ระบบวิทยุประเภทต่างๆ
สถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ จะใช้ความถี่ของตัวพา ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญาณรบกวนกัน เมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงประกาศว่า กระจายเสียงด้วยความถี่ ๘๙.๕ เมกะเฮิรตซ์ หมายความว่า ตัวพานั้น ใช้ความถี่ ๘๙.๕ เมกะเฮิรตซ์ วิทยุกระจายเสียงปัจจุบัน จะเป็นแบบ เอเอ็ม หรือเอฟเอ็ม
สถานีส่งวิทยุและเสาอากาศ
ระบบเอเอ็ม ระบบเอฟเอ็ม
เครื่องส่งวิทยุระบบเอเอ็ม และเอฟเอ็มนั้น ประกอบด้วยส่วนที่เป็นมอดดูเลเตอร์ ซึ่งเป็นวงจรที่นำเอาสัญญาณข้อมูล ไปมอดดูเลตตัวพา ผลที่ได้จะเป็นสัญญาณเอเอ็ม หรือเอฟเอ็ม ที่มีความถี่ศูนย์กลางอยู่ที่ความถี่ของตัวพา หลังจากนั้น จะถูกขยายให้มีกำลังสูงเท่าที่ต้องการแล้ว จึงส่งสัญญาณไปยังเสาอากาศ เพื่อให้แผ่กระจาย เป็นคลื่นวิทยุออกไป เครื่องรับวิทยุ เอเอ็มและ เอฟเอ็ม ที่มีขายในท้องตลาด จะเป็นเครื่องรับที่เรียกว่า ระบบซูเปอร์เฮตเทอโรไดน์ (super- heterodyne) โดยมีหลักการทำงานอย่างคร่าวๆ ดัง ต่อไปนี้
ส่วนแรกของเครื่องรับคือ เสาอากาศ ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงคลื่นวิทยุ เป็นสัญญาณไฟฟ้า ปกติสัญญาณนี้ จะอ่อนมาก สัญญาณที่ได้รับ จะอ่อนลง ถ้าระยะทางจากเครื่องส่งเพิ่มขึ้น เสาอากาศนี้ จะรับคลื่นวิทยุจำนวนมากมายที่อยู่ในอากาศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีการกรองเอาสัญญาณที่ไม่ต้องการออก เพื่อที่เครื่องรับจะได้เลือกเฉพาะสถานีวิทยุที่ต้องการ
วิธีการกรองจะใช้เทคนิคที่ขยับความถี่ของสถานีที่ต้องการ ไปยังความถี่ที่คงตัวค่าหนึ่ง ความถี่คงตัวนี้เรียกว่า ความถี่ไอเอฟ (IF ย่อ มาจาก intermediate frequency) ระบบเอเอ็ม จะใช้ความถี่ ๔๕๕ กิโลเฮิรตซ์ และระบบเอฟเอ็ม จะใช้ความถี่ ๑๐.๗ เมกะเฮิรตซ์ แล้วจึงผ่านวงจรกรองหรือฟิลเตอร์ ที่ปล่อยให้ความถี่ไอเอฟ และใกล้เคียงผ่านได้เท่านั้น วงจรกรองนี้เรียกว่า ไอเอฟฟิลเตอร์ วงจรที่ทำหน้าที่ขยับความถี่นั้น เรียกว่า วงจรมิกเซอร์ (mixer) ซึ่ง ทำการคูณสัญญาณที่รับเข้ามากับสัญญาณไซน์ ที่สร้างขึ้นในเครื่องรับ ความถี่ของสัญญาณไซน์ จะมีค่าเท่ากับความถี่ของสถานีที่ต้องการ บวกกับ ๔๕๕ กิโลเฮิรตซ์ (หรือ ๑๐.๗ เมกะเฮิรตซ์ กรณีเป็นเอฟเอ็ม) ดังเช่น ถ้าต้องการรับสถานีวิทยุเอเอ็มความถี่ ๖๕๐ กิโลเฮิรตซ์ ผู้ฟังก็จะปรับปุ่มเลือกสถานีบนเครื่องรับ จนหน้าปัดบอกว่า ๖๕๐ กิโลเฮิรตซ์ ปุ่มนี้เองจะไปเปลี่ยนความถี่ของวงจรกำเนิดสัญญาณไซน์ ให้สร้างความถี่ที่ ๖๕๐ + ๔๕๕ = ๑,๑๐๕ กิโลเฮิรตซ์ วงจรมิกเซอร์ จะทำหน้าที่คูณสัญญาณความถี่ ๑,๑๐๕ กิโลเฮิรตซ์ กับสัญญาณที่เข้ามาจากเสาอากาศ ผลของการคูณสองสัญญาณเข้าด้วยกันจะทำให้ เกิดสัญญาณสองสัญญาณ สัญญาณที่หนึ่งจะมี ความถี่เท่ากับผลต่างของความถี่ของสัญญาณ ทั้งสอง สัญญาณที่สองจะมีความถี่เท่ากับผลบวก ของความถี่ของสัญญาณทั้งสอง

เครื่องมือสื่อสารภายในห้องนักบิน (Cockpit)
เนื่องจากสัญญาณจากเสาอากาศมีมากมาย ผลของวงจรมิกเซอร์ ก็มีสัญญาณมากมาย เช่นเดียวกัน แต่สัญญาณส่วนมาก จะไม่สามารถผ่านไอเอฟฟิลเตอร์ สัญญาณของสถานีที่ผ่านได้ก็คือ สถานีที่มีความถี่เท่ากับผลต่างของความถี่ของ สัญญาณไซน์ และความถี่ไอเอฟ ในกรณี ของตัวอย่างที่กล่าวไว้ สัญญาณไซน์มีความถี่ ๑,๑๐๕ กิโลเฮิรตซ์ ดังนั้น สถานีที่ผ่าน ไอเอฟฟิลเตอร์ ได้นั้น จะต้องมีความถี่ของตัวพา เท่ากับ ๑,๑๐๕-๔๕๕ = ๖๕๐ กิโลเฮิรตซ์
เมื่อผ่านไอเอฟฟิลเตอร์แล้ว ก็จะมีวงจรขยายสัญญาณไอเอฟ แล้วจึงผ่านวงจรดีมอดดูเลเตอร์ (demodulator) ซึ่งทำหน้าที่ดึงเอาสัญญาณข้อมูล ที่ขี่บนแอมปลิจูด (หรือสัญญาณข้อมูล ที่ขี่บนความถี่ ในกรณีของเอฟเอ็ม) ออกมา เมื่อได้แล้วก็จะ ผ่านวงจรขยายให้มีกำลังเพิ่มมากขึ้นตามที่ต้องการ เพื่อจะไปขับลำโพง กลายเป็นเสียงหรือดนตรี ออกมาการปรับปุ่มบนเครื่องรับวิทยุให้ดังมาก ดังน้อย ก็คือการปรับกำลังขยายของวงจรขยาย นั่นเอง ความถี่ที่ใช้ในการกระจายเสียงระบบ เอเอ็ม อยู่ในช่วง ๕๒๖.๕ กิโลเฮิรตซ์ ถึง ๑,๖๐๖.๕ กิโลเฮิรตซ์ ส่วนระบบเอฟเอ็มใช้ ความถี่ในช่วง ๘๗ เมกะเฮิรตซ์ ถึง ๑๐๘ เมกะเฮิรตซ์
สัญญาณที่มอดดูเลตแบบเอฟเอ็ม มีคุณภาพดีกว่าแบบเอเอ็ม เพราะว่าระบบเอฟเอ็มสามารถ กำจัดสัญญาณรบกวนได้ดีกว่าระบบเอเอ็ม แต่ว่าสัญญาณเอฟเอ็มต้องใช้ช่องความถี่ที่กว้างกว่า ทำให้การจัดสรรความถี่ให้กับสถานีทำได้น้อยรายกว่าการใช้ระบบเอเอ็ม