มูลนิธิ
ผู้บริหาร
คณะทำงาน
หลักการเขียนเรื่อง
แนวการใช้หนังสือ
กิจกรรม
รูปกิจกรรม
 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
หลักการเขียนเขียนเรื่องในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปรับปรุงเมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ โดยคณะกรรมการฝ่ายภาษา


เนื้อหาของเรื่องที่เขียน ควรมีลักษณะดังนี้

๑. ส่งเสริมให้ผู้อ่านมีความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่อง หรือสิ่งที่เกี่ยวกับวิทยาการสาขาต่างๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์

๒. ให้ทราบว่า ในหัวข้อเรื่องที่เขียนนั้น ประเทศไทยมีเรื่องหรือสิ่งต่างๆ อะไรบ้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น มีประวัติความเป็นมา และ/หรือความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนมีการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มแรก จนกระทั่งปัจจุบันนี้ อย่างไร

๓. ให้ผู้อ่านมีความรู้และเข้าใจว่า เรื่องและสิ่งต่างๆ ในข้อ ๒ เป็นรากฐานแห่งความเจริญ ความก้าวหน้า และความมั่นคงทางวัฒนธรรม ระบอบการปกครอง การเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ ของประเทศไทย

๔. ให้ผู้อ่านมีความรู้และเข้าใจว่า เรื่องและสิ่งต่างๆ ดังกล่าวในข้อ ๒ และ ๓ มีความสัมพันธ์มีความหมาย และประโยชน์อย่างสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ตลอดจนประชาชนคนไทยทั้งชาติในปัจจุบันและอนาคต

๕. ให้ผู้อ่านตระหนักว่า เรื่องและสิ่งต่างๆ (ซึ่งเป็นเนื้อหาและรูปภาพประกอบ) ดังกล่าวในข้อ ๑ ถึง ๔ เป็นมรดก และสมบัติของประเทศชาติ ซึ่งตนและคนไทยทุกคนควรรู้สึกภูมิใจ มีความรัก รู้จักรักษา และช่วยกันสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้ยิ่งขึ้น

หมายเหตุ

๑. เนื้อหาของหัวข้อเรื่องต่างๆ และภาพประกอบ ต้องพยายามให้มีลักษณะตามข้อ ๑ ถึง ๕ โดยเน้นความเป็นไทยให้มากที่สุด

๒. เนื้อหา ภาษาเขียน และวิธีการเสนอเนื้อเรื่องแต่ละส่วน (คือ ส่วนเด็กเล็ก ส่วนเด็กกลาง และส่วนเด็กโต) ต้องมีความยากง่าย และเหมาะสมกับความสนใจ และพื้นความรู้ของผู้อ่านแต่ละระดับ โดยเฉพาะส่วนที่สามนั้น ไม่ควรให้ยากหรือสูงเกินไป จนกระทั่งผู้อ่านธรรมดาสามัญอ่านไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง (โปรดอ่านพระราชดำรัสข้อ ๒, ๔, ๙ และ ๑๔ และความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและความสนใจของเด็กวัยรุ่น)

การวางรูปเรื่องและวิธีดำเนินเรื่อง

๑. หัวข้อเรื่องใหญ่
ไม่ต้องวงเล็บคำภาษาอังกฤษ

๒. แบ่งเรื่องเป็น 3 ส่วน และให้มีความยาวไม่เกินจำนวนหน้าที่ระบุไว้
ส่วนเด็กเล็ก ความยาวประมาณ ๑ - ๑ ๑/๒ หน้าพิมพ์ดีด ไม่รวมรูป (๓๐๐ - ๖๐๐ คำ)
ส่วนเด็กกลาง ความยาวประมาณ ๑ ๑/๒ - ๔ หน้าพิมพ์ดีด ไม่รวมรูป (๕๐๐ - ๑,๐๐๐ คำ)
ส่วนเด็กโต ความยาวประมาณ ๑๒ - ๑๕ หน้าพิมพ์ดีด ไม่รวมรูป (พิมพ์ดีดคือ ตัวธรรมดา หนึ่งหน้าจุประมาณ ๘๐๐๐ คำ)

การเขียนส่วนเด็กเล็กและเด็กกลาง ต้องพิจารณาต้นฉบับของส่วนเด็กโตเป็นหลัก และเขียนให้มีลักษณะดังนี้คือ

ส่วนเด็กเล็ก เป็นการแนะนำให้รู้จักความหมาย หรือให้นิยามเบื้องต้นของเรื่อง อาจเขียนด้วยวิธีนำเข้า (Introduction) โดยเริ่มจากสิ่งที่พบใกล้ตัว ใช้คำง่ายๆ ประโยคสั้น ย่อหน้าไม่ยาว ยกตัวอย่างให้มาก ให้มีภาพประกอบส่วนเด็กเล็กเป็นภาพนำเรื่อง และหรือภาพประกอบ ไม่เกิน ๓ แผ่นภาพ
ส่วนเด็กกลาง ดำเนินเรื่องของส่วนนี้ให้จบในตัวเอง โดยมีลักษณะดังนี้คือ
ก. เป็นความเรียงที่สมบูรณ์ กล่าวถึงเนื้อเรื่องในส่วนที่เด็กในส่วนนี้พอรู้เรื่อง
ข. อาจใช้เป็นบทนำ (Inrtoduction) ของเรื่องในส่วนเด็กโต กรณีที่เด็กโตไม่มีบทนำโดยชัดเจน
ค. เนื้อเรื่องที่จะดำเนินต่อไป ควรมีเนื้อความและสาระเพียงพอ ในลักษณะที่เป็นข้อสรุปของส่วนเด็กโต อย่างน้อยก็มีเค้าโครงเรื่องของส่วนเด็กโตวางไว้ให้เห็นว่า ส่วนเด็กโตเป็นส่วนขยายของเด็กกลาง ไม่ใช่ส่วนต่อทีเดียว ภาพประกอบควรมีตามความเหมาะสมของเนื้อเรื่อง
ส่วนเด็กโต เป็นส่วนสำหรับเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตนักศึกษาปีแรกๆ และผุ้ใหญ่ที่มีพื้นความรู้ไม่สูงนัก การเขียนควรจะดำเนินเรื่องให้จบในตัวเอง ศัพท์บางคำก็ควรให้นิยามและความหมายให้ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื้อเรื่องต้องไม่เป็นวิชาการชั้นสูง หรือยากจนกระทั่งคนอ่านโดยทั่วไปๆ ไม่สามารถจะเข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์กับตัวเอ งได้ ภาพประกอบควรมีตามความเหมาะสมของเนื้อเรื่อง

๓. การแบ่งตอนในเนื้อเรื่อง
ส่วนเด็กเล็ก ไม่มีหัวข้อตอนในเนื้อความ เขียนเป็นความเรียง
ส่วนเด็กกลาง ไม่มีหัวข้อตอนในเนื้อความ เขียนเป็นความเรียง
ส่วนเด็กโต มีหัวข้อตอน โดยไม่มีวงเล็บคำภาษาอังกฤษ ส่วนในเนื้อความจะมีคำภาษาอังกฤษได้ โดยวงเล็บไว้ครั้งเดียวในเนื้อความครั้งแรก การวางหัวข้อย่อยไม่ใช้ตัวเลข
วิธีเขียนต้นฉบับ

๑. หัวข้อตอน ชื่อคน คำเฉพาะ ฯลฯ ที่ต้องการให้พิมพ์ตัวอักษรพิเศษ เช่น ตัวหนัก ตัวดำ ให้ขีดเส้นใต้มา หัวข้อตามควรขีดสองเส้น นอกนั้นควรขีดเส้นเดียว เพื่อให้ฝ่ายพิมพ์สามารถจัดขนาดตัวอักษรได้ต่างกัน เพราะการพิมพ์ในเล่ม ไม่มีการขีดเน้นใต้

๒. ชื่อคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่เขียนสะกดมาเป็นคำไทย โดยใช้ระเบียบการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน ถ้าเป็นชื่อชาวต่างประเทศ ให้ใช้ชื่อเต็มในครั้งแรก และใส่วงเล็บภาษาอังกฤษ พร้อม ค.ศ. ที่เกิด-ตายเชื้อชาติ นักเคมีหรือนักฟิสิกส์ หรือนักวิทยาศาสตร์ เช่น เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton ค.ศ. ... ชาวอังกฤษ, นักฟิสิกส์ ) ถ้าเป็นคนไทยใช้ พ.ศ.

๓. การเขียนควรใช้ภาษาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา

๔. คำเทคนิค ถ้าแปลได้ และคำแปลนั้นสื่อความหมายได้ ก็ให้ใช้คำแปล มิฉนั้นต้องใช้ทับศัพท์ แล้ววงเล็บคำภาษาอังกฤษ (ใช้ตัวนำใหญ่หรือตัวเล็ก ตามแต่ลักษณะของคำ) ทั้งนี้ใหวงเล็บคำภาษาอังกฤษเฉพาะการกล่างถึงครั้งแรกครั้งเดียว

๕. การระบุเวลาในประวัติ ใช้เดือนและพุทธศักราช (พ.ศ.) หรือ ศริสต์ศักราช (ค.ศ.) เท่านั้น ในกรณีที่ใช้ศตวรรษ จะต้องใส่พุทธศตวรรษ หรือศริสต์ศตวรรษ ถ้าจำเป็นจึงจะระบุวันที่

๖. เมื่อต้องการขยายความ ถ้าสั้นใช้วงเล็บ ถ้ายาวใส่ตัวเลขกำกับ แล้วทำเชิงอรรถ (footnote) อธิบาย ถ้าไม่จำเป็น พยายามไม่ใช้

๗. การใช้ตัวเลข ให้ใช้เลขไทยทั้งหมด ยกเว้นในสูตร สมการ สัญลักษณ์สากล

๘. การอ้างอิงเรื่องในสารานุกรม ถ้าอิงเรื่องให้อิงเมื่อจบเรื่อง ถ้าอิงความโดยใส่ไว้ในวงเล็บหลังข้อความนั้น ในวงเล็บเขียนว่า (ดูเรื่อง ... ชื่อเรื่องใหญ่ เล่ม ...)

๙. คำอธิบายใต้ภาพ ให้เขียนชื่อภาพ และ/หรือคำอธิบายภาพไว้ใต้ภาพ หรือทำรายละเอียดคำอธิบาย แนบมาพร้อมภาพประกอบ และใช้วิธีจัดรูปเข้าหน้าให้ใกล้ข้อความที่อ้างถึงในเนื้อเรื่อง ไม่ต้องระบุว่า ให้ดูภาพนั้นภาพนี้ การจัดคำอธิบายภาพเพื่อการพิมพ์ ให้ใช้คำระบุตำแหน่งของภาพ เช่น บน กลาง ล่าง ซ้าย ล่างซ้าย ล่างขวา เป็นต้น

การจัดภาพประกอบมากับเนื้อเรื่อง

๑. ให้ระบุว่าเป็นภาพประกอบเนื้อเรื่องหน้าใดของต้นฉบับ ถ้ามีชื่อภาพหรือคำอธิบายใต้ภาพ (caption) ให้เขียนไว้ใต้ภาพด้วย

๒. เนื่องจากคำอธิบายในภาพจะใช้ตัวเรียงทั้งหมด ฉะนั้นให้เขียนอธิบายภาพมาในกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง

๓. ในกรณีที่จำเป็นต้องระบุชื่อส่วนย่อยของภาพ (label) ขอให้ผู้เขียนและช่างเขียน เขียนเส้นฉลากชื่อ หรือคำอธิบายเป็นเส้นหมึกดำ ด้วยตัวบรรจง เส้นฉลากชื่อ ไม่ต้องใช้ตัวลูกศรชี้ วางเส้นให้กระจายไม่ยุ่งยาก ไม่คร่อม หรือสับสนกับรูป ความสั้นความยาวให้เหมาะกับการวางตำแหน่งชื่อและคำอธิบาย

๔. คำอธิบายภาพควรเป็นภาษาไทยเท่านั้น ไม่ต้องวงเล็บคำภาษาอังกฤษ

๕. ควรใช้ภาพให้เป็นไทยๆ ไม่ควรมีบุคคลต่างชาติปรากฏอยู่ในรูปโดยไม่จำเป็น ควรเป็นรูปที่เหมือนจริงทางวิทยาศาสตร์ มิใช่ศิลป์

๖. ไม่ควรนำภาพจากแหล่งอื่นมาใช้โดยตรง ถ้าจำเป็นก็ควรขอมา แล้วอ้างถึงที่มาท้ายเล่ม ขอมาจากที่ไหน

๗. ภาพส่วนใหญ่ควรเป็นภาพถ่าย ถ้าไม่สามารถจัดหาภาพถ่ายที่สื่อความหมายหรือให้รายละเอียดที่ต้องการได้ ก็ใช้ภาพเขียน

๘. ภาพในเล่มเดียวกันควรมีลวดลาย (pattern) แบบเดียวกัน

๙. ภาพประกอบเรื่องที่ผู้เขียนเรื่องต้องการ แต่ไม่สามารถจัดหาด้วยตนเองได้ ขอให้ระบุไว้ตามข้อ ๑ ว่าเป็นภาพเกี่ยวกับอะไร จะเป็นภาพเขียนหรือภาพถ่าย เพื่อทางสำนักงานโครงการสารานุกรมฯ จะได้ติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับการเขียนหรือถ่ายภาพนั้นๆ กับผู้เขียนต่อไป