ยาฆ่าแมลง กลุ่มออร์กะโนคลอรีน การฉีดยาฆ่าแมลง ควรยืนเหนือลม | ยาฆ่าแมลง อาจจะจำแนกได้ ๔ กลุ่มด้วยกัน คือ ๑. พวก Halogenated Hydrocarbon หรือออร์กะโนคลอรีน (Organochlorine) ได้แก่ ดีดีที ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้นำมาใช้ เพื่อฆ่าแมลงได้นานประมาณ ๔๕ ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากดีดีที ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ ยังมีอื่นๆ อีก เช่น อัลดริน (Aldrin) ดีลดริน (Dieldrin) และเอ็นดริน (Endrin) เป็นต้น ยาฆ่าแมลงในกลุ่มนี้มีความคงทน ไม่สลายตัว ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ในน้ำมัน ลักษณะเป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ที่ผลิตใช้ในครัวเรือนมักจะละลายในน้ำมันก๊าด และน้ำมันเบนซิน การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เข้าโดยการกินและหายใจ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปสะสมอยู่ในไขมันตามที่ต่างๆ การออกฤทธิ์ เป็นการกระตุ้นสมอง เกิดอาการกระตุก และชัก อาการ พิษที่เกิดขึ้นโดยการกิน เป็นชนิดเฉียบพลัน อาการจะปรากฏภายใน ๒-๓ ชั่วโมง อาการทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ ความคิดสับสน อาจมีอาเจียนอาการทางระบบประสาทมีอาการสั่น (Tremor) กระตุกที่หนังตา ใบหน้า และลำคอ มีอาการชักและหมดสติ ผู้ป่วยจะตายด้วยระบบการหายใจล้มเหลว การรักษา ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ นอกจากรักษาตามอาการ และใช้ยาป้องกันการชัก การใช้สารพวกนี้มักใช้ในการแพทย์ และการสาธารณสุข มากกว่าการใช้ในบ้านเรือน ในปัจจุบันไม่นิยมใช้สารจำพวกนี้ เช่น ดีดีที เนื่องจากสลายตัวยาก ทำให้มีการสะสมอยู่ในภาวะแวดล้อมในคนและสัตว์ รวมทั้งพืชด้วย ดีดีทีที่อยู่ในดินอาจจะเข้าไปสะสมอยู่ในผลไม้ได้ ถ้าต้นไม้นั้น ปลูกอยู่ในดินที่มีสารนี้ ในหน้าฝน เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำฝนจะชะล้างเอาดีดีทีในดินลงไปในแม่น้ำลำคลอง ปลาที่อยู่ในบริเวณนั้น อาจมีดีดีทีอยู่ด้วย เมื่อนกกินปลาเข้าไป สารนี้ก็จะอยู่ในนก ถ้าเรากินปลาหรือนก ที่มีสารนี้อยู่ ดีดีทีจะเข้าไปในร่างกายของเรา และจะไปสะสมอยู่ในไขมัน ซึ่งการศึกษาพบว่า มนุษย์เรา ภายหลังการใช้ดีดีทีมาเป็นเวลานาน ได้มีการสะสมอยู่ในไขมันภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก และมีหลายประเทศได้ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด |
หลังจากสัมผัสยาฆ่าแมลงแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่ การปราบยุงโดยใช้วิธีพ่นหมอกควันแบบหิ้ว | ๒. พวกออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นยาปราบศัตรูพืชที่ใช้กันมากในขณะนี้ ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ในจำพวกนี้ที่แพร่หลาย และเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปก็คือ พาราไธออน (Parathion) หรือในนามของยาโฟลิดอล (Folidol), E ๖๐๕ หรือยาเขียวฆ่าแมลง หรือยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้ ยานี้ได้มีหลายบริษัทผลิตออกจำหน่าย ซึ่งมีชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันเช่น อีคาท็อกซ์ (Ekatox), เพอร์เฟคไธออน (Perfekthion), เมตาซีสต๊อกซ์ (Metasystox), โอโซ (OZo), ออร์โธฟอส (Orthophos), พาราเฟต (Paraphate) เป็นต้น ห้างร้าน หรือบริษัทในประเทศไทยบางรายได้นำสารนี้มาผสมและจำหน่าย มีชื่อในทางการค้าต่างๆ กัน เช่น ยาฆ่าแมลง ๑๐๐% บ้าง ยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้บ้าง และสูตรทางเคมีก็มีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสารเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง แต่กลไกในการออกฤทธิ์ยังคงเหมือนเดิม ฉะนั้น พาราไธออนจึงเป็นตัวแทนของสารกลุ่มนี้ ในปัจจุบัน พาราไธออนกำลังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในประเภท "อันตรายอันเกิดจากสิ่งมีพิษ" พาราไธออนเป็นสารประกอบ ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Diethyl-pnitrophenylthio-phosphate มีสูตรทางเคมีว่า C10H14NO5PS มีลักษณะเป็นวัตถุเหลวข้น สีเหลือง หรือสีน้ำตาลแก่ สารชนิดนี้ละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยประมาณ ๑ : ๕๐,๐๐๐ แต่ละลายได้ดีในอีเธอร์ และคลอโรฟอร์ม และจะสลายตัวได้ง่าย เมื่อถูกกับกรดหรือด่าง หรือถูกกับแสงแดด มีกลิ่นเหม็น ผู้ที่เคยดมกลิ่นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ เพราะมีกลิ่นเหม็นเป็นพิเศษ โดยปกติร่างกายเมื่อมีการทำงานของระบบประสาทต่างๆ จะเกิดสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า อเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำกระแสประสาทผ่านไปยังอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง และจะถูกย่อยและสลายไปตามธรรมชาติในร่างกาย โดยเอนไซม์ที่เรียกว่า โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) และจะเกิดขึ้นมาใหม่อีก เมื่อมีการกระตุ้นของระบบประสาทดังกล่าว การออกฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงพวกนี้ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะไปจับกับเอนไซม์ โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) กลายเป็นสารคงทนถาวรสลายตัวได้ยาก และกินเวลานาน ฉะนั้นจึงไม่มีเอนไซม์ไปย่อยหรือสลายอเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ที่เกิดขึ้นในร่างกายให้หมดไปตามธรรมชาติ ดังนั้นร่างกายจะมี acetylcholine คั่งหรือเพิ่มมากขึ้นทุกที จนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้นพิษของพาราไธออนก็คือ การที่มีอเซตทิลโคลินในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการที่เกิดจากพิษพาราไธออนก็เหมือนกับการกระตุ้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ การเข้าสู่ร่างกายของพาราไธออน พาราไธออน เข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทาง คือ (๑) ทางการหายใจ โดยสูดเอาฝอยละออง ของสารนี้เข้าไป (๒) ทางปาก โดยการกินเข้าไป (๓) ทางผิวหนัง การเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจและการกิน จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าทางผิวหนัง แต่ส่วนมากเกษตรกรมักได้รับพาราไธออนเข้าไปในร่างกายทางผิวหนัง (๑) การเข้าของพาราไธออน ทางการหายใจ อาจจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ คือ ผู้ที่ใช้พาราไธออนฉีด สำหรับฆ่าแมลงนั้น ฉีดยาทวนกระแสลม ขณะที่ฉีดไป ลมก็จะพัดมาทางผู้ฉีด ผู้ฉีดก็หายใจเอายา เข้าไปทีละน้อยๆ จนในที่สุดยาเข้าไปสะสมในร่างกายมากเข้า ก็เกิดอาการแพ้ หรือขณะที่ฉีดอยู่เหนือลม แต่บังเอิญเกิดลมแรง และหวนกลับมา ทำให้ผู้ฉีดสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไปมาก ในการฉีดยาขึ้นไปบนต้นไม้สูงๆ ผู้ฉีดเข้าไปใกล้ ต้นไม้นั้นเกินไป เมื่อฉีดแล้ว ฝอยละอองของยา ตกลงมาเบื้องล่าง ก็ทำให้ผู้ฉีดต้องสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไป จนเกิดอาการแพ้ยาได้ (๒) การเข้าของพาราไธออนทางปาก โดยวิธีนี้ อาจเกิดขึ้นได้ คือ โดยอุบัติเหตุ คือไม่ทราบว่า เป็นยา สำหรับรับประทาน เช่น ยาธาตุ หรืออื่นๆ หยิบยาผิดรับประทานเข้าไป มักจะเกิดแก่คนที่ชรา ซึ่งสายตาไม่ค่อยดี หรือเกิดแก่เด็กๆ ที่ซุกซน หยิบยากินเข้าไปโดยไม่ทราบว่าเป็นอะไร หรือในบางรายที่ใช้ภาชนะผสมยาฆ่าแมลงแล้วทิ้งไว้ ไม่ทำลายให้หมดไป เช่น ใช้กระป๋องนมข้นที่ใช้แล้วผสมยาเสร็จแล้วทิ้งไว้ที่กองขยะ หรือตามบ้าน มีคนเก็บเอาไปขาย และในที่สุดนำมาใส่กาแฟกิน คนที่กินเข้าไปอาจเกิดอาการแพ้ได้ ผลไม้บางอย่าง เช่น พุทรา ซึ่งเพิ่งฉีดยา ฆ่าแมลงมาแล้วเพียง ๒-๓ วัน ยังมียาฆ่าแมลงเหลือค้างอยู่ กินเข้าไปก็อาจทำให้เกิดพิษได้ เพราะยาฆ่าแมลงจะค้างอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะหมดไป แม้ว่าจะล้างให้สะอาด ก็ไม่สามารถทำให้หมด ไปได้ เพราะพาราไธออนจะถูกดูดซึมเข้าไปใน เนื้อของผลไม้ด้วย และกว่าจะสลายตัวไปหมด ก็กินเวลาประมาณ ๗ วัน การสลายตัวของสารนี้ จำเป็นต้องใช้แสงแดด และผลไม้นั้น ต้องติดอยู่กับต้นไม้ การสลายตัวจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี หากเราใช้ยานี้ฉีดผลไม้แล้ว ๒-๓ วัน จากนั้น เก็บผลไม้มา ยาจะยังสลายตัวไม่หมด ถึงแม้ว่าจะเก็บผลไม้นั้นไว้ยังไม่รับประทาน แต่การสลายตัวของยาก็จะช้าลง ใช้เวลานานกว่าเมื่อผลไม้นั้นยังติดอยู่กับต้นไม้ ผักก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น ควรเก็บผักหรือผลไม้ หลังจากฉีดยาไปแล้ว ประมาณ ๗ วัน จึงจะปลอดภัย เมื่อรับประทาน (๓) การเข้าของพาราไธออนทางผิวหนัง จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะยาเมื่อถูกกับผิวหนังก็จะซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยเราไม่รู้ตัว เพราะไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรืออักเสบแก่ผิวหนังแต่ประการใดเลย ที่เราพบได้บ่อยๆ ก็คือ ผู้ที่ใช้ยานี้ เวลาผสมยาใช้มือของตัวเองกวนกับน้ำที่ผสมยา โดยไม่ใช้ไม้หรือสิ่งอื่น และโดยเฉพาะเวลาฉีดยา เกษตรกรมักใช้ยาฆ่าแมลงละลายน้ำ แล้วใส่ในเครื่องพ่นสะพายข้างหลัง ภาชนะที่ใส่ยาไม่ดี เก่าเกินไป อาจจะรั่ว ทำให้น้ำยาหกเปรอะเปื้อนตัวเอง ซึ่งผู้ใช้ก็ไม่ทราบว่า ยาสามารถซึมเข้าทางผิวหนังได้ เมื่อทิ้งไว้นานโดยไม่ล้างน้ำยาออกจากตัวเสียด้วยสบู่ ก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย รายที่เป็นโรคผิวหนัง ผื่นคัน หรือมีแผล จะดูดซึมเข้าดียิ่งขึ้น หรือถ้าอากาศร้อน รูเหงื่อจะเปิดกว้าง ทำให้ยาฆ่าแมลงซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี อาการสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพ้พิษพาราไธออน อาจแบ่งได้ดังนี้ (๑) อาการที่เนื่องจากการกระตุ้นปลายประสาทพาราซิมพาเธติก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระยะแรก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นช้า แน่น และเจ็บบริเวณทรวงอก ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น ม่านตาจะหรี่เล็กลง มี อาการท้องเดิน ถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ หลอดลมมีเสมหะมาก น้ำลายออกมาก หลอดลมตีบ หน้าเขียวคล้ำ (๒) อาการที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นกล้ามเนื้อ จะพบว่า มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อตามร่างกายเต้นและสั่นกระตุกเป็นแห่งๆ เป็นหย่อมๆ จะพบได้ที่ลิ้น ตามหน้าตา ต่อไปจะเป็นทั่วร่างกาย ถ้ามากขึ้นจะมีอาการคล้ายตะคริว ถ้ามีอาการกระตุ้นมากขึ้นในที่สุด จะเกิดอาการเพลียขึ้นตามกล้ามเนื้อทั่วไป และอาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ในรายที่รุนแรงมาก จะทำให้กล้ามเนื้อที่ ใช้ในการหายใจเกิดเพลียลง และเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้หายใจไม่ได้ด้วย (๓) อาการทางสมอง ได้แก่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ งง กระสับกระส่าย ตื่นตกใจง่าย และอารมณ์พลุ่งพล่าน ถ้าอาการรุนแรงมากอาจมีอาการชักและหมดสติได้ อาการของผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมาก และซึม ถ้าอาการรุนแรง ทำให้หมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระปัสสาวะราด กล้ามเนื้อทั่วตัวกระตุก ชัก หายใจลำบาก เขียว และหยุดหายใจ ขนาดของพาราไธออนที่ทำให้ตาย เฉลี่ยเพียง ๓๐๐ มิลลิกรัม หรือเท่ากับพาราไธออน ชนิดเข้มข้นร้อยละ ๕๐ ไม่เกิน ๑๕ หยด ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการ ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่เข้าไปในร่างกาย การกินสารพิษเข้าไป ถ้ากินชนิดที่มีความเข้มข้นสูงจะเกิดอาการผิดปกติภายใน ๑๕ นาที เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อกระตุกเป็นหย่อมๆ น้ำลายฟูมปาก ชัก และหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงทีจะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง เนื่องจากการหายใจล้มเหลว ถ้าดื่มเหล้าหรือยานอนหลับร่วมด้วย อาการจะรวดเร็ว และรุนแรงมากขึ้น การเข้าทางการหายใจ และผิวหนัง อาการมักไม่รุนแรง เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยมากเกิดขึ้น จากบุคคลที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมดังได้กล่าวมาแล้ว อาการที่เกิดมีวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และมีเหงื่อออกมาก ถ้าอาการมากขึ้น จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นหย่อมๆ การปฏิบัติเบื้องต้น ๑. พิษเข้าทางผิวหนัง ล้างด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าเข้าตาใช้น้ำสะอาดล้างตา ๒. ถ้ากินสารพิษเข้าไป หากผู้ป่วยยังมีสติดีให้ดื่มน้ำมากๆ และใช้นิ้วมือล้วงคอให้อาเจียน อย่างไรก็ตาม ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้มีฤทธิ์รุนแรง อาจถึงตายได้ง่าย ถึงแม้จะไปถึงโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ถ้ากินเข้าไปเป็นจำนวนมาก และมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป มียาแก้พิษโดยเฉพาะสำหรับยาฆ่าแมลงจำพวกนี้ คือ 2-พี.เอ.เอ็ม และอะโตรปีน |
การใช้ยาทาเพื่อไล่ยุงและแมลง | ๓. คาร์บาเมต (CARBAMATE) ยาฆ่าแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีมากที่นำมาใช้ ชนิดแรกคือ คาร์บารีล (Carbaryl) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นเวลานานแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ในทางเกษตรกรรม ที่ใช้ในบ้าน ได้แก่ โพรพ็อกเซอร์ (Propoxur) เหมาะสำหรับปราบยุง ชื่อทางเคมีคือ Carbaryl : 1-Naphthyl N-methyl carbamate Propoxur : 2-Isopropoxyphenyl methyl carbamate เป็นผลึก ไม่มีสี เกือบไม่ละลายในน้ำ แต่ละลาย ได้ดีในแอลกอฮอล์ การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้ทั้งการกิน ทางหายใจ และทางผิวหนังที่ไม่มีบาดแผล เช่นเดียวกับออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate) กลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลินเอสเตอร์เรส เช่นเดียวกับออร์กะโนฟอสเฟต แต่ระยะเวลาที่ออกฤทธิ์สั้น ขณะเดียวกันสารนี้สลายตัวได้รวดเร็ว จึงมีฤทธิ์อ่อน ฉะนั้นพิษที่เกิดขึ้นจึงไม่รุนแรง อาการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับพวกออร์กะโนฟอสเฟต แต่ไม่รุนแรง มีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหงื่อออกมาก โดยมากไม่ถึงตาย ถ้ามาโรงพยาบาลทันท่วงที ยาแก้พิษพวกนี้ใช้ อะโตรปีน |
การทำลายภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลงโดยวิธีการฝังดิน | ๔. พัยรีธรัม (Pyrethrum) ยาฆ่าแมลงจำพวกนี้ทำมาจากดอกไม้พวกดอกเบญจมาศ เมื่อสกัดออกมาจากส่วนที่เป็นดอก จะได้สารที่เรียกว่า พัยรีธริน (Pyrethrins) อาจจะสกัดด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำมันก๊าด ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด และต่อมาสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ มีโครงสร้างเลียนแบบพัยรีธริน (Pyrethrins) เรียกว่า พัยรีธรอยด์ (Pyrethroids) มีคุณสมบัติฆ่าแมลง เช่นเดียวกัน แต่ประสิทธิภาพสูงกว่า มีหลายชนิด ได้แก่ ออลเลตธริน (Allethrin) โพรธริน (Prothrin) โพรพาทธริน (Proparthrin) และไซฟลูธริน (Cyfluthrin) เป็นต้น มีพิษต่อแมลงสูงแต่ความ เป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นต่ำ ทั้งพัยรีธริน และพัยรีธรอยด์ รวมเรียกว่า พัยรีธรัม มีทั้งชนิดเป็นผง และเป็นน้ำ ชนิดเป็นน้ำละลายอยู่ในตัวทำละลาย เช่น น้ำมันก๊าด ออก ฤทธิ์ได้รวดเร็วได้ผลทันใจ โดยมีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว และรุนแรงที่เซลล์ประสาท ทำให้แมลงตายได้ง่าย อันตรายจากยาฆ่าแมลงพวกนี้มีน้อย นอกจากกินเข้าไปก็จะมีอาการทางประสาท ตื่นเต้น กระสับกระส่าย ถ้าอาการรุนแรงอาจชัก หมดสติ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ |
ผักควรทำให้สุกก่อนนำมารับประทานเพื่อทำลายยาฆ่าแมลงที่ตกค้างให้หมดไป | ยาฆ่าแมลงดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เมื่อนำออกมาจำหน่าย บางบริษัทอาจจะนำมาผสมกัน ๒ ชนิด หรือ ๓ ชนิด รวมกันก็ได้ เช่น ยาฆ่าแมลง ไบกอนเขียว นำเอาพวกออร์กะโนฟอสเฟต ผสมกับพวกคาร์บาเมต และผสมกับพวกพัยรีธรัม (dichlorvos + propoxur + cyfluthrin) เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และพิษน้อยลง วิธีการที่จะนำยาฆ่าแมลงไปใช้ส่วนใหญ่ใช้วิธีพ่น เช่น ในการปราบยุง ซึ่งนำไข้มาลาเรีย ใช้ ดีดีที พ่นแบบตกค้าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับยุงที่นำไข้เลือดออก จะพ่นแบบนั้นไม่ได้ เพราะยุงลายมีนิสัยแตกต่างกันออกไปจากยุงก้นปล่อง เกาะไม่เป็นที่เป็นทางแน่นอน จึงต้องพ่นสารเคมีให้สัมผัสกับยุงโดยตรง เลือกสารเคมี ที่ปลอดภัย และพ่นให้ลอยฟุ้งอยู่ในบรรยากาศ เมื่อยุงบินมาสัมผัสถูกสารเคมีนั้นๆ ก็ตายไป วิธีการนี้เรียก พ่นไปในอากาศ (Space Spray) จะปฏิบัติงานในช่วงเวลาหากินของยุงที่เป็นพาหะ วิธีการพ่นที่ใช้กันทั่วไปมี ๒ วิธี คือ ๑. การพ่นฝอยละออง (Ultra Low Volume) เป็นการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีความเข้มข้นสูงจำนวนน้อย เช่น คลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยแรงลมที่มีความเร็วสูง เม็ดน้ำยามีขนาดเล็กกว่า ๕๐ ไมครอน จะฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศ เป็นฝอยละออง เครื่องพ่นมีทั้งแบบติดรถยนต์ และแบบสะพายหลัง ๒. การพ่นหมอกควัน (Fogging Spray) การพ่นน้ำยาโดยอากาศร้อนจากเครื่องพ่นกลายเป็นหมอกควันฟุ้งกระจาย เครื่องพ่นหมอกควันมีทั้งแบบติดรถยนต์ และแบบหิ้ว โดยเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยาฆ่าแมลงพวกออร์กะโนฟอสเฟต ยังใช้กำจัดลูกน้ำของยุงลายที่นำไข้เลือดออก โดยการใช้เนื้อยาเคลือบบนเม็ดทราย เรียกว่า ทรายอะเบท (ABATE Sand granules) มีความเข้มข้น ๑% ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ และรับรองความปลอดภัยใส่ลงไปในตุ่มน้ำ ที่เก็บน้ำใช้ ขนาด ๑ กรัมต่อน้ำ ๑๐ ลิตร หรือ ๒๐ กรัม (๑ ช้อนโต๊ะพูน) ต่อโอ่งประมาณ ๑๐ ปี๊บ สามารถกำจัดลูกน้ำของยุงลายได้ และอยู่ได้นาน ๑- ๒ เดือน สารเคมีบางชนิดใช้ไล่ยุง แมลง (Insect re- pellent) ป้องกันมิให้ยุงมากัดหรือไรมากัดได้ ตัว ไรอ่อน นำโรคสครับไทฟัส ซึ่งกำลังเป็นปัญหา ของประเทศไทย ใช้ทาตามตัว เช่น ที่แขนหรือขา โดยมากที่นำมาจำหน่ายเป็นครีม สารเคมีพวกนี้มี ๒ กลุ่ม คือ ๑. ไดเมธิลธาเลต (Dimethylphthalate) ๒. ไดเอธิลโทลูอะมีด (Diethyltoluamide) ยาฆ่าแมลงนับว่ามีอันตรายมาก ควรมีมาตรการ เพื่อป้องกันอันตรายเหล่านี้ คือ ๑. เก็บย่าฆ่าแมลงไว้ในที่มิดชิดแยกออกจากของประเภทอื่น และมีฉลากเห็นชัดเจน เพื่อป้องกันการหยิบผิด ควรเก็บไว้ในตู้หรือห้องที่สามารถใส่กุญแจได้ ๒. เก็บไว้ห่างจากเด็ก มิให้เอาไปเล่นได้ ๓. เก็บไว้ให้ห่างจากอาหารที่มนุษย์และสัตว์ใช้บริโภค ๔. ควรเก็บไว้ในถุงและภาชนะเดิม ไม่ควรจะถ่ายใส่ถุงและภาชนะอื่น เพราะจะทำให้ไม่ทราบว่า เป็นสารชนิดใด ๕. อ่านคำแนะนำที่ติดมากับภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีให้เข้าใจดีเสียก่อน รวมทั้งวิธีป้องกัน และแก้พิษ ๖. อย่ารับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ใน ขณะที่ทำการฉีดหรือพ่น หรือผสมยาฆ่าแมลง ควรจะล้างมือ ล้างหน้า และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที หลังสิ้นสุดการพ่น ๗. อย่าใช้เคมีภัณฑ์จำนวนมากกว่าที่แนะนำไว้ในฉลาก ๘. อย่าหายใจเอาฝุ่นละอองของยาฆ่าแมลงขณะที่ทำการพ่น ป้องกันโดยการสวมหน้ากาก ๙. ระวังอย่าให้สารเคมีกระเด็นถูกตัว ถ้าถูกตัวต้องรีบไปล้างด้วยน้ำและสบู่ทันที ๑๐. ทำลายภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีด้วยวิธีฝังหรือเผาเสีย เมื่อใช้สารนั้นหมดแล้ว ผักหรือผลไม้หากสงสัยว่า มียาฆ่าแมลงติดค้างอยู่ ควรล้างน้ำหลายๆ ครั้ง อาจช่วยลดปริมาณที่ติดค้างอยู่ได้บ้าง ถ้าเป็นผักทำให้ร้อน โดยการต้มหรือทำให้สุก เช่น ทอดหรือผัด ยาฆ่าแมลงที่ติดค้างอยู่จะถูกทำลายหมดไป |