การ ใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรม
ได้มีการพัฒนา และนำเอาพลังงานนิวเคลียร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย และสามารถจำแนกออกเป็น ๓ แบบ ตามวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนี้
๑. อุตสาหกรรมด้านพลังงาน
ก. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตเรือสินค้า เรือเดินสมุทร เรือตัดน้ำแข็ง เรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์
ข. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

สัญลักษณ์แสดงอาหาร ที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว
๒. อุตสาหกรรมการฉายรังสี
การใช้รังสีพลังงานสูงมาฉายรังสีวัสดุ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทางชีววิทยา และทางกายภาพ เพื่อประโยชน์ในด้านการปรับปรุงคุณภาพของวัสดุ การกำจัดจุลินทรีย์บางชนิดในอาหาร โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
ก. การฉายรังสีอาหาร
ประเทศไทยมีศูนย์ฉายรังสีอาหาร และผลิตผลการเกษตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยเปิดเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ ใช้ไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ มีกัมมันตภาพรังสีตอนเริ่มต้น ๔๔,๐๐๐ คูรี สามารถให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรที่สำคัญคือ เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้ กุ้งแช่แข็ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม แหนม ถั่วเขียว และมะขามหวาน
ข. อุตสาหกรรมการปลอดเชื้อจุลินทรีย์
รังสีแกมมาจากไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ ได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการปลอดเชื้อโรค ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และเนื้อเยื่อ โดยมีจำนวนมากกว่า ๑๔๐ โรงงาน ใน ๔๐ ประเทศ สำหรับประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมปลอดเชื้อ จำนวน ๕ แห่ง
ค. อุตสาหกรรมพอลิเมอร์
รังสีแกมมา หรืออิเล็กตรอน สามารถไปช่วยเร่งการเกิดปฏิกิริยาในการผลิตสารพวกพอลิเมอร์ต่างๆ เช่น
- การฉายรังสีไม้เนื้ออ่อนที่ถูกอัดด้วยสารมอนอเมอร์ จะทำให้กลายเป็นสารพอลิเมอร์ ที่มีความแข็งมากขึ้น ใช้สำหรับทำพื้นปาร์เกต์หรือท่อนไม้ที่ต้องการให้มีความแข็งสูง
- การฉายรังสี เพื่อไปช่วยให้มอนอเมอร์จับตัวกับพอลิเมอร์เรียกว่า การต่อกิ่ง (grafting) เช่น การนำน้ำยางธรรมชาติมาฉายรังสี เพื่อทำกาวให้เหนียวขึ้น หรือทำยางพลาสติก
- การฉายรังสี เพื่อไปทำให้พอลิเมอร์จับตัวกันเป็นร่างแหสามมิติ และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนต่อความร้อน เช่น ใช้ในการผลิตฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟม
- การฉายรังสีน้ำยางธรรมชาติ ที่ผสมกับสารเคมี เพื่อให้มีการจับตัวกันของพอลิเมอร์เป็นแผ่นยาง (rubber vulcanization)

โรงกลั่นน้ำมันซึ่งนำ "เทคนิค นิวเคลียร์" มาใช้ประโยชน์ในระบบตรวจวัด และควบคุมการทำงานต่างๆ
๓. การตรวจวัดและควบคุมโดยเทคนิคนิวเคลียร์ในโรงงานอุตสาหกรรม
การใช้วัสดุกัมมันตรังสี และเทคนิคทางรังสีซึ่งเรียกว่า “เทคนิค นิวเคลียร์” มาใช้ประโยชน์ในระบบตรวจวัด และควบคุมต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย มีตัวอย่างคือ
- การใช้รังสีแกมมาวัดระดับของไหล หรือสารเคมีในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์
- การใช้รังสีแกมมาวัดระดับเศษไม้ในหม้อนึ่ง เพื่อการผลิตไม้อัดแผ่นเรียบ
- การใช้รังสีแกมมาวัดความหนาแน่นของน้ำปูนกับเส้นใยหิน เพื่อการผลิตกระดาษ และกระเบื้อง
- การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุมความหนาแน่นของเนื้อยางที่เคลือบบน แผ่นผ้าใบ เพื่อการผลิตยางรถยนต์
- การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุมความหนาของแผ่นเหล็ก
- การใช้รังสีบีตาวัดและควบคุมน้ำหนักของกระดาษในอุตสาหกรรม ผลิตกระดาษ
- การใช้รังสีเอกซ์วัดหาปริมาณตะกั่ว และกำมะถันในการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
- การใช้รังสีนิวตรอนในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ดิน
- การใช้รังสีแกมมาตรวจสอบรอยเชื่อมโลหะ การหารอยรั่วและรอยร้าวของวัสดุ
- การใช้รังสีแกมมาวัดหาปริมาณเถ้าในถ่านหินบนสายพานลำเลียง