เล่มที่ 35
โรคข้ออักเสบ รูมาทอยด์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สาเหตุและอาการของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

            โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ข้อ เยื่อบุข้อ และเส้นเอ็นใกล้บริเวณข้อของผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบ เจ็บปวด เคลื่อนไหวได้ลำบาก จนกระทั่งไม่อาจเคลื่อนไหวหรือรับน้ำหนัก และอาจถึงกับพิการได้ในที่สุด

            อาการข้ออักเสบจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับข้อต่างๆ ของร่างกาย แต่พบบ่อยที่บริเวณข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อเข่า และข้อเท้า โดยเยื่อบุข้อจะอักเสบ และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เยื่อบุข้อหนาขึ้น ขณะเดียวกันมีของเหลวและเลือดมาเลี้ยงที่ข้อเพิ่มขึ้น จนเกิดอาการปวดบวมและข้อขัด รวมไปถึงการหลั่งสารออกมาทำลาย กัดกร่อนกระดูกบริเวณข้อ หรือแม้แต่กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นรอบๆ ข้อ

            โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีอายุมากกว่า ๑๖ ปีขึ้นไป ถึงแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคนี้ คืออะไร แต่เชื่อกันว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ตั้งแต่พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม และเชื้อโรค เช่น ถ้ามีบิดามารดาที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ บุตรมีโอกาสเป็นโรคนี้ ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง ๑๐ เท่า และพบโรคนี้ในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายหลายเท่าตัว หรือพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีสารที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการแพ้ภูมิตนเอง จนนำไปสู่การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ รวมไปถึงเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่พบว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อได้

            ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์จะมีอาการ ระดับของความรุนแรง หรือระยะเวลาของการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป ในแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้ว ในระยะแรกของการเกิดโรค มักจะมีอาการอักเสบเฉพาะบางข้อเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปหลายสัปดาห์ แต่อาจมีผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ที่มีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นทั้งร่างกาย โดยมีอาการต่อไปเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ และผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมีอาการข้ออักเสบเริ่มต้นแบบเฉียบพลัน หรือปวดกล้ามเนื้อรุนแรง คล้ายขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้น

            โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์นอกจากจะทำให้ข้อต่างๆ ของผู้ป่วยอักเสบ บวมแดง และฝืดแข็ง ยังอาจรุนแรง จนทำให้โครงสร้างของข้อพิการได้ เช่น ข้อนิ้วมืองอพับผิดรูป  หรือไม่สามารถกระดกนิ้วมือได้ ข้อเท้าบวมมีนิ้วเท้ากระดกขึ้น ข้อเข่าอ่อนแรงไม่สามารถเหยียดเข่าตรง ข้อสะโพกอักเสบเรื้อรังจนหัวกระดูกสะโพกดันเบ้ากระดูก ข้อกระดูกคอฝืดแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก หรือปวดร้าวถึงท้ายทอย  กระดูกอ่อนตามผิวข้อต่างๆ อาจถูกทำลายหายไป จนเอกซเรย์เห็นเป็นช่องว่างระหว่างข้อ

            นอกจากเกิดอาการอักเสบตามข้อต่างๆ รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อลีบ ตัวร้อน และน้ำหนักตัวลดแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ยังอาจมีอาการอักเสบนอกข้อเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ เช่น มีปุ่มรูมาทอยด์ ซึ่งเป็นปุ่มก้อนขนาดเล็ก เกิดขึ้นที่ผิวหนังตรงตำแหน่งกดทับต่างๆ หลอดเลือดที่ผิวหนังมีอาการอักเสบ ตาแห้ง หรือเยื่อตาขาวอักเสบ ข้อต่อกล่องเสียงอักเสบจนทำให้เจ็บคอเวลากลืนอาหาร และเสียงแหบ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ เนื่องจาก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมากกว่าปกติ มือทั้งสองข้างมีอาการชา และอ่อนแรง เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ เกิดอาการซีดหรือมีภาวะโลหิตจาง ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ตับและม้ามโต และเม็ดเลือดขาวต่ำได้


อาการอักเสบของข้อต่อกล่องเสียง ทำให้เจ็บหน้าอก เจ็บคอ เสียงแหบ ซึ่งเป็นอาการอักเสบนอกข้อของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่พบได้บ่อย

การวินิจฉัยและการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

            ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ควรได้รับการวินิจฉัยโรคและระดับความรุนแรงของโรคโดยเร็ว  เนื่องจาก หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการเสียหายของข้อที่อักเสบได้ โดยแพทย์จะตรวจร่างกายหาอาการอักเสบ ของข้อต่างๆ รวมทั้งปุ่มรูมาทอยด์ สารรูมาทอยด์แฟกเตอร์ในเลือด การเอกซเรย์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของกระดูก ประวัติของญาติในครอบครัว และการเป็นเพศหญิง ซึ่งการรักษาที่ช้าไปหรือไม่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อถูกทำลายเสียหาย จนผู้ป่วยพิการได้

            เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรค แพทย์อาจเลือกการรักษาด้วยยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดข้อทรมาน  หรือให้ยาต้านรูมาทิซึมที่ช่วยชะลอการดำเนินโรคเพื่อให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ หรืออาจใช้ยาชีวภาพลดปริมาณสารคัดหลั่ง ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ ให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ รวมถึงการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในกรณีที่เป็นโรคข้ออักเสบ ในระดับรุนแรง แม้ว่าอาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาวได้

            นอกจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์แล้ว แพทย์ยังอาจเลือกใช้วิธีการรักษาที่ไม่ใช้ยาควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่การให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้ป่วยว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์คืออะไร มีพัฒนาการของโรคเป็นเช่นใด ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาอย่างไรบ้าง และผู้ป่วยควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อทะนุถนอมข้อของตนเอง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ที่จะไม่ให้ข้อรับแรงกดมากเกินไป การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของข้อ ตลอดจนการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย

            ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เรื้อรัง จนเยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรังและโครงสร้างของข้อเสียหาย มีอาการปวดจนทนไม่ได้ ข้อฝืด หรือมีมุมของการเคลื่อนไหวข้อที่ลดลงแล้ว แพทย์อาจต้องตัดสินใจผ่าตัด เพื่อลดการกดเบียดเส้นประสาท หรือเปลี่ยนข้อและโครงสร้างต่างๆ รอบข้อ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งความสำเร็จในการผ่าตัดนี้ นอกจากขึ้นอยู่กับความสามารถของแพทย์และสภาพร่างกายผู้ป่วยแล้ว การทำกายภาพบำบัด เพื่อบริหาร และฟื้นฟูข้อ ยังมีความสำคัญอย่างมาก ต่อผลสำเร็จของการรักษาอีกด้วย