เล่มที่ 23
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยสมัยโบราณ

            สังคมไทยในสมัยโบราณ มีโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นแบบชุมชนบุพกาลมี "บ้าน" หรือชุมชนหมู่บ้านเป็นรากฐาน มีหลักฐานว่า สภาพสังคมไทยนอกประเทศไทยบางแห่ง หมู่บ้านร่วมกันครอบครองที่นา มีการแบ่งปันที่นาในหมู่สมาชิก โดยปรับเป็นระยะ เพื่อความเท่าเทียมของสมาชิกชุมชนหมู่บ้าน เพราะสมาชิกจะมีการย้ายออกหรือเข้า ตายหรือเกิดใหม่เป็นระยะ การผลิตเป็นแบบพอยังชีพ ทำเองใช้เอง มีความเชื่อในธรรมชาติ และบรรพบุรุษที่แสดงออกด้วยการนับถือผี และมีการปกครองตนเอง ซึ่งยังปรากฏร่องรอยการปกครองตนเองเหลืออยู่ ในระบบสภาผู้เฒ่าของหมู่บ้านในภาคอีสานบางแห่ง

            ต่อมาชุมชนบุพกาลไทยได้วิวัฒนาการเข้าสู่ระบบศักดินา เกิดรัฐ มีเจ้าฟ้าหรือกษัตริย์ดำรงฐานะเป็นตัวแทนชุมชนใหญ่ "เมือง" ซึ่งเป็นที่อยู่ และฐานอำนาจของเจ้าฟ้าเกิดขึ้น ชุมชนไทยได้สร้าง "เมือง" หรือรัฐไทโบราณขึ้นหลายแห่งในภูมิภาคนี้ กระจายอยู่ทางภาคเหนือ และในดินแดนตอนเหนือ นอกอาณาเขตไทย แผ่กระจายเป็นรูปพัด "เมือง" เหล่านี้อาศัยการเรียกเก็บผลิตผลส่วนเกินจากชุมชน หรือ "บ้าน" ผ่านระบบส่งส่วย ทั้งส่วยที่เป็นแรงงาน และสิ่งของ โดยปล่อยให้การทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง และการจัดการความสัมพันธ์ภายในชุมชน เป็นเรื่องภายในของชุมชนเอง

            สำหรับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของขอมและมอญ วัฒนธรรมไทยได้เผยแพร่เข้ามาภายหลัง ก่อนสมัยสุโขทัย ยังไม่ปรากฏหลักฐานการใช้อักษรไทในจารึกต่างๆ ของสังคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปรากฏร่องรอยคำภาษาไทในจารึกต่างๆ แล้ว ซึ่งแสดงว่า มีกลุ่มคนไทยมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากจนส่งอิทธิพลทางภาษา ต่อมาเกิดการคิดอักษรไทของสุโขทัย จนกลายเป็นภาษาไทสยาม และแพร่หลายตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงคาบสมุทรทางใต้

            อยุธยาเป็นเมืองที่เกิดหลังสุโขทัยเล็กน้อย ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสม ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ กำลังทหารที่เข้มแข็ง และการจัดระเบียบสังคมแบบศักดินาที่รัดกุมเด็ดขาด ผสานกับการที่รัฐผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ จึงสามารถพัฒนาขึ้นเป็นทั้งเมืองหลวง เมืองท่า และเมืองการค้านานาชาติ อยุธยา อาศัยแรงงาน ซึ่งเกณฑ์จากไพร่เป็นรากฐานในการสร้างอาณาจักร ไพร่หรือกำลังคน เป็นทรัพยากรสำคัญ สำหรับการพัฒนาความมั่งคั่ง และความมั่นคงของรัฐต่างๆ จึงมีศึกสงครามแย่งชิงไพร่พล ระหว่างอยุธยากับรัฐข้างเคียงเป็นนิจ เกิดการกวาดต้อนครัวเรือนชาวบ้านมาเป็นกำลังให้รัฐตนเสมอ มีการเกณฑ์แรงงานอย่างแข็งขัน คือ ปีละ ๖ เดือน หรือที่เรียกว่า "เข้าเดือนออกเดือน" หญิงไทยมีบทบาทในเศรษฐกิจชุมชนค่อนข้างสูง เพราะการเกณฑ์แรงงานเน้นที่ชาย นอกจากการเกณฑ์แรงงาน เศรษฐกิจของรัฐสมัยอยุธยายังอยู่ได้ด้วยส่วย ฤชา จังกอบและอากร จากสาเหตุทั้งหมดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐของคนใช้ภาษาไท-ลาว อื่นๆ ในละแวกนี้ อยุธยาจึงกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญมั่นคั่ง และเติบโตอย่างรวดเร็วมาก มีอิทธิพลเหนืออาณาจักรต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และรักษาความเป็นศูนย์กลางความเจริญได้ต่อเนื่องยาวนาน

            ในปลายสมัยอยุธยา การค้ากับต่างประเทศ และภายในประเทศเจริญรุ่งเรืองมาก จนต้องกำหนดที่ทำกินให้ชาวต่างประเทศ ซึ่งมาจากหลายชาติไว้เป็นกลุ่ม เรียกว่า บ้านชาวต่างประเทศ ตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างของตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา ในจำนวนนี้ ชาวจีนมีลักษณะเป็นชนชาติพิเศษที่ติดต่อกันมาแต่โบราณ และอพยพเข้ามามาก ไม่เพียงแต่พ่อค้ายังมีแรงงานอิสระมาด้วย ส่วนภายในประเทศมีตลาดสินค้าประเภทต่างๆ กระจายทั่วไป เช่น ตลาดป่าฟูก ตลาดบ้านสมุด ตลาดถุงหมาก ตลาดป่าผ้าเขียว ตลาดป่าขนม ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร รวมแล้วในสมัยนั้นมีตลาดขายของชำ ๒๑ แห่ง ตลาดสดขายตั้งแต่เช้าถึงเย็น ๔๐ แห่ง ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะอยุธยาเป็นนครใหญ่ มีประชากรประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน

            สงครามกับพม่า ทำให้อยุธยาล่มสลาย ธนบุรี และกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ยังคงเป็นเมืองหลวงที่เป็นทั้งเมืองท่า และเมืองการค้า สืบต่อจากอยุธยา ภาวะสงครามทำให้การเกณฑ์แรงงานในสมัยธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ลดลงเหลือปีละ ๔ เดือน การขาดแคลนแรงงานโยธาทำให้รัชกาลที่ ๑ ต้องเกณฑ์ไพร่จากประเทศราชมาใช้ในคราวขุดคลองพระนคร และสร้างกำแพงเมือง โดยได้ชาวเขมรมาขุดคลอง ๑๐,๐๐๐ คน และชาวเวียงจันทน์มาช่วยก่อสร้างกำแพงเมือง ๕,๐๐๐ คน ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แรงงานอิสระของชาวจีนเริ่มเข้าสู่การจ้างงานของรัฐเกี่ยวกับการขุดคลองลัด หลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ จากนั้นก็ใช้วิธีจ้างแรงงานจีนขุดคลอง และจ้างเกี่ยวกับงานโยธามากขึ้น ระบบเจ้าภาษีนายอากรก็เริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ และขยายตัวอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ การเกณฑ์แรงงานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ลดลงเหลือปีละ ๓ เดือน แต่ภายใต้การหารายได้เข้ารัฐแบบใหม่ คือ การผูกขาดประมูลภาษีอากร และการขยายตัวของการค้า กรุงเทพฯ ได้เจริญเติบโต และมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตามรายงานของจอห์น ครอฟอร์ด ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษเข้ามาเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการค้าในสมัยรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ กรุงเทพฯ มีประชากรถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน นับว่าเติบโตขึ้นทัดเทียม และล้ำหน้าอยุธยาในระยะเวลาสั้นๆ

            พัฒนาการสมัยหลังสัญญาบาวริง พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นอย่างไร
สัญญาบาวริง (พ.ศ. ๒๓๙๘) ทำให้การผูกขาดการค้าโดยรัฐสิ้นสุดลง การค้าเสรีกับต่างประเทศได้เริ่มขึ้นและขยายตัวอย่างเร็วมาก โครงสร้างสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยที่เดิมเป็นของป่าจากการเก็บส่วย ได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสินค้าเกษตรที่ผลิตเพื่อขาย ซึ่งมีข้าวเป็นสินค้าหลักแทนที่ส่วนโครงสร้างสินค้านำเข้าระยะแรกเป็นสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสิ่งทอเป็นสำคัญ จนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเปลี่ยนเป็นมีสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตเข้ามาร่วมด้วยบ้าง

            ก่อนหน้านี้ การค้าของป่ากับต่างประเทศไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตแบบพอยังชีพของชุมชนหมู่บ้านไทย ผลิตผลจากป่าเป็นผลิตผลส่วนเสริมของระบบการผลิตแบบพอยังชีพ อันเป็นระบบการผลิตพื้นฐานของหมู่บ้าน แต่การค้ากับต่างประเทศภายใต้แรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

            พื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มจาก ๕.๘ ล้านไร่ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ขยายเป็น ๙.๒ ล้านไร่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยการขุดคลองในที่ลุ่มภาคกลาง แปรเป็นพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งราชวงศ์และขุนนางได้สิทธิจับจองที่นาที่ขยายไปนี้ ก่อให้เกิดระบบเจ้าของที่ดินและผู้เช่านาขึ้น ที่ดินที่เหลือเป็นการถือครองของชาวนาอิสระ การผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก ๒.๔ ล้านหาบในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็น ๘.๑ ล้านหาบในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ขณะเดียวกันไพร่มักหลีกเลี่ยงการเกณฑ์แรงงานด้วยวิธีต่างๆ แม้แต่การเกณฑ์ไพร่พลเพื่อสงครามก็ไม่ได้ผลเกิดไพร่หนีนายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับสอดคล้องกับการขยายการผลิตข้าวเพื่อขาย ซึ่งต้องการแรงงานอิสระพอดี ต่อมาแรงงานอิสระยังเพิ่มขึ้นจากการลดภาษีรัชชูปการ (พ.ศ. ๒๔๓๐) และการเลิกทาส (เริ่ม พ.ศ. ๒๔๔๘) หลังจากมีการสร้างทางรถไฟ เนื้อที่เพาะปลูกข้าวได้ขยายไปตามลุ่มน้ำภาคเหนือ และที่ราบฝั่งแม่น้ำมูล-ชีในภาคอีสาน ระบบกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินระดับอาณาจักรที่เดิมเคยถือว่าเป็นของกษัตริย์ และระดับชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ค่อยๆ เปลี่ยนไปเกิดเป็นระบบกรรมสิทธิ์เอกชนขึ้นแทน โดยการริเริ่มของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่นา แต่เนื่องจากที่ดินมีอยู่มาก และชาวบ้านต้องการสิทธิทำกินในที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นสำคัญ ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของที่ดิน จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๕ ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเหนือที่ดินจึงเข้มแข็ง

            ในภาคเหนือมีระบบไพร่เช่นกัน แต่ไม่ซับซ้อนและไม่เข้มงวดนัก ชาวบ้านอยู่กันอย่างเสรี บุกเบิกที่ดินหรือเคลื่อนย้ายได้ สัญญาบาวริงแทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเหนือ หลังสัญญาบาวริง มีเพียงการทำไม้สักในภาคเหนือโดยทุนตะวันตก ๓ ใน ๔ บริษัทใหญ่เป็นของอังกฤษ เดิมไม้สักนี้ เป็นของเจ้าเมืองเหนือ ซึ่งได้ "ค่าตอไม้" จากบริษัททำไม้เป็นจำนวนมาก แรงงานที่ทำไม้ส่วนใหญ่เป็นขมุและเงี้ยว จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๙ รัชกาลที่ ๕ ได้โอนกรรมสิทธิ์ในป่าไม้มาเป็นของรัฐบาลกรุงเทพฯ และเก็บค่าภาคหลวง จากระบบสัมปทานแทน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผู้รับสัมปทาน หากแต่ขยายเพิ่มในเขตอื่น ชุมชนหมู่บ้านภาคเหนือยังคงรักษาเศรษฐกิจแบบพอยังชีพไว้อย่างเหนียวแน่น และรักษาระบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นระบบควบคุมและแบ่งปันการใช้น้ำของชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำเดียวกัน ที่ชาวบ้านคิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และยังใช้การได้มาจนถึงปัจจุบัน

            ในภาคใต้หลังสัญญาบาวริง การค้าผูกขาดโดยรัฐจากเจ้าเมืองถูกยกเลิกไป แต่สินค้ายังคงเป็นดีบุกและของป่า ชาวบ้านปลูกข้าวได้น้อยเพราะมีพื้นที่จำกัด แม้การทำเหมืองแร่เป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลไทย แต่การดำเนินงานจะเป็นของชาวจีนทั้งนายเหมืองและแรงงาน หลังจาก พ.ศ. ๒๔๔๓ นายทุนตะวันตกเข้าไปทำเหมืองแร่มากขึ้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ นายทุนตะวันตก ได้นำเรือขุดมาใช้ทำเหมืองแร่ด้วย อย่างไรก็ตามการทำเหมืองแร่ในภาคใต้ เป็นเพียงการขุดวัตถุดิบส่งออก ไม่ได้พัฒนาไปสู่การถลุงแร่ เพราะบริษัทอังกฤษซึ่งผูกขาดการซื้อแร่รายใหญ่ที่สุด ได้ส่งแร่ไปถลุงที่โรงงานของตนในสิงคโปร์และปีนัง ชาวบ้านภาคใต้เริ่มปลูกยางพาราเพื่อขายเมื่อทางรถไฟตัดผ่านเข้าไป แต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังมีจำนวนน้อย และมีลักษณะเป็นส่วนเสริมของเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงขยายตัวเพิ่มขึ้น

            ในภาคอีสานได้รับผลกระทบจากสัญญาบาวริงน้อยที่สุด เพราะการค้ามีน้อย ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากจากการเก็บภาษีรัชชูปการ เนื่องจากหาเงินยากมาก ทำให้ชาวบ้านต้องพยายามหาอะไรมาค้าขาย เมื่อมีการสร้างทางรถไฟเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเฉพาะเมืองตามริมทางรถไฟ การผลิตแบบพอยังชีพคงตัวมากที่สุดในภาคนี้ และเกิดกบฎชาวนาสูงสุด เพราะชุมชนหมู่บ้านไม่ยอมรับอำนาจบังคับจากส่วนกลาง

            ชาวจีนอพยพมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการค้าจากเดิมที่เป็นเจ้าของภาษีนายอากรจัดเก็บภาษีให้รัฐ ร่วมทุนกับเจ้านายและขุนนาง และทำการค้ากับชาวบ้านก็ได้แตกแขนงเป็นตัวแทนการค้าของทุนตะวันตกอีกด้วย ผู้ที่สะสมทุนได้ยังเปิดกิจการโรงสีและโรงเลื่อยแข่งกับทุนตะวันตก นอกจากนั้นชาวจีนจำนวนมากได้เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างสนองความต้องการแรงงานในเขตเมือง ประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นชาวจีน ชาวจีนจึงเป็นกลุ่มคนที่สัมพันธ์ทั้งกับรัฐและทุนตะวันตก จนถึงระดับชาวบ้านในชนบท เป็นความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่มีลักษณะพึ่งพาและขัดแย้งกันในตัว ชาวจีนเหล่านี้มักอยู่ใต้สังกัดสมาคมอั้งยี่ อิทธิพลของอั้งยี่มีมากจนทำให้รัฐหวั่นเกรงว่า ชาวจีนจะก่อจลาจลและยึดกรุงเทพฯ บางครั้งความขัดแย้งระหว่างสมาคมอั้งยี่กับรัฐได้ขยายตัวเป็นความรุนแรง ชาวจีนทั้งพ่อค้าและแรงงานเหล่านี้ ระยะแรกเข้ามาทำมาหากินเพื่อส่งเงินกลับประเทศ ต่อมาได้ตั้งรกรากกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีน และผสมกลมกลืนไปกับคนไทยทั้งทางสายเลือดและวัฒนธรรม

            ในส่วนของรัฐ การคุกคามของตะวันตกทำให้รัฐไทยอ่อนแอลงมาก ทางการเมือง ไทยเสียดินแดนจำนวนมากให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ประเทศคู่ค้าตะวันตก ทางเศรษฐกิจ รัฐไทยสูญเสียรายได้จากการค้าผูกขาดโดยรัฐ ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมเดิมเปลี่ยนแปลงจนราชวงศ์และขุนนางอยู่ในภาวะคลองแคลน รัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ปัญหาโดยการปรับปรุงราชสำนักให้เข้มแข็ง เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บและควบคุมภาษีให้อยู่ในความควบคุมของราชสำนัก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งยังหารายได้เพิ่มโดยการเร่งส่งออกข้าว จนมีเงินมาปฏิรูปการปกครอง สร้างระบบราชการซึ่งมีรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง สร้างวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวโดยใช้ภาษาไทยกลาง สร้างระบบโรงเรียนกระจายการศึกษาจากส่วนกลางไปให้เร็วที่สุด รวมทั้งตกลงกับมหาอำนาจตะวันตกสร้างเส้นเขตแดนที่ชัดเจน และสร้างความหมายเกี่ยวกับความเป็นไทยใหม่โดยถือว่า คนที่มีสัญชาติไทยคือคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยอีกด้วย เปลี่ยนรัฐศักดินาแบบดั้งเดิมเป็นรัฐชาติภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทน การรวมศูนย์อำนาจนี้ได้รับการต่อต้านทั้งจากเจ้าเมืองในระบบประเทศราชแบบเดิม เจ้าภาษีนายอากรจีน และชาวนาซึ่งก่อกบฎที่ต่างๆ เป็นระยะๆ แต่รัฐบาลกลางสามารถคลี่คลายเหตุการณ์ได้ โดยใช้ทั้งการปราบปรามและการดำเนินกุศโลบายต่างๆ ทำให้สังคมไทยเป็นปึกแผ่นขึ้น แต่ส่งผลให้เกิดระบบข้าราชการและกองทัพที่ใหญ่โตและมีอำนาจมาก

            การขยายตัวทางการค้าและการเงินมาจากการขายผลิตผลส่วนเกินที่ได้จากภาคเกษตร การถ่ายเทเงินค่อนข้างเป็นการถ่ายเททางเดียว มีการแจกจ่ายกลับมาทำนุบำรุงชนบทน้อยมาก การเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรมาจากการขยายพื้นที่เป็นสำคัญ เศรษฐกิจของชุมชนชาวนาดำรงรักษาการผลิตแบบพอยังชีพเอาไว้เป็นหลัก และผลิตเพื่อขายเป็นส่วนเสริม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ชาวบ้านจึงทำทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน อีกทั้งการผลิต เพื่อขายก็ยังมีจำนวนมาก จนการค้าและการเงินขยายตัวอย่างมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมกลับเกิดขึ้นอย่างจำกัด เพราะผลตอบแทนจากการค้าและการเงินมีมากกว่าและรวดเร็วกว่า ทั้งยังมีสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เข้ามาตีตลาดอุตสาหกรรมพื้นเมืองและอุตสาหกรรมภายในประเทศอีกด้วย เช่น น้ำตาลที่ไทยเคยส่งออกมากตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาจนถึงก่อนสัญญาบาวริงค่อยๆ ลดน้อยจนหมดไปเพราะน้ำตาลจากชวาราคาถูกกว่าหัตถกรรมทอผ้า ในภาคกลางก็ค่อยๆ สูญหายไป เพราะผ้าทอจากต่างประเทศมีราคาถูก

            พัฒนาการสมัยหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นอย่างไร
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เลิกนโยบายทุนนิยมแห่งรัฐ เริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า โดยออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ระดมทุนจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีกำไรและตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ได้รับการส่งเสริม รัฐบาลยังลงทุนสร้างระบบขนส่ง คมนาคม ไฟฟ้า เขื่อน และสาธารณูปการต่างๆ ให้ด้วย ซึ่งคล้ายกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่รัฐเคยนำรายได้จากเศรษฐกิจด้านข้าวมาใช้จ่ายในการปฏิรูปสังคม การลงทุนสร้างสาธารณูปโภคของรัฐในยุคนี้ ก็อาศัยรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมมาใช้เพื่อการนี้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐยังกดราคาข้าวในประเทศให้มีราคาถูก เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำ จูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันก็ห้ามการรวมตัวจัดตั้งสมาคมแรงงานอย่างเคร่งครัดถึง ๑๔ ปีเต็ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๕ ทั้งยังยกเลิกกฎหมายจำกัดการสะสมที่ดินอีกด้วย

            ผลจากการที่จอมพลสฤษดิ์ยกเลิกกฎหมายจำกัดการสะสมที่ดิน ทำให้ระบบเจ้าของที่ดินให้ชาวนาเช่าที่ดินยังคงดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันก็เกิดการกว้านซื้อสะสมที่ดินของผู้มีอิทธิพลและมีเงิน ช่องว่างทางสังคมมีมากขึ้น จอมพลสฤษดิ์ยังฟื้นฟูบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นด้วย กลุ่มเจ้านายและขุนนางเก่าค่อยๆ แปรรูปมาลงทุนในกิจการต่างๆ และกลายเป็นกลุ่มทุนที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่ดินยังคงถูกขัดขวางเรื่อยมา แม้จะมีกฎหมายปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพราะการเคลื่อนไหวของชาวนา แต่ก็เป็นกฎหมายที่ใช้อย่างจำกัดมากและไม่ค่อยได้ผลนัก

            จากสมัยของจอมพลสฤษดิ์ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๖) โลกยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็นและสงครามตัวแทนระหว่างค่ายทุนนิยมและค่ายสังคมนิยม ก่อนที่ไทยจะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเทศอาณานิคมเดิมได้รับเอกสารเป็นอันมาก แต่ยังคงมีลักษณะทางเศรษฐกิจคล้ายแบบอาณานิคมอยู่ สำหรับประเทศไทยแม้ไม่ใช่ประเทศอาณานิคม แต่ระบบเศรษฐกิจไทยก็ถูกดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกแบบกึ่งบังคับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ แล้ว จึงมีลักษณะทางเศรษฐกิจเป็นแบบกึ่งอาณานิคม ต้องผลิตขั้นปฐมภูมิตามที่ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางต้องการ เมื่อประเทศอาณานิคมต่างๆ ในโลกเป็นเอกราช ความสัมพันธ์ทางการผลิตกับเมืองแม่เดิมเปลี่ยนไป การแบ่งงานกันทำในยุคนี้เปลี่ยนไปสู่การลงทุนโดยตรงจากประเทศแม่ เพื่อลดต้นทุนสินค้าจากค่าแรงงานและการขนส่ง เมื่อไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก โดยการหลั่งไหลเข้ามาของทุนจากต่างประเทศ

            เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเงินช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกา อีกส่วนเป็นเงินลงทุนของธุรกิจที่เข้ามาเพื่อผลิตสินค้าขายในประเทศ ภายใต้สิทธิพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลจูงใจ และบางกรณีก็ใช้ไทยเป็นแหล่งถ่ายเทเครื่องจักรที่ล้าสมัยจากประเทศแม่ เพื่อการผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำและไม่ต้องแข่งขันกับตลาดโลก ระยะแรกสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง ต่อมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงเพราะเสียหายอย่างหนักในสงครามตัวแทน โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม ญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้นกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยแทน และเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ญี่ปุ่นก็กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

            ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แม้ว่ามีพลังการแข่งขันและสิทธิพิเศษเหนือกว่าธุรกิจภายในประเทศ แต่ก็ต้องอาศัยเครือข่ายการค้าของธุรกิจดั้งเดิมเหล่านั้นกระจายสินค้าและบริการ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของธุรกิจขนาดใหญ่ จึงขยายตัวตามไปด้วยในช่วงนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอ แก้ว ซีเมนต์ เหล็ก กระดาษ อุปกรณ์ประกอบชิ้นส่วนขยายตัวก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าขั้นปฐมภูมิยังเป็นฐานรายได้ที่สำคัญที่รัฐนำมาพัฒนาประเทศ และรัฐยังมีนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ธุรกิจการเกษตรขยายตัวจากสินค้าข้าวและยางพาราไปสู่การส่งออกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ โดยมีการแปรรูปสินค้าเกษตรบ้าง เพื่อสะดวกต่อการส่งออก ปศุสัตว์และธุรกิจอาหารสัตว์เริ่มขยายตัวบ้าง การขยายตัวของภาคธุรกิจเอกชนทำให้จำนวนคนชั้นกลางและแรงงานเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในภาครัฐบาล จำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างมากตามหน่วยงานต่างๆ ที่แตกแขนง สิบปีหลังจากแผนพัฒนาฯ คนชั้นกลางจึงขยายตัวขึ้นมากทั้งจากภาคธุรกิจและภาครัฐบาล

            ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ผลักดันให้รัฐออก พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ห้ามก่อตั้งธนาคารใหม่ และห้ามเปิดสาขาธนาคารต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอยู่ ๑๕ แห่ง จึงดำเนินกิจการในลักษณะผูกขาดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเครือข่ายธุรกิจอุปถัมภ์อื่นๆ ของคณะทหารขยายตัวต่อเนื่องมาจนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ การเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้ทำให้จอมพลถนอม สิ้นอำนาจลง เครือข่ายธุรกิจที่มีทหารอุปถัมภ์ค่อยๆ หมดบทบาทไป เปิดทางให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมีโอกาสเติบโตมากขึ้น สำหรับธุรกิจธนาคาร การเป็นอิสระจากคณะทหารกลับทำให้สามารถสะสมความมั่งคั่งและขยายบทบาทเพิ่มเพราะคล่องตัวมากขึ้น โดยยังครองความได้เปรียบจากการผูกขาดอยู่ บรรยากาศทางการเมืองที่เกิดหลังเหตุการณ์ "๑๔ ตุลา" ทำให้บทบาทของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้โดดเด่นขึ้น ส่วนทุนของกลุ่มเจ้านายก็ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน