เล่มที่ 24
ปิโตรเลียมและการผลิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมา

            คำว่า "ปิโตรเลียม" มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "เพทรา" (Petra) แปลว่า หิน และคำว่า "โอลิอุม" (Oleum) แปลว่า น้ำมัน รวมความแล้ว ปิโตรเลียมจึงหมายถึง น้ำมันที่ได้มาจากหิน โดยไหลซึมออกมาเองในรูปของของเหลวหรือแก๊ส เมื่อแรกพบ ในอดีตกาล ชาวจีนได้ค้นพบปิโตรเลียมจากการเจาะบ่อเกลือ และรู้จักใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียม เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ในการต้มน้ำเกลือให้ระเหย จนได้เกลือสินเธาว์ ชาวอียิปต์โบราณ ใช้ปิโตรเลียมดองศพ ก่อนนำไปฝังในสุสาน เพื่อช่วยป้องกันมิให้ศพเน่าเปื่อย ในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย มีการนำเอาน้ำมันดิบมาเป็นวัสดุเชื่อมประสานก้อนอิฐเข้าด้วยกัน ในการก่อสร้าง และใช้ปูลาดถนน ในสมัยกรีกและโรมัน ได้มีการใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิง สำหรับตะเกียง และเป็นยาขี้ผึ้งสำหรับรักษาโรค ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก อาทิเช่น บริเวณรอบๆ ทะเลสาบแคสเปียน โรมาเนีย พม่า และอินเดีย ได้มีการนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ คือ เป็นเชื้อเพลิง สำหรับจุดให้แสงสว่าง และใช้ในการประกอบอาหาร ใช้เป็นวัสดุหล่อลื่น และใช้เป็นยารักษาโรค
ภาพวาดแสดงการขุดน้ำมันของชาวจีนในสมัยโบราณ

            บุคคลแรกที่ถือได้ว่าขุดพบน้ำมันคือ ซามูเอล เอ็ม เกียร์ (Samuel M. Kier) โดยในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ เขาได้ขุดพบน้ำมันโดยบังเอิญจากบ่อที่เขาขุดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny) ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) โดยเขาได้ตั้งชื่อน้ำมันดังกล่าวว่า "น้ำมันซีนีกา" (Seneca oil) ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมืองอเมริกัน ต่อมาเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันปลาวาฬ ซึ่งขณะนั้น นิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างกันอย่างแพร่หลาย และใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่น สำหรับเครื่องยนต์ต่างๆ จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการแสวงหาปิโตรเลียมมาใช้ทดแทน และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทเจาะหาน้ำมันชื่อ บริษัทซีนีกาออยส์ จำกัด (Seneca Oil Company) ขึ้นมา และเอ็ดวิน แอล เดรก (Edwin L. Drake) ก็ถูกส่งไปเจาะสำรวจหาน้ำมันที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) ไปทางทิศเหนือประมาณ ๘๐ กิโลเมตร หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือน เขาก็ขุดพบน้ำมันที่ระดับความลึก ๖๙.๕ ฟุต โดยมีน้ำมันไหลออกมาด้วยอัตรา ๑๐ บาเรลต่อวัน ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ และถือได้ว่า "ยุคตื่นน้ำมัน" ได้เริ่มต้นขึ้นในเชิงพาณิชย์ในโลก

            สำหรับประเทศไทยนั้น มีหลักฐานปรากฏเป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้วว่า เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้รับรายงานการไหลซึมออกมาของปิโตรเลียมที่ฝาง และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ก็ได้ใช้น้ำมันดิบดังกล่าวนี้ เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง ต่อมาเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็ได้สั่งให้มีการขุดบ่อตื้นขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำมันดิบที่ไหลซึมออกมา ในพื้นที่ดังกล่าว และบ่อน้ำมันแห่งนี้ จึงเป็นที่เรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า "บ่อหลวง" ต่อมาภายหลัง คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะ มาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง ในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน เข้ามาสำรวจธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบ และถ่านหินในประเทศไทยอีกด้วย

            ปิโตรเลียม คือ สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นของผสมของโฮโดรคาร์บอนชนิดต่างๆ ที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ทั้งที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว และแก๊ส หรือทั้งสามสภาพปะปนกัน แต่เมื่อต้องการจะแยกประเภทออกเป็นปิโตรเลียมชนิดต่างๆ จะใช้คำว่า น้ำมันดิบ (Crude oil) แก๊สธรรมชาติ (Natural gas) และแก๊สธรรมชาติเหลว (Condensate) โดยปกติน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ มักจะเกิดร่วมกัน ในแหล่งปิโตรเลียม แต่บางแหล่งอาจมีเฉพาะน้ำมันดิบ บางแหล่งอาจมีเฉพาะแก๊สธรรมชาติก็ได้ ส่วนแก๊สธรรมชาติเหลวนั้น หมายถึง แก๊สธรรมชาติในแหล่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินภายใต้สภาพอุณหภูมิ และความกดดันที่สูง เมื่อถูกนำขึ้นมาถึงระดับผิวดินในขั้นตอนของการผลิต อุณหภูมิ และความกดดันจะลดลง ทำให้แก๊สธรรมชาติกลายสภาพไปเป็นของเหลว เรียกว่า แก๊สธรรมชาติเหลว