เล่มที่ 16
การดนตรีสำหรับเยาวชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อิทธิพลดนตรีตะวันตกกับเยาวชนไทย

            ดนตรีตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย และไทยรับมาใช้ในราชการ ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทหารชาวอังกฤษสองคนชื่อ นอกซ์ (Knox) และอิมเป (Impey) ได้นำแตรฝรั่งเข้ามาเป่าแตรสัญญาณ และบรรเลงเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ ต่อมาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นแตรวงของทหาร ใช้บรรเลงนำขบวนแห่ และบรรเลงเพลงไทย เรียกสั้นๆ ว่า "แตรวง" ซึ่งต่อมานายมนตรี ตราโมท ได้ขนานนามแตรวงนี้ว่า "วงโยธวาทิต"

วงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา และวงขับร้องประสานเสียง ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลดนตรีตะวันตกกับเยาวชนไทย
            ประเทศไทยเริ่มมีเพลงแบบฝรั่ง แต่งโดยคนไทยคนแรกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในราวปี พ.ศ.๒๔๔๘-๒๔๕๐ จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็เริ่มมีวงดุริยางค์สากลขนาดใหญ่ คือวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เทียบเท่ากับวงออร์เคสตรา ขนาดใหญ่ของฝรั่ง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีการสร้างวงดนตรีขนาดเล็ก เรียกว่า "แย้สแบนด์" ขึ้น มีผลงานเพลงแบบฝรั่งที่คนไทยแต่งขึ้น แล้วต่อมาจึงได้รับขนานนามว่า เพลงไทยสากล มีนักประพันธ์เพลงผลิตผลงานเพลง เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครร้อง และภาพยนตร์มีการสร้างเพลงปลุกใจขึ้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลไทยสมัยนั้น ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นตะวันตก จึงส่งเสริมการดนตรีตะวันตกมากขึ้น แล้วสั่งให้ลดการเรียนการเล่นดนตรีไทยแท้ลง ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สองประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ ได้เกิดเพลงรำวงขึ้น มีอิทธิพลต่อเยาวชนไทยมาก ในสมัยนั้น เพราะเพลงรำวง เป็นเพลงที่ร้องง่ายจำง่าย รวมทั้งใช้ประกอบการร่ายรำได้สนุกสนาน เพลงรำวงยังมีผลต่อการละเล่น ของเยาวชนไทยมาจนทุกวันนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นคนไทยคนแรก ที่ริเริ่มแต่งเพลงแบบฝรั่งในประเทศไทย

            หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดนตรีตะวันตกได้เพิ่มอิทธิพลขึ้นในประเทศไทย ดนตรีจากสหรัฐอเมริกาผ่านสื่อแบบต่างๆ เช่น วิทยุ และเครื่องเล่นจานเสียง เยาวชนไทยได้หันเหไปสนใจการร้องเพลง และการเต้นรำด้วยลีลาอารมณ์แบบตะวันตก จึงเกิดเพลงไทยสากลตามรูปแบบฝรั่งขึ้นมากมาย รวมทั้งเพลงแจ๊ส เพลงเต้นรำประเภทร้อนแรงจนถึงสมัยของเพลงร็อกในราวปี พ.ศ.๒๕๐๐ ถึงกระนั้นเยาวชนก็ยังร้องเพลงด้วยสำเนียงลีลาอย่างไทย คงใช้ภาษาไทยที่แสดงความเป็นไทยอยู่มาก
วงสุนทราภรณ์ ผลิตผลงานเพลง ประเภทเพลงไทยสากล
วงสุนทราภรณ์ ผลิตผลงานเพลง ประเภทเพลงไทยสากล
            ในระยะเดียวกันนี้วงการดนตรีไทยได้พัฒนาดนตรีขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการนำดนตรีพื้นบ้านไทยภาคต่างๆ ดนตรีสำหรับการรำวง ดนตรีไทยเดิม และดนตรีสากล เข้ามาผสมผสานกลายเป็นเพลงชนิดใหม่ที่เรียกว่า เพลง "ลูกทุ่ง" ซึ่งมีอิทธิพลสูง ต่อเยาวชนคนไทย ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพลงลูกทุ่งจัดได้ว่า เป็นเพลงของไทยประเภทเดียว ที่เข้าถึงประชาชนคนไทย ทุกเพศทุกวัย และเป็นที่พอใจของเยาวชนมากที่สุด การพัฒนาวิทยุทรานซิสเตอร์ และตลับแถบบันทึกเสียง ทำให้เผยแพร่เพลงลูกทุ่งได้มาก เยาวชนจึงหันไปสนใจเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเข้าถึงเยาวชนทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ
ปกแผ่นเสียง
ปกแผ่นเสียง
            ระหว่างที่เกิดสงคราบเวียดนามขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา อารยธรรมตะวันตกในด้านดนตรีเริ่มครอบงำเยาวชนไทย และเบี่ยงเบนไปสู่การประพันธ์เพลง การขับร้อง บรรเลง และการเต้นประกอบเพลง ที่เบนเข้าหาความเป็นตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เยาวชนไทยเริ่มชินกับเพลงที่ผลิตขึ้น เพื่อการค้า มากกว่าเพลงที่ผลิตขึ้น เพื่อสุนทรียะแห่งดนตรี ภาษาที่ใช้ในการขับร้อง เปลี่ยนแปลงจากรูปของฉันทลักษณ์ไทย ที่ส่งสัมผัสไพเราะ กลายไปเป็นภาษาพูด ภาษาที่ใช้ในการตะโกน แผดเสียง เทคนิคการขับร้องเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตก มีการออกเสียงบทร้องที่ไม่ชัดเจน หรือทำให้เกิดเสียงเบี่ยงเบนออกไปเป็นสำเนียง ลีลาแบบตะวันตก แม้แต่เสียงจากเครื่องดนตรีก็มาจากกระแสไฟฟ้า แทนที่จะมาจากการสั่นสะเทือนตามธรรมชาติ เยาวชนสนใจในเพลงประเภทที่สร้างขึ้น เพื่อการค้าอย่างมาก ธุรกิจตลาดเพลงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เยาวชน ซึ่งมีอัตราการบริโภคสูงมากกว่า คนทุกกลุ่มอายุ วงการวิทยุ และโทรทัศน์ จะสนใจแต่ดนตรีที่จัดให้เยาวชนเสพย์ จนสถานีวิทยุส่วนมากจะบรรจุรายการเพลง สำหรับเยาวชนโดยสิ้นเชิงจะหาช่วงว่าง สำหรับดนตรีเพื่อคนไทยในวัยอื่นได้ยากยิ่ง
            ดนตรีกับเยาวชนในสมัยหลังปี พ.ศ.๒๕๓๐ จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ที่อาจกล่าวได้ว่า ยุค พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๔๐ นั้น เยาวชนเป็นเจ้าของดนตรีในตลาดการค้าเพลงอย่างแท้จริง มีเยาวชนเป็นจำนวนมาก เรียนดนตรีสากลประเภทเครื่องดีด (STRINGS) จัดตั้งวงดนตรีเรียกว่า วงสตริง ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า เป็นพื้นคุมจังหวะด้วยเครื่องไฟฟ้า เล่นรวมกันแล้วจะเกิดเสียงดังมาก

ดนตรีประเภทลูกทุ่ง จัดเป็นดนตรีของไทยประเภทเดียวเท่านั้น
ที่สามารถเข้าถึงคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มอายุ ไม่มีขอบเขตจำกัด
            ถึงกระนั้นก็ดี มิใช่ว่าเยาวชนไทยจะนิยมดนตรี ที่เป็นธุรกิจไปเสียทั้งหมด ยังมีอยู่บ้างที่สนใจดนตรีในแนวเก่า สนใจเรียนดนตรี และเล่นดนตรี ที่เป็นไทย เช่น การเรียนดนตรีไทย และเรียนดนตรีสากลคลาสิก การเปิดสอนดนตรีในสถาบันการศึกษาต่างๆ ยังคงยึดรูปแบบดั้งเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แผงจำหน่ายเทปตลับเพลงทุกประเภท ซึ่งมีทั้งเพลงที่ดี และเพลงเพื่อการค้าปะปนกัน
            การอนุรักษ์ดนตรีเก่า การแนะนำให้เยาวชนสนใจดนตรีในระบบเก่า อาจจะเป็นการยาก เพราะเสียงดนตรีที่เยาวชนชินหูอยู่ในขณะนี้ เป็นเสียงวิทยาศาสตร์มากกว่า จนเยาวชนไม่เคยรู้รสแห่งเสียงจากเครื่องดนตรีตามธรรมชาติ (Acoustic Instrument) เวลา และโอกาส ที่ผู้ปกครองหรือผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ จะต้องชักนำเยาวชน ให้ได้สัมผัสดนตรีอย่างธรรมชาตินั้น จึงจำเป็นมาก สำหรับพวกเขาเหล่านั้น