การที่ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมของไทยในอดีต มิได้สูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรพบุรุษของไทยได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือโบราณ ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ หนังสือใบลาน และ หนังสือสมุดไทย

การคัดเลือกใบลานที่มีขนาดพอเหมาะ และคุณภาพดี เพื่อนำมาทำหนังสือใบลาน
หนังสือใบลาน เป็นหนังสือที่ใช้วิธีเขียนตัวหนังสือซึ่งเรียกว่า การจาร ลงบนใบของต้นลาน ใบลานที่มีคุณภาพดี ขนาดพอเหมาะ คือ ใบอ่อนที่สองซึ่งเพิ่งเริ่มคลี่ใบออก เพราะเส้นใยไม่เหนียวมาก ใบเรียบเนียน ไม่กรอบแตกง่าย เมื่อตัดใบแล้วจะทิ้งตากแดด ตากน้ำค้าง ประมาณ ๓ วัน ๓ คืน แล้วจึงมัดรวมกัน จากนั้น นำมาเจียนก้านออก แล้วซ้อนกันประมาณ ๒๐ - ๓๐ ลาน ขดม้วนให้กลม มัดด้วยเชือก แล้วนำไปแช่น้ำประมาณ ๒๔ ชั่วโมง บางท้องถิ่นนำไปต้มในน้ำซาวข้าว หลังจากนั้น นำออกตากให้แห้ง ประมาณ ๒ วัน
เมื่อใบลานแห้งสนิทแล้ว คลี่ออกจากม้วน เช็ดทำความสะอาดทีละใบ แล้วจึงนำมาใส่ขนอบ ซึ่งเป็นพิมพ์สำหรับแทงลาน ขนอบทำจากไม้ ขนาดเท่าใบลาน ใช้ประกับด้านหน้า และด้านหลังรวม ๒ อัน เมื่อจัดเรียงใบลานซ้อนกันได้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ใบ และประกบด้วยขนอบแล้ว ใช้มีดคมบางๆ ตัดลานให้เสมอและได้ระดับกับขอบขนอบทั้งสี่ด้าน จากนั้นใช้ก้านลาน หรือที่เรียกว่า ไม้กลัด ร้อยลานเข้าด้วยกันตามรูที่เจาะไว้ให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ มัดเป็น ๓ ตอน ใช้ขนอบประกบหน้า - หลัง อาจอัดด้วยเครื่องอัดลานให้แน่น จากนั้นนำไปอบในเตาอบให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันเชื้อรา

ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้ว จะนำมาแกะออกทำความสะอาดทีละใบ โดยใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลาน แล้วใช้ลูกประคบขัดให้ผิวหน้าลานเรียบเกลี้ยง ใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง จากนั้นใช้เหล็กแหลมเผาไฟ เจาะตามช่องร้อย ที่แทงไว้ตอนแรก แล้วจัดใบลานเข้าผูก ผูกหนึ่งมี ๒๔ ใบ ใบลานนี้พร้อมใช้จารหนังสือได้ทันที

การร้อยใบลาน โดยใช้ไม้กลัดให้ได้ ๑ กับ เท่ากับ ๕๐๐ ใบ
การเขียนหนังสือโบราณจะใช้ เหล็กจาร จารตัวหนังสือให้เป็นรอยลึกในเนื้อลาน เหล็กจารเป็นเหล็กปลายแหลม มีด้ามถือ ทำด้วยไม้ หรือเขาสัตว์ ในขณะที่จารหนังสือ จะต้องฝนเหล็กจารให้แหลมคมตลอดเวลา เพื่อเส้นอักษรจะได้เรียบงดงาม ผู้จารจะต้องระวังในการผ่อนน้ำหนักมือให้เหมาะสม ถ้าเบาเกินไป เส้นตัวหนังสือจะขาด ถ้าหนักเกินไป ใบลานจะทะลุ
หลังจากจารข้อความหมดแล้ว จะลบหน้าลาน โดยใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟผสมน้ำมันยางลูบไปมาให้ทั่ว เพื่อให้สีดำของเขม่าไฟ ฝังในร่อง ที่เป็นรูปอักษร แล้วใช้ทรายละเอียดคั่วร้อนโรยบนหน้าลาน ใช้ลูกประคบสะอาดถูไปมาหลายครั้ง เพื่อลบผิวหน้าลานให้ขาวสะอาด ทำให้ลายเส้นอักษรผุดขึ้นเป็นสีดำอย่างเด่นชัด

การอัดใบลานด้วยเครื่องอัดลาน
คัมภีร์ใบลานที่จารข้อความแล้ว อาจมีการตกแต่งให้สวยงามเข้าชุดกัน ทั้งตัวคัมภีร์และไม้ประกับ โดยตกแต่งที่ปกหน้า ปกหลัง ขอบคัมภีร์ ไม้ประกับหน้า-หลัง ด้วยลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก หรือปิดทอง คัมภีร์ใบลานที่มีการตกแต่ง จะเรียกชื่อตามลักษณะการตกแต่งนั้น เช่น คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ ฉบับล่องชาด ฉบับล่องชาดรดน้ำดำ ไม้ประกับก็เรียกตามลักษณะการตกแต่ง เช่น ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับลายรดน้ำ
ในการอ่านหรือแปลคัมภีร์ใบลาน จะวางคัมภีร์ไว้บนกากะเยีย ซึ่งทำจากไม้แท่งกลมยาว ๘ อัน ร้อยด้วยเชือก เมื่อกางออก จะเป็นเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยม สำหรับรองรับใบลาน

คัมภีร์ใบลานที่มีการตกแต่งให้สวยงามเข้าชุดกัน ทั้งตัวคัมภีร์และไม้ประกับ
ส่วนหนังสือสมุดไทยเป็นหนังสือที่บันทึกข้อความลงบนกระดาษ ด้วยดินสอหินสีขาว หรือใช้ปากกาหรือพู่กันจุ่มหมึกแล้วเขียน สำหรับกระดาษที่ทำจากเปลือกต้นข่อย เรียกอีกอย่างว่า สมุดข่อย ในภาคเหนือทำจากเปลือกต้นสา จึงเรียกว่า สมุดกระดาษสา ส่วนภาคใต้นิยมใช้ไม้เถาที่เรียกว่า ย่านกฤษณา หรือปฤษณา และหัวต้นเอาะนกผสมกับเยื่อไม้อื่นๆ ทำกระดาษได้เช่นกัน
สมุดไทยเป็นหนังสือที่ไม่ได้เย็บเล่มเหมือนกับหนังสือปัจจุบัน แต่จะใช้กระดาษแผ่นเดียวยาวติดต่อกัน พับกลับไปกลับมา ให้เป็นเล่มหนา หรือบางตามต้องการ มี ๒ สี คือ สีขาว และสีดำ จึงเรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว และหนังสือสมุดไทยดำ

คัมภีร์ใบลานวางบนกากะเยีย
คนไทยโบราณรู้จักทำกระดาษใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง โดยนำเปลือกข่อยแช่น้ำนาน ๓ - ๔ วัน ให้เปื่อย ล้างให้สะอาด บีบน้ำพอหมาด แล้วฉีกเป็นฝอย เปลือกที่ขาวสะอาดจะใช้ทำสมุดขาว เปลือกที่ไม่สะอาดใช้ทำสมุดดำ จากนั้น นำเปลือกข่อยไปนึ่งในกระทะใบบัวให้สุกทั่วกันนานราว ๔๘ ชั่วโมง นำเปลือกข่อยที่นึ่งสุกแล้วนี้ไปแช่น้ำปูนขาวประมาณ ๒๔ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น ให้ปูนขาวกัดเปลือกข่อยจนเปื่อยยุ่ย แล้วนำไปล้างให้สะอาด บีบให้แห้งด้วยเครื่องมือ ซึ่งคล้ายที่ทับกล้วย จนแห้งสนิท นำเปลือกข่อยที่เปื่อยยุ่ย วางบนกระดานทุบข่อย หรือเขียง ใช้ค้อนทุบวนไปวนมา ๖ - ๗ รอบ เมื่อละเอียดทั่วกันดีแล้ว เปลือกข่อยจะมีลักษณะเป็นเยื่อพร้อมใช้ทำกระดาษต่อไป
ในการทำกระดาษจะต้องนำเยื่อข่อยละลายน้ำใน ครุ ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ ชันยา รูปร่างคล้ายกระบุง ใช้มือตีเยื่อข่อยให้แตก และละลายปนกับน้ำ เทเยื่อข่อยลงในพะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะทำกระดาษ มีลักษณะเป็นตะแกรง ที่มีกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยม กรุด้วยผ้ามุ้ง หรือมุ้งลวด มีขนาดเท่าความกว้างยาวของกระดาษที่ต้องการ เมื่อเกลี่ยเยื่อข่อยในพะแนง ให้กระจายเสมอกันแล้ว พรมน้ำให้ทั่วอีกครั้งก่อนยกพะแนงขึ้นจากน้ำในระดับราบเสมอกันทั้งแผ่น เพื่อให้เยื่อข่อยติดผิวหน้าพะแนงสม่ำเสมอกัน วางพะแนงตามแนวนอนให้เอียง ๘๐ องศา แล้วใช้ไม้ซางรีดจนแห้ง และหน้ากระดาษเรียบ จากนั้นวางตั้งพิงราวพะแนง ตากแดดจนแห้งสนิท

วางพะแนงตั้งพิงราวตากแดดจนแห้งสนิท
การทำสมุดขาวและสมุดดำนั้น ต้องลบสมุดเสียก่อน นั่นคือ ใช้ลูกประคบชุบแป้งเปียกทาบนกระดาษจนทั่วแผ่น แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้น นำมาลบอีกด้านหนึ่ง ตากแดดจนแห้งสนิท แล้วนำไปขัดให้เรียบ และขึ้นมันด้วยหินแม่น้ำ หากทำสมุดขาว แป้งเปียกจะผสมน้ำปูนขาว หากทำสมุดดำ แป้งเปียกจะผสมเขม่าไฟ หรือถ่านบดละเอียด
ในการทำสมุด ช่างจะวางไม้แบบลงตอนกลางตามขวางของแผ่นกระดาษ นำมีดหักสมุด ซึ่งเป็นมีดที่ไม่มีคม กรีดกระดาษเป็นรอยทั้งสองข้าง เอาไม้แบบออก แล้วหักกระดาษตามรอยขีดกลับไปกลับมาจนหมดกระดาษทั้งสองด้าน ถ้ากระดาษสั้น ก็ต่อให้ยาวตามต้องการ แล้วตัดริมสองข้างให้เรียบเสมอกัน จากนั้นทำปกสมุด คือ ติดคิ้วสมุด บนหน้าสมุดทั้งสองด้าน คิ้วสมุดเป็นแถบกระดาษกว้าง ๑ - ๒ เซนติเมตร ทาแป้งเปียกติดริมขอบสี่ด้านเรียงซ้อนกัน ๓ - ๕ ชั้น เสร็จขั้นตอนนี้ก็จะได้สมุดไทยตามที่ต้องการ

ใช้มีดหักสมุดหักกระดาษตามรอยขีดกลับไปกลับมา
ในการเขียนสมุดไทย จะต้องขีดเส้นบรรทัดก่อน ด้วยตะกั่วนมเหลาแหลม และเขียนใต้บรรทัด วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง ได้แก่ ดินสอขาว ทำจากหินดินสอ ปากกาหรือปากไก่ ทำจากไม้หรือขนไก่เหลาแหลม บากให้มีร่องสำหรับให้น้ำหมึกไหล น้ำหมึกทำจากวัสดุธรรมชาติ มีสีต่างๆ ทั้งสีดำ ขาว แดง เหลือง และทอง
ในอดีต คนไทยมีวิธีรักษา และเผยแพร่ความรู้ และวรรณคดีต่างๆ ด้วยการคัดลอกไว้ในหนังสือโบราณ หากเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา ก็จะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการสืบพระศาสนา และใช้เป็นตำราสำหรับพระเณรศึกษาเล่าเรียน หนังสือโบราณเหล่านี้จึงยังคงมีเก็บรักษาไว้ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายไปเสียมาก เพราะคนรุ่นหลังไม่เห็นคุณค่า ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหนังสือโบราณ จะทำให้คนยุคปัจจุบัน ได้ตระหนักถึงคุณค่า ของทรัพย์สินทางปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทย ทั้งในด้านเนื้อความที่บันทึกไว้ในหนังสือโบราณเหล่านั้น และภูมิปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการทำหนังสือใบลานและสมุดไทย อันน่ายกย่องอย่างยิ่ง
หนังสือโบราณที่ยังคงมีเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง