พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคล สามารถสร้าง ประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และบ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาส ที่จะศึกษาหาความรู้ได้ ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถ โดยทั่วกัน
ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความ ต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่า เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาด แคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วย คลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมี พระราชดำรัสให้ตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่ อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่างๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชน ให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ ช่วยตัวเองได้ จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่อง เป็นสามตอน หรือสามระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจ ระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดา สามารถใช้หนังสือนั้น เป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชา แก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึง เรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่า วิชาการแต่ละสาขา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง ถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสารานุกรมไทยที่คนไทยทำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้หาความรู้ขั้นพื้นฐาน ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่าง ๆ เป็น ๓ ระดับด้วยกัน คือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจ ระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง การเขียนบทความแต่ละเรื่อง จึงได้เขียนขึ้นให้ได้ลักษณะที่เหมาะสม สำหรับเยาวชนแต่ละรุ่น และพิมพ์ไว้โดยใช้อักษร ขนาดต่าง ๆ กัน แต่ละเรื่องเริ่มด้วยเรื่องสำหรับเด็กรุ่นเล็กก่อน ถัดไปสำหรับเด็กรุ่นกลาง แล้วจึงเป็นเรื่องสำหรับระดับรุ่นใหญ่
๒. โครงการฯ เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาจัดทำ สารานุกรมไทยฯ เล่มที่ ๑ ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อพระราชทานให้แก่ โรงเรียน และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป ส่วนจำนวนที่เหลือได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทุนในการจัดทำหนังสือเล่มต่อไป
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ได้ผลิตหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ออกมาแล้ว เป็นจำนวน ๔๑ เล่ม หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับเทิดพระเกียรติ "ธรรมิกราชาธิคุณ" และขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๐) กำลังจัดทำหนังสือ สารานุกรมไทย ฉบับผู้สูงวัย (ฉบับพิเศษ)
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒
พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อให้ทราบพระราชประสงค์ ดั้งเดิม และสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดทำสารานุกรม (คัดมาเฉพาะตอนและข้อความสำคัญเรียงเป็นข้อๆ)
๑. รู้สึกว่าจุดประสงค์ของการทำสารานุกรมนี้ ทุกคนคงยังไม่ทราบโดยแท้จริง ถ้ายังไม่ทราบแท้จริง ก็จะทำงาน ไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จุดประสงค์ของการทำสารานุกรมสำหรับเด็กนี้ มีเหตุผลว่า ในปัจจุบัน นี้เด็กไม่มีที่เรียนพอ แล้วก็จะไม่มีวันที่จะมีที่เรียนพอ
๒. ถ้าเราในฐานะผู้มีความรู้คือ อาจารย์ทั้งหลายหวังดี ทำสารานุกรมนี้สำเร็จแล้ว ก็จะได้แพร่หลายออกไป จะเป็นครูอยู่ในตัว และถ้าเป็นครูอย่างนี้ ถ้าเราทำได้ดีก็จะเป็นครูสำหรับเด็กตั้งแต่อายุน้อยถึงอายุมาก แม้แต่ ผู้ใหญ่ที่ต้องการทราบความรู้ ต้องการมีความรู้ในสาขาต่างๆ ก็สามารถที่จะหาความรู้นี้ ตามปกติควรที่จะให้ บิดามารดาเป็นผู้อบรมบุตรธิดา แต่ว่าบิดามารดาเองก็อาจไม่มีความรู้พอ ถ้าอาศัยสารานุกรมได้ ก็จะทำได้ ง่ายขึ้น พี่ก็สอนน้องได้ แต่ปัญหาว่ายังไม่มีสารานุกรมอย่างนี้ในเมืองไทย แล้วก็ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งพวกเด็กๆ ที่เป็นอันธพาล มีมากที่ไม่ใช่เป็นพวกที่จน เขาอ้างว่า มีคนจนมากนั้น ไม่ใช่ คนรวยๆ ลูกคนรวยๆ เป็นอันธพาลแยะ เพราะว่าไม่มีการอบรม ถ้าในบ้านผู้ที่มีเงินพอควร ก็จะซื้อสารานุกรมนี้ได้ ถ้าคนที่ไม่มีเงิน สารานุกรมนี้ก็นำ ไปแจกจ่ายตามโรงเรียนทั่วราชอาณาจักร แล้วยิ่งมีความหวังในทางการเงิน เพราะว่าสมาคมไลออนส์เขามีการ เริ่มหาเงินเพื่อการนี้ เราจึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการหาทุนนัก เพราะว่าเชื่อว่าจะมีทุนพอ แม้จะราคาแพงก็จะมีพอ
๓. ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้สารานุกรมนี้เป็นหลัก เป็นครูได้ เป็นผู้ช่วยบิดามารดา ให้บิดามารดาสามารถ เป็นครู ให้รุ่นพี่เป็นครู สามารถสอนรุ่นน้อง วิธีการเหตุผลอันแรกก็คือ สารานุกรมนี้จะต้องเป็นตำราที่แสดง ให้เห็นว่า วิชาทุกสาขา ทั้งทางสังคมศาสตร์ และทางวิทยาศาสตร์ ทั้งทางอื่นๆ ด้วย ที่เป็นศาสตร์ทั้งนั้นสัมพันธ์ กันหมด จึงได้ตั้งนโยบายเอาไว้ว่า แบ่งเป็นสาขาต่างๆ เป็นส่วนๆ ด้านวิทยาศาสตร์ก็แบ่งเป็นส่วนๆ ด้านสังคม ด้านประวัติศาสตร์ ด้านศิลปะแบ่งเป็นส่วนต่างๆ แต่ว่าให้รู้ว่า ส่วนต่างๆ เหล่านี้มันสัมพันธ์กัน ถ้าในแขนงใด หรือหัวข้อใด ที่จะต้องอาศัยหัวข้ออื่น แทนที่จะเขียนซ้ำในหัวข้อนั้น ก็บอกว่า ให้ไปดูหัวข้ออื่นตามลำดับที่ที่จะบอกให้ดูหน้านั้นๆ หรือข้อนั้นๆ
๔. วิธีวางเรื่อง ให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน
ส่วนแรก ต้องพิมพ์เป็นตัวโตสำหรับให้เด็กอ่านได้
อันที่สอง เป็นหัวข้อขยายสำหรับเด็กอายุมากขึ้นหน่อย อายุสิบสองถึงสิบสี่
ข้อที่สาม ก็เป็นเรื่องจริงๆ สอนเด็กโต อายุเกินสิบห้าขึ้นไป มีคำพูดที่ยากพอใช้ แล้วก็อธิบายถึงที่เป็นประโยชน์ ต่อเด็กสิบห้าขึ้นไป จนกระทั่งผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ ที่แม้แต่จะเข้ามหาวิทยาลัย หรือถึงขั้นพ่อแม่ที่ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้า มหาวิทยาลัย จะได้สอนลูกต่อไป
๕. สารานุกรมที่ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ การเขียนนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องสัมพันธ์กันว่า ในเรื่องนี้ ควรจะไปดูในหัวข้อนั้นๆ อันนี้สำคัญที่สุด เป็นจุดประสงค์ เป็นนโยบายอย่างหนึ่ง ที่จะให้เวลาไปเปิดในข้อไหน แล้วมีว่า ข้อนี้ให้ชวยคิดไป อย่างอื่น ให้ชวนคิดไปในข้อนั้นๆ ถ้าอยากทราบเพิ่มเติม ก็ไปดูในสาขาอื่น อาจจะไปแขนงอื่น หรือก็อาจอยู่ใกล้เคียงกัน
๖. สารานุกรมนี้ที่จะทำนี้ไม่เหมือนกัน บุคออฟโนวเลดจ์ที่เคยยกตัวอย่าง ไม่เหมือนซิลเดรนส์เอนไซโครปิเดีย แต่เคยบอกให้ นี่ความคิดใหม่อาศัยหลักสองหลักนี้ว่า เด็กตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ จนถึงอายุ ๖๐ ขวบ อ่านได้มีประโยชน์ ได้ ตามความสามารถ นี่แหละหลักหนึ่ง/เป็นขั้นสามขั้น แล้วก็อีกหลักหนึ่ง/ให้ทราบว่า หลักวิชาต่างๆ เป็นทาง ไหนก็ตาม ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือในด้านศิลปะ มันโยงกันหมด ชีวิตของเราต้องโยงกันหมด ทั้งในด้านกฎหมาย ก็มีเศรษฐกิจก็มี อะไรพวกนี้โยงกันหมด ถ้าโยงกันหมดแล้ว ฉันเชื่อว่า สารานุกรมนี้อาจจะช่วยชาติให้รอดพ้นได้
๗. ล่าช้าไม่ว่า เพราะรู้ดีว่า แม้จะให้เวลาอีกหกเดือน (จากเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๒) เพราะว่า จะต้องปรับปรุง ที่เขียนไว้ แล้วก็ต้องปรับปรุงอีก แล้วก็จะต้องให้คนอื่นดู อย่างของแต่ละคน ต้องให้อีกคนหนึ่ง ที่รู้พอควรใน หลักวิชานั้น ดูในสายตาของเขาแล้วก็ติ ถ้าติแล้วอย่าโกรธ อย่างฉันพูดนี่ ผู้เขียนจะไม่โกรธ
๘. ส่วนรูปที่จะประกอบก็เป็นรูปเขียนบ้าง รูปถ่ายบ้างก็เห็นด้วย จะต้องพยายามเลือกที่เหมาะสมจำนวนพอควร ขนาดก็มีใหญ่บ้าง เล็กบ้างได้ ไม่ใช่จะมาเรียงแถวเป็นทหาร ส่วนมากหนังสือที่ทำ ชอบที่จะใส่เป็นเรื่องแถว ทหารให้ขนาดเท่ากันหมด ไม่ต้องใส่เป็นที่เห็นต่างๆ ได้ขนาดเล็กขนาดใหญ่ทั้งนั้น รูปสีบ้างรูปเขียนบ้าง นี่ไม่ขัดข้อง
๙. ภาษาก็ต้องตรวจ ช่วยกันตรวจ ไม่ใช่เสร็จแล้วก็ส่งไปให้พวกภาษาตรวจ บางทีก็ไม่รู้ภาษาเทคนิคบางอย่าง ก็ไม่กล้าที่จะแก้บ้าง เดี๋ยวจะทำให้โยนกันไปโยนกันมาเสียเวลา แต่ว่า ก็พยายามที่จะให้ใส่ภาษาให้เข้าใจ โดยเฉพาะ ภาษาเด็ก ต้องนึกถึงว่า ตัวเองนี่เข้าใจ และมีความรู้แก่เด็กอายุ ๑๒ ปี ก็ไม่ได้ประสบอะไรมากมาย คำใหม่ๆ ก็ใส่ เข้าไปได้ แต่ว่า ต้องอธิบายคำใหม่ๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ คำใหม่ๆ ที่เข้าไปก็ควรมีอธิบาย
๑๐. เรื่องที่จะเป็นเล่ม การพิมพ์ก็จะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง ไม่ต้องรีบร้อน ถ้าทำเสร็จช้าไปปีกว่า (คือช้าไปจากปี ๒๕๑๒ อีกปีกว่า) ก็ยังดี ขอให้ทำให้ดี
๑๑. แบ่งเป็นสองเล่ม สามเล่ม สี่เล่ม กี่เล่มเท่าที่จะขนาดจะสวยงามอย่างเหมาะสมกับการใช้ ถ้าเรากะบอกว่าสอง เล่ม หนาเท่านั้น เดี๋ยวเกิดอาจารย์โน้นขอเพิ่มนี่หน่อยก็ผิดส่วน เดี๋ยวสองเล่มไม่เท่ากันเกิดปัญหายุ่งขึ้น ก็จะไม่สวยจะไม่ดี
๑๒. ในการเขียนสมมติว่า คนหนึ่งมีในสาขาที่ตนได้รับมอบหมายจะไปพาดพิงในสาขาอื่นๆ จงขอพบท่านผู้นั้นที่ เกี่ยวข้อง ให้ประชุมกันเป็นครั้งคราว และเห็นว่า ที่ครั้งนี้จะเขียนอย่างนี้ ทางโน้นเขาจะเขียนในด้านประวัติศาสตร์นะ ก็ตกลงกันได้ แล้วก็จะได้โยนกัน แล้วก็ประชุมใหญ่ทุกสาขาพร้อมกัน ก็นานๆ ที ก็ต้องมีจะได้ปรับความเข้าใจ ประสานงานกัน
๑๓. งานสารานุกรมนี่เป็นงานยาก แต่ถ้าสำเร็จแล้วจะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวง
๑๔. สารานุกรมนี้เป็นสารานุกรมในทางที่ประสาทความรู้แก่ทุกคน รวมวิชา ทำให้เกิดความก้าวหน้า เป็นสารานุกรม สำหรับทุกอายุอเนกประสงค์
๑๕. สารานุกรมนี้จะต้องเสียเงินแยะ ค่าพิมพ์จะแพงเป็นส่วนๆ แต่หาได้ ไลออนส์หาไม่ได้ ฉันหาได้ ถ้าต้องไปขูดรีดก็ ยอมขูดรีด ได้แน่ ๑๐๐% ไม่อยากขอฝรั่งด้วย เป็นสารานุกรมไทย ความคิดไทย
พระราชดำรัส
พระราชทานในงานวันโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ
ณ โรงแรมไฮแอท เซ็นทรัลพลาซ่า
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๖
วันนี้เป็นรายการของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน แต่ก็มาเลี้ยงแบบฝรั่ง จึงไม่ทราบว่าที่จะให้พูดนี้ จะให้ พูดแบบฝรั่งหรือแบบไทย แต่ต้องขอเข้าใจว่าจะเป็นค่อนข้างแบบฝรั่ง เพราะอาหารก็ฝรั่ง ก็ขอให้ได้นั่งลงไปที่เดิม เพราะว่าจะได้สะดวกกว่า ทำตามธรรมเนียมของฝรั่ง
ที่บอกว่าสับสน เพราะว่าถ้าเป็นแบบของฝรั่ง เวลามีการเลี้ยงเช่นนี้ จะต้องมีสุนทรพจน์คือว่า โดยมากคนมานั่งกินเลี้ยง ก็เพื่อประสงค์อะไรอย่างหนึ่ง โดยมากก็ประสงค์ที่จะมาฟังสุนทรพจน์ ซึ่งเขาทำกันแพร่หลายในต่างประเทศ แต่คราวนี้สำหรับในงานเลี้ยงของโครงการ ก็ได้แจ้งจุดประสงค์ คือ อาจารย์สำเภาได้แจ้งจุดประสงค์ในข้อสี่ว่ามา สำหรับอันนี้แปลนะ แปลความของอาจารย์สำเภาว่า มาสำหรับมาปลาบปลื้มในโครงการว่า ดำเนินมาถึง ๑๕ ปี และ ได้มีผลดี คือ ดูผลงานว่า เราได้ทำมาถึง ๑๕ ปีแล้ว และมีผลงานที่ได้ออกไปนับเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชน และผู้ที่ ไม่ใช่เยาวชนด้วย ได้มีความรู้ ได้รับสิ่งที่ตัวไม่รู้หลายอย่าง บางทีก็นึกว่ารู้แล้ว ไปเปิดสารานุกรมก็ได้ความรู้เพิ่มเติม ฉะนั้น จุดประสงค์ของการจัดงานนี้ ก็มีที่จะมาปลาบปลื้มว่า งานดี งานมีประโยชน์ และข้อที่สอง ที่จัดงานนี้ ก็เพื่อที่ จะมารับ หรือรับรู้ว่า มีผู้บริจาคในการนี้ เพื่อสนับสนุนงานสร้างสารานุกรม ฉะนั้นก็สรุปว่า งานนี้มีจุดประสงค์ ๒ อย่าง แต่มานึกๆ ดู ก็มีจุดประสงค์เพิ่มขึ้นอีกบางอย่าง เพราะตามที่อาจารย์สำเภาได้รายงานว่า พอใจที่ได้มีที่ปรึกษา พิเศษ คือ สมเด็จพระเทพฯ มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ก็เลยได้ปรึกษาท่านที่ปรึกษาพิเศษของโครงการว่า ถ้าเขาขอให้มี สุนทรพจน์ควรจะพูดอะไร ท่านที่ปรึกษาก็ได้ให้คำปรึกษาว่า ควรที่จะบอกว่า โครงการนี้มีประโยชน์มาก แล้วก็มี คนชมคือ ชาวต่างประเทศก็มาชม บอกว่าโครงการนี้ไม่มีในโลก แบบนี้ ที่ทำงานกันอย่างอุตลุดแต่ว่าไม่เอาสตางค์ ถ้าเอาสตางค์อย่างที่เอาเมื่อกี้ ก็เอามาสำหรับกิจการโดยตรง ไม่มีรั่วไหล ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราควรชื่นชมมากก็คือ การที่เราทำสิ่งหนึ่งที่พิเศษ ที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก จึงสมชื่อที่ว่า เป็นโครงการสารานุกรมไทย เพราะว่าเป็นแบบไทย
การเลี้ยงวันนี้ก็ว่าได้ว่า เป็นเลี้ยงแบบไทย ที่ว่าเลี้ยงแบบไทยนี้เห็นได้ชัด เพราะว่าโดยมากเวลาเลี้ยงกันในต่างประเทศที่ไหนก็ตาม เวลามีการเลี้ยงนะ มีเสียงดังโฉ่งฉ่างๆ ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงเวลามีดนตรีก็ไม่ได้ยินดนตรี อย่างเมื่อ ตะกี้มีดนตรี ก็ฟังดนตรีได้ยิน แต่น่าฉงนนิดหน่อยว่า ตอนต้นทำไม อาจจะเพราะว่ากล่อมอย่างดีมากเกินไป ทำให้ง่วง เลยไม่มีใครรับรู้ว่ามีดนตรี เวลาขึ้นมาเป็นเพลง "สายฝน" จบแล้ว ก็เกิดตบมือขึ้นมา อันนี้ไม่ทราบว่า เพราะเพลงนั้นเพราะ หรือร้องดี หรือเสียงดัง หรืออะไร ทำให้มีการตบมือ เป็นความชื่นชมในเพลงนั้น แต่เดาเอาว่า เพราะว่าดีใจที่ฝนตก ถ้าฝนไม่ตก น้ำก็เน่า ถ้าน้ำเน่าก็ไม่ถูกสุขลักษณะ ถ้าฝนลงมา อย่างน้อยมีน้ำใหม่ มาช่วยให้บรรเทาความเดือดร้อน อันนี้ก็ตีความเอาอีก ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จึงมีการตบมือ ต่อจากนั้น เมื่อตบมือเพลงหนึ่งแล้ว ก็ต้องตบ มือต่อไป หากว่าตบมือต่อไปแล้ว เมื่ออาหารตกลงไปแล้ว ก็คงรู้สึกเกิดง่วงขึ้นมา ดนตรีเสียงดังเท่าไหร่ๆ ก็ไม่เห็นตบมือ หรือลืม หรือยังไงไม่ทราบ อาจจะสบาย หรือเพลงมันเพราะ ก็เลยทำให้หลับ เลยไม่ตบมือ คุณวิรัชก็ชักจะน้อยใจ แต่ว่าทีหลังก็มีการตบมือเป็นการชื่นชมก็คงพอใจแล้ว
ก็เป็นอันว่า วันนี้ได้เห็นสิ่งที่แปลก แปลกประหลาด คือว่า สำหรับเรา เราเข้าใจกันดี เพราะว่าเวลาเราอยู่ด้วยกัน แล้วก็ เลี้ยงกัน คนไทยโดยมากก็ไม่ถือว่าต้องมีมหรสพ เพราะว่าโดยมากก็ตัวเองเป็นมหรสพ เวลามาสังสรรค์กัน มาในงาน ทุกคนจะต้องมีบทบาท ทั้งชาวบ้านชาวนา เวลาเขาเก็บเกี่ยวแล้ว เขาก็มีการละเล่น มีการมาชุมนุมกัน คนสมัยใหม่ ตำหนิติเตียนว่าคนไทยนี่ฟุ่มเฟือย อย่างเช่น เวลาเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็มีงานมาชุมนุมกัน มาเล่นสนุกสนาน เขาว่าฟุ่มเฟือย หรือเวลาบวชนาค ก็ทำอย่างเอิกเกริก มาเลี้ยงกันใหญ่ หรือในงานอื่นๆ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงงานแต่งงาน จะกระทั่งมีลูกมีเต้า จนกระทั่งตาย ก็ต้องมีงานเอิกเกริกทุกครั้ง ซึ่งเขาบอกว่าฟุ่มเฟือย แต่แท้จริง ถ้าว่าไปก็ไม่ฟุ่มเฟือย เพราะว่า แต่ละคนที่มาในงานถ้าเป็นไทยแท้ หรือตามประเพณีแท้ ก็มาช่วยคนละไม้คนละมือ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยมาก เพราะอาหารก็นำมาแล้วการแสดงมหรสพต่างๆ ก็ทำกันเอง มิได้ต้องสิ้นเปลืองแต่ประการใด อันนี้โดยมากคนก็ไม่นึก เพราะสมัยใหม่ คนสมัยใหม่เวลามีงานก็จะต้องฟุ่มเฟือย ก็จะต้องเช่าที่ จะต้องมีการแสดงที่จะต้องเสียทรัพย์มากมาย แต่ว่าถ้าทำแบบไทย เดิมของเรา ดัดแปลงเล็กน้อย สำหรับให้เข้ากับสภาพของสมัยนี้ สิ่งของในสมัยนี้ คืออุปกรณ์อะไรต่างๆ หรือสถานการณ์ ดัดแปลงเล็กน้อย แต่ว่าทำแบบไทย ก็ไม่ใช่เรื่องว่าจะต้องแสดงว่า รักชาติหรือหวงแหนชาติ เท่านั้นเอง แต่จะต้องเห็นว่า ความเป็นอยู่ของเรา เรามีของที่ดีๆ ถ้าไปล้มเสีย ก็เป็นความน่าเสียดาย และยิ่งกว่าสิ่งที่ยิ่งกว่าน่าเสียดาย คือ จะเป็น ความหายนะของเรา เราอยู่ได้ ก็เพราะว่าเรามีความคิด และสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างที่พูดถึง งานรื่นเริง แต่ละคนก็มีส่วน แต่ละคนช่วยกัน ถ้าพูดแบบโอวาทก็เป็นว่า มีสามัคคีช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ถ้าพูดธรรมดาก็หมายความว่า คนไทยนี้รักกัน มีเมตตากัน ฉะนั้น เมื่อมาในงานนี้เป็นการฉลองโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน คำว่า "ไทย" ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
คราวนี้มาถึงเยาวชน คำว่า "เยาวชน" เยาวชนก็มีเยาวชนสองคนที่อยู่ข้างซ้ายและอยู่ข้างขวานี่ ก็เริ่มท่านที่อยู่ ข้างขวานี้ ท่านก็เคยเป็นเยาวชน แล้วก็เข้ารับราชการตามที่อาจารย์ระวีได้รายงานว่า เข้ารับราชการวันที่ ๒ เมษายน อันเป็นวันที่เยาวชนที่อยู่ข้างซ้ายได้เริ่มรับราชการเหมือนกัน คือหมายความว่า เกิดวันที่ ๒ เมษายน ก็หมายความว่า เยาวชนสองท่านนี้ มีอะไรที่เหมือนกัน ที่คล้ายคลึงกัน จึงได้มาเป็นประธานท่านหนึ่ง มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษท่านหนึ่ง ฉะนั้น วันนี้ก็เริ่มด้วยท่านเจ้าคุณศัลวิธาน ซึ่งได้มีการสดุดีมาแล้ว ซึ่งทุกคำในคำสดุดีนั้น เราควรจะฟังเอาไว้ แล้วก็ถือว่า มีความสำคัญ เพราะว่าชีวิตท่านเป็นประโยชน์มาตลอด จนถึงแม้เมื่อค่ำวันนี้ ท่านก็มาทำหน้าที่ สมุหพระราชมณเฑียร เวลา ๑๘ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาได้รับทูตานุทูตต่างประเทศมาถวายพระราชสาสน์ ก็ได้มาทำหน้า ที่เป็นสมุหพระราชมณเฑียร นำทูตเข้ามา ถามว่าท่านเหนื่อยหรือเปล่า ท่านบอกนิดหน่อย หมายความว่า ท่านตั้งใจ ทำงานอย่างดีที่สุด แม้จะเป็นผู้ที่มีอายุถึง ๙๓ ปี เป็นตัวอย่างสำหรับพวกเราทุกคน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าท่านว่า งานจะหนัก จะเบาแค่ไหน เราต้องทำด้วยความตั้งใจ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความแน่วแน่ แม้จะอายุมากบอกว่าแก่แล้ว เมื่อยหรือเหนื่อย เราก็ต้องทำ ฉะนั้น การที่ได้สดุดีท่านว่า เป็นตัวอย่าง ก็ขอให้รับเป็นตัวอย่างจริงๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก การที่ท่านอุตส่าห์ทำหน้าที่ทุกทาง ทั้งในด้านวิชาการ ทั้งในด้านพิธีการ ทั้งในด้านเป็นอาจารย์ ท่านได้ทำครบถ้วน และยังคงทำต่อไปอีก ถามท่านว่ายังทำต่อไปไม่เลิกหรืองานนี้ ท่านบอกว่าไหว ทำได้ ท่านไหวเราก็ต้องไหวเหมือนกัน ฉะนั้น สำหรับท่าน เราก็ได้สดุดีท่าน และยกย่องท่านเพื่อใคร ก็เพื่อพวกเรา ให้พวกเราสามารถที่จะทำหน้าที่งานการ ให้ดีที่สุด
คราวนี้มาถึงเยาวชนที่อยู่ข้างซ้าย มีความสำคัญ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นลูก แต่มีความสำคัญ เพราะว่าเป็นตัวตั้งตัวตี อย่างหนึ่งคนหนึ่ง ของการสร้างโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน ซึ่งในระยะนั้นเข้าใจว่า ไม่ค่อยรู้เรื่องนัก แต่ว่า เป็นคนๆ หนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดของการสร้างสารานุกรมในรูปที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ มีขั้นความรู้ในวิชาการแต่ละ วิชา ๓ ขั้น ขั้นหนึ่ง ที่เป็นตัวหนังสือตัวโตๆ เหมือนตัวโตๆ ที่บนสูจิบัตรนี้ว่า โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน คนที่สายตาไม่ค่อยดีจะได้อ่านได้ หรืออีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่กำลังเรียนการอ่าน ก็หมายความว่า เด็กๆ ที่ยังเพิ่ง เริ่มอ่าน ก็จะได้อ่านได้สะดวก ดังนั้นสำหรับในสารานุกรมก็จะได้เห็นว่า มีตัวหนังสือตัวโตๆ แล้วก็อ่านง่ายๆ สำหรับ เด็กๆ ที่เริ่มอ่านหนังสือ ก็เป็นการทำให้เด็กที่ขี้เกียจเรียน ได้เกิดมานะอดทนในการเรียน เพราะว่าเกิดเห็นอะไรๆ ที่แปลก มีรูปสวยๆ แล้วก็มีตัวหนังสือตัวโตๆ พออ่านได้ ขั้นสอง ก็ตัวหนังสือเล็กลงไปหน่อย แล้วข้อความก็อาจจะยากขึ้น นิดหน่อย ก็สำหรับเด็กที่มีความสามารถที่จะอ่านได้ดีขึ้น หรือสำหรับคนที่มีสายตาที่พอดีขึ้นหน่อย ไม่ใช่สายตาที่ดูอะไร แล้วพร่า เหมือนตัวหนังสือที่มีบนปกของสูจิบัตรที่มีคำว่า โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ขั้นที่สาม ก็มีตัวหนังสือตัวเล็กๆ และเป็นวิชการที่ละเอียด สำหรับผู้ที่มีสายตาที่ดี หรือใส่แว่นตาที่เหมาะสม บอกไม่ได้ว่าเขียนอะไร เพราะอ่านไม่ออก เพราะว่าตัวเล็กเกินไปเลยไม่อ่านว่าตรงไหน แต่หมายความว่าที่ๆ เป็นข้อความ ที่อยู่ข้างใน เป็น ๓ ขั้นอย่างนี้ ก็เป็น ๓ ขั้นอายุ สำหรับตัวโตๆ นั้น เด็กอายุถึงประมาณ ๑๐ ขวบ ๑๑ ขวบ ก็จะอ่านได้ ซึ่งในขณะนั้น เมื่อ ๑๕ ปี ลูกสาวคนเล็กก็อายุขนาด ๑๑ ขวบ สำหรับตัวหนังสือที่เป็นกลางๆ หรือตัวเล็กกว่าหน่อย วิชามากขึ้น ก็สามารถที่จะให้เด็กโตขึ้น อายุ ๑๓ - ๑๔ ได้อ่านได้ ก็คือ ลูกสาวคนรองขึ้นมา สำหรับวิชาที่สูงขึ้นไป ก็สำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้น คือ อายุ ๑๖ - ๑๗ ในขณะนั้นลูกทั้ง ๔ คน มีอายุลดหลั่นกันเป็นลำดับขนาดนั้น จึงทำให้เกิด ความคิดว่า ถ้าเราทำสำเร็จ โครงการนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับลูก อันนี้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของโครงการ เพราะว่าเริ่ม มาเมื่อ ๑๕ ปี ถ้าเสร็จภายใน ๒ ปีก็จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าลูกคนโตอ่านหนังสือ แล้วก็จะสอนลูกคนถัดมาได้ ลูกคนถัดมาก็จะสอนลูกขนาดน้องที่เล็กๆ ได้
ฉะนั้น เริ่มต้นของโครงการสารานุกรมเพื่อเยาวชนนี้ ก็ขึ้นมาจากประโยชน์ส่วนตัว หรือประสบการณ์ส่วนตัว ที่จะ ให้ลูกได้มีหนังสือที่จะเป็นประโยชน์ แต่ว่าโดยที่โครงการนี้ ทำแล้วใช้เวลานานกว่าที่คาดคิด เลยทำให้ผู้ที่ควรจะ ได้รับประโยชน์ในตัวหนังสือตัวโตๆ หรือตัวบราห์ม กลับต้องมาอ่านตัวหนังสือของตัวเล็กๆ และเป็นผู้ที่ต้องให้คำ ปรึกษากับกรรมการ ที่สร้างสารานุกรม ก็ขอรับรองว่า คงเป็นที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ เพราะว่าตะกี้ปรึกษา ก็ได้คำปรึกษาที่ดี ที่เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถที่จะพูด แล้วก็ถึงถามเขาว่า ในกำหนดการ ก็เพิ่งได้เห็นกำหนดการว่า จะต้องมีการพูดการกล่าว ก็ถามว่าควรจะมีสุนทรพจน์หรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่า ควรจะมีสุนทรพจน์ จึงกล่าว กับท่านทั้งหลายอย่างนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายผู้ที่ได้บริจาคเงินสำหรับสนับสนุนโครงการนี้ มาในงานเลี้ยงนี้ ก็จะต้อง ได้ค่าตอบแทน คือ ได้อาหารอย่างหนึ่ง แล้วก็ได้มหรสพ ได้ฟังดนตรี แล้วก็ตามแบบฝรั่ง ก็ต้องมาฟังสุนทรพจน์ ทีนี้ท่านผู้บริจาคก็ได้ไปแล้ว ทั้งอาหาร ทั้งดนตรี ทั้งสุนทรพจน์ ส่วนท่านผู้ที่เป็นนักวิชาการมาในงานนี้ ก็เพื่อมา ปลาบปลื้มในงานของตน ท่านผู้ที่เป็นนักวิชการนี้ก็น่าชมมาก เพราะว่าได้อุทิศทุ่มเทเวลาของตัว และอาจจะกำลังกายของตัวด้วย นอกจากกำลังความคิด แม้จะกำลังทรัพย์ก็ทุ่มเทเหมือนกัน ตามธรรมดาผู้ที่ทำอะไรก็หวังประโยชน์ หวังตอบแทน ท่านผู้ที่เป็นนักวิชการในโครงการนี้ ไม่มีสักคนที่หวังตอบแทน อันนี้ที่ทำให้คนที่ไม่รู้จักพวกเราฉงน นึกว่าใครละที่จะทำงานฟรีๆ ไม่มีใคร แต่ก็ปรากฎมาแล้วว่า ทำงานด้วยความเข็มแข็ง ตั้งใจ เพื่อที่จะให้ความคิด ของโครงการสารานุกรมได้บรรลุผล และไม่ใช่เท่านี้ เป็นการที่จะทำให้อนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาส มีหนังสือที่จะ ขัดเกลาจิตใจเขา เสริมสร้างวิชาการของเขา ให้เป็นคนที่มีความสามารถ มีความดี สามารถที่จะก่อตั้ง หรือรักษาสังคม รักษาความเป็นไทยของเราได้ตลอดไป
ขอเล่าถึงความรู้สึกที่มีตอนหนึ่ง เวลาไปแจกปริญญา คราวที่แล้วก็เป็นของสถาบันเทคนิคพระจอมเกล้า นั่งๆ ดู นั่งๆ แจกปริญญา คิดๆ อยู่ว่า ผู้ที่นั่งอยู่ข้างล่าง ที่ขึ้นมารับปริญญานี้ เด็กๆ กว่าเราทั้งนั้น แม้จะอาจารย์มากหลายคน ส่วนใหญ่ก็เด็กกว่าเราทั้งนั้น เราก็อายุมากขึ้น แล้วเราก็อยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ พวกที่มารับปริญญานี้ หรือผู้ที่อายุน้อยกว่าเรา ก็ต้องรับมรดก รับสิ่งที่มีอยู่ในประเทศเดี๋ยวนี้ แล้วก็รักษาไว้ และเสริมสร้างต่อไป ความจริงเราทำหน้าที่แล้ว สร้างขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของอนุชนรุ่นหลัง ที่จะรักษา แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่ได้ฝึกฝนอบรม ไม่ได้ขัดเกลา เขาจะรับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ถ้ารับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ทั้งวิชาการ ทั้งคุณธรรม ไม่มีคนอื่นที่อาจจะมีความเฉลียวฉลาดมาก ก็อาจจะมาสวมรอยเอาไปจากผู้ที่ควรจะได้รับ แล้วก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุด เพราะว่าเราได้สร้าง เราคือประชาชนในเมืองไทย ที่ได้มีอายุมากในปัจจุบัน หรือที่ล่วงลับไปแล้ว ได้สร้างขึ้นมา ให้ถ่ายทอดไปถึงอนาคตต่อไป อนุชนรุ่นหลังก็ต้อง ถ่ายทอดบ้าง ฉะนั้น โครงการสารานุกรมนี้ก็เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง สำหรับให้สามารถถ่ายทอดความรู้ นอกจากความรู้ ก็วัฒนธรรม และคุณธรรมต่างๆ ให้แก่ผุ้ที่จะมาภายหลัง ถึงว่างานนี้ดูจะเป็นงานที่แปลกที่ว่า ทำไม ๑๕ ปีแล้วยังทำต่อ แล้วที่บอกว่าเดิมจะทำ ๑๒ เล่ม เดี๋ยวนี้ก็เห็นว่า จะต้องทำมากกว่า ความจริงนั้น อาจารย์สำเภาไม่ได้บอก เดิมกะไว้ให้มี ๔ เล่มเท่านั้นเอง แต่ว่าเมื่อถึง ๔ เล่มแล้วไม่พอ ต้องมีมากขึ้นๆ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะพูดกันได้ว่า ถ้าเรา คิดจะทำก็คงไม่จำกัดจำนวนเล่ม คงจะทำไปเรื่อยถ้าไม่เบื่อ ถ้าผู้ที่สร้างสารานุกรมนี้ไม่เบื่อในงาน แต่เข้าใจว่าไม่เบื่อ เพราะแสดงมาแล้ว พิสูจน์มาแล้วว่า ยังคงมีความกระตือรือร้นมากเท่ากับตอนต้น หรือจะมากกว่าตอนต้นด้วยซ้ำ แล้วเมื่อได้มาประมวลความสำเร็จที่มีมาถึงบัดนี้ ก็คงต้องมีกำลังใจได้ว่า ต่อไป ทำต่อไป จะมีประโยชน์ยิ่งๆ ต่อไป และข้อสำคัญ เราทำแบบของเรา มิได้ทำตามแบบของที่ไหน เราอาจจะไปดูว่า ในต่างประเทศเขามีสารานุกรมสำหรับ เยาวชนแบบไหน มีมากหลายๆ ชนิด แล้วก็เราเอามาเป็นตัวอย่างได้ แต่ของเราเอาจากตัวอย่างบ้าง และมาดัดแปลงบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีแล้ว เป็นที่นิยมของเยาวชนไทย ในโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับสารานุกรมนี้ ก็เห็นว่าแย่งกันอ่าน แย่งกันดู สนใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าแย่งกันอย่างป่าเถื่อน แย่งกันอย่างดี ทะนุถนอม คล้ายรู้ว่า หนังสือนี้ ถ้าแย่งกันอย่างไม่ ทะนุถนอม ก็ฉีกขาดเสียประโยชน์ไป หมายความว่าจะบอกได้ว่า โครงการนี้ได้ผลดี ได้ผลดีขึ้นมาด้วยการร่วมมือกันทำ ท่านทั้งหลายผู้ที่เป็นวิทยากรคือเขียน และผู้ที่ขัดเกลา ผู้ที่เรียง ผู้ที่ทำธุรการ ผู้ที่สนับสนุนในทางทรัพย์ เพื่อที่ จะให้บรรลุผลได้ก็ต้องเอ่ยถึงผู้ที่พยายามหาทุน คือพวกกรรมการหาทุน ซึ่งทำงานอย่างเข็มแข็ง พยายามที่จะให้ คนเข้าใจและยินดีบริจาค ฉะนั้นก็สรุปได้ว่า งานในวันนี้ก็คงได้ผลดี เพราะว่าได้มาพบกัน แล้วก็ได้เห็นความสำคัญ ของโครงการ
ที่จริงไม่ได้ตั้งใจที่จะพูดมากมาย เพราะว่าคราวก่อนๆ นี้ในงานของสโมสรไลออนส์ เขาเชิญไปเลี้ยงครั้งแรก ก็ได้ พูดถึงโครงการสารานุกรม แล้วได้แจ้งนโยบาย ก็รู้สึกเป็นนโยบายแบบที่บอกไว้ว่า ให้พี่สอนน้อง หรือจะเป็นน้าหรือ พ่อหรือแม่สอนลูกหลาน อันนี้ก็เป็นนโยบายตั้งแต่ต้น ครั้งโน้นได้เตรียมรายการพูด ลงทุนไปหาข้อมูลต่างๆ จาก กระทรวงศึกษา ดูว่ามีเด็กนักเรียนเท่าไหร่ แล้วก็มีโรงเรียนกี่โรง ที่เรียนกี่แห่ง ครูกี่คน ครั้งโน้นลงทุนที่จะค้นคว้า อย่างมากมาย เพื่อที่จะให้ผู้ที่เป็นสมาชิกสโมสรไลออนส์ได้เชื่อ แล้วก็ช่วยสนับสนุน แต่คราวนี้ขอรับอย่างตรงๆ ว่า ไม่ได้ค้นคว้าอย่างใดเลย ไม่ได้แม้แต่เตรียมสักตัวเดียว เพราะรู้ว่าไม่ต้องมาโฆษณาแล้ว รู้ว่าท่านทั้งหลายที่มา ผู้ที่บริจาคก็ทราบว่า บริจาคเพื่ออะไร ผู้ที่ทำงานในด้านวิชาการ ในด้านประชาสัมพันธ์ ในด้านธุรการ ทุกคนรู้ดีว่า มีหน้าที่อะไร แล้วก็จุดประสงค์เป็นยังไง ฉะนั้นก็สบายมากที่ทำให้ไม่ต้องเตรียม ไม่ต้องปวดหัวในการเตรียม เวลาพูด ที่ปวดหัวที่สุดคือตอนเตรียม เตรียมพูด ซึ่งเตรียมไปเตรียมมา ขีดฆ่าไปมา ลงท้ายจากที่ทำหัวข้อห้าบรรทัดเสร็จแล้ว เขียนไปสักสามหน้ากระดาษ แล้วก็ขีดฆ่าไปขีดฆ่ามา เหลือครึ่งหน้ากระดาษ แล้วในที่สุดเขียนไปเขียนมาเหลือ ๓ บรรทัด ก็เคยเหมือนกัน ลงท้ายก็กลุ้มใจว่า จะพูด ๓ บรรทัดเดี๋ยวเดียวก็หมด ก็เลยต้องขยายขึ้นไปใหม่ แล้วในที่สุดถ้าคิดดู ก็อาจจะเป็นประมาณ ๕ หน้ากระดาษ
อันนี้ เป็นประสบการณ์ที่ได้พูดเป็นครั้งแรกต่อหน้าธารกำนัล ที่ในต่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกา เขาก็มีโต๊ะแบบนี้ ที่เรียกว่าเป็นโต๊ะที่อยู่หัว แล้วก็มีโต๊ะที่อยู่ข้างล่าง แล้วก็ใครต่อใครก็จ้องดูว่าจะพูดอะไร นั่งอยู่ คนที่อยู่ข้างซ้าย เขาบอกว่า ต้องพูดมากๆ นะ ไม่ได้ ก็เลยบอกเขาว่า เราเตรียมมาสำหรับพูดเพียงประมาณ ๕ นาที ก็บอกไม่ได้ เขาบอกว่าต้องอย่างน้อยที่สุดยี่สิบนาที อย่างนี้เราก็แย่ เพราะเขาบอกว่าท่านโน้นคนนี้ ท่านซูกาโน่นั่นนะ ท่านมาพูด ๕ ชั่วโมง เราก็ ๕ ชั่วโมงไม่ไหวแน่ แต่ว่าแม้จะพระเจ้าโบดวงแห่งเบลเยี่ยมท่านมา ท่านก็มาพูดยี่สิบนาที ก็เลยยอมรับ แต่ไม่ทราบเลยว่าจะทำยังไง เวลาลุกขึ้นมาก็เหงื่อแตกเหมือนกัน เตรียมมา ๕ นาทีนะมันก็แย่แล้ว ในการเตรียมที่ จะพูดเพียง ๕ นาทีนั่นนะ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ตอนนี้เขาบอกอย่างน้อยที่สุดต้องยี่สิบนาที ก็เลยทำอย่างนี้ เอาที่เตรียมมาอ่านสองบรรทัด แล้วจากสองบรรทัดนั่นนะก็ยืดออกไปเท่าที่จะยืดได้ ก็คงยืดได้เป็นแปดบรรทัด ทีหลังเมื่อหมดพุงแล้ว ก็อ่านอีกสองบรรทัดต่อไป ก็ยืดออกไป ทำไปทำมาอ่านไปอ่านมาถึงจบ นึกว่าแย่แล้ว นี่มันไม่มีอะไรที่จะพูดแล้ว ก็ลุกขึ้น เขาก็อัธยาศัยดี เขาก็ตบมือ เสร็จแล้วนั่งลง คงจะเป็นผู้ให้ความปลอดภัยรักษา ความปลอดภัยของอเมริกัน เขาเดินเข้ามาข้างหลังมากระซิบบอก เก่งมาก สำเร็จแล้ว ดีมาก ดีมาก คือเขาให้กำลังใจ เขาก็เหงื่อแตกเหมือนกัน เราก็เหงื่อแตก เขาก็ดี เขาก็มาบอก ดีมาก ดีมาก ใช้ได้ ยูสบาย ยูชนะแล้ว ทำให้ตั้งแต่นั้น ก็เลยสบายใจขึ้นหน่อย แต่วันนี้ที่พูดในวันนี้เรียกว่าเป็นประวัติการณ์ได้ เพราะว่าที่เตรียมไม่ถึงบรรทัด หรือจะ ว่าบรรทัดหนึ่งก็ได้ ตัวโตๆ นี่นะโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน แล้วก็ยืดมาจนถึงนี่ ไม่ทราบว่ากี่นาทีแล้ว ก็ต้องชมตัวเองว่าเก่ง
ก็ขอสรุปอย่างเดียวว่า ที่มาวันนี้ปลาบปลื้ม ปลาบปลื้มแทนตัวเอง ปลาบปลื้มแทนผู้ที่ปฏิบัติงาน ก็อย่างที่ข้อสี่ ของอาจารย์สำเภา แล้วก็ทั้งปลาบปลื้มที่มีผู้ที่บริจาคสำหรับให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งท่านเจ้าคุณศัลวิธานก็เคยมากระซิบบอกว่า ชักจะแย่ ชักจะฝึดเคือง แต่เดี๋ยวนี้ก็ต่อไปได้อีก ก็หมายความว่า จุดประสงค์สองอย่างของ อาจารย์สำเภาก็บรรลุผล แล้วก็จุดประสงค์ที่จะมาชื่มชมกับท่านเจ้าคุณตามจุดประสงค์ของอาจารย์ระวีก็ได้ผลดี จุดประสงค์ของท่านที่ปรึกษาคือ มาที่นี่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ อาหารดี บอกว่าถ้าไปที่ไหนไม่มีอาหาร รู้สึกว่า งานนั้นไม่ดี วันนี้อาหารดีก็งานนี้ดี นอกจากนั้นก็ได้ฟังดนตรีเรียกฝน หรือฝนเรียกดนตรีไม่ทราบ เพราะว่าต้อง ขออภัยที่มาช้า ก็เพราะว่าแล่นมาเป็นเต่า แล่นเร็วไม่ได้ ต้องทิ้งรถมอเตอร์ไซด์ไว้ข้างถนน เพราะว่าถ้ารถมอเตอร์ไซด์นำแล่นต่อไป น่ากลัวจะต้องเป็นอันตราย ฝนตกหนัก แต่ฝนตกนั้นก็ปลาบปลื้มที่ลงมาล้างน้ำเน่าออกไปได้ แต่ไม่ทราบ ว่าจะเอาน้ำฝนออกไปได้ยังไง คือว่า น้ำฝนนี่ ที่ลงมามาแทนน้ำเน่าได้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าน้ำฝนที่ลงมาจะระบายออกไป ก่อนที่จะเน่า นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสารานุกรม แต่ว่าถ้าพูดไปก็เกี่ยวเหมือนกัน เพราะว่าสารานุกรมนี้ มีไม่ใช่สำหรับสอนเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ แต่ว่ามีไว้สำหรับที่จะให้คนสามารถที่เผชิญกับปัญหาใดๆ ในชีวิต ตอนนี้ก็พูดเหมือนว่า เป็นการพูดเพิ่มเติม คือว่า โครงการการสอนอย่างใดก็ตาม ต้องสอนให้คนรู้จักเผชิญกับ ปัญหา ไม่ใช่สอนสำหรับให้มาตอบปัญหาตามคำถาม แต่ว่าต้องตอบปัญหาชีวิตได้ ฉะนั้น สารานุกรมนี้มุ่งที่จะให้ คนเมื่อเห็นปัญหาอะไร สามารถที่ชักเอาวิชาการทั้งหลายที่มีอยู่มาแก้ปัญหา อันนี้เป็นเพียงพูดเพราะว่าเกิดความ คิดขึ้นมาในบัดนี้ว่า ความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ในสารานุกรมสำหรับเยาวชนนี้ยังไม่ครบ กว่าจะถึงให้รู้จักโยงเอาวิชาการ ทั้งหลาย ที่มีอยู่ในสารานุกรมทุกเล่ม ให้เข้ามาเป็น อันหนึ่งอันเดียว คือว่าชีวิตนี้เราต้องมีวิชาทุกอย่างให้พร้อม ถึงจะผ่านอุปสรรคได้ อันนี้มีในคำรายงานตะกี้ว่า เหมือนว่าจะขอทราบนโยบาย ก็อันนี้แหละนโยบายซึ่งก็มีตั้งแต่ต้น แล้วเหมือนกันว่า ต้องให้ทุกคนทั้งเยาวชนทั้งคนแก่ทราบว่า วิชาทั้งหลายต้องโยงกัน และปัญหาทั้งหลายต้องใช้ วิชาทุกวิชาโยงกันมาแก้ให้สอดคล้องกัน มิฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเรียนวิชา หรืออ่านวิชาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็ท่องได้ตามตัวหนังสือ ไม่มีประโยชน์เลย ต้องสามารถคิดมาใช้ประโยชน์ แต่เมื่อมาใช้เป็นประโยชน์จะต้องโยงกับ วิชาอื่นได้หมด ครั้งนี้พูดเกินไป พูดมากเกินไป เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะมาพูดถึงว่า สารานุกรมนี้ควรจะทำอะไรต่อไป
ตอนนี้ก็ขอสรุปจริงๆ ว่า งานนี้มีผลดี สำเร็จดี ทุกคนที่มีส่วนคือ ทุกคนที่มีอยู่ในห้องนี้ ควรจะภูมิใจได้ และก็ขอขอบใจทุกคน ที่ได้ช่วยกันทำให้งานนี้มีผลสำเร็จ หมายความว่า งานเลี้ยงนี้เป็นผลสำเร็จ เพื่อแสดงว่า งานใหญ่ ของสารานุกรมนี้ ก็จะมีความสำเร็จ มีประโยชน์สำหรับเยาวชน และสำหรับคนอื่นทั่วไปทุกคน เพราะว่าความรู้ที่ มีอยู่ในนั้น ไม่ใช่เฉพาะสำหรับเยาวชน เป็นความรู้ที่ทุกคนพึงทราบ พึงรู้ และทุกคนจะอวดอ้างไม่ได้ว่ารู้หมด แต่ว่าถ้าได้ประโยชน์จากสารานุกรมนี้ ก็คงรู้ได้มากมาย ก็ขอขอบใจทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้งาน ทั้งงานเลี้ยงนี้ ทั้งงานของโครงการ สำเร็จก้าวหน้าไปด้วยดี และขอให้ทุกคนมีความสุขความสบาย แข็งแรงทั้งกายทั้งใจ เพื่อให้ ปฎิบัติหน้าที่ของแต่ละคนได้ตามจุดประสงค์