โมนที่ทำการทดสอบบ่อยครั้ง เพื่อการวินิจฉัยโรคบางชนิด มี

๑. ไธรอกซินแสดงถึงการทำงานของต่อมไธรอยด์
๒. ๑๗-ไฮดรอกซีคอร์ติโคสเตอรอยด์ (17-hydroxycorticoster oids) ในปัสสาวะ
๓. ๑๗-ออกโซสเตอรอยด์ (17-oxosteroids) ในปัสสาวะ

๑๑. การทดสอบอื่นๆ

ที่ทำการทดสอบกันบ้างมี

๑. วิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก
๒. การวิเคราะห์น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
๓. การวิเคราะห์ระดับยา พาราเซตามอล (paracetamol) ในเซรุ่ม
หัวข้อก่อนหน้า