เล่มที่ 35
โรคพืชและ การจัดการด้วยวิธีชีวภาพ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การพัฒนาชีวภัณฑ์และสูตรสำเร็จ (Formulation)

            เชื้อปฏิปักษ์ที่ได้มีการคัดเลือกและทดสอบแล้วว่า มีความสามารถควบคุมโรคพืชได้ดีในห้องปฏิบัติการ และในสภาพไร่นา เมื่อจะพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์ เพื่อให้นำไปใช้ในเชิงการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้


ชีวภัณฑ์สูตรสำเร็จ

มาตรฐานที่เชื่อถือได้ (acceptable standard) 

            เชื้อปฏิปักษ์ที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องมีปริมาณของเชื้อได้มาตรฐานทุกๆ ครั้งที่ผลิต โดยต้องมีการระบุปริมาณของเชื้อต่อหน่วย น้ำหนักของผลิตภัณฑ์ ไม่มีเชื้ออื่นปะปน และผ่านการศึกษาทดสอบคุณภาพการควบคุมโรคว่า มีประสิทธิภาพคงที่สม่ำเสมอ


ชีวภัณฑ์สำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ

อายุการเก็บรักษานาน(acceptable shelf-life) 

            ชีวภัณฑ์ที่ดีจะต้องสามารถเก็บรักษาในภูมิอากาศที่ร้อนของประเทศไทยไว้ได้นาน โดยไม่ต้องมีการดูแลรักษามากนัก ทั้งในขณะที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้า หรือเมื่อเกษตรกรเก็บไว้ภายในบ้าน ปัจจุบันชีวภัณฑ์ที่ผลิตจะมีสูตรสำเร็จแบบต่างๆ ที่มีการเติมสารเพิ่มประสิทธิภาพความคงทนของเชื้อปฏิปักษ์ เช่น สารอาหาร สารยึดติดพืช สารป้องกันรังสี สารตรึงเชื้อ

ความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม (environmental safety)

            ชีวภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจะต้องไม่มีโทษต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสิ่งแวดล้อม คือ ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดความเสียหาย และเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ความสามารถใช้ร่วมกัน (combined use) 

            ชีวภัณฑ์หากสามารถนำไปใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ ได้ จะทำให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นการประหยัด ทั้งทุนทรัพย์ ตลอดจนความสะดวกสบายในการปฏิบัติที่ไม่ต้องเสียเวลามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ร่วมกับวิธีการเพาะปลูก ที่ช่วยส่งเสริมการอยู่รอดของเชื้อปฏิปักษ์ให้นานขึ้น หรือการลดปริมาณเชื้อโรคพืช เพื่อให้เชื้อปฏิปักษ์มีประสิทธิภาพ ในการควบคุมเชื้อโรคพืชได้สูงขึ้น