การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสยกกองทหารจากพนมเปญขึ้นมาทางแม่น้ำโขงแล้วรุกเข้ามา ในเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ปักธงชาติฝรั่งเศสขึ้น ที่ทุ่งเชียงคำ คนไทยชักธงลงมาฉีกทิ้งเสีย ทูตฝรั่งเศสยื่นบันทึกถึงรัฐบาลไทยว่า เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เพื่อคุ้มครองคนในบังคับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสต้องนำเรือรบเข้ามาในน่านน้ำไทยหนึ่งลำ อังกฤษอ้างสถานการณ์ไม่ปลอดภัย นำเรือเข้ามาบ้าง วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำคุ้มกัน เรือสินค้าเข้ามาถึงปากน้ำ ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าส่งสัญญาณถาม เรือรบฝรั่งเศสไม่ตอบ เวลานั้นพระยาชลยุทธโยธิน (อังเดร ดู เปลซิส เดอ ริเชอลิเออ Andre du Plesis de Ri- chelieu ชาวเดนมาร์ก) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือไทยอยู่ที่นั่นด้วย ทางป้อมยิงปืนยับยั้ง เกิดการยิงโต้ตอบกันขึ้น เรือสินค้าฝรั่งเศสถูกปืนเกยตื้น และเรือรบฝรั่งเศสยิงถูกเรือ "มกุฎราชกุมาร" ของไทยเสียหาย ครั้งนั้น มีทหารบาดเจ็บ และเสียชีวิต นาย ออกุสต์ ปาวี ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลหลายข้อให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง รัฐบาลไทยโดยสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้แทนตอบไปว่า ข้ออื่นๆ เช่น ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายนั้น ไทยตกลง แต่ข้อที่ว่า ให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสนั้น ฝรั่งเศสไม่มีหลักฐาน หรืออำนาจอันชอบธรรมอันใด ปาวีถือว่า ไทยปฏิเสธจึงนั่งเรือรบออกปากน้ำไป แล้วประกาศปิดอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ การปิดอ่าว ทำให้กระทบกระเทือนถึงเรือชาติอื่นๆ ด้วย และอังกฤษก็สงวนท่าที ไม่แสดงว่า จะช่วยเหลือไทยอย่างใด ไทยเกรงชาติอื่นจะเข้าแทรกแซงจึงต้องยอมฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเลิกปิดอ่าววันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และตกลงทำสัญญากัน เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสครั้งนี้ ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หลังจากการทำสัญญากับฝรั่งเศสแล้ว ไทยปฏิบัติตามทุกข้อ แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมคืนจันทบุรีที่ยึดไว้เป็นประกัน ยังคงยึดไว้อีก ๑๐ ปีต่อมา ก่อนฝรั่งเศสจะถอนทหารออกไป ไทยได้ทำสัญญายกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และทางใต้ ตรงข้ามเมืองปากเซให้ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสกลับไปยึดเมืองตราดไว้แทน ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราด หลังจากที่ไทยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสตามสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พร้อมกับสัญญานี้ ได้ตกลงกันเรื่องอำนาจศาล คือ ให้มีศาลต่างประเทศ ผู้พิพากษาเป็นคนไทย แต่กงสุลมีอำนาจถอนคดีไปพิจารณาในศาลกงสุลได้ อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ไทยได้ทำสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับอังกฤษ คนในบังคับอังกฤษทั้งหมด ขึ้นศาลต่างประเทศ และไทยยอมยก กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ในการติดต่อกับต่างประเทศในรัชกาลนี้ ไทยได้ที่ปรึกษาราชการ คือ นาย เอ็ดเวิร์ด สโตรเบล (Edward Strobel) ชาวอเมริกัน และเมื่อเขาถึงแก่ กรรม ผู้ช่วยของเขาชื่อนาย เจนส์ ไอ เวสเตนการ์ด (Jens I. Westengard) ต่อมาได้เป็น พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ก็ได้ตำแหน่งที่ปรึกษาสืบมา |
เขียนโดย นายทองใบ แตงน้อย ป.ม. ๒๕๐๖ |
แม้ว่าความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเป็นผลให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์หลายประการ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังมีความสัมพันธ์ อีกรูปหนึ่ง ที่เป็นผลดีต่อไทยอย่างมาก ได้แก่ การที่ชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยปรับปรุงบ้านเมือง และงานแขนงต่างๆ ให้เจริญขึ้น ตามแบบประเทศตะวันตก เอส จี แมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีอเมริกัน ท่านและครอบครัวได้ทำประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้แก่เมืองไทย ในด้านการแพทย์และการศึกษา นายดับบลิว จี จอห์นสัน (W.G. Johnson) และนาย อี เอส สมิธ (E.S. Smith) ครูโรงเรียนสวนกุหลาบนายริชาร์ด จัคส์ เกิร์กแพตริก (Richard Jacques Kirkpatrick) ชาวเบลเยียม ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงยุติธรรม พระยามหิธร (โตกีจิ มาซาโอะ Tokiji Masao) ชาวญี่ปุ่น ผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม นายวิลเลียม อัลเฟรด คุณะติลเก (William Alfred Kunatelake) ชาวลังกา ช่วย งานกรมอัยการ ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมอัยการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก นายยอร์จ ปาดูซ์ (George Padoux) ชาวฝรั่งเศส ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ประธานกรรมการร่างกฎหมาย นายเรอเน กียอง (René Guyon) ชาวฝรั่งเศส ที่ปรึกษาในกระทรวงยุติธรรม ในปลายรัชกาล และรับราชการต่อมาอีกหลายสิบปี จนเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า นายพิชาญ บุลยง นายเอช สเลด (H. Slade) ชาวอังกฤษ ช่วยงานในกรมป่าไม้ ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมป่าไม้ นายเอฟ เอช ไจลล์ (F.H. Giles) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ต้นสกุล จิลลานนท์ อธิบดีกรมสรรพากรคนแรก นายดับบลิว เอ เกรแฮม (W.A. Graham) ชาวอังกฤษ นาย ซี ริเวตต์ คาร์นัค (C. Rivett Carnac) และนาย ดับบลิว เจ เอฟ วิลเลียมสัน (W.J.F. Williamson) ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง นายเจ โฮมัน แฟน เดอ ไฮเด (J. Homan Van De Heide) ชาวฮอลันดา ที่ปรึกษาการ ชลประทาน ผู้เป็นเจ้าของโครงการ เขื่อนเจ้าพระยา หรือที่เรียกกันในประวัติกระทรวงเกษตรฯ ว่า "สกีมชัยนาท" |
|
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับนานาประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ หลายครั้ง ได้เสด็จ สิงคโปร์ ชวา (อินโดนีเซีย) มลายู อินเดีย พม่า ในตอนต้นรัชกาล ต่อมาก็ได้ เสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และ พ.ศ. ๒๔๕๐ นับว่าได้ผลดี ยิ่งทั้งในด้านทางการเมือง การเชื่อมสัมพันธไมตรี และในรัชกาลนี้ไทยได้ทำสัญญาทางไมตรีกับประเทศอื่นๆ เพิ่มอีก มี รุสเซีย สเปน ออสเตรีย ฮังการี อิตาลี และญี่ปุ่น |