เล่มที่ 32
ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ของใช้ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาซึ่งกำหนดไว้ในพระวินัย ที่เรียกกันว่า อัฐบริขาร ประกอบด้วย ๘ สิ่ง คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) รัดประคด (ผ้าคาดเอว) บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า และหม้อกรองน้ำ แต่ยังมีของอีกสิ่งหนึ่ง ที่ไม่รวมอยู่ในอัฐบริขาร และเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับกิจนิมนต์ จะต้องนำไปด้วย เพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ก็คือ ตาลปัตร หรือพัดพระ

ตาลปัตรและอัฐบริขารของพระสงฆ์

ความหมาย ที่มา และพัฒนาการ

            ตาลปัตร มาจากคำ ๒ คำ คือ ตาล เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม มีใบใหญ่ รวมกับคำ ปัตร แปลว่า ใบ ตาลปัตรจึงมีความหมายตามคำว่า ใบตาล

            ชาวบ้านตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลในประเทศอินเดียและลังกา ใช้ใบตาลนี้มาตัดแต่งให้เป็นพัดมีด้าม ใช้พัดโบกลมและบังแดด มีหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม กล่าวว่า พระก็ใช้พัดชนิดนี้ และถือไปเวลาแสดงธรรมด้วย จึงได้เรียกว่า ตาลปัตร เมื่อชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ใช้พัดใบตาลก็คิดทำตาลปัตรถวาย เพื่อจะได้บุญกุศล โดยหาสิ่งอื่นที่จะทนทานกว่าใบตาล เช่น ไม้ไผ่สาน ผ้าไหม ผ้าแพร หุ้มเข้ากับโครงไม้ไผ่ให้แข็งแรงขึ้น ปักตกแต่งอย่างสวยงาม ถวายแก่พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ตาลปัตรที่เป็นพัดใบตาลเดิมจึงมีรูปลักษณะเปลี่ยนแปลงไป มีความสวยงามสุดแต่กำลังศรัทธาของผู้ทำถวาย พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำถวายพระด้วย ต่อมาจึงเกิดมีการถวายตาลปัตร ที่วิจิตรงดงามเป็นเครื่องประกอบ ตามสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ขึ้น เรียกว่า พัดยศ


จิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร แสดงภาพพระสงฆ์ถือตาลปัตรพัดยศ เข้าสู่พระทวารในพระบรมมหาราชวัง

วัตถุประสงค์การใช้

            กล่าวได้ว่า ตาลปัตรและพัดยศ มีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลเป็นเริ่มแรก ส่วนประเพณีปฏิบัติที่พระสงฆ์ถือตาลปัตร ในการสวดแสดงธรรม และการถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์นั้น มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีมานานแล้ว โดยไทยรับมาจากลังกา เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามายังดินแดนไทย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ หรือก่อนสมัยสุโขทัย และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงรับเอาประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตามที่พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ถือปฏิบัติเข้ามาด้วย หลักฐานที่แสดงว่าพระสงฆ์ถือตาลปัตรเวลาจะไปแสดงธรรม และใช้บังหน้า ในเวลาสวดธรรม ปรากฏให้เห็นทั้งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์และหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม รวมทั้งประติมากรรม ศิลาจารึก และจิตรกรรมฝาผนัง ตามยุคสมัยต่างๆ

            อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่า พระสงฆ์ถือตาลปัตรในเวลาแสดงธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และเหตุใด จึงต้องใช้บังหน้าในขณะสวดด้วย มีผู้รู้สันนิษฐานว่า พระสงฆ์อาจจะใช้เมื่อต้องปลงศพ เพื่อกันกลิ่นเหม็นจากศพที่เน่าเปื่อย เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลที่ห่อศพ เพื่อนำไปทำจีวร จึงใช้พัดใบตาลนี้ปิดจมูกกันกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดเป็นประเพณีของพระสงฆ์ ที่จะถือตาลปัตรไปด้วย เมื่อจะทำพิธีต่างๆ บ้างก็ว่า เนื่องจากสภาพจิตใจของผู้ที่มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระกัจจายนเถระ พระสาวกองค์สำคัญ ซึ่งมีรูปงามว่า ขณะที่ท่านแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรม มีสตรีบางคนหลงรักท่าน ด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้ก่อให้เกิดบาปขึ้น พระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้มีรูปไม่งามเสีย เราจึงเห็นพระกัจจายนเถระมีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ไม่งดงาม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวด เพราะประสงค์ให้ผู้ฟังมีสมาธิในการฟังธรรม ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือ วิมติวิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎก แสดงวัตถุประสงค์ของการที่พระสงฆ์ใช้พัดบังหน้าในเวลาสวดแสดงธรรมว่า เพื่อป้องกัน หัตถวิการ คือ การยกไม้ยกมือในเวลาพูด หรือแสดงอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกัน มุขวิการ คือ การอ้าปากกว้าง ซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่ง และป้องกันมิให้เป็น วิสภาคารมณ์ อันจะทำให้ใจฟุ้งซ่าน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าในขณะสวดนั้น ก็เพื่อให้มีความสำรวม และมีสมาธิ


พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้า เมื่อชักผ้าบังสุกุล ในการสวดพระอภิธรรมศพ

            ปัจจุบัน ตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมทั่วๆ ไปมีลักษณะคล้ายรูปไข่ เรียกว่า พัดหน้านาง ด้านบนมนและกว้างกว่าด้านล่าง ตรงกลางมีด้ามยาว ตาลปัตรเป็นของใช้จำเป็นที่พระสงฆ์ต้องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งที่เป็นงานมงคลหรืองานบุญ เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงานหรืองานเทศกาลต่างๆ โดยพระสงฆ์จะใช้ตาลปัตรมื่อจะให้ศีลและให้พร หรืออนุโมทนาแก่เจ้าภาพ และผู้มาร่วมงาน สำหรับงานอวมงคลอย่างงานศพ ในการสวดพระอภิธรรมศพ พระสงฆ์ก็จะใช้ตาลปัตรบังหน้าขณะสวดพระอภิธรรม และจะถือตาลปัตรในมือซ้าย แต่ไม่ใช้บังหน้า เมื่อชักผ้าบังสุกุลก่อนการเผาศพ

            นอกจากนี้ ยังมีตาลปัตรอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า พัดรอง ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นให้พระสงฆ์ใช้แทนพัดใบตาลที่มีลักษณะงองุ้ม ซึ่งมีรูปร่างไม่สวย พัดรองที่ทำขึ้นในชั้นแรกนั้น ใช้ผ้าเลี่ยน หรือผ้าลาย หุ้มโครงไม้ไผ่ที่เป็นกรอบลักษณะรูปไข่ ภายหลังจึงพลิกแพลงปัก และตกแต่งให้สวยงาม พัดรองนี้ในรัชกาลต่อๆ มา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสมีงานพระราชพิธีต่างๆ ทั้งงานพระราชพิธีที่เป็นมงคล และงานพระศพด้วย


พัดยศทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพัดรองงานพระราชพิธีต่างๆ ที่พระธรรมดิลก (อิ่น จนฺนสิริ) เจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้รับพระราชทาน

            ในปัจจุบัน พัดรอง หมายถึง พัดที่จัดทำขึ้นเป็นอนุสรณ์ หรือที่ระลึกในงานพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานของประชาชนทั่วไป หรืองานของทางราชการ พัดรองนี้ คนทั่วไปยังคงเรียกว่า ตาลปัตร แม้ว่าจะไม่ได้ทำด้วยใบตาลแล้ว

โอกาสการใช้พัดยศ

            การใช้พัดยศ มีประเพณีมาแต่ดั้งเดิมว่า พระราชาคณะซึ่งได้รับพระราชทานตาลปัตรพัดแฉกเป็นพัดยศ เมื่อได้รับนิมนต์ให้เข้าไปเทศน์ถวาย จะต้องนำตาลปัตรเข้าไป ๒ เล่ม คือ พัดแฉกที่ได้รับพระราชทานเล่มหนึ่ง กับพัดรองอีกเล่มหนึ่ง ขณะที่อยู่บนธรรมาสน์จะถือพัดแฉกไม่ได้ ต้องถือพัดรองแทน ต่อเมื่อกลับมายังอาสนะและถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จึงจะใช้พัดยศได้ 

            ปัจจุบันทางคณะสงฆ์ได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติการใช้พัดยศไว้ว่า พระสงฆ์จะใช้พัดยศเฉพาะงานพระราชพิธี ที่ต้องมีการถวายอนุโมทนา และถวายอดิเรกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือในงานพิธี ที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น หรือได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดขึ้น เช่น งานทอดถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน งานบำเพ็ญพระราชกุศลอื่นๆ หรืองานรัฐพิธีเท่านั้น สำหรับในงานที่ต้องมีการถวายพระธรรมเทศนาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย พระสงฆ์ผู้เป็นองค์ถวายพระธรรมเทศนา จะต้องนำทั้งพัดยศและพัดรองไปด้วย โดยในขณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์จะต้องใช้พัดรอง ต่อเมื่อจบแล้ว และจะถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จึงให้ใช้พัดยศ ดังนั้น พัดยศจะใช้เฉพาะงานพระราชพิธีที่มีการถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกเท่านั้น การสถาปนาสมณศักดิ์และลำดับสมณศักดิ์


ประเพณีดั้งเดิมของราชสำนัก และระเบียบของคณะสงฆ์ไทยได้กำหนดให้พระสงฆ์ใช้พัดยศเฉพาะการพระราชพิธีที่มีการถวายอนุโมทนา และถวายอดิเรก
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

            พระสงฆ์ที่จะได้รับพัดยศนั้น ต้องเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์และมีราชทินนาม หรือพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ และมีตำแหน่งในการดูแลปกครองสงฆ์ด้วย ทั้งนี้ ธรรมเนียมที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์ให้แก่พระสงฆ์นั้น เป็นธรรมเนียมที่ไทยรับมาจากลังกา และสืบทอดกันมาตลอดสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ถือเป็นราชประเพณี ที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งพระสงฆ์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย มีความรู้ความสามารถ ในภาษาบาลี เจริญในสมณคุณ รวมทั้งได้ทำคุณประโยชน์เป็นผลดีแก่พระศาสนาและราชอาณาจักร โดยจะทรงพิจารณาพระสงฆ์รูปนั้นๆ ตามพระราชอัธยาศัยแล้วพระราชทานสมณศักดิ์ให้ พร้อมโปรดให้มีราชทินนาม เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระญาณวโรดม ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้พระสงฆ์มีสมณศักดิ์ในบางกรณีก็เพื่อให้มีหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น ในสมัยสุโขทัย มีคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอรัญวาสี คือ คณะสงฆ์ที่อยู่ป่า และ ฝ่ายคามวาสี คือ คณะสงฆ์ที่อยู่ในเมือง โปรดให้มีสังฆราชาปกครองดูแล พระสังฆราชาฝ่ายอรัญวาสี มีพัดยศเป็นพัดงาสาน ส่วนพระสังฆราชาฝ่ายคามวาสี มีพัดยศเป็นพัดแฉก พื้นกำมะหยี่ ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จึงมีแต่ตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว ปกครองดูแลคณะสงฆ์ทุกฝ่าย

            ปัจจุบันธรรมเนียมการพระราชทานสมณศักดิ์เปลี่ยนแปลงไป โดยมีองค์กรสงฆ์คือ เถรสมาคม เป็นผู้พิจารณา แล้วกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และพระราชทานสมณศักดิ์ การพระราชทานสมณศักดิ์จะพระราชทาน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ในพระราชพิธีสำคัญอื่นๆ อีก เช่น พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระราชพิธีในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี หรือพระราชทานพัดยศเปรียญ ในพิธีตั้งเปรียญธรรมแก่ภิกษุสามเณร ที่สอบได้เปรียญธรรม ๖ และเปรียญธรรม ๙ ก่อนวันวิสาขบูชาหนึ่งวัน เป็นประจำทุกปี


การพระราชพิธีสถาปนาสมณศักดิ์และพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์

            สำหรับลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยตามทำเนียบสมณศักดิ์ปัจจุบัน มีลำดับสูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ลำดับรองลงมา คือ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งกำหนดจำนวนไว้ ๘ รูป และพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ กำหนดจำนวนไว้ ๒๐ รูป รองลงไปจากนั้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นสามัญ ลำดับล่างสุด คือ พระครู ลำดับสมณศักดิ์แต่ละชั้นนอกจากจะกำหนดจำนวนของแต่ละลำดับชั้นแล้ว ยังกำหนดให้เป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายละเท่าใดด้วย

            นอกจากตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อนัมนิกายและจีนนิกายด้วย โดยเริ่มในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระราชปรารภถึงความภักดี ที่พระสงฆ์ญวน และพระสงฆ์จีน ได้มาทำพิธีกงเต๊กถวายในงานพระศพเจ้านายชั้นสูง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ อีกทั้งพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ก็ได้ทรงตั้งพระสงฆ์มอญให้มีสมณศักดิ์อย่างพระสงฆ์ไทยไว้แล้ว จึงสมควรตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักดิ์บ้าง แต่พระสงฆ์ญวน ถือนิกายมหายาน ไม่สามารถประกอบพิธีร่วมกับพระสงฆ์ไทยได้อย่างพระสงฆ์มอญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำทำเนียบพระสงฆ์ญวน และพระสงฆ์จีนขึ้นต่างหาก


การพระราชพิธีพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์อนัมนิกายและจีนนิกาย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม