เล่มที่ 35
โรคสะเก็ดเงิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            โรคสะเก็ดเงินในอดีตเรียกว่า โรคเรื้อนกวาง ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า โรคเรื้อนกวาง หรือขี้เรื้อนกวางว่า เป็นโรคผิวหนังที่ "มีลักษณะเป็นผื่นคัน ทำให้ผิวหนังหนา หยาบ และอาจแตกมีน้ำเหลืองไหล หรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้า หัวเข่า หรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง" คำอธิบายของโรคเรื้อนกวางดังกล่าวนี้ เป็นหัวข้อหนึ่งอยู่ในคำว่า โรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำลายผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย และเป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อจากการสัมผัส ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะติดโรคนี้ ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างโรคสะเก็ดเงินกับโรคเรื้อน ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผื่นผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินยังคงรับความรู้สึกได้เป็นปกติ แตกต่างจากผู้ที่เป็นโรคเรื้อน ซึ่งจะมีอาการชาที่ผื่นบนผิวหนัง สาเหตุที่เรียกโรคนี้ว่า "โรคสะเก็ดเงิน" เพราะผื่นที่เกิดจากโรคนี้ จะมีลักษณะเป็นปื้นแดงหนา หรือตุ่มสีแดงมีขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นผิวหนังอักเสบจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายสีเงินปกคลุมอยู่ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุนิตย์  เจิมสิริวัฒน์  สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้ชื่อโรคนี้ อาการที่สำคัญคือ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้ลอกหลุดออกจากผิวหนัง จะเห็นเป็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็นก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคว่าอยู่ในขั้นใด

ธรรมชาติของโรคสะเก็ดเงิน

            โรคสะเก็ดเงินจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กระทบผู้ป่วยและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย โอกาสที่โรคกำเริบก็จะมีสูงขึ้น ผู้ป่วยบางรายเป็นโรคอย่างรวดเร็วแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ ผื่นผิวหนังอาจหายไปได้เอง เมื่อปัจจัยกระตุ้นหมดไปหรือเมื่อได้รับยารักษา บันทึกทางการแพทย์พบว่า โรคสะเก็ดเงินหายได้เองถึงร้อยละ ๒๙ หรืออาการอาจสงบนานเป็นปี ผู้ป่วยบางรายมีผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ ตามปัจจัยกระตุ้นที่มากระทบ บางรายมีผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานาน ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ ความผิดปกติที่เล็บ กล้ามเนื้อ เอ็นและข้ออักเสบ ผู้ป่วยน้อยรายอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อนเป็นเวลานาน แล้วจึงเกิดผื่นผิวหนังอักเสบตามมาในภายหลัง หรืออาจมีอาการข้ออักเสบหรือเล็บผิดปกติเกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบก็ได้

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน 

            ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ปัจจัยด้านพันธุกรรมนั้น ปัจจุบันสามารถตรวจพบยีนที่มีแนวโน้มทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้มากกว่า ๙ ยีน ดังนั้น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคสะเก็ดเงิน บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้สูงร้อยละ ๖๕ ถึงร้อยละ ๘๓ หากบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือร้อยละ ๒๘ ถึงร้อยละ ๕๐ แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เคยเป็นโรคนี้ บุตรมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปอีก เหลือเพียงร้อยละ ๔ และถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่เป็นโรค บุตรคนถัดไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคสูงถึงร้อยละ ๒๔ อย่างไรก็ตาม การเกิดอาการของโรค ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ แต่ถ้าไม่มีปัจจัยกระตุ้นหรือปัจจัยเสริมมากระทบ  ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตให้ได้ว่า ปัจจัยแวดล้อมใด ทำให้โรคของตนเองกำเริบ และควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ นั้น ทั้งนี้พึงเข้าใจว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้ทั้งภายในและภายนอกร่างกายแม้แต่จิตใจ จะสลับสับเปลี่ยนกันมากระตุ้นให้โรคกำเริบได้