เล่มที่ 27
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

๑) การเดินเส้นทางธรรมชาติ

            เส้นทางธรรมชาติ (nature trail) หมายถึง เส้นทางที่กำหนดไว้ หรือแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินชมสภาพธรรมชาติของพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใด เช่น บริเวณป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน ป่าพรุ ทั้งนี้เพื่อมิให้นักท่องเที่ยวหลงทาง หรือเดินสะเปะสะปะไปเหยียบย่ำทำลายพืชพรรณไม้ หรือได้รับอันตรายจากอุบัติภัย ตามเส้นทางเดิน จะมีเครื่องหมายบอกทาง รวมทั้งมีป้ายแนะนำชื่อพรรณไม้ต่างๆ และสิ่งที่นักท่องเที่ยวควรทราบในสถานที่นั้น มีการทำเส้นทางให้เดินได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร และไม่เกิดอันตราย


น้ำตกไทรโยคน้อย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

๒) การส่องสัตว์/ดูนก

            เป็นการท่องเที่ยว เพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าและนกชนิดต่างๆ ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน โดยการมองจากกล้องส่องทางไกล การส่องไฟฉายในช่วงเวลากลางคืน และการถ่ายภาพ บริเวณพื้นที่ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนสัตว์เปิด และอุทยานนกน้ำ รวมทั้งสถานที่บางแห่งซึ่งมีนกย้ายถิ่นตามฤดูกาลบินมาเกาะอาศัยอยู่เป็น จำนวนมาก


การท่องเที่ยวเพื่อศีกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าและนกชนิดต่างๆ

๓) การสำรวจถ้ำ/น้ำตก

            เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้เดินทางเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ถ้ำเป็นลักษณะภูมิประเทศ ที่พบมากในบริเวณภูเขาหินปูน หากเกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเลเรียกว่า ถ้ำทะเล ภายในถ้ำมักมีหินงอกหินย้อยสวยงาม หากเป็นถ้ำขนาดใหญ่อาจมีความยาวหลายร้อยเมตรภายในถ้ำก็ได้ และเป็นจุด ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวที่ต้องการ เข้าไปสำรวจ หรือดูความงดงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ


การไต่เขาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เหมาะสำหรับผู้ชอบการผจญภัย

๔) การปีนเขา/ไต่เขา

            เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยชิน และเพิ่งจะเริ่มนำเข้ามาเผยแพร่ โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ การปีนเขา/ไต่เขาต้องอาศัยประสบการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องมือ และอุปกรณ์ช่วย ปัจจุบันกิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทนี้ มีทำกันบ้างตามหน้าผาชันบริเวณชายฝั่งทะเลบางแห่ง ในภาคใต้ของประเทศ


การนั่งเรือชมภูมิประเทศตามริมแม่น้ำเพื่อดูวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ

๕) การล่องแก่ง

            ลำน้ำบางสายที่มีแก่งหินพาดผ่านกลางลำน้ำ ทำให้น้ำไหลเชี่ยวมากเป็นพิเศษ หรืออาจมีโขดหินโผล่พ้นพื้นน้ำ กั้นขวางทางเป็นตอนๆ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย ที่เรียกว่า การล่องแก่ง (rapids shooting) โดยนักท่องเที่ยวนั่งในเรือยางขนาดเล็ก หรือบนแพไม้ไผ่ ล่องไปตามลำน้ำที่น้ำไหลเชี่ยวกราก และพยายามหลบหลีกโขดหินต่างๆ ที่กั้นขวางอยู่ในลำน้ำ


การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศ ได้รับความนิยมกันในหมู่หนุ่มสาว

๖) การนั่งเรือ/แพชมภูมิประเทศ

            เป็นการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนสบายๆ ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทย ที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวได้ชมภูมิประเทศตามสองฝั่งลำน้ำ และสังเกตดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในท้องถิ่นนั้นๆ การนั่งเรือชมภูมิประเทศยังครอบคลุมไปถึงการท่องเที่ยว ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และในท้องทะเลด้วย

๗) การพายเรือแคนู/เรือคะยัก

            เรือแคนู (canoe) และเรือคะยัก (kayak) เป็นรูปแบบของเรือพายที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการท่องเที่ยวตามลำน้ำ เป็นเรือพายขนาดเล็ก นั่งได้ ๑ - ๓ คน ตัวเรือใช้วัสดุที่คงทนแต่มีน้ำหนักเบา ไม่ล่มได้ง่าย และพายได้คล่องตัว คำว่า แคนู เป็นชื่อเรือพายของชนพื้นเมืองแถบทะเลแคริบเบียนในอเมริกากลาง ส่วนคะยักเป็นชื่อเรือพายของชาวเอสกิโมในทวีปอเมริกาเหนือ การพายเรือแคนู และเรือคะยัก เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ มีทั้งการล่อง แก่งในลำน้ำ และการพายเรือชมทัศนียภาพตามชายฝั่งทะเล

๘) การขี่ม้า/นั่งช้าง

            การขี่ม้า หรือนั่งช้าง เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว ที่สร้างความ สนุกสนานตื่นเต้นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการนั่งช้าง ซึ่งเหมาะสำหรับการเข้าไปในบริเวณป่า อันเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้

๙) การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศ
    
            การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศ ให้ทั้งความเพลิดเพลินในการชมภูมิประเทศสองข้างทาง และการออกกำลังกาย จึงเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในวัยหนุ่มวัยสาว ปัจจุบันมีรถจักรยานที่ออกแบบให้ขับขี่ได้คล่องแคล่ว และเบาแรง เหมาะสำหรับการเดินทางในระยะไกล และการเดินทางขึ้นลงตามลาดเขา เรียกชื่อรถจักรยานดังกล่าวว่า รถจักรยานเสือภูเขา

๑๐) การกางเต็นท์นอนพักแรม

            การกางเต็นท์นอนพักแรมเป็นกิจกรรมที่นิยมทำกัน ในบริเวณอุทยานแห่งชาติ หรือในสถานที่ ซึ่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้โดยเฉพาะ เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน อาจมีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การส่องสัตว์ การสังสรรค์รอบกองไฟหรือการเล่นแคมป์ไฟ (campfire) การดูดาว

๑๑) การดำน้ำในทะเล

            การดำน้ำในทะเล เพื่อดูปะการัง พืชน้ำ และปลาสวยงามใต้น้ำ เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ "การดำน้ำในน้ำตื้น" ใช้เครื่องมือช่วยการหายใจ ที่เรียกว่า ท่อหายใจ (snorkel) เพื่อให้ผู้ดำน้ำสามารถดำน้ำได้ในระดับผิวน้ำ ที่ลึกไม่เกินความยาวของท่อหายใจ และ "การดำน้ำในน้ำลึก" อาศัยเครื่องมือช่วยการหายใจเป็นถังออกซิเจนขนาดเล็ก ผูกติดไว้กับผู้ดำน้ำ เป็นวิธีการดำน้ำ ที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า scuba diving